×

โลกร้อน ผู้อพยพ การค้าเสรี: จุดยืนของแต่ละประเทศใน G20 ที่จะกำหนดทิศทางโลก

07.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • วาระสำคัญของการประชุม G20 ครั้งนี้มี 3 วาระสำคัญคือ เรื่องอนาคตของความตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายการค้าเสรี และการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงาน
  • นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ในฐานะเจ้าภาพประกาศว่า จะผลักดันความร่วมมือของประเทศสมาชิก G20 ใน 3 เรื่องนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ยกเว้นสหรัฐอเมริกา

     การประชุม G20 ครั้งนี้คือ การประชุมของผู้นำประเทศมหาอำนาจที่น่าจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาพร้อมกับสโลแกน America First เพิ่งประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และออกคำสั่งห้ามประชาชนจากประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ จะพบกับประธานาธิบดีของรัสเซียที่กำลังเผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่จีนกำลังขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลก และหันมาเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

     ประเด็นสำคัญของการประชุม G20 ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีครั้งนี้จึงจะพูดคุยถึง 3 ประเด็นหลักที่เป็นปัญหาหรือความท้าทายที่ทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน คือ การผลักดันข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) หลังจากสหรัฐฯ ประกาศว่าจะถอนตัว

     การผลักดันนโยบายการเปิดเสรีการค้าที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อยากถอยห่าง

     และนโยบายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ที่สหรัฐฯ เองอยากควบคุมมากขึ้น

     ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ในการประชุม G20 ครั้งนี้จึงน่าจับตามองว่า เขาจะประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อเรื่องต่างๆ เช่นไร

 

 

จุดยืนของมหาอำนาจต่อเรื่องนโยบายการค้าเสรี

     ในการประชุม G20 ครั้งนี้ มีเพียงสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอยากกลับไปสู่นโยบายแนวกีดกันการค้า (Protectionism) หลังจากทรัมป์ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะหลายครั้งที่เขาประกาศว่า สหรัฐฯ เสียผลประโยชน์ทางการค้าจากการเปิดการค้าเสรี และเขาต้องการความร่วมมือทางการค้าในระดับทวิภาคีมากกว่าที่จะเป็นความร่วมมือในระดับพหุภาคี

     ด้านเยอรมนี อังกฤษ อาร์เจนตินา และบราซิล สมาชิก G20 คือประเทศที่มีจุดยืนสนับสนุนนโยบายเสรีการค้าอย่างชัดเจน นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ในฐานะผู้นำเยอรมนี ประเทศผู้นำด้านการส่งออกของยุโรป จึงกำลังอยู่ในภาวะกดดันที่จะต้องปกป้องแนวคิดการค้าเสรีนิยม และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงทางการค้า TTIP ระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ให้สำเร็จ

     ด้านอังกฤษนั้นมีแรงกดดันจาก Brexit ที่ทำให้อังกฤษจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศอื่นๆ เพราะการตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปที่มีกำหนดการเบื้องต้นในปี 2019 คือการตัดสินใจออกจากตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ดังนั้นเราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ พยายามย้ำว่า การออกจากสหภาพยุโรปคือการเปิดโอกาสให้อังกฤษได้ขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่บรรดานักธุรกิจของอังกฤษต่างพากันเรียกร้องให้อังกฤษขยายเวลาการออกจากตลาดเดียวของยุโรป

     ด้านบราซิลกับอาร์เจนตินา คือสองประเทศจากทวีปอเมริกาใต้ที่ต้องการเปิดพรมแดนทางการค้าให้ได้มากที่สุด เพราะในอดีตบราซิลเคยใช้นโยบายการค้ากีดกันและล้มเหลวมาแล้ว ด้านอาร์เจนตินาเพิ่งกลับมาสู่ตลาดการค้าเสรีเมื่อปี 2016 หลังจากปิดประเทศมานานถึง 15 ปี

 

 

จุดยืนต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

     นโยบายต่อเรื่องโลกร้อน คืออีกนโยบายที่สหรัฐฯ มีจุดยืนแตกต่างจากบรรดาประเทศสมาชิก G20 เช่นกัน ในขณะที่ประเทศอย่างจีนและอินเดียแม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก แต่กลับสนับสนุนข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศว่า ปัญหาเรื่องโลกร้อนจะเป็นวาระสำคัญในการประชุม G20 ด้านประธานาธิบดีนเรนทรา โมดีประกาศว่า เขาจะพยายามแก้ปัญหานี้มากกว่าที่ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำหนด

     ด้านฝรั่งเศสและเยอรมนี คือสองประเทศจากยุโรปที่ต้องผลักดันและปกป้อง ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม G20 ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลนั้นแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับทรัมป์มาโดยตลอด ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสออกมาต่อต้านการจะถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทันที โดยเคยกล่าวเสียดสีสโลแกน ‘Make America Great Again’ ของทรัมป์ไว้ว่า เขาจะผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนต่อไป ภายใต้สโลแสน ‘Make Our Planet Great Again’

     ด้านสหรัฐฯ กลับมีนโยบายสวนทางประเทศอื่นคือ สนับสนุนพลังงานถ่านหินที่ประเทศอื่นๆ กำลังรณรงค์ให้หันไปใช้พลังงานสะอาดแทนในการประชุม G7 ครั้งที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะสนับสนุนความร่วมมือระดับนานาชาติที่เพิ่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

 

จุดยืนของแต่ละประเทศต่อเสรีภาพในการอพยพย้ายถิ่นฐาน

     ในการประชุมครั้งนี้จะมีการพูดถึงนโยบายต่อเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้อพยพ เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและผู้ลี้ภัยจากสงคราม ซึ่งสหรัฐฯ มีจุดยืนที่แตกต่างจากประเทศอื่นเช่นกัน ในปีนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งห้ามประชาชนจาก 6 ประเทศที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเข้าประเทศ และเรียกร้องใช้ชาติต่างๆ กลับมามีสิทธิในการควบคุมการอพยพ และยังวิพากษ์วิจารณ์ชาวยุโรปในการรับผู้อพยพเข้าประเทศมากเกินไป จากท่าทีนี้ของสหรัฐฯ ทำให้เม็กซิโกประเทศที่อยู่ติดกันยกเรื่องสิทธิของผู้อพยพเป็นวาระแห่งชาติ หลังจากสหรัฐฯ ขู่ว่าจะส่งชาวเม็กซิโกที่อยู่ในสหรัฐฯ จำนวนมากกลับประเทศ โดยตอนนี้เม็กซิโกกำลังพยายามแก้ปัญหาชาวเม็กซิโกที่ข้ามพรมแดนไปยังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย

     ในฝั่งยุโรปนั้น มีนายกรัฐมนตรีเปาโล เจนติโลนี ของอิตาลีที่ออกมาบอกว่า อิตาลีไม่ได้รับความร่วมมือจากยุโรปมากนัก เพราะอิตาลีคืออีกประเทศในยุโรปที่เผชิญกับการทะลักของผู้อพยพจากทั้งแอฟริกาเหนือและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเปาโล เจนติโลนี จึงตั้งใจจะหารือกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ถึงความร่วมมือจากยุโรปในการสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติในแอฟริกา เพื่อขยายการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังภูมิภาคอื่นมากขึ้น

     ด้านตุรกีที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มาจากซีเรีย ที่ผ่านมาตุรกีขู่ว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงด้านผู้ลี้ภัยกับยุโรป อย่างไรก็ตามตุรกียังสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของผู้อพยพอย่างเสรี ทำให้ตุรกียังมีจุดร่วมกับยุโรปมากกว่าสหรัฐฯ

 

 

     สถิติของสหประชาชาติเปิดเผยว่า สหรัฐฯ มีจำนวนผู้อพยพชาวต่างชาติภายในประเทศสูงที่สุดในโลก ในปี 2015 สหรัฐฯ มีจำนวนผู้อพยพชาวต่างชาติ 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมด รองลงมาคืออิตาลี 9% แอฟริกาใต้ 6% ตุรกีประมาณ 3% และเม็กซิโกประมาณ 1%

     ผลสำรวจของ Pew Research Center เปิดเผยว่า ประชาชนจากประเทศส่วนใหญ่ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา อังกฤษ ให้ความไว้วางใจต่อ บารัก โอบามา ในการดำเนินนโยบายระดับนานาชาติมากกว่าทรัมป์ แต่มีชาวรัสเซียถึง 50% ที่มั่นใจในตัวทรัมป์มากกว่าโอบามา ในขณะที่ชาวรัสเซียเพียง 20% ไว้วางใจ

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising