ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นผู้บริหารและเจ้าของกิจการด้านสื่อและรายการโทรทัศน์ผันตัวเองมาเล่นเกมการเมืองอย่างจริงจังจนได้รับเลือกให้เป็นถึงประธานาธิบดี ก่อนที่จะกลายมาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกองทัพสื่อเสียเอง
แม้ขณะนี้ทรัมป์จะประสบความล้มเหลวในการหามาตรการมาทดแทนโครงการ Obamacare ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อน รวมถึงมีปัญหาเรื่องการชี้แจงถึงกรณีที่รัสเซียอาจเข้ามาพัวพันและแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 แต่ทรัมป์ก็ยังคงได้รับคะแนนนิยมสูงจากกลุ่มอนุรักษนิยมฝั่งรีพับลิกันในศาลสูงสหรัฐฯ ให้ทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป
จากผลสำรวจล่าสุดของ ABC News และหนังสือพิมพ์ Washington Post ชี้ให้เห็นว่า คะแนนนิยมในตัวของทรัมป์ลดลงเหลือเพียง 36% ภายหลังจากที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระดับคะแนนความนิยมต่อตัวประธานาธิบดี (ในช่วงครึ่งปีแรก) ที่น้อยที่สุดในรอบ 70 ปีเลยทีเดียว
ส่วนผลโพลอื่นๆ ที่ออกมาล่าสุดจาก Bloomberg ในคะแนนความนิยมต่อตัวทรัมป์อยู่ที่ 40% และ Monmount ให้ระดับคะแนนความนิยมอยู่ที่ 39% โดยจะเห็นได้ว่าคะแนนความนิยมในแต่ละสำนักไม่ทิ้งห่างกันมากนัก
การลงนามในร่างกฎหมาย 42 ร่าง
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์ลงนามในร่างกฎหมายไปแล้วถึง 42 ร่าง เช่น คำสั่งห้ามคนมุสลิมจากประเทศที่สหรัฐฯ ระบุไว้เดินทางเข้าประเทศโดยเด็ดขาดเป็นเวลา 90 วัน เป็นต้น และทรัมป์ยังประสบปัญหาในเรื่องการผลักดันร่างกฎหมายอื่นๆ เช่น ปฏิรูปภาษี การลงทุนด้านสาธารณูปโภค ยกเลิกและหามาตรการที่เหมาะสมมาทดแทนโครงการ Obamacare ที่ยังคอยท้าทายการบริหารงานของตัวเขาและคณะรัฐบาลชุดนี้ตลอดเวลา
การถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ฉบับ
ทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงไว้ในสมัยโอบามาแล้วถึง 2 ฉบับ นั่นคือถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ ‘ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งนี่เป็นการตัดสินใจเพียงไม่กี่ครั้งของเขาที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากหลายฝ่าย
และเมื่อหลายเดือนก่อน ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกใน ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากผู้นำประเทศต่างๆ ที่พยายามผลักดันและให้การสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด
ทรัมป์และความสัมพันธ์กับรัสเซีย
นอกจากความล้มเหลวในการนำเสนอแนวทางทดแทนโครงการด้านสาธารณสุขของโอบามา (50% : 24%) แล้ว ประเด็นที่เกี่ยวพันกับรัสเซียก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ระดับความนิยมในตัวทรัมป์ลดน้อยลง หลังจากที่มีข่าวลือว่ารัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นดูท่าจะไม่โปร่งใส
อีกทั้งลูกชายของทรัมป์และทีมงานหาเสียงของเขาเองก็ยังออกมายอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับบุคคลและเจ้าหน้าที่คนสำคัญจากฝ่ายรัสเซียจริง โดยใช้ประเด็นเรื่องข้อมูลในอีเมลของนางฮิลลารี คลินตัน เป็นข้ออ้างในการพบเจอ
จากผลสำรวจความคิดเห็นโดย Langer Research Associates พบว่า คนอเมริกันกว่า 63% ที่ตอบแบบสำรวจนี้มองว่าการติดต่อและเดินทางเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ฝั่งรัสเซียเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
ทวิตเตอร์ของผู้นำสหรัฐฯ
‘ทวิตเตอร์’ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทรัมป์ใช้สื่อสารกับคนอื่นๆ และมียอดผู้ติดตาม 34,190,164 คน เป็นเป็นผู้นำประเทศ (คนปัจจุบัน) ที่มียอดผู้ติดตามสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จากการจัดอันดับของ twittercounter.com ซึ่งทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างนเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีของอินเดียอยู่ราว 3 ล้านคน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไล่ตามอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างบารัก โอบามา ที่มียอดผู้ติดตามสูงกว่าทรัมป์ถึง 3 เท่า
ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ทวีตข้อความไปแล้วเกือบ 1,000 ข้อความ โดยข้อความที่ทวีตส่วนใหญ่มักมีคำว่า fake news, fake media, jobs รวมถึงเมนชันหานางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับเขาถึง 22 ครั้ง
จากผลงานโดยรวมตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ดูท่าการบริหารงานของประธานาธิบดี อดีตเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวด Miss USA และ Miss Universe คนนี้จะยังไม่เป็นที่พอใจของคนอเมริกัน เห็นได้จากคะแนนความนิยมที่ลดลงจาก 58% ในช่วงเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งภายหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งเหลือเพียง 36% เท่านั้น
และทรัมป์เองอาจจะต้องเผชิญวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อตัวเขาอีกครั้ง หากการทำงานในอีกครึ่งปีหลังต่อจากนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการร่างและบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม
Photo: SAUL LOEB/AFP
อ้างอิง: