คนบางคนอาจเคยถูกทักว่าชื่อไม่เข้ากับหน้าตาเอาเสียเลย งานวิจัยทางจิตวิทยาจากนิวซีแลนด์ที่มีชื่อว่า ‘ปรากฏการณ์บูบา/กิกีทางสังคม: อคติสำหรับคนที่ชื่อเข้ากับใบหน้า’ (A social Bouba/Kiki effect: A bias for people whose names match their faces) อาจช่วยไขข้อสงสัยนี้ได้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงปรากฏการณ์บูบา/กิกีเสียก่อน คร่าวๆ คือการที่คนเรามักจะจับคู่เสียงพูดกับรูปร่างที่เห็น โดยในปี 2001 มีการทดลองให้ชาวอเมริกันและคนที่ใช้ภาษาทมิฬในอินเดียเลือกว่าบูบาและกิกีมีรูปร่างเป็นอย่างไร โดยชาวอเมริกัน 95 เปอร์เซ็นต์และผู้เข้าร่วมจากอินเดีย 98 เปอร์เซ็นต์ตัดสินว่า บูบาต้องมีรูปร่างโค้ง ส่วนกิกีต้องมีรูปร่างเป็นหยักๆ
กลับมาที่ผลวิจัยจากของเดวิด บาร์ตัน (David Barton) และเจมิน ฮัลเบอร์สตัดท์ (Jamin Halberstadt) จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ในนิวซีแลนด์ ที่พวกเขานำภาพถ่ายติดพาสปอร์ตของผู้ชายหลายคนมาให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกว่าชื่อไหนเหมาะกับคนไหน
ผลออกมาว่าอาสาสมัครมักเลือกให้คนหน้าแหลมๆ ชื่อพีท, เคิร์ก หรือไม่ก็มิกกี้ ส่วนคนหน้าออกกลมๆ ชื่อโจโน, จอร์จ และลู โดยสรุปแล้วงานวิจัยชี้ว่าชื่อที่มีเสียงแหลมจะเข้ากับคนที่มีรูปหน้าออกแหลมมากกว่า ส่วนชื่อที่ฟังดูละมุนละไมจะเข้ากับคนหน้าโค้งมน
นอกจากนี้ผู้ร่วมการทดลองยังต้องให้คะแนนความชอบต่อใบหน้าที่เห็น โดยอ้างอิงจากหน้าตาเท่านั้น หลังลงคะแนนรอบแรก พวกเขาจะได้รับชื่อของบุคคลต่างๆ ที่ทีมงานตั้งให้เข้าตามแบบบูบา/กิกี แล้วลงคะแนนอีกรอบหนึ่ง
ผลวิจัยพบว่าคนหน้าแหลมจะได้รับความชื่นชอบมากกว่าคนหน้าโค้ง แต่ภายหลังเปิดเผยชื่อแล้ว คนหน้ากลมกลับเป็นที่นิยมมากขึ้นหากมีชื่อที่เหมาะสมกับใบหน้า และหากชื่อของคนหน้าแหลมเข้ากันกับใบหน้า ผลลัพธ์ก็ออกมาเช่นเดียวกัน แต่คะแนนกลับลดลงหากหน้าแหลม แต่ชื่อฟังดูอ่อนนุ่ม
ไม่เพียงเท่านี้ เดวิดและเจมินยังได้นำภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งวุฒิสภาสหรัฐฯ ในช่วงปี 2000-2008 มาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่ม ผลออกมาว่าผู้สมัครที่มีชื่อไปทางเดียวกันกับใบหน้ามากๆ จะได้รับคะแนนเยอะกว่าคนที่ชื่อไม่เข้ากับหน้าตาเลยแม้แต่นิดเดียวถึง 10 เปอร์เซ็นต์
สองนักวิจัยกล่าวถึงผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychonomic Bulletin & Review ไว้ว่า “รูปร่างหน้าตาสร้างความคาดหวังต่อชื่อที่สื่อความหมายถึงคนนั้นๆ การไปทำลายความคาดหวังอาจส่งผลให้มีการตัดสินทางสังคมซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการลงคะแนนเสียงด้วย”
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง: