×

‘ชาตินิยม’ ฉุดให้ความร่วมมือ ‘อาเซียน’ ในรอบ 50 ปียังสอบตก

08.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นักวิชาการไทยชี้ ‘การเป็นหนึ่งเดียวกันภายในภูมิภาค ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นและยังคงเป็นตัวแสดงที่สำคัญและน่าจับตามอง (has become and has remained) ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตของจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น สิ่งนี้น่าจะเป็นความสำเร็จที่สุดขององค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา’
  • การคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interests) และความเป็นชาตินิยม (Nationalism) มากจนเกินไปเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนมาโดยตลอด

     8 สิงหาคม 2017 ครบรอบ 50 ปี การก่อตั้ง ‘สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations)’ หรือ ‘อาเซียน (ASEAN)’ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาค มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยมีการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration 1967) ก่อนที่จะมีประเทศสมาชิกเพิ่มเป็น 10 ประเทศจนถึงปัจจุบัน

     ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา อาเซียนทำแบบทดสอบต่างๆ มากมาย เพื่อพยายามสร้างจุดยืนที่ชัดเจนบนเวทีโลก ร่วมมือกันประสานประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือแม้แต่ส่งเสริมสันติภาพและเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคอย่างสันติวิธี

     THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch และรักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงภาพรวมของความสำเร็จและอุปสรรคของอาเซียนตลอดช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางของความร่วมมือในอนาคต

 

Photo: TED ALJIBE/AFP

สิ่งที่อาเซียนประสบความสำเร็จที่สุด

     ความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น ที่อิทธิพลของขั้วอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ว่า จะสามารถพึ่งพามหาอำนาจที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับตนไปได้อีกนานเท่าไหร่ ประกอบความพยายามในการสร้างชาติ พัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และพยายามสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคร่วมกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนขึ้น

     รศ.ดร. กิตติ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี อาเซียนบรรลุเป้าหมายพอสมควร เพราะเป้าหมายประการหนึ่งของผู้ก่อตั้งคือ การรวมภูมิภาคนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงในปี 1999 หลังจากที่กัมพูชาเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ของอาเซียน

     “การเป็นหนึ่งเดียวกันภายในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นตัวแสดงที่สำคัญ (Important Actor) บนเวทีโลก เป็นเวทีที่มหาอำนาจทั้งนอกและในภูมิภาคต่างมาร่วมเจรจาหารือกันโดยเฉพาะ EAS, ARF และ RCEP ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางสำคัญในการผลักดัน  ทำให้อาเซียนกลายเป็นและยังคงเป็นตัวแสดงที่สำคัญและน่าจับตามอง (has become and has remained) ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีตัวเลขการเติบโตของจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่น่าจะเป็นความสำเร็จที่สุดขององค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคแห่งนี้”

 

Photo: ROMEO GACAD/AFP

อุปสรรคที่อาเซียนเผชิญมาโดยตลอด

     การคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interests) และความเป็นชาตินิยม (Nationalism) มากจนเกินไปเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนมาโดยตลอด รศ.ดร. กิตติ ให้ความเห็นว่า “ถ้ามีสองสิ่งนี้มากเกินไป ประเทศสมาชิกก็จะสนใจแต่ประเทศของตัวเอง ว่าประเทศของเราจะได้อะไร จะเสียอะไร โดยไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์ของภูมิภาค (Regional Interests) ที่ทุกประเทศมีร่วมกัน

     “การคิดถึงแต่ตัวเอง การยึดมั่นอยู่กับหลักชาตินิยมและอำนาจอธิปไตยของชาติสมาชิก สะท้อนออกมาจาก ASEAN Norms เช่น หลัก Non-interference ซึ่งในบางครั้งดูเหมือนจะเป็นปัญหา ในกรณีเห็นควรที่จะต้องเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นปัญหาภายใน นอกจากนี้ผลพวงจากความคลั่งไคล้ชาตินิยม ยังทำให้ตำราเรียนประวัติศาสตร์แห่งบาดแผลในความทรงจำบางเล่มถูกแต่งเสริมเติมเเต่ง ปลูกฝังอคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติ”

 

Photo: ROSLAN RAHMAN/AFP

ภาพลวงตากับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

     ดูเหมือนว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2015 ประชาชนในหลายระดับกลับเริ่มไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตัวพวกเขามากอย่างที่พวกเขาเคยคาดการณ์ไว้ ประชาชนในหลายพื้นที่ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมหรือ มี Sense of belonging ในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมนี้ร่วมกัน มีเพียงแต่คนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขยายฐานการผลิตและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ดูจะตื่นตัวกับเรื่องนี้

 

 

     รศ.ดร. กิตติ กล่าวว่า “มันไม่ได้เป็นความผิดของประชาชนที่ไม่มี Sense of belonging เพราะมันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดจากการประโคมข่าวมากมายจนทำให้ผู้คนเข้าใจผิด คิดว่าเราจะเป็นแบบอียูหรอ ถ้าเปิดพรมแดนแรงงานจะทะลักเข้ามาในประเทศไหม เกิดมายาคติต่างๆ มากมาย เกิดจากการนำเสนอข่าวทั้งภาครัฐและสื่อมวลชลที่รายงานไปตามกระเเสตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

     “สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกชักจูงด้วยกระเเสโน้นกระเเสนี้ได้ง่ายมาก พอหลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วไม่เกิดอะไร กระเเส 4.0 ก็เข้ามาแทนที่ อีกทั้งอาเซียนเองก็ยังไม่ได้รวมตัวกันในระดับบูรณาการขนาดนั้น การเปิดเสรีวิชาชีพก็อยู่ในวงจำกัดและดูเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ความตื่นตัวก่อนหน้านี้จึงเกิดขึ้นเพราะการประโคมข่าวมากจนเกินไป”

 

Photo: SEUL LOEB/AFP

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาเซียนและสหภาพยุโรป

     หลายต่อหลายครั้งที่เรามองความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศระดับเหนือรัฐอย่างสหภาพยุโรปผิดไป หลายต่อหลายคนเข้าใจว่า อาเซียนกำลังเดินทางไปสู่จุดหมายจุดเดียวกันกับที่สหภาพยุโรปยืนอยู่ โดยมีสหภาพยุโรปเป็นต้นแบบของความสำเร็จที่อาเซียนจะต้องเดินทางไปให้ถึง

     รศ.ดร. กิตติ ให้ความเห็นว่า “ประการแรก EU ไม่ได้เป็นเป้าหมายของอาเซียน EU เป็นเพียงจุดอ้างอิงของการรวมตัวในลักษณะเหนือชาติว่าเขารวมตัวกันอย่างไร และอาเซียนเองก็ไม่เคยมีวิสัยทัศน์ที่จะเดินไปถึงจุดนั้น จุดที่ผูกรวมอธิปไตยส่วนหนึ่งเข้าไว้ด้วยกันหรือใช้เงินตราสกุลเดียวกัน เนื่องจากอาเซียนก็ยังยึดติดอยู่กับความเป็นชาตินิยมและผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ

     “ถ้าคิดง่ายๆ เป้าหมายของอาเซียนคือ การเป็นตลาดร่วม (Common market) ที่เคลื่อนย้ายสิ่งของ เงินทุนและแรงงานได้อย่างเสรี ถ้าเรากลับไปสู่ทฤษฎีการรวมตัว 5 ขั้น (1) FTA> (2) สหภาพศุลกากร> (3) ตลาดร่วม> (4) สหภาพทางการเงิน และ (5) สหภาพทางการเมืองอย่างที่สหภาพยุโรปเป็น หากถามว่า ปัจจุบันอาเซียนอยู่ตรงไหน อาเซียนอยู่ขั้นที่ 1 (FTA) ที่พยายามจะกระโดดข้ามไปที่ตลาดร่วม โดยข้ามขั้นที่ 2 ไป ซึ่งก็ยากพอสมควร เนื่องจากตลาดร่วมเป็นการลดอำนาจอธิปไตยของรัฐไปส่วนหนึ่ง เพราะอัตราภาษีเรากำหนดเองไม่ได้ เราต้องกำหนดตามประเทศสมาชิก นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายความพยาพยามของอาเซียนในอนาคต”

 

Photo: MOHD RASFAN/AFP

จากความสำเร็จและบทเรียนกว่า 5 ทศวรรษ สู่ทิศทางของอาเซียนในอนาคต

     อาเซียนนับเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ภายในภูมิภาคและประชาคมโลกอย่างไม่หยุดยั้งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จากสมาชิกร่วมก่อตั้งเพียง 5 ประเทศในวันนั้น ก้าวสู่ 10 ประเทศสมาชิก และ 2 ประเทศสังเกตการณ์ในวันนี้ พร้อมทั้งขยายกรอบความร่วมมือไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ และในมิติที่หลากหลาย ทำให้องค์กรระหว่างประเทศที่โอบอุ้มประชากรกว่า 625 ล้านคนนี้ ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก

     ปัญหาเร่งด่วนที่อาเซียนควรร่วมมือกันแก้ไขในอนาคตคือ การรับเอาแนวทางที่ได้ตกลงกันไว้ไปปฏิบัติ (Implementation) ให้เต็มที่มากกว่านี้ เนื่องจากไม่มีกลไกในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละประเทศสมาชิก ดังนั้น การเห็นแก่ผลประโยชน์ของภูมิภาค (Regional Interests) มากยิ่งขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกรัฐควรคำนึงถึง

     อีกทั้งปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่อาเซียนต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ที่มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเหล่านี้ด้วย การที่จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น และมีโครงการจะสนับสนุนโครงการ One Belt One Road ของตน และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในภูมิภาค

     สิ่งนี้อาจจะเป็นดาบสองคมสำหรับอาเซียนในอนาคต เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่จีนจะหยิบยื่นให้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบายของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้อยู่ในข้อพิพาท เราจึงเห็นประเทศสมาชิกหลายประเทศเปลี่ยนท่าทีและหันมาตีสนิทกับจีนเพิ่มมากขึ้น และถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ อาเซียนก็จะยิ่งเกรงใจจีนและพูดอะไรเป็นเสียงเดียวกันไม่ได้เลย ส่งผลกระทบต่อสถานะของอาเซียนในเวทีโลก

 

 

     รศ.ดร. กิตติ กล่าวทิ้งท้ายกับ  THE STANDARD ด้วยการให้คะแนนผลงานของอาเซียนจากความสำเร็จและบทเรียนตลอด 50 ปีที่ผ่านมาว่า “ถ้าจะต้องให้คะแนนอาเซียน คงจะอยู่ที่ประมาณ 65 จาก 100 คะแนนเต็ม (เกรด C) โดยดูจากความร่วมมือที่ยังขาดดุลด้านการปฏิบัติ มีแผนการ มีข้อตกลงต่างๆ มากมาย แต่ในความเป็นจริงมันยังทำไม่ได้เต็มร้อย แต่อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อว่า อาเซียนจะยังคงเป็นฟันเฟืองและเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันและใช้เป็นพื้นที่ในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกและกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้ในอนาคต”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X