ยุงเพียงตัวเดียวก็อาจสร้างความรำคาญให้กับคนบางคนไปทั้งวัน แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแถวบ้านคุณกำลังจะมียุงเพิ่มเป็น 20 ล้านตัว!
บริษัทแม่กูเกิล ‘อัลฟาเบต’ เตรียมดำเนินโครงการปล่อยยุงลายหลายล้านตัวในย่านชุมชนของรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อลดประชากรยุง ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้ออันตรายต่างๆ
ยุงลายบ้านถือเป็นพาหะแพร่เชื้ออย่างมาลาเรีย ซิกา ไข้เหลือง ไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะมากกว่า 800,000 คนทั่วโลก
เวอริลี ฝ่ายชีววิทยาศาสตร์ของอัลฟาเบต หัวเรี่ยวหัวแรงประจำโครงการให้ข้อมูลว่า ฝูงยุงตัวผู้เหล่านี้ถูกเลี้ยงโดยหุ่นยนต์ที่สามารถเพาะพันธุ์ยุงได้ 1 ล้านตัวต่อสัปดาห์ พร้อมแฝงแบคทีเรียโวลแบคเคียอันเป็นเชื้อที่รู้จักในวงวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 1967 และเป็นที่พบได้ทั่วไปว่า ยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรียนี้จะเป็นหมัน หรือทำให้ไข่ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ เว้นเสียแต่ยุงที่ผสมพันธุ์จะมีโวลแบคเคียทั้งคู่
ทีมงานจะทำการปล่อยยุงพาหะโวลแบคเคียสัปดาห์ละ 1 ล้านตัว ต่อเนื่อง 20 สัปดาห์ ตามย่านชุมชนในเฟรสโน เคาน์ตี 2 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวมราว 2.4 ตารางกิโลเมตร และด้วยการที่เป็นยุงเพศผู้ทั้งหมด ทำให้ยุงที่ถูกปล่อยจะไม่เป็นปัญหาต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมีแต่ยุงตัวเมียเท่านั้นที่กัดมนุษย์ได้
คณะศึกษาของ Debug Fresno สามารถศึกษาผลลัพธ์โครงการผ่านการวัดความหนาแน่นประชากรยุงในย่านชุมชนที่ถูกเลือกนี้ โดยคาดหวังให้อัตราส่วนลดลงอย่างชัดเจน
เวอริลีระบุถึงงานศึกษาภาคสนามนี้ว่าจะเอื้อต่อการทดสอบเทคโนโลยีและการค้นพบต่างๆ เข้ากับเงื่อนไขที่พบในชีวิตจริง พร้อมเก็บหลักฐานที่จำเป็นเพื่อนำมาขยายผลต่อไป ขณะเดียวกันไลนัส อัพสัน วิศวกรอาวุโสประจำเวอริลีเปิดเผยต่อ MIT Technology Review ว่า โครงการนี้อาจเป็นวิธีการที่คุ้มทุนสำหรับควบคุมประชากรยุงและจัดการโรคระบาด
นี่อาจเป็นความหวังครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่จะหลีกให้ไกลจากโรคร้ายที่มาพร้อมกับสัตว์ปีกดูดเลือดตัวจิ๋วเหล่านี้
อ้างอิง: