×

คาดการณ์หน้าตารัฐบาลอังกฤษชุดใหม่จะกระทบต่อไทยอย่างไร

08.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สหราชอาณาจักรจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ประกาศยุบสภาในวันที่ 18 เมษายน 2017 โดยอ้างว่ารัฐบาลต้องการเสถียรภาพในการเจรจานำสหราชอาณาจักรของจากสหภาพยุโรป (Brexit)
  • โพลเลือกตั้งส่วนใหญ่ชี้ว่า ประชาชนให้ความไว้วางใจพรรคอนุรักษนิยมในการเจรจา (Brexit) อย่างไรก็ตามคะแนนนิยมของพรรคแรงงานได้ตีตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ
  • ความเป็นไปได้ของโฉมหน้าชุดรัฐบาลอังกฤษถูกคาดการณ์ออกมาได้ 4 แบบคือ 1. รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก 2. รัฐบาลพรรคแรงงานจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค SNP 3. รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมมีที่นั่งมากที่สุดในสภา แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งและขาดเพียงไม่กี่ที่นั่ง และหันไปรวมกับพรรค UKIP 4. ไม่มีพรรคใดมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง และทั้งสองพรรคใหญ่ไม่สามารถเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

     สหราชอาณาจักรกำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ในวันที่ 18 เมษายน 2017

     การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘สภาสามัญชน’ (โดยมีสภาสูงหรือสภาขุนนางคอยคานอำนาจในบางกรณี) ใช้ระบบแบ่งเขตและมีทั้งหมด 650 เขต โดย ส.ส. ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในแต่ละเขตจะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในสภาของเขตนั้นๆ พรรคที่มี ส.ส. ชนะเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งหรือเกิน 325 ที่นั่ง ก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีหัวหน้าพรรคนั้นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี

     เราจะขอนำผู้อ่านมาดูโฉมหน้ารัฐบาลสหราชอาณาจักรหลังการเลือกตั้ง โดยแบ่งความเป็นไปได้ออกเป็น 4 แบบ เรียงลำดับความเป็นไปได้ตามผลสำรวจโพลตั้งแต่หลังประกาศยุบสภาจนถึงต้นเดือนมิถุนายน และโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ในแต่ละแบบนั้นจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร

 

Photo: BEN STANSALL, AFP

 

ความเป็นไปได้แบบที่หนึ่ง: รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

     ความเป็นไปได้ที่พรรคอนุรักษนิยมจะครองเสียงข้างมากในสภาและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวนั้นดูจะเป็นความคาดหมายของทั้งนางเมย์ และกรรมการบริหารระดับสูงของพรรคเอง รวมไปถึงบางส่วนของพรรคฝ่ายค้าน (เช่น พรรคชาติสกอต (SNP) ซึ่งรณรงค์หาเสียงให้ผู้สนับสนุนเลือกพรรคตน เพื่อเข้าไปเป็น

     ‘ฝ่ายค้าน’ เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล) แม้ว่าก่อนหน้านี้อดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน จะเพิ่งนำพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้ง โดยครองเสียงข้างมากในสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในขณะนี้มีเสียงข้างมากในสภาเพียง 12 เสียง ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย ทำให้การโหวตในสภาในอนาคต พรรคอนุรักษนิยมมีโอกาสจะแพ้ผลโหวตในสภาได้ง่าย หาก ส.ส. เพียง 7 คนในพรรคเลือกที่จะไม่สนับสนุนนโยบายบางอย่างของรัฐบาล การยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในขณะที่รัฐบาลกำลังได้รับความนิยมในผลสำรวจจึงอาจเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มเสียงข้างมากในสภา

     อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ให้เหตุผลในการยุบสภาว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้มีความจำเป็นเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสหราชอาณาจักรกำลังเข้าสู่กระบวนการเจรจาข้อกำหนดในการออกจากสหภาพยุโรป นางเมย์เตือนว่าหากรัฐบาลไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ สหราชอาณาจักรจะแลดู ‘อ่อนแอ’ ในสายตาของนานาประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้อาจถูก ‘ลงโทษ’ ด้วยข้อกำหนดการออกจากการเป็นสมาชิกที่ไม่เป็นธรรม ตัวอย่าง เช่น สินค้าจากสหราชอาณาจักรอาจถูกเก็บภาษีในอัตราสูงโดยประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการส่งออกของสหราชอาณาจักรซึ่งยังคงฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโร นางเมย์จึงพยายามรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นในเรื่อง Brexit เป็นหลัก ภายใต้สโลแกน ‘Strong and Stable Leadership’ หรือ ‘รัฐบาล(อนุรักษนิยม)ที่แข็งแกร่งและมั่นคง’ นางเมย์นั้นใช้วลีนี้บ่อยครั้งจนถูกนำมาล้อเลียนทั้งในโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างเธอและนายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านพรรคแรงงาน ซึ่งถูกมองว่าอ่อนแอกว่าโดยเฉพาะในเรื่องของ Brexit

     อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงานภายใต้หัวหน้าพรรคนายคอร์บิน โต้แย้งว่ารัฐบาลอนุรักษนิยมนั้นพยายามให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Brexit เพียงอย่างเดียว เนื่องจากรัฐบาลขาดผลงานด้านอื่นในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจของพรรคอนุรักษนิยมได้ส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) และบริการสาธารณะอื่นๆ นโยบายเศรษฐกิจของพรรคอนุรักษนิยมมีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่รัฐบาลก็มีผลงานในการลดหนี้สาธารณะซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มธุรกิจและผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางกลุ่ม ในขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่พรรคแรงงานพยายามพูดถึงเรื่องคุณภาพบริการสาธารณะ ก็เป็นเพราะว่าพรรคแรงงานเองขาดเอกภาพในเรื่องสหภาพยุโรป โดยที่คนส่วนใหญ่ในพรรคสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรพยายามเจรจาเพื่ออยู่ในตลาดร่วมต่อไป หรือแม้กระทั่งทบทวนการออกจากสหภาพยุโรป แต่นายคอร์บินและกรรมการพรรคบางส่วนต้องการออกจากสมาชิกสภาพอย่างชัดเจน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเสมือนศึกชิงพื้นที่ในสื่อโดยต่างฝ่ายต่างพยายามเบี่ยงประเด็นไปในทางที่ตนเองต้องการ

     สุดท้ายนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าเหตุผลหลักที่แท้จริงในการยุบสภาของรัฐบาล ก็เป็นเพราะว่าพรรคอนุรักษนิยมกำลังมีคะแนนเสียงนำพรรคฝ่ายค้านอยู่ในผลโพลทุกสำนัก แหล่งข่าวอ้างว่าอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลของนายคาเมรอน ได้กล่าวเป็นการส่วนตัวว่า จะเป็นการ ‘โง่เขลา’ อย่างมาก หากนางเมย์ไม่ยุบสภาในขณะนี้ ผลโพลช่วงต้นเดือนพฤษภาคมคำนวณว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลอาจจะได้รับเสียงข้างมาก 50 ที่นั่งเป็นอย่างต่ำ และอาจได้มากถึง 212 ที่นั่ง (ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงพรรคอื่นๆ ในเขตนั้นๆ เนื่องจากสหราชอาณาจักรใช้ระบบแบ่งเขตในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนฯ) การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจเป็นการฉวยโอกาสทางการเมืองเพื่อยืดอายุรัฐบาลออกไปอีกหนึ่งสมัย

 

ความเป็นไปได้แบบที่สอง: รัฐบาลพรรคแรงงานจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค SNP

     ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม คะแนนเสียงพรรคอนุรักษนิยมกลับค่อยๆ ลดลงในผลสำรวจ และพรรคแรงงานมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้สาเหตุมาจากหลายเหตุการณ์รวมกัน ก่อนอื่นนางเมย์ซึ่งมีพื้นเพมาจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นไม่ได้มีความสามารถในการรณรงค์หาเสียงแบบนายโทนี แบลร์ หรือนายคาเมรอน และมักจะถูกล้อเลียนในสื่อหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะปัญหาที่เธอมักจะใช้วลีเดิมซ้ำๆ ในการให้สัมภาษณ์ ในขณะเดียวกันความนิยมของนายคอร์บินซึ่งถึงแม้จะยังไม่เทียบเท่ากับนางเมย์แต่ก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อยซึ่งมองว่านายคอร์บินเป็นตัวแทนของคนหัวก้าวหน้า โดยปกตินั้นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 25 ปีมักจะออกมาใช้เสียงเพียงร้อยละ 40 เทียบกับกลุ่มคนวัยเกษียณที่ออกมาใช้เสียงเกินร้อยละ 80 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มว่ากลุ่มคนอายุน้อยอาจจะออกมาใช้เสียงมากขึ้นกว่าทุกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของนายคอร์บินที่เป็นที่ชื่นชอบของคนอายุน้อยหัวก้าวหน้า หากคนกลุ่มนี้ออกมาใช้เสียงมากกว่าที่โพลคาดการณ์ไว้ก็อาจจะเกิดการพลิกโพลขึ้นได้

     นโยบายหัวก้าวหน้าเหล่านี้ประกอบไปด้วย การแปรรูปการรถไฟและการไปรษณีย์ของสหราชอาณาจักรให้กลับมาเป็นของรัฐ การยกเลิกการเก็บค่าเทอมในระดับมหาวิทยาลัย การเพิ่มภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้สูง และคงระดับภาษีสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (คิดเป็น 90% ของผู้มีรายได้) และการยกเลิกนโยบายมาตรการเศรษฐกิจแบบรัดเข็มขัดของรัฐบาลอนุรักษนิยม แทนที่ด้วยมาตรการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายเหล่านี้ถือเป็นการเดิมพันที่เสี่ยงในระดับหนึ่ง เพราะอาจทำให้พรรคเสียการสนับสนุนจากกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองเป็นกลาง (ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ทำให้นายแบลร์นำพรรคแรงงานภายใต้สโลแกน ‘พรรคแรงงานใหม่’ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี ค.ศ. 1997) แต่ในขณะเดียวกัน นายคอร์บินก็หวังว่านโยบายใหม่ๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้ที่ปกติเลือกที่จะไม่มาออกเสียง เช่น กลุ่มคนอายุน้อย และกลุ่มชนกลุ่มน้อย (คนผิวสี คนเอเชีย และคนที่ไม่ใช่คนขาวอื่นๆ) ออกมาใช้เสียงมากกว่าทุกครั้ง ในตอนนี้จึงยากที่จะคาดเดาว่าวิธีการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ตัวเลขของผู้มีสิทธิใช้เสียงกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปีที่ออกมาลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สิทธินี้มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคแรงงานมากกว่าพรรคอนุรักษนิยมถึงสองเท่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมาใช้สิทธิในวันเลือกตั้งหรือไม่

     ความนิยมที่ลดลงของนางเมย์และพรรคอนุรักษนิยมนั้นไม่ได้มาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งเกิดจากประเด็นเรื่องนโยบายค่าใช้จ่ายประกันสังคมสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว ในนโยบายเริ่มแรกนั้น พรรคอนุรักษนิยมมีนโยบายให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บและทรัพย์สินมากกว่า 100,000 ปอนด์ หรือราว 5 ล้านบาท รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพและค่าจ้างพยาบาลเอง แทนที่รัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายให้ตามเดิม นโยบายนี้ถูกวิจารณ์อย่างมาก และเนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มักออกมาใช้เสียงในการเลือกตั้งจำนวนมาก นางเมย์จึงตัดสินใจยกเลิกนโยบายดังกล่าว แต่การยกเลิกนโยบายขณะอยู่ระหว่างการหาเสียงนั้น ทำให้ถูกพรรคฝ่ายค้านโจมตีว่านางเมย์พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อชนะการเลือกตั้ง และขาดจุดยืนที่ชัดเจน การยูเทิร์นครั้งนี้จึงค่อนข้างเป็นผลเสียต่อเสียงสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมพอสมควร

     ในกรณีที่พรรคอนุรักษนิยมไม่สามารถชนะที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาได้ มีความเป็นไปได้สูงว่าที่นั่งในสภาของพรรคแรงงานรวมกับของพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (SNP) จะมีที่นั่งในสภาเกินกึ่งหนึ่ง เนื่องจากว่าพรรค SNP นั้นได้รับความนิยมอย่างมากในสกอตแลนด์ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าจะยังคงคะแนนความนิยมได้ต่อไป ในกรณีนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าพรรคแรงงานจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ถึงแม้ว่าในขณะนี้นายคอร์บินจะปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค SNP และยืนยันจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคแรงงาน ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะว่าพรรคแรงงานมีความหวังที่จะชนะที่นั่งบางส่วนในสกอตแลนด์ แต่นางนิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำพรรค SNP ได้กล่าวว่าทางพรรคยินดีที่จะจัดตั้ง ‘พันธมิตรก้าวหน้า’ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคแรงงานซึ่งมีนโยบายหัวก้าวหน้าที่คล้ายคลึงกัน หากที่นั่งในสภาของทั้งสองพรรครวมกันยังไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ยังมีพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคชาติเวลส์ และพรรคกรีนส์ ซึ่งมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน เรียกได้ว่าพรรคแรงงานมีตัวเลือกในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มากกว่าพรรคอนุรักษนิยมพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยและในหลายประเทศในยุโรปนั้นมีรัฐบาลพรรคผสมบ่อยครั้ง แต่สำหรับสหราชอาณาจักรจะเป็นรัฐบาลพรรคผสมเพียงครั้งที่สอง และการขาดเอกภาพอาจส่งผลเสียต่อการเจรจาข้อกำหนดออกจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของพรรค SNP พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคเล็กอื่นๆ ที่ต้องการให้มีการจัดประชามติอีกครั้งภายหลังจากที่ข้อกำหนดการสิ้นสมาชิกสภาพยุโรปได้เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งอาจเกิดการต่อต้านที่รุนแรงจากฝ่ายที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปทั้งในพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงาน

 

ความเป็นไปได้แบบที่สาม: รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมมีที่นั่งมากที่สุดในสภา แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งและขาดเพียงไม่กี่ที่นั่ง

     ในกรณีนี้ นางเมย์จะมีทางเลือก 2-3 ทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงของพรรคที่อาจมาเป็นพรรคร่วมกับพรรคอนุรักษนิยมได้ ทางเลือกที่ดูชัดเจนที่สุดคือการเข้าร่วมกับรัฐบาลผสมกับพรรคที่มีนโยบายใกล้เคียงกับพรรคอนุรักษนิยม อย่างเช่น พรรคเอกราชสหราชอาณาจักร และพรรคฝ่ายขวาในไอร์แลนด์เหนือ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้จะเกิดขึ้นได้หากพรรคอนุรักษนิยมมีที่นั่งขาดเพียง 5-10 ที่นั่ง เนื่องจากว่าพรรคทั้งสองนี้มีขนาดที่เล็กมากและไม่น่าจะชนะที่นั่งในสภาจำนวนมาก ขณะที่สำหรับพรรคอื่นโดยส่วนมากมีนโยบายตรงข้ามกับพรรคอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน และต่างยืนยันที่จะเลือกเป็นฝ่ายค้านต่อนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลอนุรักษนิยม แทนที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาล จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่พรรคอื่นๆ จะเลือกผิดสัญญากับผู้สนับสนุนของตนเอง ทางเลือกสุดท้ายของพรรคอนุรักษนิยมคือ การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยอาศัยการสนับสนุนของพรรคเล็กอื่นๆ ในการผ่านกฏหมายต่างๆ เป็นครั้งๆ ไป

     ไม่ว่าโฉมหน้ารัฐบาลอนุรักษนิยมจะออกมาในรูปแบบใด การเสียเสียงข้างมากในสภาจากการยุบสภา น่าจะนำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรีเมย์ สิ่งที่น่าจับตามองในความเป็นไปได้แบบที่สามนี้ ก็คือใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม (และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยทันที) และมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้นำพรรคคนใหม่ อาจจะมีทัศนคติต่อเรื่อง Brexit ที่แตกต่างออกไปจากนายกรัฐมนตรีเมย์ เช่น สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในตลาดร่วมสหภาพยุโรปต่อไป เป็นต้น  

 

ความเป็นไปได้แบบที่สี่: ไม่มีพรรคใดมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งและทั้งสองพรรคใหญ่ไม่สามารถเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

     ในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของสหราชอาณาจักรนั้น ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีเพียงในปี ค.ศ. 2010 เท่านั้นที่ทั้งสองพรรคหลักมีที่นั่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาในคราวนั้น พรรคอนุรักษนิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ ถึงแม้ว่านโยบายของทั้งสองพรรคจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่การมาร่วมจัดตั้งพรรครัฐบาลทั้งที่มีจุดยืนต่างกัน ก็ส่งผลเสียต่อพรรคเสรีประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องผิดสัญญาจากนโยบายที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายเรื่องการคงค่าเทอมระดับมหาวิทยาลัยในอังกฤษ คะแนนความนิยมของพรรคเสรีประชาธิปไตยตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความนิยมในตัวรองนายกรัฐมนตรีนิก เคล็กก์ ส่งผลให้พรรคเสียที่นั่งในสภาถึง 49 ที่นั่ง คงเหลือเพียง 8 ที่นั่งในปี ค.ศ. 2015

     บทเรียนของพรรคเสรีประชาธิปไตยครั้งนั้นทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคที่มีนโยบายตรงข้ามกับพรรคอนุรักษนิยม อย่างพรรค SNP พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคกรีนส์ พรรคชาติเวลส์ น่าจะหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยม ถึงแม้ว่าพรรคอนุรักษนิยมอาจจะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภา คงเหลือแต่เพียงพรรคเอกราชสหราชอาณาจักร หรือ UKIP ซึ่งรณรงค์การออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับพรรคอนุรักษนิยมมากที่สุด แต่ในขณะนี้เป็นที่สังเกตว่า ผู้สนับสนุนพรรคเอกราชสหราชอาณาจักรนั้นหันกลับไปสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมตามเดิม เนื่องจากสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการแล้ว ส่งผลให้พรรคเอกราชสหราชอาณาจักรอาจจะคงเหลือที่นั่งในสภาเพียง 1 ที่นั่ง จากการหันไปสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยม และไม่สามารถช่วยจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคอนุรักษนิยมได้

     ในกรณีที่พรรคอนุรักษนิยมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และที่นั่งพรรคแรงงาน รวมกับพรรคแนวหัวก้าวหน้าอื่นๆ มีที่นั่งรวมกันน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือไม่สามารถตกลงร่วมรัฐบาลกันได้ สถานการณ์นี้จะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร และนำไปสู่ความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทางออกเดียวคือจะต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาแตกต่างจากครั้งเดิม สหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน และขาดผู้นำในการเจรจาข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019

 

ความเป็นไปได้ในแต่ละแบบและผลกระทบต่อประเทศไทย

     รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งในขณะนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ก็ดูจะไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ มุ่งเน้นที่จะออกจากสมาชิกสภาพของสหภาพยุโรปและตลาดร่วม ในกรณีนี้สหราชอาณาจักรจะต้องมองหาตลาดอื่นๆ นอกสหภาพยุโรปในการส่งออกและนำเข้า ประเทศไทยอาจจะได้รับผลดีจากรัฐบาลนี้ในระยะยาว หากมีการตกลงเจรจาสัญญาการค้าระหว่างกันได้

     รัฐบาลผสมพรรคแรงงานมีนโยบายออกจากสหภาพยุโรปแบบเดียวกับพรรคอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ และพรรคเสรีประชาธิปไตย มีความต้องการให้มีการจัดประชามติอีกครั้งภายหลังจากการเจรจาข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรปสิ้นสุดแล้ว และให้ผู้มีสิทธิโหวตเลือกรับรองหรือไม่รับรองข้อตกลง หากผลประชามติออกมาไม่รับรอง พรรคเหล่านี้อาจผลักดันให้พรรคแรงงานอยู่ในตลาดร่วมสหภาพยุโรปต่อไป หรือแม้กระทั่งพิจารณาการออกจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง ในกรณีนี้ผลกระทบเรื่อง Brexit ก็จะถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ และสหราชอาณาจักรอาจคงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหภาพยุโรปต่อไป

     หากพรรคอนุรักษนิยมยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เสียเสียงข้างมากในสภา ผลกระทบต่อประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับว่าใครได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการลาออกของนางเมย์ และสุดท้ายหากไม่มีพรรคใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ความไม่แน่นอนจะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างน้อยในระยะสั้น

     ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่น่าจับตามองก็คือ หากพรรค SNP เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคแรงงาน ทางพรรค SNP อาจกดดันพรรคแรงงานให้มีการจัดประชามติประเด็นการเป็นเอกราชของสกอตแลนด์อีกครั้ง ซึ่งนายคอร์บินจะถูกกดดันให้เลือกระหว่างการอยู่รอดของสหราชอาณาจักร และการอยู่รอดของรัฐบาลพรรคแรงงานของตนเอง

 

Cover Photo: LEON NEAL, LESLEY MARTIN and OLI SCARFF, AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising