×

ลุยจุดสร้าง ‘หอชมเมือง’ ที่ดินติดไอคอนสยาม รัฐยันโปร่งใส ชาวบ้านกลัวกระทบ

30.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หลังจากเป็นกระแสข่าวในสื่อต่อกรณีการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ วันนี้ อธิบดีกรมธนารักษ์พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูสถานที่ก่อสร้างและยืนยันว่า มีความโปร่งใส เอกชนเป็นผู้ลงทุน และกรรมสิทธิ์ทั้งหมดจะเป็นของรัฐ
  • อธิบดียืนยันว่าไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใด และจะมีมาตรการในการติดตามกำกับดูแลตลอดสัญญาการก่อสร้าง
  • ประธานกรรมการมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร คือนายพนัส สิมะเสถียร ปัจจุบันเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการ ‘ไอคอนสยาม’ (Icon Siam) ที่อยู่ใกล้กับที่ดินแปลงนี้
  • ด้านประชาชนในชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดก่อสร้าง มีความกังวลต่อกระบวนการก่อสร้างทั้งเรื่องเสียงและฝุ่น อยากให้จัดการให้ชาวบ้านด้วย

     ที่ดินราชพัสดุ เลขทะเบียนที่ กท.3275 ตั้งอยู่ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร หรือบริเวณซอยเจริญนคร 7 มีขนาด 4 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ลักษณะคล้าย ‘ที่ดินตาบอด’ เดิมเป็นที่ตั้งของกองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ ปัจจุบันย้ายไปอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ จึงไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานแล้ว

     ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เพื่อก่อสร้าง ‘หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร’ และให้สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

 

 

     โครงการก่อสร้างนี้มีมูลค่ารวม 4,621.47 ล้านบาท ประกอบด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,422.96 ล้านบาท และมูลค่าที่ดินราชพัสดุ 198.51 ล้านบาท

     เกิดคำถามมากมายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ทั้งจากสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวเอง และกระแสในสังคมออนไลน์ ที่ต่างออกมาตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้ ในหลากหลายประเด็น

     THE STANDARD ลงพื้นที่พร้อมกรมธนารักษ์ในวันนี้ (30 มิถุนายน) เพื่อสำรวจที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว รวมทั้งพูดคุยกับประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้าง

     และต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่

 

 

สภาพพื้นที่ต้องเข้าทางชุมชน ติดโครงการใหญ่ของเอกชน

     หากมองจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา จะพบพื้นที่สีเขียวที่ปัจจุบันมีสภาพรกร้างว่างเปล่า ซึ่งเมื่อก่อนเคยใช้เป็นที่ตั้งของกองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ แต่ในปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว เป็นพื้นที่ขนาด 4 ไร่ มีชุมชุน ‘มัสยิดสุวรรณภูมิ’ ตั้งขนาบข้าง ส่วนอีกด้านติดกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของเอกชนที่มีชื่อว่า ‘โครงการไอคอนสยาม’ ซึ่งถูกกั้นด้วยลำรางสาธารณะ ประตูระบายน้ำ ‘วัดทองเพลง’ และยังมีอาคารพาณิชย์หลายคูหาซึ่งสร้างขวางด้านหน้าฝั่งชุมชนเอาไว้ จึงลำบากที่จะเดินทางเข้ามา

     ขณะนี้พื้นที่ด้านข้างกำลังมีการก่อสร้างโครงการไอคอนสยาม แต่การจะเข้าไปยังที่ราชพัสดุแปลงนี้ได้ ต้องเดินผ่านชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร 7 ที่เป็นซอยแคบ และ​ต้องจอดรถไว้ปากทาง จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไป และค่อยๆ ลัดเลาะจนมาทะลุยังที่ดินแปลงนี้ หรืออาจต้องใช้บริการทางเรือ ซึ่งริมฝั่งน้ำของที่ดินแปลงนี้มีเรือหางยาว และเรือให้บริการต่างๆ มาจอดพักอยู่จำนวนหลายลำ

 

 

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปยังเฟซบุ๊ก ICONSIAM จะเห็นภาพจำลองการใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการไอคอนสยาม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบประสมริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความร่วมมือของสยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (ในเครือเจริญโภคภัณฑ์) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งพื้นที่ด้านข้างของไอคอนสยาม ก็คือ พื้นที่ที่จะใช้สร้างหอชมเมืองในอีกไม่นานนี้

     เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วในอนาคตหากมีการสร้างหอชมเมืองแล้วจะมีการบริหารจัดการอย่างไรในเรื่องพื้นที่สัญจรเข้าออก และจะกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบข้างหรือไม่

 

 

     พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า พื้นที่นี้ถูกปล่อยรกร้างไว้แล้วไม่มีใครมายื่นเช่า เพราะหากจะต้องเช่าตามระเบียบแล้วจะต้องเช่าหมดทั้งแปลง ไม่สามารถแบ่งเช่าได้ และโครงการก่อสร้างอาคารหอชมเมือง เมื่อมองจากสภาพที่ตั้งแล้ว ในอนาคตหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จและต้องเดินทางเข้ามา นอกจากจะมาทางเรือ ยังมีทางเข้าที่จะต้องต่อเชื่อมมาจากฝั่งโครงการของเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่รั้วเดียวกันกับพื้นที่ราชพัสดุ แต่จะต้องมีการออกแบบทางเข้ามา เนื่องจากฝั่งที่ติดกับโครงการของเอกชนมีลำรางสาธารณะ คือประตูระบายน้ำกั้นอยู่ ซึ่งจะต้องไปหารือกับทาง กทม. และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของมูลนิธิหอชมเมืองที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะพื้นที่ของชุมชนและมัสยิดสุวรรณภูมิที่มีประชาชนอาศัยอยู่ จะต้องหาวิธีพัฒนาและทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย

 

 

     ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เมื่อโครงการไอคอนสยามสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีบริการรถรับ-ส่งไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี และโครงการนี้ก็จะมีการร่วมทุนกับกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีทอง เชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าเข้ากับศูนย์การค้าอีกด้วย ทำให้การเดินทางมายังหอชมเมืองอาจได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้

     แต่ก็ยังมีคำถามคาใจจากหลายส่วนถึงการไม่เปิดประมูลที่ดินแปลงนี้ รวมทั้งงบประมาณที่จะดำเนินโครงการนี้ ตกลงแล้วมาจากงบประมาณภาครัฐด้วยหรือไม่

 

 

โปร่งใสแค่ไหน ทำไมไม่เปิดประมูล เอื้อประโยชน์เอกชน?

     นายพชร ยืนยันว่า เหตุผลที่ไม่มีการเปิดประมูล เนื่องจากโครงการมีลักษณะเชิงสังคม ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับเป็นการดำเนินงานประชารัฐ ตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล อันจะสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ ‘ศาสตร์พระราชา’ มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

     อีกทั้งจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destination ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และรายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล ซึ่งโครงการได้มีเงื่อนไขให้มูลนิธิฯ วางข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำเงินดังกล่าวสนับสนุนโครงการและหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0

 

 

     “และเพื่อให้เกิดความสบายใจต่อทุกฝ่ายถึงความโปร่งใส กรมธนารักษ์ยืนยันกับสื่อมวลชนและฝากไปถึงพี่น้องประชาชนว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างละเอียดเคร่งครัด”

     นายพชรได้ระบุด้วยว่า การดำเนินการก่อสร้างคาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการขั้นตอนพิจารณาต่างๆ ประมาณ 3 เดือน ก็จะมีการสัญญากับทางมูลนิธิ และส่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีการกำกับดูแลตามสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความโปร่งใสต่อคำถามถึงการเอื้อประโยชน์ เพราะท้ายที่สุดแล้วกรรมสิทธิ์ภายหลังการก่อสร้างจะตกเป็นของรัฐ

     ขณะเดียวกันนายพชรยืนยันอีกว่า เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง ตามมูลค่าที่ได้มีการนำเสนอไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณจากภาครัฐแต่อย่างใด รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล ไม่มีการปันผลหรือนำกำไรมาแบ่งปันกันแต่อย่างใด

     พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวยืนยันว่างบที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นงบประมาณของมูลนิธิฯ และอีกส่วนก็เป็นการลงขันระหว่างนักธุรกิจภาคเอกชน ไม่มีงบของรัฐแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งได้ค่าเช่าที่ด้วย

     ขณะที่ก่อนหน้านี้ในการเปิดตัวโครงการแสงแห่งความภาคภูมิ มูลนิธิหอชมเมือง ได้ระบุเช่นกันว่า เงินทุนในการก่อสร้างโครงการมูลค่า 4,621 ล้านบาท จะไม่ใช่เงินงบประมาณของรัฐบาลแต่อย่างใด โดยจะเป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชนกว่า 50 สถาบัน ที่มีปณิธานร่วมกัน ทั้งนี้ภายในหอชมเมืองจะไม่มีพื้นที่เพื่อการพาณิชย์และพื้นที่เพื่อการค้าขาย

 

 

มูลนิธิหอชมเมืองมาจากไหน ใครเป็นใคร

     เมื่อย้อนไปดูที่มาของมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พบว่า สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ เลขที่ 989 ชั้น 20 ยูนิตบี ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อก่อสร้างและบริหารวัตถุเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500,000 บาทถ้วน มีนายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 4 คน

     ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 ได้มีการยื่นจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนสำนักงานของมูลนิธิ และในวันที่ 10 มกราคม 2560 มูลนิธิหอชมเมืองมีการจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ ข้อ 1 เป็น ก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

     ประธานกรรมการมูลนิธิฯ จดทะเบียน ประกอบด้วย นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ มีชื่อเป็นซีอีโอของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์

     ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็นนายพนัส สิมะเสถียร ปัจจุบันเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการไอคอนสยาม (Icon Siam) ที่อยู่ใกล้ที่ดินแปลงนี้

     ขณะที่การก่อสร้างหอชมเมืองครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้ทำการเปิดตัวโครงการแสงแห่งความภาคภูมิ ซึ่งมาจากความร่วมมือองค์กรและสถาบันเอกชนกว่า 50 องค์กร โดยจะจัดแสดงในภูมิสถานแห่งความดีที่ทุกภาคส่วนร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมหอชมเมือง ที่มีความสูง 459 เมตร ซึ่งรวมกันเป็นเลข ‘9’ หมายถึงความเจริญก้าวหน้า ผ่านการอนุมัติการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2559

     ทั้งนี้การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจในมาจากการจุดเทียนชัยถวายพระพร เป็นภาพลักษณ์ประดุจเทียนชัยแห่งสยาม อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

 

เสียงสะท้อนจาก ‘ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ’ ใกล้จุดสร้างหอ

     ด้าน ป้าสมสุข สมทรง ประธานชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ กล่าวถึงชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิว่า มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี โดยจุดเริ่มต้นของชุมชนเริ่มมาจากชาวมุสลิมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตราด อพยพมาอยู่รวมกันและยังมีคนพุทธหรือคนไทยเชื้อสายจีนผสมอยู่ด้วย ผู้คนเริ่มต้นจากการประกอบอาชีพเกี่ยวกับน้ำ เช่น ค้าขาย จับปลา ดำน้ำหาของเมื่อเรือสินค้าล่ม นอกจากนี้ที่ตั้งของชุมชนยังอยู่ริมน้ำฝั่งตรงกันข้ามกับกรมศุลกากรเก่าด้วย

     ในปัจจุบันชุมชนมีประชากรกว่า 300 คน 63 ครัวเรือนเป็นชาวมุสลิมประมาณ 90% มีคณะกรรมการชุมชน 7 คนในการปรึกษาหารือ ตัดสินใจในประเด็นต่างๆ และมีมัสยิดเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน

 

 

     ตั้งแต่มีความคิดที่จะริเริ่มโครงการก็มีตัวแทนจากมูลนิธิเข้ามาอธิบาย พูดถึงนโยบายและจุดประสงค์ในการสร้างหอชมเมือง ซึ่งทางชุมชนก็รู้สึกยินดีและเห็นด้วยเพราะนอกจากจะทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักและได้รับประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงดูแลราษฎรให้อยู่ดีมีสุขมาตลอด

     ส่วนเรื่องที่น่ากังวลคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศหรือเสียงที่จะกระทบต่อผู้คนในชุมชน ตัวแทนบริษัทที่ได้ก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยและศูนย์การค้าไอคอนสยามได้เข้ามาพูดคุยและคอยดูแลปัญหาอยู่เสมอ เช่น พื้นดินในชุมชนทรุดก็มีการซ่อมแซมให้ ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมก็มีการติดตั้งเครื่องวัดค่ามลพิษและคอยตรวจสอบ

     แต่ถึงอย่างนั้นในส่วนของการสร้างหอชมเมืองในอนาคต ซึ่งจะขยับเข้ามาใกล้กว่าโครงการไอคอนสยาม ก็ยังมีความกังวลต่อกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งอยากฝากให้ผู้ก่อสร้างช่วยดูแลเรื่องเสียงรบกวน และผลกระทบอื่นๆ กับทางชุมชน จึงอยากฝากให้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ด้วย

 

 

 

ได้อะไรจากการสร้างหอชมเมือง

     นายพชรเปิดเผยว่า ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างผลตอบแทนทางภาพรวมระบบเศรษฐกิจของประเทศได้กว่าปีละ 46,857 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มจำนวนวันพักในไทยขึ้นเฉลี่ยอีก 1 คืน

     – รัฐจะมีรายได้จากค่าเช่าที่ โดยกรมธนารักษ์จะคิดอัตราปกติคือ ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ สำหรับค่าประเมินที่ดินในปี 2559-2560 นั้น อยู่ที่ 178 ล้านบาทเศษ ส่วนราคาตลาดของที่ดินแปลงนี้อยู่ที่ประมาณ 198 ล้านบาท โดยจะคิดค่าเช่าในอัตรา 40% ของราคาประเมินที่ดิน หรือคิดเป็นค่าเช่าตกปีละ 4 แสนบาท และจะเพิ่มขึ้น 15% ในทุกๆ 5 ปี ขณะที่ในช่วงแรกเริ่มของการก่อสร้าง จะต้องจ่ายชดเชยให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลค่า 50 กว่าล้านบาท บริษัทเอกชนได้รับสิทธิ์การเช่าที่ดินและอาคารภายใต้ระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญาเช่า

     – กรรมสิทธิ์ของหอชมเมืองทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐนับตั้งแต่วันที่สร้างเสร็จ และรัฐไม่ต้องออกเงินงบประมาณในการก่อสร้าง

     – ได้หอชมเมืองที่เป็นหน้าตาของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในต่างจังหวัดก็มีหลายที่ รวมทั้งกำไรที่ได้จากการบริหารจัดการจะต้องเป็นไปเพื่อสาธารณะประโยชน์

     – ใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงทั้งทางด้านการออกแบบ วิศวกรรมและการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียน นิสิต  นักศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้ในขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

 

 

     หากการก่อสร้างหอชมเมืองนี้แล้วเสร็จ จะกลายเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในเมืองไทย โดยมีความสูงที่ 459 เมตร และมีพื้นที่ใช้สอยรวม 22,281 ตารางเมตร ขณะเดียวกันมีความสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

     ถึงที่สุดยังตอบไม่ได้แบบเป็นรูปธรรมทั้งหมดว่า สิ่งที่จะได้มานั้นจะเป็นไปอย่างที่วาดฝัน วางแผนไว้หรือไม่ และโครงการจะเดินไปอย่างที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ขนาดไหน จึงต้องจับตาทุกย่างก้าวไม่ว่าโครงการใดก็ตาม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X