×

สะพานคนเดินศิริราช-ท่าพระจันทร์ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ หรือทัศนอุจาดที่คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องการ?

17.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวคิดจะสร้างทางเดินลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าศิริราช-ท่าพระจันทร์มาแล้วตั้งแต่ปี 2554โดยตั้งใจจะทำเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ล่าสุด กทม. หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งในปี 2559
  • รูปแบบล่าสุดของสะพานที่ถูกนำเสนอในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา สำนักข่าวมติชนรายงานว่า สะพานจะมี 2 ชั้น ความสูงระหว่างชั้น 4 เมตร ตัวสะพานมีพื้นที่กว้าง 9 เมตร มีลิฟต์ บันไดเลื่อน และรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราช ใช้งบประมาณ 1,710 ล้านบาท
  • รศ. ชาตรี ประกิตนนทการ ให้ความเห็นว่าสะพานดังกล่าวจะกลายเป็น ‘ทัศนอุจาด’ เพราะทั้งสูงและน่าเกลียด ที่สำคัญคือไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ตามหลักวิชาการอย่างที่ควรจะเป็น
  • ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Lek Parinya ระบุว่า คนกรุงเทพฯ อาจกำลังติดกับดัก เพราะประเด็นไม่ใช่ว่าสะพานจะสวยหรือไม่สวย แต่จริงๆ แล้วกระบวนการผิดตั้งแต่ต้น เพราะควรมีการศึกษาในกรอบโครงการที่กว้างกว่านี้

     แม้จะมาแบบเงียบๆ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นกระแสให้วิพากษ์วิจารณ์จนได้ สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษา สำรวจ และออกแบบสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ท่าศิริราช ที่มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

     สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามตั้งแต่ต้นอาจสงสัยว่าโครงการนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมหลายคนถึงออกมาคัดค้านทั้งที่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เพื่อสะท้อนความคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับแลนด์มาร์กแห่งใหม่บนแม่น้ำเจ้าพระยา THE STANDARD รวบรวมหลากหลายเสียงสะท้อนที่คุณควรรู้ไว้เกี่ยวกับสะพานแห่งนี้

สะพานต้องมีความน่ามองด้วย แต่จากรูปแบบที่ออกมาไม่ได้น่ามองเลย เพราะฉะนั้นมันเป็นทัศนอุจาด

 

แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ชาวกรุงเทพฯ และชาวฝั่งธนฯ ภาคภูมิใจ?

     ในความเป็นจริงแล้วโครงการนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่เอี่ยม เพราะก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวคิดจะสร้างทางเดินลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าศิริราช-ท่าพระจันทร์ มาแล้วตั้งแต่ปี 2554 ในสมัยที่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยตั้งใจจะทำเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา อีกทั้งท่าเรือข้ามฟากวังหลัง (ศิริราช)-ท่าพระจันทร์ ยังมีผู้ใช้บริการเรือข้ามฟากเป็นจำนวนมากถึง 50,000-60,000 คนต่อวัน ซึ่งการใช้บริการเรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย แนวคิดการสร้าง ‘สกายวอล์ก’ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจึงถือกำเนิดขึ้น

     แต่แล้วโครงการนี้ก็เงียบหายไป จนล่าสุด กทม. หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งในปี 2559 โดยจัดทำเป็นโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษา สำรวจ และออกแบบสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์-ท่าศิริราช ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาแล้ว 3 ครั้ง คือ 11 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นการปฐมนิเทศโครงการ ครั้งที่ 2 คือ 15 ธันวาคม 2559 และครั้งล่าสุดคือวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่สื่อหลายสำนักหยิบยกไปพูดถึง

 

 

     สำหรับรูปแบบล่าสุดของสะพานที่ถูกนำเสนอในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา สำนักข่าวมติชนรายงานว่า สะพานจะมี 2 ชั้น ความสูงระหว่างชั้น 4 เมตร ตัวสะพานมีพื้นที่กว้าง 9 เมตร มีลิฟต์ บันไดเลื่อน และรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราช ใช้งบประมาณ 1,710 ล้านบาท

     “สะพานนี้มีทั้งทางเดินและทางจักรยาน นักท่องเที่ยวจากสนามหลวงสามารถขี่จักรยานไปฝั่งธนบุรีได้ สามารถเดินชมวิว เปิดมุมมองถ่ายภาพ เป็นแหล่งพักผ่อน ออกกำลังกายได้ทั้งชั้นบนและล่าง บันไดเลื่อน ลิฟต์คล้ายทางขึ้นลงบีทีเอส แต่ลิฟต์ใหญ่กว่า ส่วนบันไดก็มีร่องให้เข็นจักรยาน นอกจากนี้ยังมีรถกอล์ฟให้บริการด้วย” ตรีนิติ บุญกิจการ สถาปนิกผู้ออกแบบสะพานกล่าวในที่ประชุมตามรายงานของสำนักข่าวมติชน

     นอกจากนี้มติชนยังรายงานว่า ขณะที่ที่ประชุมได้เปิดเวทีให้ตัวแทนชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็น มีชาวบ้านหลายรายได้ลุกขึ้นขอบคุณที่มีโครงการดังกล่าว โดยเชื่อว่าจะเป็นแลนด์มาร์กของฝั่งธนบุรี มีการยกมือสนับสนุนและปรบมือแสดงความพอใจต่อโครงการอย่างมาก โดยเฉพาะชาวฝั่งธนฯ อย่าง ชัยยุทธ สุวรรณเสนีย์ ที่กล่าวในเวทีแสดงความคิดเห็นว่า ฝั่งธนบุรีเหมือนลูกเมียน้อยมานาน ที่ผ่านมาตนติดตามโครงการมาหลายปี เชื่อว่าหากสะพานแล้วเสร็จจะมีคนเดินทางเข้ามาในย่านฝั่งธนฯ เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ และชาวฝั่งธนฯ บางส่วนต้องการแลนด์มาร์กแห่งใหม่ล่าสุดนี้ขนาดไหน

     แต่ถึงอย่างนั้น ในอีกมุมก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของโครงการดังกล่าว นักวิชาการบางคนถึงขั้นให้นิยามโครงการนี้ว่าเป็น ‘ทัศนอุจาด’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนแม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำของเราเป็นแม่น้ำระดับชาติ แต่กระบวนการที่จำกัดกรอบความคิดจนเกินไป ในตอนท้ายจึงได้ออกมาเป็นแบบก่อสร้างง่อยๆ อันหนึ่ง

 

‘ทัศนอุจาด’ สิ่งปลูกสร้างอัปลักษณ์ที่ไม่ได้มาจากการศึกษาความเป็นไปได้

     รศ. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือผู้ให้คำนิยามโครงการนี้ว่าเป็น ‘ทัศนอุจาด’ โดยให้ความเห็นกับ THE STANDARD ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวโดยตรงกว่า 20 ปีว่าไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการนี้

     “เท่าที่ดูแล้วเหมือนกับว่าต่างประเทศมีอะไร เราก็อยากจะมีบ้าง อย่างก่อนหน้านี้เขามีลอนดอนอาย เราก็อยากจะมีแบงค็อกอายบ้าง สุดท้ายก็ออกมาเป็นหอชมเมือง กทม. โครงการนี้ก็เช่นเดียวกัน เข้าใจว่าผู้ที่ผลักดันโครงการคงไปเห็นมิลเลนเนียมบริดจ์ ที่ลอนดอน ก็เลยอยากจะมีสะพานเดินข้ามแม่น้ำบ้าง โดยที่ไม่ได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังเลยว่าสะพานลักษณะนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในบริบทสังคมไทย”

     แม้โดยส่วนตัวจะเห็นด้วยกับโครงการสร้างสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฯ แต่จากรูปแบบสะพานที่มีการเปิดเผยออกมาล่าสุด รศ. ชาตรีมองว่าโครงการดังกล่าวมีจุดบกพร่องในหลายๆ ส่วน

     จุดแรกคือกระบวนการและที่มาของโครงการที่ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ หรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ซึ่งส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีการศึกษา แต่ไม่เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบหรือไม่ นอกจากนี้แบบการก่อสร้างยังมีปัญหาอย่างน้อย 6 จุดสำคัญ เช่น มีตอม่อที่ปักลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนั้นเป็นช่วงที่แคบ ทำให้ตอม่อดังกล่าวอาจส่งผลต่อกระแสน้ำและการเดินเรือ ซึ่งที่ผ่านมากรมเจ้าท่าก็เคยแสดงความกังวลเอาไว้ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2

     ขณะที่ทางขึ้นสะพานทั้งสองด้านกลับต้องใช้บันไดหรือลิฟต์เท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับความตั้งใจเดิมที่ตั้งใจจะสร้างให้คนเดิน และเป็นทางจักรยาน อีกทั้งแบบก่อสร้างยังยัดสะพานไว้ในพื้นที่ที่มีความแออัด เป็นการทำลายพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะ ‘ลานคนเมืองท่าพระจันทร์’ ที่จะต้องหายไป โดยมีตอม่อสะพานมาแทนที่ ส่วนรูปแบบสะพานที่มี 2 ชั้นยิ่งจะทำให้โครงการนี้มีราคาสูงโดยไม่จำเป็น ทั้งยังต้องแบกรับโครงสร้างน้ำหนักมหาศาล ทำให้ต้องมีตอม่อโดยไม่จำเป็น

     สุดท้ายคือความกว้างของสะพาน ที่ตามแบบก่อสร้างจะมีความกว้าง 9 เมตร บวกกับพื้นที่ที่ยื่นออกไปด้านข้าง ด้านละ 3 เมตร รวมเป็น 15 เมตร ซึ่ง รศ. ชาตรี มองว่ากว้างเกินความจำเป็นเมื่อเทียบกับสะพานมิลเลนเนียมที่กว้างเพียง 4 เมตร หรือสะพาน Bob Kerrey Pedestrian ข้ามแม่น้ำมิสซูรีที่กว้าง 8 เมตรเท่านั้น

     “ที่ผมสนใจโครงการในเกาะรัตนโกสินทร์ในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนา เรื่องทัศนอุจาดเป็นสิ่งที่ผมสนใจมานาน คือเวลาเราจะทำโครงการแบบนี้ที่เราเรียกว่าเป็นแลนด์มาร์ก เขามักจะอ้างว่าเวลาขึ้นไปยืนบนนั้นแล้วมองลงมาจะเห็นเมืองเก่าได้ แต่อย่าลืมนะว่าเราไม่ได้มองจากแค่บนสะพานลงมาเท่านั้น เพราะคนที่อยู่ในเมืองเก่าก็จะมองไปที่สะพานเช่นกัน ดังนั้นสะพานต้องมีความน่ามองด้วย แต่จากรูปแบบที่ออกมาไม่ได้น่ามองเลย เพราะฉะนั้นมันเป็นทัศนอุจาดแน่นอน เพราะมันทั้งสูงและน่าเกลียด

     “ปกติเวลาวิจารณ์งานสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบ ผมแทบไม่เคยวิจารณ์เรื่องความสวยงามเลย เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่อง subjective ที่แต่ละคนคงมองไม่เหมือนกัน แต่กับโครงการนี้อดไม่ไหวจริงๆ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้มีการประกวดแบบโดยเชิญสถาปนิก วิศวกรที่มีไอเดียดีๆ มาร่วมกันคิด นำแบบที่ผ่านการประกวดมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้คนในชุมชน หรือผู้เกี่ยวข้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ สุดท้ายสถาปนิกที่ชนะการประกวดก็จะได้แบบที่ดียิ่งขึ้น แล้วตรงนั้นถึงจะเริ่มนำมาสู่กระบวนการก่อสร้าง ซึ่งจริงๆ ถ้าทำแบบนี้ตั้งแต่ปี 2554 ป่านนี้สะพานก็คงเสร็จแล้ว”

     นอกจากนี้ รศ. ชาตรี ยังเสนอให้ทบทวนโครงการตั้งแต่เริ่มต้นอีกครั้ง โดยอาจจะนำสะพานรถวิ่งที่มีอยู่เดิมเป็นตัวตั้ง แล้วทำโครงสร้างเพิ่มเติมเข้าไปให้คนสามารถเดินข้ามได้อย่างสะดวก รวมทั้งยังมองว่ามีอีกหลายทางเลือกที่สามารถทำได้ แต่ต้องทำอย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ด้วย

ประเด็นไม่ใช่ว่าสะพานจะสวยหรือไม่สวย แต่จริงๆ แล้วกระบวนการมันผิดตั้งแต่ต้น ไปคิดว่าตรงนี้คนข้ามแม่น้ำกันเยอะ ก็สร้างสะพานสิ แต่ใจเย็นๆ ก่อนได้ไหม

 

กับดักความสวยงามอาจทำให้คนมองข้ามที่มาของโครงการ

     ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊ก Lek Parinya ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยอ้างว่าวันที่ 22 กรกฎาคมของปีที่แล้ว ถูกเชิญไปร่วมเป็นตัวแทนของหน่วยงานราชการเพื่อเข้าร่วมประชุมเรื่องโครงการดังกล่าว โดยวันนั้นที่ประชุมมีรูปแบบสะพาน 4 แบบให้ช่วยแสดงความคิดเห็น ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นแบบการก่อสร้างที่พร้อมจะให้ที่ประชุมตัดออก เนื่องจากมีธงในใจให้ทุกคนเลือกแบบที่ 4 อยู่แล้ว ซึ่งในวันนั้นตนเองได้ออกความคิดเห็นว่าทางเลือกที่ให้มาเป็นการศึกษาที่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ อีกทั้งยังมองว่าการเลือกพื้นที่ก่อสร้างตรงนั้นจะทำให้การก่อสร้างเป็นไปได้ยาก แต่ทางบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดการประชุมในครั้งนั้นกลับให้เหตุผลว่า “กทม. จ้างให้ศึกษาแค่จุดนี้ ไม่ได้รวมถึงขอบเขตการเลือกพื้นที่อื่น” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/lekparinya/posts/10155507760462943)

     ทาง THE STANDARD ได้ทำการติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่ง Lek Parinya ระบุว่าส่วนตัวเป็นสถาปนิกสังกัดกองโยธาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากเกรงว่าการแสดงความคิดเห็นอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพราชการ จึงไม่สะดวกจะเปิดเผยชื่อ

     ซึ่งจากการสังเกตการณ์ในฐานะที่ได้เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นพบว่า บริษัทที่ปรึกษาที่รับผิดชอบโครงการทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่มักจะได้ร่วมงานกับ กทม. บ่อยๆ และมองว่า TOR ที่ กทม. ให้กับบริษัทที่ปรึกษาค่อนข้างมีข้อจำกัดสูง โดยเฉพาะการมอบโจทย์ให้ศึกษาเฉพาะพื้นที่ดังกล่าว และสุดท้ายต้องได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบก่อสร้างเท่านั้น

     “แม่น้ำของเราเป็นแม่น้ำระดับชาติ แต่กระบวนการที่จำกัดกรอบความคิดจนเกินไป ในตอนท้ายจึงได้ออกมาเป็นแบบก่อสร้างง่อยๆ อันหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ ถ้าเปิดให้มีการประกวดแบบ ผลงานที่ออกมาอาจถึงขั้นเป็นงานระดับโลก เหมือนในต่างประเทศที่เวลาจะก่อสร้าง เขาเริ่มทำการศึกษาเลยว่าสะพานนี้ควรจะตั้งอยู่ตำแหน่งไหน รูปแบบสะพานควรจะเป็นอย่างไร แต่สำนักการโยธาฯ ผู้รับผิดชอบกลับจำกัด TOR หรือเงื่อนไขให้บริษัทที่ปรึกษาว่าผลการศึกษาจะต้องออกมาเป็นแบบก่อสร้างเท่านั้น สุดท้ายก็เลยออกมาเหมือนทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังคุยกันไม่จบเลยว่าควรจะมีทางเลียบหรือไม่ แต่มีแบบก่อสร้างออกมาแล้ว

     “ผมกำลังคิดว่าถ้าสมมติพรุ่งนี้ กทม. กับบริษัทที่ปรึกษาเปลี่ยนแบบการก่อสร้างไปเลย แล้วออกมาสวยเหมือนกับนอร์แมน ฟอสเตอร์ (สถาปนิกระดับโลกชาวอังกฤษ) ออกแบบ ทุกคนจะโอเคไหม?

     “เรากำลังติดกับดักอะไรหรือเปล่า เพราะประเด็นไม่ใช่ว่าสะพานจะสวยหรือไม่สวย แต่จริงๆ แล้วกระบวนการมันผิดตั้งแต่ต้น ไปคิดว่าตรงนี้คนข้ามแม่น้ำกันเยอะ ก็สร้างสะพานสิ แต่ใจเย็นๆ ก่อนได้ไหม บางทีคนเขาอาจจะอยากข้ามเรือเหมือนเดิมก็ได้ แต่ขอให้ขึ้นเรือได้สะดวก คือมันมีอีกล้านแปดทางเลือกที่จะทำให้คนสัญจรได้สะดวกกว่านี้”

     นอกจากนี้ Lek Parinya ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวอยากให้โครงการนี้เป็นการกระตุ้นเตือนหน่วยงานราชการไม่ให้ทำแบบนี้อีก ไม่ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษาในโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือถ้าหากอยากทำจริงๆ ก็ควรมีการประกวดแบบ และมีกระบวนการที่คิดนอกกรอบมากกว่านี้

     “สะพานคนเดินผมเห็นด้วยนะ สร้างที่ไหนก็ดี เพราะมันเหมือนเป็นการเชื่อมต่อระหว่างย่าน การเชื่อมย่านก็เหมือนการเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่คนกรุงเทพฯ ต่างโหยหากันมาก จะได้เป็นที่ที่ทำให้คนมาเดินเล่นโดยไม่ต้องเข้าห้าง แต่กระบวนการตอนนี้มันเป็นการกลัดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่ต้น เราไม่ควรโกรธที่สะพานไม่สวย แต่ควรโกรธกระบวนการห่วยๆ ที่ทำให้สะพานไม่สวย

     แน่นอนว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งเพียงเท่านั้น เพราะต่อจากนี้คงต้องยกหน้าที่ให้ชาว กทม. ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวให้มากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าทาง กทม. จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่มีประสิทธิภาพจริงๆ หรือไม่ เพราะหากไม่เป็นอย่างนั้น สุดท้ายโครงการนี้อาจกลายเป็นแลนด์มาร์กที่คนกรุงเทพฯ ไม่ภาคภูมิใจก็เป็นได้

 

Photo: สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X