×

เมื่อ พ.ร.บ. บัตรทองกำลังจะเปลี่ยนไป ใครได้ ใครเสีย และทำไมจึงต้องคัดค้าน

06.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ รวมตัวคัดค้านกระบวนการประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะมองว่ากระบวนการแก้กฎหมายไม่มีธรรมาภิบาล และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง
  • นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตั้งคำถามสำคัญถึงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวว่า ถ้าอำนาจในการบริหารจัดการอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ให้บริการ “เราจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่าประชาชนจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ” พร้อมเรียกร้องให้เริ่มต้นกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น
  • นพ. พลเดช ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ ยืนยันว่าความคิดเห็นทุกเสียงจะมีความหมาย พร้อมย้ำว่ากระบวนการประชาพิจารณ์เปิดกว้างเพียงพอและมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

     กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้างอีกครั้ง สำหรับความพยายามแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังจะยกเลิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2545 หรือไม่

     แม้ภายหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะออกมายืนยันว่าการยกเลิกระบบบัตรทองเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าความกังวลใจของเครือข่ายภาคประชาชนจะไม่ได้หายไปไหน

     ล่าสุดในวันนี้ (6 มิถุนายน 2560) เครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ได้นัดชุมนุมคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง โดยชูประเด็นคัดค้านกระบวนการแก้กฎหมายที่ไม่มีธรรมาภิบาล และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง

     ไม่ว่าคุณจะเคยใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเรื่องสำคัญที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรักษาพยาบาลของคนไทยนับล้านคน

ประเด็นที่เราลุกขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า ถ้าคุณจะเปิดรับฟังเสียงประชาชนจริงๆ คุณก็ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนส่งเสียงได้จริงๆ ไม่ใช่สร้างแต่รูปแบบปลอมๆ แบบนี้เพื่อจะบอกว่าฉันทำให้แล้ว

บัตรทองจะมีสถานะอย่างไรเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแล

     สำหรับเนื้อหาที่รัฐบาลเตรียมปรับแก้ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบไปด้วย 14 ประเด็นหลัก อาทิ กรอบการใช้เงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, การเหมาจ่ายรายหัว, นิยามบริการสาธารณสุข, เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ, การร่วมจ่ายค่าบริการ, การสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์, โครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ

     ขณะที่ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามและผลักดันเรื่องการยกระดับการรักษาพยาบาลมาโดยตลอดกลับมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และออกมาคัดค้านใน 3 ประเด็นหลักๆ ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพที่ไม่มีความเป็นธรรม เพราะมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการเพียง 2 คน

     นอกจากนี้เนื้อหาในการแก้ไขยังขัดกับหลักการของระบบบัตรทองเดิมที่ต้องการให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจด้วยการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ (กระทรวงสาธารณสุข) และผู้ซื้อบริการให้ประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และรูปแบบของการมีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมายที่ขาดความเหมาะสม ซึ่ง นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยกับทาง THE STANDARD ว่า

     “การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เรารู้สึกว่าไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้นทางวิธีคิด รวมถึงกลไกและกระบวนการแก้ไข ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นการให้สิทธิประชาชนที่รัฐบาลจะดูแลเมื่อเจ็บป่วย เดิมทีเป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ ทั้งการจัดทำงบประมาณเพื่อขอไปที่รัฐบาล การกำหนดว่าสิทธิประโยชน์ในการรักษาสุขภาพของประชาชนจะครอบคลุมถึงอะไรบ้าง การรักษาพยาบาลในแต่ละโรคจะต้องจ่ายในราคาเท่าไร เงินที่จัดสรรให้โรงพยาบาลจะแบ่งไปเป็นค่าอะไรบ้าง ถือเป็นตัวแทนของประชาชนในการจัดสมดุลอำนาจระหว่างสำนักงานหลักประกันฯ กับกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้ให้บริการ

     “แต่กระบวนการแก้กฎหมายที่เกิดขึ้นคือฝั่งกระทรวงสาธารณสุขเขาอยากแก้ให้เขาเป็นคนบริหารจัดการงบประมาณทั้งหมดเอง เขาอยากเป็นคนมีส่วนในการกำหนดราคาว่าถ้ารักษาโรคนี้เขาควรจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งมันจะขัดแย้งกับหลักคิดตั้งแต่แรก เพราะถ้าเขาชาร์จแพง เงินก็จะไม่เพียงพอสำหรับการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด

     “คำถามคือ ถ้าอำนาจเหล่านี้อยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ให้บริการ เราจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่าประชาชนจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ จะมียาเพียงพอ โรคบางโรคจะถูกยกเว้นไหม ที่สำคัญคือเราเกรงว่าถ้าเขาจะออกกฎกติกาบางอย่างขึ้นมา เช่น ถ้างบไม่พอ ใครไม่จนก็ต้องร่วมจ่าย หรือใครที่มีรายได้ก็ไม่ต้องใช้ระบบนี้ เพราะระบบนี้รองรับเฉพาะคนจนเท่านั้น”

     ส่วนเรื่องที่ออกมาเรียกร้องวันนี้ นอกจากเรื่องเนื้อหาของร่างพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ที่ขัดต่อหลักการเดิมแล้ว ยังรวมไปถึงกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย

     ไล่ตั้งแต่การคัดเลือกคณะกรรมการแก้ไขร่างฯ ที่มีสัดส่วนของผู้บริการภายใต้กระทรวงสาธารณสุขมากถึง 12 คนจาก 26 คน ส่วนตัวแทนจากภาคประชาชนมีเพียง 2 คนเท่านั้น รวมไปถึงการจัดทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ได้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างอย่างแท้จริง

     “เราก็พยายามส่งเสียงแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด และพยายามใช้เหตุผลในการอธิบายว่าอะไรควรแก้ ไม่ควรแก้ แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการเคารพเสียงข้างน้อยเลย ซึ่งตัวแทน 2 คนจากภาคประชาชนเป็นคนที่เกาะติดเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด และมีข้อมูลมากพอที่จะดีเบตกันในคณะกรรมการได้ แต่กลไกในกระบวนการนี้กลับไม่เป็นอารยะ ไม่ได้ฟังเหตุผลกัน แต่ใช้วิธีว่า ในเมื่อฉันมีเสียงข้างมาก ฉันก็จะเอาแบบนี้แหละ”

 

ประชาพิจารณ์ที่ถูกตั้งคำถาม

     ส่วนการทำประชาพิจารณ์ที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 รูปแบบ โดยอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะสำหรับประชาชนทั่วไปผ่านเว็บไซต์ การจัดเวทีประชาพิจารณ์ และการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ กลับมีข้อจำกัดในการเข้าถึงของประชาชนในมุมมองของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

     “คนที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีเยอะมาก ซึ่งภาครัฐพยายามบอกว่า ถ้าไม่พอใจก็ใช้ช่องทางประชาพิจารณ์สิ แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะพบว่าช่องทางที่เขาจัดให้ไม่ค่อยเป็นธรรม และไม่ได้เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขตั้งแต่แรก ถามหน่อยว่าคนที่อายุมากๆ จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่สามารถเปิดเว็บไซต์เพื่อลงชื่อจองที่นั่งในเวทีประชาพิจารณ์ หรือจะเข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ได้

     “ส่วนเวทีประชาพิจารณ์ที่จะจัดขึ้นใน 4 จังหวัดแยกตามภูมิภาค ถ้าคุณอยู่ภาคเหนือ คุณก็ต้องไปถึงเชียงใหม่ ต้องดูแลจัดการตัวเอง ไม่มีอะไรมาอุดหนุนให้คุณไปถึงเวทีเลย แถมต้องจองคิวออนไลน์ไว้ก่อนด้วยถึงจะได้ไปเพื่อจะมีโอกาสพูดแค่คนละ 3 นาที ขณะที่ภาคราชการ หรือกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้กลับมีการสนับสนุนเต็มที่ มีกลไกระดับจังหวัด มีการชี้แจงข้าราชการให้ทุกคนเข้าไปลงชื่อจองคิวกัน แล้วข้าราชการที่จะเข้าร่วมก็สามารถเดินทางไปร่วมได้โดยไม่นับเป็นวันลา แถมยังเบิกค่ารถและค่าที่พักจากต้นสังกัดได้อีกด้วย สถานะมันต่างจากประชาชนมาก

     “ผมคิดว่ากลไกแบบนี้มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เหมือนกับว่าเขาทำแล้วนะ เปิดโอกาสแล้วก็ไปเองสิ เป็นประชาชนในบ้านนี้เมืองนี้มันลำบากมากเลยนะ ประเด็นที่เราลุกขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า ถ้าคุณจะเปิดรับฟังเสียงประชาชนจริงๆ คุณก็ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนส่งเสียงได้จริงๆ ไม่ใช่สร้างแต่รูปแบบปลอมๆ แบบนี้เพื่อจะบอกว่าฉันทำให้แล้ว”

ผมจะดูแลให้มั่นใจว่าทุกความเห็นมีคุณค่าและมีน้ำหนัก ผมจะทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ส่วนหน้าที่ในการตรวจสอบติดตามต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ภาครัฐโต้ ประชาพิจารณ์โปร่งใส-ตรวจสอบได้

     ขณะที่ นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า กลไกการจัดทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้เปิดกว้างและโปร่งใสอย่างแท้จริง

     “เราจัดทุกจังหวัดไม่ได้ จัดทุกอำเภอไม่ได้ เลยต้องจัดกันเป็นภูมิภาค แน่นอนว่าการเดินทางอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่เราก็ต้องช่วยกันเองแล้วล่ะครับ คือเครือข่ายภาคประชาชนต้องช่วยกันเอง ซึ่งถึงแม้จะเดินทางมาได้จริง คนที่จะมีโอกาสพูด 3 นาทีก็จะมีน้อยมาก เพราะเวลามีจำกัด ดังนั้นถ้าคุณมาที่เวทีแล้วไม่ได้พูด คุ้มหรือไม่คุ้มก็ต้องจัดการกันเอง เราถึงมีช่องทางอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นท่านไม่จำเป็นต้องพาตัวเองมา เพราะเราไม่ได้นับจำนวน แค่อยู่ที่บ้านแล้วใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็น่าจะสะดวกกว่า

     “ส่วนเรื่องที่กังวลว่าคนอายุมากๆ จะไม่สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นได้ ผมว่าต้องช่วยกันครับ หาลูกหลาน หาหนุ่มสาวที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ ให้เขาเขียน จด หรือพิมพ์ แล้วก็ส่งมาในชื่อของคุณก็ได้ มันไม่ได้ยากอะไร ถ้าคุณกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างสำคัญก็ต้องพยายามนิดหนึ่ง”

     นอกจากนี้นพ.พลเดช ยังยืนยันว่า ทุกความคิดเห็นที่ส่งเข้ามา ไม่ว่าจะมาจากช่องทางออนไลน์หรือเกิดขึ้นบนเวทีประชาพิจารณ์ในจังหวัดต่างๆ จะได้รับการบันทึก และโปร่งใส ตรวจสอบได้

     “เป็นหน้าที่ของผมที่จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด ซึ่งเราคิดว่าเราก็มีความเที่ยงธรรมและซื่อตรงในทางวิชาการเพียงพอ ตรวจสอบได้ ทุกความคิดเห็นถ้ามีปรากฏและมีชื่อกำกับไม่ว่าทางออนไลน์หรือบนเวที จะมีการบันทึกเอาไว้ทั้งหมด เสร็จแล้วเราก็จะทำการสรุป จัดหมวดหมู่ และสังเคราะห์ข้อมูลตามระเบียบวิธีวิจัยเพื่อส่งต่อสู่กระบวนการขั้นต่อไป คือส่งมอบให้กับคณะกรรมการร่างฯ เพื่อพิจารณาว่าประชาชนมีความคิดเห็นในประเด็นไหน มาตราไหน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และเป็นหน้าที่ที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเอาเองว่าจะปรับแก้หรือไม่

     “อย่างไรก็ตาม รายงานที่ผมส่งให้คณะกรรมการร่างฯ ผมก็จะรายงานต่อสาธารณะด้วย ประชาชนจะได้รู้ด้วยว่าประเด็นไหนที่คนเป็นห่วงกันมากที่สุด และจะได้จับตาดูได้ว่าคณะกรรมการร่างฯ ได้แก้ไขจริงหรือไม่ แล้วถ้าคิดว่ารายงานสรุปชิ้นนี้เอียง อยากจะขอดูรายละเอียดก็มาได้ เราบันทึกไว้หมด”

     ในมุมมองส่วนตัว นพ. พลเดชระบุว่า ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข

     “กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นต้องแก้ เพราะมันสะสมข้อจำกัดในการปฏิบัติตามกฎหมายมานานถึง 15 ปี กฎหมายออกมาในปี 2545 สถานการณ์ในวันนั้นเป็นแบบหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยมีประสบการณ์ตรง เราออกแบบระบบรวมถึงคำจำกัดความต่างๆ ด้วยความเข้าใจและสถานการณ์ในขณะนั้น แต่พอเวลาผ่านไปทำให้เราเริ่มเห็นข้อจำกัดบางอย่าง เช่น คำจำกัดความบางอย่างที่คลุมเครือ คนหนึ่งตีความแบบหนึ่ง อีกคนตีความอีกแบบ แล้วบังเอิญว่ากฎหมายฉบับนี้มีความเกี่ยวพันกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้รับบริการหรือประชาชน ฝ่ายผู้ให้บริการ ฝ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงฝ่ายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ต้องเข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณ  ด้วยระยะเวลา 15 ปีมันก็นานพอสมควร ดังนั้นจังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการแก้ไขกฎหมาย”

     เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ นพ. พลเดชกล่าวว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และรู้สึกดีที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีจิตสาธารณะและห่วงใยบ้านเมือง เมื่อพ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลกระทบต่อคนประมาณ 49 ล้านคน ก็ควรจะต้องช่วยกันดูแลให้รอบคอบเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการมองเรื่องนี้แบบแยกขั้วและแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร

     “ผมคิดว่าเราสามารถพูดคุยกันได้ สัดส่วนของคณะกรรมการจะต้องเพิ่มแค่ไหนถึงจะเหมาะเพื่อให้เป็นตัวแทนของผู้รับบริการอย่างแท้จริง ต้องตกลงกัน ไม่ใช่มาบอกว่าคุณจะล้มฉัน ฉันจะมาล้มคุณ แบบนี้มันไม่สร้างสรรค์ ต้องหาทางออกให้กับบ้านเมือง ต้องค่อยๆ ลดโทนของการต่อสู้ โค่นล้มความไม่เชื่อมั่นหรือหวาดระแวงกัน แล้วมาหาทางออกร่วมกัน

     “ผมจะดูแลให้มั่นใจว่าทุกความเห็นมีคุณค่าและมีน้ำหนัก ผมจะทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ส่วนหน้าที่ในการตรวจสอบติดตามต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง หวังว่าทุกอย่างจะเป็นประโยชน์และดีขึ้น”

 

     ถึงวันนี้คงยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่าเรื่องนี้จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ขั้นตอนต่อจากนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะติดตามและเรียกร้องข้อเสนอต่อไปในทุกช่องทางเท่าที่พอจะทำได้ ซึ่งนิมิตร์กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า

     “สิทธิการได้รับการรักษาพยาบาลเป็นของคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น ถ้าวันหนึ่งคุณป่วยในโรคที่มีค่าใช้จ่ายเยอะจริงๆ ไอ้ที่เคยรวยๆ อยู่ก็อาจจะไม่มีเงินจ่ายได้เลยนะ มันต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงแล้วล่ะว่าเราไม่อยากเห็นการแก้กฎหมายแบบนี้ อยากให้เริ่มต้นกันใหม่ตั้งแต่การทำกรอบแนวคิดว่าจะแก้เพื่ออะไร กลไกกระบวนการมีส่วนร่วมควรจะเป็นแบบไหน และควรใช้เหตุและผลหรือข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนการแก้ไขมากกว่าจะใช้พวกมากลากไป

     “ยังไงก็ต้องส่งเสียง รู้ว่าแพ้ก็ต้องสู้ เพราะเรื่องนี้ยอมไม่ได้”

 

ภาพประกอบ: narissara k.

อ้างอิง:

      – ilaw.or.th/node/4524

      – news.thaipbs.or.th/content/262589

FYI

สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นในกระบวนการประชาพิจารณ์ต่อ (ร่าง) แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.lawamendment.go.th โดยเลือกหัวข้อร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวง ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising