×

“ประชาธิปไตยเป็นของเราทุกคน ไม่ใช่ใครจะมาขโมย” คุยกับ ‘วรัญชัย โชคชนะ’ คน(บ้า)การเมือง

24.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 mins read
  • กว่า 31 ปี ที่ ‘วรัญชัย โชคชนะ’ ตัดสินใจทิ้งชีวิตข้าราชการครูที่ถือว่ามั่นคง มาเดินในสนามการเมืองที่มีความผันผวนตลอดเวลา เขาบอกว่ามีทั้งสุขและทุกข์เกิดขึ้น แต่เขาจะไม่เลิกเดินบนเส้นทางสายนี้
  • วรัญชัยบอกว่า สังคมไทยเป็นวัฒนธรรมแบบชอบฟัง ใครมองว่าเขาบ้า เพราะฟังคนนั้นคนนี้มาก็แล้วแต่จะตัดสิน ซึ่งสิ่งนี้มันสะท้อนมาถึงตัวตนของคนคนนั้นในทางการเมืองด้วย

     กว่าจะได้คิวสัมภาษณ์ต้องคุยรายละเอียดผ่านโทรศัพท์จนเกือบสายไหม้

     ไม่ได้พูดให้ดูเวอร์วัง แม้ว่าการขอสนทนากับชายผู้นี้จะไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่ก็ต้องบอกไว้ตรงนี้เหมือนกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว ที่จะตัดบทหรือเริ่มเข้าเรื่องสักที เพราะเขาจะพาคุณไปพบกับเรื่องอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา

     แต่ในที่สุดเราก็สามารถนัดหมายเขา เพื่อเจาะลึกเรื่องราวของชายผู้มีนามว่า ‘วรัญชัย โชคชนะ’ เราให้เขาเลือกสถานที่ตามสะดวก ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นปริมณฑลท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่นอน เนื่องจากในเช้าที่มีการนัดหมายกัน เขาออกตัวว่ามีคิวต้องไปยื่นหนังสือกับคุณศรีสุวรรณ จรรยา ณ ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ก่อนที่จะต่อสายมาบอกเราอีกครั้งว่าเขาจะสะดวกพูดคุยกับเรา ต่อจากนั้นในเวลาใด คิวฮอตสุดๆ

 

 

     ว่าด้วยชื่อ ‘วรัญชัย โชคชนะ’ ถ้าใครเป็นคอการเมือง น่าจะรู้จักและต้องเคยได้ยินกิตติศัพท์เขามาบ้าง เขาเป็นมนุษย์ผู้หายใจด้วยการเมืองมาเป็นเวลา 31 ปีเต็มแล้ว ครึ่งชีวิตคือการเดินย่ำอยู่บนสนามนี้ ขยายความสนามนี้ คือฟุตบาธ ถนนหนทาง เวทีเสวนาต่างๆ นั่นแหละ

     เขาไม่ใช่คนมีตำแหน่งใหญ่โตอะไร มีคนมองว่าเขาเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ที่แค่สร้างสีสันการเมือง บ้างก็บอกว่าเขาบ้าการเมือง ถึงขนาดถูกปรามาสว่าคนชื่อ ‘วรัญชัย’ ก็แค่ตัวตลก ไม่ได้มีอะไรดีเด่เข้าท่านัก ยืนเป็นวอลล์เปปอร์ แบ็กดร็อป ฉากหลังให้กับกลุ่มการเมืองไปทั่ว ไม่รู้วันๆ ทำมาหากินอะไรกันแน่ โผล่เวทีนั้นเวทีนี้ หลอกล่อสื่อให้ทำข่าว หาวิธีสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง ชนิดที่ไม่สนใจคำครหาที่กล่าวมาข้างต้น

     อดรนทนไม่ได้ ในฐานะคนทำงานข่าว แม้จะพรรษาน้อย แต่คุ้นเคยกับคุณวรัญชัยอยู่เป็นทุน เพราะปะเหมาะ ดวงสมพงษ์ ต้องเป็นอันเจอกันตามสนามข่าว แต่เป็นสนามชีวิตของคุณวรัญชัย และต่อไปนี้คือบทสนทนาที่เราได้คุยกันแบบจริงจังกับเขาสักที

 

ก่อนจะเป็น ‘วรัญชัย’ ในวันนี้ ชีวิตที่ผ่านมาทำอะไรมาบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย

     ตอนนี้ผมอายุ 65 ปีแล้ว ผมเกิดที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วก็มาเรียนที่อุบลราชธานี จบเบ็ญจะมะมหาราช แล้วพ่อก็ส่งมาเป็นเด็กวัด เรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ จากนั้นก็เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏพระนคร เรียนจบก็ไปเป็นครูโรงเรียนเอกชน แล้วก็สอบบรรจุรับราชการเป็นครู

     ตอนนี้อยู่กินกับภรรยา มีลูกด้วยกัน 2 คน ลูกชายคนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากอุบัติเหตุ ส่วนลูกสาวอีกคนแต่งงานย้ายครอบครัวไปแล้ว เขาก็มาเยี่ยมบ้าง แต่ผมโชคดีที่มีภรรยาที่เข้าใจเรา เขาเกษียณจากงานรัฐวิสาหกิจมาแล้วตอนนี้ ก็มีเงินกินบ้าง ก่อนหน้านี้ก็มีเงินเดือนประจำจากเขา ส่วนเราก็ไม่พยายามไปรบกวนเขา เขาทำอะไรให้กินก็กิน ไม่ให้ต้องมาเดือดร้อนด้วย เพราะตั้งแต่ตัดสินใจมาลงการเมืองก็ไม่ได้ทำงานมีเงินเดือนประจำแล้ว

 

เริ่มต้นมาสนใจการเมืองตอนไหน    

     สมัยเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมยังอยู่ที่โคราช พอปี 2517 กลับกรุงเทพฯ พอมาถึงปี 2519 ก็ได้รับราชการ พอได้มาเห็นเหตุการณ์การเมืองตรงจุดนี้ ก็เลยสนใจการเมือง เริ่มพูดเริ่มฟังมาเรื่อย ไปร่วมกับเขาขับไล่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แล้วก็ไปไล่ พล.อ. เปรม ต่อ แต่ไล่ยากหน่อยอยู่ยาว 8 ปี

 

ได้ข่าวว่าถึงขนาด ‘ลาออก’ มาลงสนามการเมือง

     ตอนปี 2519 ผมเริ่มรับราชการครู พร้อมกับสนใจการเมือง หน่วยข่าวเขาก็ไปสืบว่าผมรับราชการอยู่ ก็เลยกลั่นแกล้งด้วยการสั่งย้ายผม ให้ไปสอนอยู่ไกลๆ จากโรงเรียนกิ่งเพชร แถวราชเทวี ให้ไปอยู่โรงเรียนแถวเขตหนองจอก ผมก็อดทนอยู่หลายปี จนกระทั่งปี 2528 ก็ไปขอลาออกจากราชการเพราะโดนบีบคั้นหลายเรื่อง แต่ทางผู้ใหญ่ก็บอกว่าต้องรับราชการให้ครบ 10 ปี ถึงจะได้รับบำเหน็จ ก็ทนไปอีกปี พอปี 2529 จึงตัดสินใจลาออก มาสมัคร ส.ส. มาเริ่มเคลื่อนไหวการเมือง คนเริ่มรู้จักผมตอนสมัครผู้ว่า กทม. ปี 2533 นั่นแหละ ผมสมัครผู้ว่า กทม. มา 6 สมัยแล้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อ เขต ต่างจังหวัดก็สมัคร ส.ว. ก็สมัคร

     สนามแรกผมลง ส.ส. เขตพญาไท สังกัดพรรคสหประชาไทย ปี 2529 สมัยนั้นพล.อ. เปรม เป็นนายกฯ พอมาปี 2531 สมัครผู้ว่า กทม. ได้คะแนน 13,000 กว่าคะแนน สมัยนั้นค่าสมัคร 5,000 บาท แล้วก็ขยับมาเป็น 1 หมื่น 5 หมื่น 7 หมื่น ตามลำดับ

 

 

มองว่าการเมืองตอนนั้น กับ ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

     ไปเวทีไหนก็แล้วแต่ การต่อสู้ง่ายๆ ของผมก็คือการขอแสดงความเห็น ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผมยิ่งต้องออกความเห็น รวมทั้งเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมต่อสู้เรื่องนี้ทางการเมือง เรียกว่าทั้งชีวิตเลยก็ได้

     ตั้งแต่สู้มาผมบอกได้เลยว่ายุคนี้หนักที่สุด สมัยก่อนนั้นใครมีเครื่องขยายเสียงก็ไปพูด เดินขบวนได้ ประท้วงได้ ไม่มีใครห้าม สมัยนี้หนักมาก แม้สมัยนั้นจะเป็นเผด็จการ ก็มีเสรีภาพในการแสดงออก หรืออาจจะเป็นเพราะสมัยนั้นทหารยังไม่เข้าใจหรือไม่รู้จักหากลเม็ดในการจัดการเรื่องการเมือง พูดง่ายๆ คือ เผด็จการยุคนี้ เสรีภาพที่ว่ามีอยู่น้อยนิดยังหาไม่ได้เลย

 

แล้วทำไมต้องประชาธิปไตย?

     การเมืองไทยที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย สถานการณ์ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ผู้นำมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทางอ้อม คือต้องให้ ส.ส. เลือกให้อีกที ได้นักการเมืองมาจากประชาชน ก็โดนพวกไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามายึดอำนาจวนเวียน ถามว่าทำไมประชาธิปไตย ผมว่าคุณน่าจะตอบตัวเองได้ คุณใช้ชีวิตแบบมีปีกได้ตอนไหนล่ะ ทุกวันนี้มีปีกก็ห้ามบิน ประชาธิปไตยมันของเราทุกคนนะ ไม่ใช่ใครจะมาขโมย มันก็ต้องประชาธิปไตยนี่แหละ มันถึงจะเป็นของวรัญชัย ของคุณ ของคนบ้านนอกด้วย           

 

นักการเมืองสมัยนี้มันเลวกว่าสมัยก่อนจริงไหม

     นักการเมืองยุคที่เป็นประชาธิปไตยกล้าพูดกล้าแสดงออก พอมายุคนี้แค่ประชุมพรรคยังทำไม่ได้ หลายคนก็เลือกที่จะเงียบ หนีไปประกอบอาชีพอื่น ถึงเวลาก็มาเดินเข้าหาประชาชน ไม่รู้ว่าจะเลวแบบไหน คือถ้าบอกว่ามาให้เห็นหน้าเฉพาะตอนเลือกตั้ง นี่คุณก็ตอบเอาเองแล้วกัน ว่ามันพึ่งได้ไหม ประชาชนมีเรื่องก็ไม่เห็นจะออกมา พอจะเอาประโยชน์ค่อยโผล่มา เป็นกันหมด เป็นกันทุกพรรค สมัยก่อนมันมีผู้แทน ที่สู้แบบร่วมหัวจมท้ายกับประชาชนนะ สมัยนี้ก็คิดเอา ไม่ได้ว่าใคร

 

 

มองการเมืองตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

     ผมคิดว่าถ้าทหารยังกดดันหนักหน่วง ก็กลัวว่าประชาชนจะทนไม่ไหว อีกอย่างคือผมมองว่าถ้ามีคนกำลังมองหาเงื่อนไข เช่น คุณยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่าผิด เข้าคุก ก็อาจจะมีอะไรขัดแย้งขึ้นมาอีก ผมบอกเลยนะว่า การยึดอำนาจของทหารเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน มีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วอย่าง พล.อ. สุจินดา ทุกวันนี้ก็ต้องอยู่เงียบๆ

     ผมรู้สึกเสียดายและเสียใจมากที่สุด ที่เห็นคนล้มตายเพื่อประชาธิปไตย แต่ทุกอย่างก็ไม่คืบหน้า ผมไม่คิดว่าบ้านเมืองจะหวนกลับมาอย่างนี้อีก

 

ปัญหาอะไรที่ประเทศนี้ต้องได้รับการแก้ไขด่วนที่สุด

     ความไม่ต่อเนื่องทางการเมืองครับ เพราะมันส่งผลไปยังความไม่ต่อเนื่องทางการบริหาร การทำนโยบาย เช่น รัฐบาลยุคนี้ทำ ยุคหน้าก็ไม่เอาแล้ว เหมือนมันมั่วไปมาตลอด อันไหนดีบางทีก็งงว่าคนใหม่มาก็จะเลิก คือคุณเล่นการเมืองจนลืมนึกถึงประโยชน์ประชาชนนะบางที

 

แล้วประชาชนควรจะทำยังไง

     ประชาชนก็คิดเป็นสองแบบ ทั้งอยากให้รัฐบาลแบบนี้อยู่ต่อเพราะต้องการความสงบ กับให้มีเลือกตั้ง ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง ส่วนตัวคิดว่ายังไงก็ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน หนีไม่พ้นการเลือกตั้ง แม้จะอ้างว่ามีทะเลาะ ขัดแย้ง โกงกินกันก็ตาม แต่แบบที่ผมบอกไปแล้ว ประชาธิปไตยหรืออะไรที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเขาจะรักและหวงแหนมัน แล้วมันก็จะดีไม่ใช่เหรอที่จะช่วยกัน

     ผมไปพูดที่กองทัพภาคที่ 1 ว่าถ้าผมสมัครเลือกตั้งพรรคการเมือง ผมหาเสียง ชูนโยบายไม่ได้นะ เพราะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้อยู่แล้ว ถ้าผมได้รับเลือก ผมต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองไม่ได้เลย

 

มีคนมองว่าเราคลั่งการเมือง บ้าการเมือง คิดอย่างไร

     ผมคิดว่าอาจจะเป็นอย่างที่เขาคิดก็ได้ เพราะคนไทยเราชินกับวัฒนธรรมที่ฟังอย่างเดียว พอให้แสดงความเห็นกลับไม่พูด แล้วฟังว่าผมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ตัดสินผม แต่ถ้าบ้าให้บ้านเมืองดี ผมก็พร้อมเป็นบ้า (เสียงหัวเราะ)

     ส่วนไอ้เรื่องที่ผมชอบไปถามตามเวที ก็ผมคิดว่าในเมื่อไม่มีใครซักถาม แสดงความคิดเห็น มันก็ไม่สมบูรณ์ในเมื่อมันเป็นงานเสวนา ควรมีการซักถามบ้าง ดังคำของพระพุทธเจ้าที่ว่า ฟังก็ต้องรู้จักคิด คิดแล้วก็ต้องรู้จักถาม ถามแล้วต้องรู้จักเขียน เหมือนคำว่า สุ จิ ปุ ลิ ก็เขาให้ถาม มีคนใช้สิทธิของเขา คุณไปมองว่าความคิดไม่เข้าท่า เหยียดหยันเขาจากภายนอก คุณก็ต้องกลับไปถามตัวเองแล้วล่ะว่า คุณเป็นคนแบบไหน

 

 

มองอนาคตบ้านเมืองอย่างไร

     ผมกลัวว่าจะมีปัญหา ต่อไปนี้การเป็นนักการเมือง และจะเคลื่อนไหวเป็นตัวแทนประชาชนนั้นก็จะยากมาก แล้วปัญหามันจะไม่จบไม่สิ้น เพราะกติกามันมีปัญหา จะมีคนที่ลุกขึ้นมาอยากให้มีการแก้ไขแน่นอน แล้วคุณคอยดูนะ แค่เลือกนายกรัฐมนตรีก็วุ่นวายแล้ว สมมติว่าถ้านายกคนในมีปัญหา แล้วหาคนนอกก็ไม่ชอบธรรม ทุกอย่างเป็นปัญหาหมด

     ตั้งแต่ผมเคลื่อนไหวทางการเมืองมายุคนี้แปลกมาก เพราะข้าราชการพลเรือนกลับเรียกพลเรือนมาพูดคุยปรับทัศนคติทั้งๆ ที่ข้าราชการทหารเขายังไม่ทำอะไรเลยก็มี ก็ตัวอย่างที่เชียงใหม่นั่นไง

 

ทำไมกลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าในวันนั้น ถึงแช่แข็งประเทศแบบทุกวันนี้

     ผมมองว่าเพราะบางคนต้องรับราชการจึงต้องเปลี่ยนความคิด เอาง่ายๆ คือ มันเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเขา ซึ่งผมเข้าใจได้นะ ชีวิตมันมีหลายเรื่อง แต่บางเรื่องก็รับไม่ได้ที่จะมาอ้างว่าทำเพื่อประเทศชาติ

     แล้วข้าราชการบางคน ก็มาอุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่พยายามบอกว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองนะ คือคุณมาทำงานด้านบริหารและนิติบัญญัติมันคือนักการเมืองทั้งนั้นแหละ

     มันเหมือนพูดให้ตัวเองดูดี แล้วก็ไปสร้างวาทกรรมว่า นักการเมืองมันเลว แต่เราไม่ใช่นักการเมือง เรามาแก้ไขปัญหา แต่ตัวเองนั่นแหละที่มาอยู่ในตำแหน่งนักการเมือง มันฟังไม่ขึ้นเลยที่คุณบอกว่าคุณมาแก้ไขปัญหาของชาติ แต่คุณไม่สามารถถูกตรวจสอบได้

     มีการอ้างเรื่องคนดี ผมก็อยากจะบอกว่า คนดีต้องผ่านการลงสมัครเลือกตั้งจากประชาชนสิ แสดงวิสัยทัศน์ ปราศรัยหาเสียง นั่นคือหลักประชาธิปไตย อยู่ดีๆ จะบอกว่าตนเองเป็นคนดีและแต่งตั้งกันเองมันไม่ใช่ มันคือการลากตั้ง

 

มีคนบอก คำว่าประชาธิปไตยนั่นแหละที่ทำให้บ้านเมืองมีปัญหา

     ผู้ที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ต่อให้ชั่วหรือเลวก็ต้องอยู่ตามวาระ ต้องถูกตรวจสอบผ่านสภา นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้ดีกว่ากันหรอก กลไกการตรวจสอบมันใช้ได้ สามารถผลักนักการเมืองที่ไม่ดีออกได้

 

ปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงไหม

     ผมอยากให้เกิดการปรองดอง คนไทยรักกันไม่เกลียดกัน แต่จะเกิดไหม ผมไม่รู้

           

31 ปีทางการเมืองของวรัญชัย ได้อะไรกลับคืนมาบ้าง

     นับตั้งแต่ออกจากราชการครู ผมได้บทเรียนคือ ผมเสียใจที่การเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตยต่อเนื่อง มีการล้มลุกคลุกคลาน ไม่ว่าจะฝ่ายใดเสียเลือดเนื้อผมก็เสียใจทั้งนั้น

     ส่วนชีวิตผม ผมยอมรับว่าเหนื่อย เพราะถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผมก็สามารถแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกลัวการคุกคาม ผมจะจับตาดูการเมืองเสมอ อยากให้การเมืองเปิดเสรี ถ้ามีการเลือกตั้งผมก็จะลงสมัครอีก

     ผมได้แต่ก้อนหินทั้งนั้นแหละ ดอกไม้มันจะงามก็ให้มันงามอยู่ที่ต้น ไม่ต้องเอามาให้ผม ผมตอบได้ว่าสุข แต่ก็ทุกข์พอกัน แต่ผมไม่เลิกนะ ผมไม่เลิกที่จะมีชีวิตแบบนี้ ก็คงวนเวียนทำไปจนไม่มีแรงนั่นแหละ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising