×

เปิดตัวบริการวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีน ก้าวใหม่ของ ‘นีลเส็น’ ที่อาจทำให้ทีวีคึกคักอีกครั้ง?

28.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 mins read
  • ‘นีลเส็น’ เตรียมเปิดตัวบริการข้อมูลการวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีน หรือ Digital Content Ratings ที่จะทำการวัดเรตติ้งผู้ชมคอนเทนต์ในทุกหน้าจอผ่านวิดีโอ เว็บไซต์ และวิทยุแบบรายวัน ควบคู่ไปกับการวัดเรตติ้งทีวี
  • ในช่วงแรกเครื่องมือนี้จะทำการตรวจวัดคอนเทนต์ หรือเนื้อหารายการต่างๆ เฉพาะสถานีโทรทัศน์เพียง 3 ช่อง คือช่อง 7 เวิร์คพอยท์ และไทยรัฐทีวี เท่านั้นและยังไม่ได้รวมถึงคอนเทนต์บน YouTube, Facebook Live หรือ LINE ทีวี ดังนั้นจึงถือว่ายังมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก
  • ขณะที่อีกด้านก็มีความพยายามจากสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ที่จะสร้างระบบวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีนเพื่อใช้เป็นทางเลือกใหม่ที่นอกเหนือจากนีลเส็น

 

     อุตสาหกรรมสื่ออาจมีการขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อ ‘นีลเส็น’ เตรียมเปิดตัวบริการข้อมูลการวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีน หรือ Digital Content Ratings ที่จะทำการวัดเรตติ้งผู้ชมคอนเทนต์ในทุกหน้าจอผ่านวิดีโอ เว็บไซต์ และวิทยุแบบรายวัน ควบคู่ไปกับการวัดเรตติ้งทีวี

     เท่ากับว่าต่อจากนี้ช่องทีวีจะได้รู้กันแล้วว่าผู้ชมของตัวเองหายไป หรือแท้จริงแล้วยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางการรับชมเท่านั้น

     โดยบริการใหม่นี้จะเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งจากอีเมลที่นีลเส็นส่งให้กับบริษัทมีเดียเอเจนซีระบุว่าบริการนี้ของนีลเส็นถือเป็นที่แรกและที่เดียวของอุตสาหกรรมในตอนนี้ที่วัดพฤติกรรมการรับชมดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยฐานประชากรในประเทศไทยทั้งหมด (consus-based)

     เครื่องมือดังกล่าวสามารถวัดการรับชมเนื้อหา (ดิจิทัลคอนเทนต์) ของผู้บริโภคที่ดูผ่านทุกๆ แพลตฟอร์ม ทั้งจากเดสก์ท็อป, แล็ปท็อป, สมาร์ตโฟน (แอปฯ และบราวเซอร์) และแท็ปเลต (แอปฯ และบราวเซอร์) โดยผู้ใช้บริการจะรู้ได้ถึงข้อมูลการเข้าถึงผู้ชม (Reach) และความถี่ในการรับชม (Frequency) นอกจากนี้ยังจะมีการรายงานข้อมูลแบบรายวัน ไม่ใช่แค่รายสัปดาห์ หรือรายเดือนที่อาจจะล่าช้าเกินไป

     สำหรับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ วิสาส์น สิริจันทานนท์ Managing Director บริษัท คาราท ประเทศไทย จำกัด บริษัทเอเจนซีโฆษณารายใหญ่ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้ทดลองใช้งาน และยังไม่ได้เห็นผลลัพธ์งานวิจัยที่จะออกมาจากเครื่องมือดังกล่าว จึงไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้

     แต่อย่างไรก็ดี วิสาส์น ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงแรกเครื่องมือนี้จะทำการตรวจวัดคอนเทนต์ หรือเนื้อหารายการต่างๆ เฉพาะสถานีโทรทัศน์เพียง 3 ช่อง คือช่อง 7 เวิร์คพอยท์ และไทยรัฐทีวี ซึ่งเป็นช่องที่คนดูค่อนข้างเยอะก็จริง แต่ยังไม่ได้รวมถึงสถานีโทรทัศน์อีก 20 กว่าช่องที่เหลืออยู่

     นอกจากนี้แม้จะวัดเรตติ้งของดิจิทัลคอนเทนต์ แต่เครื่องมือนี้ก็ยังไม่ได้รวมถึงคอนเทนต์บน YouTube, Facebook Live หรือ LINE ทีวี ดังนั้นจึงถือว่ายังมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก ถึงอย่างนั้นก็นับว่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสื่อในภาพรวม

     “ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เครื่องมือนี้น่าจะมีประโยชน์กับ content provider หรือผู้ผลิตรายการต่างๆ ในการสามารถจะรู้ได้ว่าเรตติ้งของรายการบนช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากการรับชมทางทีวีตามปกติมีมากหรือน้อยขนาดไหน ที่สุดแล้วเจ้าของรายการจะได้รู้ว่าคนดูของเขาอาจจะไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่กำลังกระจายไปอยู่ในช่องทางอื่นๆ

     “อีกเรื่องคือการวัดเรตติ้งบนทีวี นีลเส็นสามารถวัดได้เป็นนาทีต่อนาที จากข้อมูลจะเห็นได้เลยว่าช่วงเวลาไหนของรายการคนดูเพิ่มหรือลดลง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีประโยชน์กับผู้ผลิตรายการในการสร้างสรรค์เนื้อหารายการในอนาคต”

     นอกจากนี้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ละคนเลือกรับชมรายการในเวลาที่ตนเองสะดวก เครื่องมือนี้ยังจะช่วยรวบรวมจำนวนคนดูในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ผลิตรายการมองเห็นตัวเลขคนดูที่แท้จริงของตัวเองด้วย

     ส่วนในมุมของเอเจนซีเอง เครื่องนี้ก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะจะเห็นภาพรวมพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ชัดเจนขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการเลือกซื้อสื่อที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด

     แม้ในโลกออนไลน์ปัจจุบันจะมีตัวชี้วัดมากมายที่สามารถสะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เช่น Facebook Audience Network หรือ Google AdWords แต่ในโลกของสถานีโทรทัศน์ตัวชี้วัดเดียวที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงเป็นบริการของนีลเส็น เพราะฉะนั้นข้อมูลจากบริษัทวิจัยแห่งนี้ยังคงความสำคัญกับอุตสาหกรรมสื่อและแวดวงโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ขณะที่อีกด้านก็มีความพยายามจากสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ที่จะสร้างระบบวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีนโดยได้ทำการว่าจ้างบริษัท กันตาร์ มีเดีย เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าสัญญาจ้าง 1,500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทางเลือกใหม่ที่นอกเหนือจากนีลเส็น โดยคาดว่าจะเปิดใช้ได้ปลายปีนี้

     น่าสนใจว่าบริการใหม่ของนีลเส็นจะทำให้วงการสื่อทีวีกลับมาคึกคักได้อีกครั้งหรือไม่ และบริการใหม่ที่จะมาเป็นคู่แข่งโดยตรงของนีลเส็นจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อไปในทิศทางไหน นี่คือเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising