×

กรณีเณรคำ ทำไมจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย

20.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง มองว่าปรากฏการณ์แบบเณรคำเกิดจากความเชื่อเรื่องมหัศจรรย์ที่ยังคงขายได้อยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย อีกทั้งเมื่อบริจาคเงินไปแล้วกลับไม่เคยติดตามตรวจสอบว่าเงินทำบุญนั้นถูกนำไปใช้อย่างไร สุดท้ายจึงกลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนศรัทธาของชาวพุทธ
  • รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ มองว่าสาเหตุที่กรณีแบบเณรคำเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเพราะคนไทยลืมง่าย และยึดติดตัวบุคคลมากกว่าหลักการ ชาวพุทธบางส่วนมีศรัทธามากกว่าปัญญา ขณะที่เณรคำมีกระบวนการสร้างตัวตนให้เป็นผู้วิเศษจนทำให้สามารถระดมเงินทำบุญจำนวนมหาศาลได้
  • พระมหาไพรวัลย์เชื่อว่ายังมีพระแบบเณรคำอีกมากมายในสังคมพุทธไทย ตราบใดที่ยังมีความเชื่อที่งมงาย กรณีแบบเณรคำก็จะอยู่กับสังคมไทยตลอดไป

     จากไลฟ์สไตล์สุดหรู นำมาสู่การเปิดโปงบัญชีทรัพย์สิน ที่สุดท้ายกลายเป็นคดีความที่สังคมให้ความสนใจ

     แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงกรณีอดีตพระเณรคำ ที่ถูกส่งตัวข้ามประเทศกลับมาดำเนินคดี และถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 114 ปี จำคุกจริงตามกฎหมาย 20 ปี ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมชดใช้เงินคืนผู้เสียหาย 29 ราย โดยทุกอย่างเริ่มต้นจากภาพถ่ายบนเครื่องบินเจ็ตเพียงภาพเดียว

     ไม่แปลกที่คุณอาจรู้สึกคุ้นเคยกับแพตเทิร์นลักษณะนี้เป็นอย่างดี เพราะเณรคำไม่ใช่พระสงฆ์รายแรกที่ต้องถอดจีวรแล้วกลายสภาพเป็นผู้ต้องหา แต่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ตั้งแต่คดีพระยันตระ จนมาถึงพระธัมมชโย

     ถ้ายอมรับกันตรงๆ คงต้องบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติของสังคมพุทธแบบประเทศไทย แต่ความไม่ปกตินี้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ได้อย่างไร THE STANDARD ชวนคุณมาหาคำตอบร่วมกัน

 

 

แรงศรัทธาที่อยู่เหนือปัญญา ปัญหาใหญ่ของชาวพุทธแบบไทยๆ

     ถ้าจู่ๆ มีใครสักคนเดินมาบอกคุณว่าเขาสามารถติดต่อกับพระอินทร์ได้ แถมยังรู้อดีตชาติของใครต่อใคร และยังทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ สิ่งแรกที่คุณจะทำคืออะไร

     แน่นอนว่าหลายคนคงเดินหนีคนคนนั้นไปให้ไกล เพราะมองว่าถ้าไม่บ้าก็คงเพ้อเจ้อ แต่กลับกัน เมื่อเรื่องเหล่านี้ออกมาจากปากพระชื่อดังอย่างหลวงปู่เณรคำ ทำไมถึงสร้างแรงศรัทธาได้มากมาย อีกทั้งยังระดมเงินบริจาคได้มหาศาลเป็นจำนวนหลายล้านบาท

 

 

     พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง มองว่าปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดจากความเชื่อเรื่องมหัศจรรย์ที่ยังคงขายได้อยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย

     “พื้นฐานเลย เรื่องนี้มันมาจากความเชื่อ หมายถึงความเชื่อยังเป็นเรื่องที่ขายได้อยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับการเป็นคนวิเศษ เป็นพระก็ต้องเป็นพระไม่ธรรมดา สามารถทำนายอดีต หยั่งรู้อนาคตได้ เณรคำก็หากินจากเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ เพราะรู้ดีว่าคนไทยชอบ จึงพยายามอวดอุตริมนุสธรรม บอกว่าตัวเองสามารถสื่อสารกับพระอินทร์ได้ โดยอาศัยความเป็นพระที่น่าเลื่อมใสจนทำให้คนจำนวนมากเกิดความศรัทธา”

     ความศรัทธานี้เองที่นำมาสู่เงินบริจาคจำนวนมหาศาล เพราะชาวพุทธบางส่วนมองว่า ยิ่งทำบุญกับพระที่มีความวิเศษมากก็ยิ่งจะได้บุญมาก ขณะที่ผู้ใจบุญส่วนใหญ่ เมื่อบริจาคไปแล้วกลับไม่ติดตามตรวจสอบว่าเงินทำบุญนั้นถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง สุดท้ายจึงกลายเป็นปัญหาอย่างที่เห็นๆ กัน แม้ในความเป็นจริง แรงศรัทธาตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคุณวิเศษใดๆ เลยก็ตาม

     “คนพุทธเข้าใจเรื่องศรัทธาผิดหมดเลย ทุกวันนี้เราพยายามให้ความศรัทธาในตัวคนอื่น แต่ไม่ศรัทธาในตัวเอง กลายเป็นว่าเราไปฝากความหวังที่คนอื่น หรือกล่าวโทษแต่สิ่งอื่น คนเลยไม่เชื่อเรื่องการกระทำของตัวเอง ตราบใดที่ศรัทธาไม่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการกระทำ หรือผลของการกระทำที่ตัวเองจะต้องได้รับ มันก็ไม่ใช่ศรัทธาตามพระพุทธศาสนา”

 

 

     เช่นเดียวกับ รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า กรณีอย่างเณรคำที่ทำให้ศรัทธาแปรเปลี่ยนเป็นความงมงายเกิดมาจาก ‘ศรัทธานำ ปัญญาน้อย’

     “ชาวพุทธบางส่วนมีศรัทธามากกว่าปัญญา พอศรัทธานำ ปัญญาน้อย ก็เลยทำให้เกิดเคสแบบพระเณรคำ ขณะที่เณรคำก็มีวิธีสร้างเรื่องราว สร้างวาทกรรม และมีมวลชนสนับสนุนมากมาย คล้ายๆ กับใช้จิตวิทยาหมู่ในการสร้างตัวตนให้กลายเป็นผู้มีคุณวิเศษ มีเรื่องเล่าปากต่อปาก พอแนวคิดเหล่านี้แพร่หลายไป มันก็เลยกลายเป็นปรากฏการณ์แบบนี้”

 

 

เปิดโมเดลเณรคำ อะไรที่ทำให้ศรัทธากลายเป็นความงมงาย

     ถ้าแรงศรัทธาและเงินบริจาคจำนวนมากเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของพระสงฆ์ แน่นอนว่าอดีตพระเณรคำต้องอยู่ในข่ายของพระที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาลรูปหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

     อะไรคือแพตเทิร์นความสำเร็จนี้

     รศ. ดนัย อธิบายว่า พระที่จะสร้างแรงศรัทธาในลักษณะนี้ได้ ส่วนใหญ่จะต้องมีวัตถุมงคล หรือมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ไว้ใช้เป็นจุดขาย อย่างกรณีเณรคำก็มีการกล่าวอ้างว่าจะนำเงินไปสร้างพระแก้วมรกตที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีการอวดอ้างว่าตัวเองบรรลุธรรม สร้างตัวตนให้กลายเป็นผู้วิเศษ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีมวลชนและกระบวนการสร้างความเชื่อถือที่คอยเป็นแรงสนับสนุน จนทำให้พระธรรมดาๆ กลายเป็นพระซูเปอร์สตาร์ที่เรียกแรงศรัทธาและเม็ดเงินจำนวนมาก

     “สังเกตดูว่ากรณีอย่างพระยันตระ หรือแม้กระทั่งพระธัมมชโย แม้จะมีโมเดลใหญ่กว่า แต่ก็เป็นแพตเทิร์นเดียวกัน คือลักษณะของคนเหล่านี้จะดูเป็นผู้วิเศษ อย่างพระยันตระก็จะมีสตอรี่ว่ามีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ หรือพระธัมมชโยก็สามารถล่วงรู้ว่าสตีฟ จ็อบส์ ตายแล้วไปไหน พอสร้างตัวเองให้เป็นผู้วิเศษ อะไรที่ผู้วิเศษทำก็จะเป็นสิ่งที่ดีหมด ชาวบ้านก็พร้อมที่จะควักกระเป๋าทำบุญ”

     แต่ในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พระที่จะประสบความสำเร็จได้กลับไม่จำเป็นต้องมีอภินิหารหรือคุณวิเศษใดๆ แต่เป็นหลักธรรมคำสอนต่างหากที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

     พระมหาไพรวัลย์อธิบายว่า “พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า แม้แต่พระอรหันต์ที่มีคุณวิเศษจริง แต่ถ้าอวดอ้างเรื่องพวกนี้ ท่านก็จะตำหนิมาก ท่านตรัสไว้ว่าพระที่อวดอ้างคุณวิเศษของตัวเองก็เปรียบเสมือนผู้หญิงที่เปิดของลับของตัวเองให้คนอื่นดูเพื่อแลกกับเงินทอง ดังนั้นพระรูปไหนก็ตามที่พยายามจะอวดอ้างเรื่องพวกนี้ แปลว่ากำลังทำสิ่งที่อยู่นอกทางพระพุทธศาสนา

     “ในทางกลับกัน พระพุทธเจ้ากลับสรรเสริญวิธีการแสดงธรรมแบบธรรมดาแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงคนไม่ดีให้กลายเป็นคนดีได้ โดยอาศัยการเทศน์ การสอน ไม่ได้อาศัยความเป็นคนวิเศษวิโส นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาสอน”

 

 

ยึดถือตัวบุคคลมากกว่าหลักธรรมคำสอน

     อีกเหตุผลที่ทำให้พระเณรคำสามารถระดมเงินบริจาคได้มากมายจนกลายเป็นพระที่มีไลฟ์สไตล์หรูหราตามที่ปรากฏ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยึดติดอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าหลักธรรมคำสอน ซึ่งพระมหาไพรวัลย์มองว่า

     “ถ้าสังเกตดีๆ เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นเพราะคนไปยึดมั่นในตัวบุคคล หรือทุ่มแรงศรัทธาไว้ที่คนมากกว่าหลักการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านยังไม่ตรัสให้ใครมานับถือตัวท่านเลยนะ แม้จะตรัสรู้แล้ว ท่านยังถามตัวเองเลยว่าท่านจะเคารพอะไรดี สุดท้ายท่านจึงเห็นว่าจะไปยึดที่ตัวคนไม่ได้ เพราะสิ่งที่ควรจะยึดคือสิ่งที่ท่านได้ตรัสรู้ คือหลักการ แต่ทุกวันนี้คนไม่เคารพหลักการ แต่ยึดติดกับตัวบุคคล เณรคำพูดอะไรก็ว่าดีไปหมด ทั้งที่ใครฟังก็รู้ว่าพูดมั่วๆ แต่ทำไมคนยังพร้อมจะเชื่อ เพราะคนไม่ได้มองสิ่งที่เณรคำพูด แต่มองว่าคนที่พูดคือใคร”

     นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ยังให้ความเห็นว่าชาวพุทธสามารถจะให้ความศรัทธากับพระสงฆ์ได้ แต่อย่าไปศรัทธาถึงขั้นที่พระพูดหรือทำอะไรก็ถูกหมด ซึ่งถ้าจะให้ดี ควรศรัทธาที่พระธรรมคำสอนมากกว่า

     “ถ้าศรัทธาในพระธรรม จะไม่มีอะไรทำให้คุณหวั่นไหวได้ สมมติกรณีเณรคำ ถ้าคุณศรัทธาในพระธรรม ก็เอาธรรมะไปจับสิว่าเขาพูดผิดหรือถูก แบบนั้นถึงจะเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”

     เช่นเดียวกับ รศ. ดนัย ที่มองว่าสาเหตุที่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเพราะคนไทยลืมง่าย และยึดติดตัวบุคคลมากกว่าหลักการ

     “เพราะชาวพุทธไม่เข็ด ลืมง่าย และโลกสวยจนเกินไป เมื่อยึดถือตัวบุคคลมากกว่าหลักการ พอบุคคลนี้ล่มสลายไปเหมือนพระมิตซูโอะที่ท่านสึก ก็ต้องไปยึดคนใหม่ หาโมเดลใหม่ เทียบได้กับการรัฐประหารที่สังคมเราจะต้องพยายามมองหาฮีโร่คนใหม่อยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยมีบทเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ศาสนา ดังนั้นมันจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

เมื่อถามว่าเณรคำจะเป็นกรณีสุดท้ายหรือไม่ พระมหาไพรวัลย์ตอบแบบทันทีว่า

     “อาตมาคิดว่ายากมาก ไม่ต้องมองถึงแค่พระพุทธศาสนา แต่ดูพื้นฐานความเชื่อของคนทุกวันนี้ หลายคนยังเชื่อในเรื่องไม่เป็นเรื่องกันอยู่เลย เรายังคงวนเวียนกันกับเรื่องกระสือ กระหัง ปอบ พญานาค มันต้องมีการปฏิรูปศาสนา สร้างวิธีคิดให้ถูกต้องกับพระสงฆ์ พระถึงจะสอนคนให้ถูกต้องได้ รวมถึงต้องปฏิรูประบบการศึกษาของไทยให้เข้าถึงคนได้มากกว่านี้ ถ้าความเจริญยังไปไม่ถึง ก็ไม่มีใครไปลบล้างความเชื่อพวกนี้ได้หรอก

     “คุณลองดูสิ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้จะเข้ากระทรวงทียังต้องทำพิธีบวงสรวงกันอยู่เลย ไม่มีทางมีหวังหรอกประเทศนี้ แค่เห็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ก็หมดหวังแล้ว”

     นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ยังเชื่อว่ายังมีพระแบบเณรคำอีกมากมายในสังคมพุทธไทย “ถ้าเณรคำไม่ไปนั่งเครื่องบินเจ็ตแล้วมีรูปหลุดออกมานะ ป่านนี้เณรคำก็คงถูกสร้างภาพให้เป็นพระโพธิสัตว์​ หรือพระอรหันต์ไปแล้ว”

     ที่สุดแล้ว ไม่เพียงคดีความของเณรคำเท่านั้นที่เราต้องติดตามกันต่อไป แต่ยังรวมไปถึงโมเดลความศรัทธารูปแบบนี้ด้วยที่ต้องคอยดูว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แล้วถึงวันนั้นคงรู้กันว่าสังคมไทยได้เรียนรู้จากกรณีนี้มากน้อยแค่ไหน

 

 

Cover Photo: Karin Foxx

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising