×

โหด! กสทช. สั่งเอเจนซีระงับโฆษณา Facebook-YouTube หากสองเจ้านี้ไม่มาลงทะเบียนก่อน 22 ก.ค.

โดย
28.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • วันนี้ (28 มิถุนายน) กสทช. ชี้แจงว่า หากเอเจนซีลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม OTT เถื่อน จะถือว่ามีความผิดฐานสนับสนุนผู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำความผิดตามกฎหมาย มีโทษ 2 ใน 3 ตามกฎหมายอาญา โดยขณะนี้ 2 บริษัทใหญ่ ได้แก่ Facebook และ YouTube ยังไม่มาลงทะเบียน
  • ขณะที่ Netflix อีกหนึ่งแพลตฟอร์มใหญ่ได้ติดต่อขอหารือในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว

     พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ OTT (Over-The-Top) หรือผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ในวันนี้ กสทช. ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการโฆษณาผ่านผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT สำหรับเอเจนซีโฆษณา โดย กสทช. จะใช้หลักการบรรษัทธรรมาภิบาลที่ต้องประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม กสทช. จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นวิธีสุดท้าย สิ่งที่ กสทช. ทำเพื่อสร้างกระบวนการกำกับดูแลที่เหมาะสมในอนาคต

     พันเอก นที กล่าวว่า “หากผู้ให้บริการ OTT ทั้ง 2 บริษัท (Facebook, YouTube) ยังไม่มาแจ้งในเวลาที่กำหนดในวันที่ 22 กรกฎาคม ทาง กสทช. จะแจ้งกับตัวผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สถานทูต มีเดียเอเจนซี สมาคมโฆษณา รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่ควรสนับสนุนคนที่ปฏิบัติไม่ชอบตามกฎหมายที่ไม่มีธรรมาภิบาล และเมื่อมีบริษัทใดไม่มีธรรมาภิบาล การสนับสนุนใดๆ ควรระงับไว้ก่อน”

     นอกจากนี้ กสทช. ได้แจ้งกับเอเจนซีโฆษณาถึงข้อกฎหมาย โดยนำ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาปรับใช้กับการกำกับดูแล OTT โดยมาตรา 27 วรรคหนึ่ง (6) กำหนดว่า การอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม กสทช. มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับการอนุญาต เงื่อนไข ดังกล่าว มาตรา 66 ผู้ใดประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะปรับวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน มาตรา 83 กรณีความผิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคล

     อีกทั้ง กสทช. ได้นำรูปแบบการกำกับดูแล โดยอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เชื่อมโยงฐานการกระทำความผิดระหว่างตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน โดยระบุว่า การสนับสนุนผู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำความผิดตามกฎหมาย มีโทษ 2 ใน 3 ตามกฎหมายอาญา

     ด้านนายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเจนซี กล่าวว่า แนวทางที่ กสทช. ได้ชี้แจงเป็นสิ่งที่มีเดียเอเจนซีจะปฏิบัติตาม โดยจะแจ้งกับเจ้าของลูกค้าถึงกรอบแนวทางของ กสทช. ซึ่งหากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้ง 2 ราย ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการกับ กสทช. หมายความว่าเอเจนซีไม่สามารถลงโฆษณาในแพลตฟอร์มทั้ง 2 ได้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้ง 2 ราย จะมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT กับ กสทช. ตามกำหนดเวลา

     สำหรับมูลค่าโฆษณาของ Facebook และ YouTube ในประเทศไทย คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโฆษณาบนสื่อออนไลน์ โดยในปี 2559 มูลค่าการลงโฆษณาออนไลน์อยู่ที่ 9,700 ล้านบาท ทางสมาคมฯ คาดว่าปีนี้มูลค่าโฆษณาจะอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท

     ก่อนหน้านี้ พันเอก นที เคยเชิญกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์บน YouTube หรือ Youtuber เข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงขอบเขต ขั้นตอน และแนวทางการให้บริการ OTT ในประเทศไทย โดยมีผู้ผลิตคอนเทนต์บน YouTube จำนวน 44 รายที่มาร่วมรับฟัง ได้แก่ Dek Jew Chill Out, My Mate Nate, TackleMinecraft, Bie The Ska, Spicydisc, RAP IS NOW, TeamGarryMovieThai, TOPLINE Music Official, OKyouLIKEs, 108Life, Jannine Weigel และ GDH 559 รวมไปถึงผู้ดูแลช่องรายการของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เช่น ช่อง 3 ช่อง 7 ไทยรัฐทีวี ช่องวัน เวิร์คพอยท์ และแกรมมี่ เป็นต้น ซึ่ง พันเอก นที แจ้งว่า กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีหลายรายที่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT แล้วบางส่วนรับเอกสารไปลงนามกลับมายื่นเอกสารแจ้งกับ กสทช. ขณะที่ Netflix อีกหนึ่งแพลตฟอร์มใหญ่ได้ติดต่อขอหารือในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว

     ต้องจับตากันต่อไปว่าจะมีความเคลื่อนไหวจากฝั่ง Facebook และ YouTube อย่างไรต่อไป 

 

อ้างอิง: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X