×

เมียนมาคิดอย่างไรกับกฎหมายแรงงานต่างด้าวของไทย

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ค่าแรงขั้นต่ำและโอกาสในการทำงานที่มากกว่า ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานภายในไทยกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพวกเขาจะต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังจะต้องระมัดระวังตัวจากการอาจตกเป็นเหยื่อของกลุ่มค้ามนุษย์อีกด้วย
  • Thu Ya แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันจะกลับมาที่ประเทศไทยอีก ในฐานะแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ถ้ามีนายหน้าจัดหางานและงานดีๆ ให้ฉันทำ ฉันจะไม่เป็นแรงงานผิดกฎหมายแบบที่เป็นอยู่ ณ ​ตอนนี้อีกแล้ว”
  • นักเศรษฐศาสตร์ชาวเมียนมาให้ความเห็นว่า “เมียนมากำลังเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ไม่ชัดเจน ขั้นตอนในการร่างกฎหมายและประกาศบังคับใช้ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความล่าช้าและยากลำบาก”

     ภาพของแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาหลายแสนคนเก็บข้าวของเครื่องใช้เดินทางกลับประเทศของตน ตลอดช่วงเวลา 2 -3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นภาพชินตาบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ หลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน โดยเพิ่มค่าปรับและบทลงโทษแก่ลูกจ้างและนายจ้างที่ไม่ขึ้นทะเบียนให้หนักขึ้นกว่าเดิม จนทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลต่อทิศทางของตลาดแรงงานภายในประเทศต่อจากนี้

     แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกคำสัง ม.44 แก้ปัญหาปมแรงงาน ชะลอการบังคับใช้ 4 มาตรา เลื่อนไป 180 วัน ให้คำสั่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องจัดการให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย

     การกลับบ้านในครั้งนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์หรือน่าปิติดีใจสำหรับพวกเขาเลย เพราะนั่นหมายถึง การขาดแคลนรายได้เลี้ยงดูครอบครัวไปสักระยะหนึ่ง พวกเขาทุกคนเดินทางกลับประเทศเพราะความจำเป็น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเกรงว่าจะได้รับโทษจากกฎหมายแรงงานต่างด้าวที่ระบุโทษไว้หนักขึ้นกว่าเดิม

 

 

     Thu Ya แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาคนหนึ่งที่ลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในโรงงานพลาสติกของไทย ให้สัมภาษณ์กับเราขณะเดินทางกลับเข้าเมียนมา บริเวณชายแดนเมียวดี ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศว่า

     “พวกเราต้องทำงานอย่างหนักตลอด 2 เดือน เพื่อเเลกกับเงินเพียง 9,000-10,000 บาท ถ้าพวกเราถูกจับ พวกเราจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นั่นแปลว่าสิ่งที่พวกเราทำมาตลอด 2 เดือนนั้นสูญเปล่า” กฎหมายแรงงานต่างด้าว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนุ่มเมียนมาคนนี้เดินทางกลับประเทศ

 

 

     ค่าแรงขั้นต่ำและโอกาสในการทำงานภายในเมียนมาถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แรงงานเมียนมาหลายเเสนคน จึงตัดสินใจข้ามพรมแดนมายังไทย ประเทศที่โอกาสในการทำงานดูเหมือนจะเปิดกว้างมากกว่า แต่ถึงกระนั้นแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ก็ยังต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัดและทำงานอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมายที่สามารถเดินทางไปทำงานยังที่ต่างๆ ภายในประเทศได้ นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเหล่านายจ้างแล้ว คนกลุ่มนี้ยังต้องระมัดระวังตัวและเอาตัวรอดจากกลุ่มค้ามนุษย์อีกด้วย

     Thu Yu กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ฉันจะกลับมาที่ประเทศไทยอีก ในฐานะแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ถ้ามีนายหน้าจัดหางานและงานดีๆให้ฉันทำ ฉันจะไม่เป็นแรงงานผิดกฎหมายแบบที่เป็นอยู่ ณ ​ตอนนี้อีกแล้ว”

 

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในเมียนมา

     รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของเมียนมาที่ขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อปีที่แล้ว ถูกคาดหวังจากหลายภาคส่วนในการนำพาประเทศนี้ให้เจริญก้าวหน้า ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หลังจากที่ปิดประเทศและปกครองโดยระบอบเผด็จการตลอดช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

     การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นางอองซานซูจี ประกาศเรียกร้องให้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวเมียนมา เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมของตน เพื่อเร่งผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังจากที่ปิดประเทศมาเป็นเวลานาน

     แต่ถึงกระนั้น แรงงานชาวเมียนมาก็เดินทางกลับประเทศน้อยมาก เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดให้ยังไม่สามารถแข่งขันกับค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับเมื่อเทียบกับตอนที่ทำงานในไทยได้

 

 

     การลงทุนจากต่างประเทศลดลงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 ทำให้จีดีพีของเมียนมาลดต่ำลงกว่า 7 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ถึงแม้ว่าเมียนมาจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในภูมิภาค ณ ขณะนี้ แต่การเติบโตของเมียนมาก็ค่อยๆ อ่อนแรงลงและตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา

     Khin Maung Nyo นักเศรษฐศาสตร์ชาวเมียนมาให้ความเห็นว่า “เมียนมากำลังเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ไม่ชัดเจน ขั้นตอนในการร่างกฎหมายและประกาศบังคับใช้ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความล่าช้าและยากลำบาก”

     ในขณะที่ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาทำงานภายในประเทศ ภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงการผลิตและแปรรูปอาหาร ซึ่งพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก

     รัฐบาลเมียนมาตั้งคำถามถึงประเทศไทยว่า “เหตุใดประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจช้าที่สุดในเอเชีย จึงสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำได้ 305 บาทต่อวัน (ราว 9 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศตนที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคถึง 3 เท่า”

 

 

     แม้กฎหมายแรงงานต่างด้าวที่เพิ่งประกาศใช้จะผลักดันให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่คือ แรงงานที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน จึงอาจจะส่งผลกระทบบ้างในช่วงระยะเวลานี้ แต่ทางรัฐบาลไทยก็ได้ขยายช่วงเวลาผ่อนผันเป็น 6 เดือน เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวมีเวลาปรับตัวและลดผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแล้ว

     พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้องขอให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และกล่าวกับกลุ่มผู้ประกอบการว่า “อย่าตื่นตระหนกกันไป แรงงานเหล่านี้จะกลับมาในไม่ช้า” การออกมายืนยันในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยเพียงต้องการจะจัดสรรตลาดแรงงานภายในประเทศให้เป็นระบบระเบียบใหม่ หลังจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ในอดีตต่างผัดผ่อนและเลื่อนการปฏิรูปมาเป็นเวลานาน

     โดยมีการคาดการณ์กันว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าวไม่เพียงแต่ชาวเมียนมา แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ต่างพากันอพยพกลับภูมิลำเนาของตนเอง จะกลับเข้ามาทำงานภายในไทยอย่าง ‘ถูกกฎหมาย’ เพิ่มมากขึ้นในอีกไม่ช้า

 

Photo: Ye Aung THU/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X