×

เมื่อคลื่น พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ซัดแรงงานกลับประเทศ! รัฐจะแก้ปมนี้อย่างไร?

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นายกรัฐมนตรี เตรียมออก ม. 44 ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกไป 120 วัน ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101, 102 และ 122 ซึ่งกำหนดค่าปรับ รวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560
  • ขณะที่ล่าสุด กระทรวงแรงงานเปิดเผยตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศ ณ เวลานี้ว่ามีประมาณ 29,000 คน แต่ก็มีตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานภายใต้ MOU ประมาณ 60,000 คน

     ผ่านมาได้ 11 วันแล้ว ที่ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยถูกนำเสนอมาเป็นระลอก ตั้งแต่การทยอยเดินทางข้ามด่านชายแดนกลับประเทศนับพันคน นายจ้างโอดครวญต่อมาตรการของกฎหมายที่ลงโทษปรับหนักมาก ไปจนถึงการตั้งข้อสังเกตของนักวิชาการต่อการตัดสินใจของรัฐในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนขาดการวางแผนในเรื่องระบบที่อำนวยต่อวาระที่ต้องการให้นายจ้างทำตามกฎหมาย

     ขณะที่ล่าสุด กระทรวงแรงงานเปิดเผยตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศ ณ เวลานี้ว่ามีประมาณ 29,000 คน แต่ก็มีตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานภายใต้ MOU ประมาณ 60,000 คน

     สื่อหลายสำนักรายงานแทบไม่แตกต่างกันถึงเนื้อหาของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ และ สถานการณ์ที่ค่อนข้างดูจะวุ่นวายถาโถมเข้าไปหาคำตอบต่อการแก้ปมเรื่องนี้ของรัฐบาล ในฐานะที่ตรากฎหมายฉบับนี้มากับมือ

 

 

นายกฯ ชี้ ถูกเพ่งเล็งเรื่องค้ามนุษย์ จ่อใช้ ม. 44 ยืดเวลา 120 วัน

     ท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารต่อปฏิกิริยาเรื่องนี้ ล่าสุดที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม เมืองทองธานี พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวในระหว่างการปาฐกถาเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า

     “เรื่องพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวออกมาเพราะมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องทำ เนื่องจากพันธะสัญญาที่มีอยู่ ทำไมถึงต้องทำวันนี้ ก็เพราะว่าไม่เคยทำ และไม่เคยใช้อย่างจริงจัง แต่ต้องทำเพราะเขากำลังเพ่งเล็งประเทศไทยเรื่องการค้ามนุษย์ เห็นหรือไม่ว่ามาเลเซียเขาก็ทำ เขาจับกุมกันโครมๆ และถือเป็นข้อตกลงกันระหว่าง 4 ประเทศในอาเซียน ต่อไปนี้แรงงานจะต้องขึ้นบัญชี หรือนำเข้าแรงงานที่ชายแดนเท่านั้น ไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศ”

     พลเอกประยุทธ์ยืนยันอีกว่า ไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อน แต่สิ่งที่กำลังดำเนินการเป็นเรื่องจำเป็น ข้อกังวลเรื่องอัตราโทษปรับที่สูงนั้นต้องไปพิจารณาถึงความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเตรียมใช้มาตรา 44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อนอย่างน้อย 120 วัน เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบต่างๆ ให้แล้วเสร็จได้ภายในกรอบเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ได้มอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการประสานเจ้าหน้าที่แล้ว ขอร้องอย่าออกมาเคลื่อนไหว และขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย           

     “เราดูแลคนทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการด้วย เพราะหากเกิดปัญหาไม่สามารถทำธุรกิจ ต่อไปก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยยืนยันว่าไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่ต้องเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้กฎหมาย ขออย่าออกมาเคลื่อนไหว และรัฐบาลก็แก้ไขให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนภายใน 120 วันแล้ว โดยจะเป็นการแก้ปัญหาทั้งส่วนของแรงงานต่างด้าวเก่า และแรงงานต่างด้าวใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน ซึ่งรัฐบาลจะไม่ให้ขาดแคลนแรงงานอย่างแน่นอน”

 

 

บิ๊กป้อมนั่งหัวโต๊ะ ถกแก้ปมต่างด้าว เข็น ม. 44 เข้า ครม. พรุ่งนี้

     ขณะที่วันเดียวกันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หรือ กนร. เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นในการเสนอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศตามมาตรา 44 เพื่อให้ขยายเวลาการบังคับใช้ข้อกำหนดบางประกาศใน พ.ร.ก. การบริหารจัดการของแรงงานต่างด้าวออกไปเป็นเวลา 120 วัน เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และ คสช.ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้

     สำหรับ 3 มาตราที่จะถูกชะลอใช้บังคับในพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้แก่ มาตรา 101, 102 และ 122 ซึ่งกำหนดค่าปรับ รวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน คือวันที่ พ.ร.ก. ประกาศให้มีผลใช้บังคับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

     มาตรา 101 กำหนดว่า คนต่างด้าวซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจากการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 คือทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

     มาตรา 102 นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อลูกจ้างต่างด้าว 1 คน  

     มาตรา 122  ผู้ใดนําคนต่างด้าวมาทํางานในประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

     อย่างไรก็ตาม พลเอกประวิตรไม่ได้กังวลว่าการเดินทางกลับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติในช่วงนี้จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะเป็นการเดินทางกลับเพื่อจัดเตรียมเอกสารให้เกิดความเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  

 

คสช. หนุน พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว สร้างมาตรฐานการดูแลแรงงานให้เป็นระบบ

     ขณะที่การประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันนี้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งสังคมให้ความสนใจว่า

     กฎหมายดังกล่าวถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องปรับปรุงเพื่อบริหารจัดการและจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เป็นมาตรฐานสอดคล้องกับกฎกติการะหว่างประเทศ จึงขอให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ไปศึกษาในรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวสำหรับใช้เป็นแนวทางในการประสานการปฏิบัติงานร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้ให้ช่วยชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ดังกล่าว ที่จะช่วยให้การควบคุมและดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดผลดีทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

แรงงานชี้ พ.ร.ก. ต่างด้าว คือแผนยุทธศาสตร์มุ่งกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย

     ขณะที่ท่าทีของ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หรือ กนร. ว่า พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย และควบคุมการทำงานในด้านต่างๆ ที่แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ รวมถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบแรงงาน และฟื้นฟูการจ้างงานแรงงานต่างด้าวด้วย

     ด้าน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมการรองรับการประกาศใช้มาตรา 44 ในการผ่อนปรน พ.ร.ก. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่าขณะนี้กรมการจัดหางานอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูกรองรับการดำเนินงาน โดยจะมีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายถึงพระราชกำหนดดังกล่าว

     อีกทั้งยังมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานทุกพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานต่างด้าว เช่น กรณีการแจ้งเปลี่ยนนายจ้างใหม่ การให้โควตาสำหรับนายจ้างนำเข้าแรงงานเข้ามาใหม่

     นอกจากนี้ยังกำหนดแผนงานแก้ไขปัญหากับประเทศต้นทาง เช่น เมียนมา กัมพูชา ซึ่งล่าสุดได้หารือกับทางการเมียนมาเพื่อเตรียมความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งทางการเมียนมาจะให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการทำเรื่องพิสูจน์สัญชาติเพื่อต่ออายุให้กับแรงงานประมงที่ถือบัตรสีชมพู ซึ่งจะหมดอายุในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งขอให้ไทยประสานให้แรงงานโอนเงินผ่านระบบธนาคาร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนตามมาตรฐานสากล

     ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2.5 ล้านคน และยังมีแรงงานที่ไม่เข้าสู่ระบบอีกกว่า 1 ล้านคน

 

 

เตรียมนำ พ.ร.ก. ต่างด้าว เข้าหารือที่ประชุมวิป สนช. พรุ่งนี้

     ด้าน นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิปรัฐบาล ว่าเตรียมนำพระราชกำหนดบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เข้าหารือในที่ประชุมวิป สนช. ในวันพรุ่งนี้ ก่อนจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช. เพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

     พร้อมยืนยัน กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้เลี่ยงมาตรา 77 ที่ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการออกพระราชกำหนดเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้

     ความเห็นและปฏิกิริยาจากรัฐในรอบวันก็ออกมาเป็นระลอก เพื่อเร่งแก้ปมปัญหาที่อาจจะบานปลายไปมากกว่านี้ กรอบเวลา 120 วันที่ขยายออกไปจะใช่เวลาที่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ และอนาคตความยั่งยืนของปัญหานี้จะเป็นไปในทิศทางใด คำตอบจากการใช้กฎหมายจะใช่หนทางเดียวที่แก้ปมเรื่องนี้ได้จบ หรือกำลังเกิดเป็นปัญหาใหม่ให้ตามแก้ คงต้องรอดูว่ามาตรา 44 จะมีรายละเอียดที่ตอบโจทย์สถานการณ์นี้อย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X