×

รู้จัก ‘ลาวาลิน’ รถไฟฟ้าสายแรกที่คนกรุงไม่เคยมีโอกาสได้นั่ง

24.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หากคุณใช้เส้นทางสะพานพุทธและสะพานพระปกเกล้าอยู่บ่อยๆ คุณต้องเคยเห็นตอม่อที่ตั้งอยู่กึ่งกลางสองสะพานนี้ ซึ่งนั่นเป็นเศษซากเดียวของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินที่ยังเหลืออยู่
  • ‘ลาวาลิน’ คือชื่อของบริษัทเจ้าของโครงการสัญชาติแคนาดา กับการสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางกว่า 61 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมทุกมุมของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด!
  • หาก ‘ลาวาลิน’ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 ตามแผน เราจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรถไฟฟ้าใช้เลยเชียวนะ!

     ถ้าเราบอกคุณว่า คุณสามารถนั่งรถไฟฟ้าจากบ้านคุณแถวย่านวงเวียนใหญ่เพื่อไปทำงานแถวมักกะสันได้ในต่อเดียว หรือคุณอยากจะลิ้มลองข้าวต้มเชี่ยวชาญพานิชแถวเทเวศร์ โดยนั่งรถไฟฟ้าจากบ้านย่านพระโขนงได้ คุณจะเชื่อหรือไม่?

     ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องตลกหรือเรื่องเพ้อฝัน มันเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ได้เกิดขึ้นจริง’ ในกรุงเทพฯ ต่างหาก กับโครงการขนส่งสาธารณะที่เคยริเริ่มโปรเจกต์ขึ้นมา…และหายไป ด้วยสาเหตุอะไรเราก็คงจะไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บหรอก แต่ THE STANDARD อยากให้คุณรู้จักกับ ‘รถไฟฟ้าลาวาลิน’ โครงการรถไฟฟ้ายกระดับโครงการแรกในประเทศไทย จะได้รู้ว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนกรุงควรจะสะดวกสบายกับการเดินทางมาช้านานแล้ว (โว้ย)

 

ภาพร่างโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน

 

     หากคุณเป็นมนุษย์ฝั่งธนบุรีและใช้เส้นทางสะพานพุทธและสะพานพระปกเกล้าอยู่บ่อยๆ คุณต้องเคยเห็นตอม่อเจ้าปัญหาที่ตั้งอยู่กึ่งกลางสองสะพานนี้ อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่คงคำถามให้กับใครหลายๆ คนอยู่เสมอ

     จริงๆ แล้วเจ้าตอม่อนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ได้ชื่อว่าเป็น โครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย (พูดให้พีกกว่าคือ หาก ‘ลาวาลิน’ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เราจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรถไฟฟ้าใช้) โดย ‘Lavalin’ คือชื่อของบริษัทเจ้าของโครงการสัญชาติแคนาดา ผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ที่ร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สร้างรถไฟฟ้าจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางกว่า 61 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมทุกมุมของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด!

 

ภาพครั้งการเริ่มก่อสร้างทางรถไฟฟ้ายกระดับของโครงการลาวาลินบริเวณสะพานพระปกเกล้า

 

     ลาวาลินเริ่มต้นโครงการโดยการศึกษาแผนแม่บทในการก่อสร้าง ในช่วงสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และมีแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 แต่ระยะเวลาในการทำงานนั้นยืดเยื้อเป็นอย่างมาก เพราะต้องรอถึง 11 ปีให้หลังจากการศึกษาแผนแม่บทจึงจะเกิดการลงนามเซ็นสัญญาการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2533

     หากลาวาลินทั้ง 3 สายนั้นก่อสร้างเสร็จ คุณจะสามารถเดินทางเข้าถึงถนนเส้นหลักในกรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึง และไม่ได้เอื้อเพียงแค่โซน CBD เท่านั้น เพราะมันพุ่งตรงเข้าถึงย่านที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น ถนนสามเสน, ถนนพระราม 4, ถนนสุขุมวิท, ถนนลาดพร้าว, ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และถนนรัชดาภิเษก โดยในรถไฟฟ้าแต่ละสายจะมีระยะห่างระหว่างสถานีอยู่ที่ 700-1300 เมตร คาดหวังว่าจะมีคนกรุงใช้บริการประมาณ 200,000 คนต่อวัน

 

แผนที่แสดงเส้นทางเดินรถของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน

 

ภาพร่างโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน

 

     โดยโครงการนี้จะเป็นรถไฟฟ้ารางคู่ เดินรถเข้าสู่สถานีทุกๆ 6-8 นาทีและ 3-4 นาทีในช่วงเวลาเร่งด่วน ประกอบไปด้วย 55 สถานี 3 เส้นทาง และโครงสร้างของสถานีนั้นจะประกอบไปด้วยสถานี 3 รูปแบบ ทั้งรูปแบบสถานียกระดับ ระดับพื้นดิน และสถานีใต้ดิน โดยราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 35 สตางค์ต่อกิโลเมตร นั่นหมายความว่า หากคุณเดินทางจากลาดพร้าวไปวงเวียนใหญ่ คุณจะเสียค่าโดยสารเพียงไม่ถึง 10 บาท! (ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าเงินบาทไทยในเวลานั้น)

 

ภาพแสดงโครงสร้างของสถานีมักกะสันที่จะเชื่อมสถานีระดับพื้นดิน ใต้ดิน และสถานียกระดับเข้าด้วยกัน

 

     เส้นทางทั้ง 3 เส้นของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินนั้นประกอบไปด้วย สายพระราม 4 (หมอชิต-อ่อนนุช) มุ่งหน้าจากหมอชิตเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร ผ่านบางซื่อ ประชาชื่น เตาปูน และวกเข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านย่านเกียกกาย ศรีย่าน สะพานซังฮี้ (สะพานกรุงธน) เทเวศร์ กรุงเกษม มุ่งหน้าสู่ย่านสะพานขาว บ้านครัว ยศเส หัวลำโพง ก่อนจะมุ่งหน้าถนนพระราม 4 เข้าสู่รองเมือง สามย่าน สีลม ลุมพินี บ่อนไก่ คลองเตย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล้วยน้ำไท ก่อนจะไปบรรจบกับถนนสุขุมวิทที่พระโขนงและไปสิ้นสุดที่อ่อนนุช

     สายสาทร (ลาดพร้าว-ตลาดพลู) เริ่มต้นเส้นทางจากถนนลาดพร้าวที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว เดินทางตรงไปตามถนนรัชดาภิเษกไปจนถึงอโศก ผ่านโรงงานยาสูบ ไปเจอกับสถานีลุมพินีของสายพระราม 4 มุ่งหน้าเส้นสาทรตรงไปจนถึงสะพานตากสิน ข้ามฝั่งแม่น้ำไปที่เจริญนคร เข้าสู่วงเวียนใหญ่และไปสิ้นสุดที่ตลาดพลู

     และ สายสะพานพุทธ (เอกมัย-ดาวคะนอง) สายนี้จะเริ่มต้นจากสถานีเอกมัยละแวกวัดใหม่ช่องลม ยึดถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นหลัก ผ่านอโศกเข้าสู่มักกะสัน ประตูน้ำ พญาไท อุรุพงษ์ ยมราช นางเลิ้ง และบรรจบกับสถานีสะพานขาว เปลี่ยนขบวนไปยังสายพระราม 4 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่วรจักร ข้ามสะพานพุทธ ถนนประชาธิปก วงเวียนใหญ่ สะพานตากสิน สำเหร่ จอมทอง แยกมไหสวรรย์ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ดาวคะนอง

     แต่แล้วโครงการก็ไม่สามารถสร้างขึ้นได้จริง จากปัญหาเรื่องเงินลงทุนของบริษัทเจ้าของโครงการ พร้อมด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นในเรื่องค่าใช้จ่ายการเวนคืนพื้นที่และเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินที่เป็นเสมือนความหวังของคนกรุงเทพฯ ก็เป็นอันสลายลงไปในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535

“รถไฟฟ้าลาวาลินถูกระงับลงไปด้วยสองสาเหตุหลักคือ หนึ่ง มีปัญหาต่อเนื่องมาจากโครงการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อีกสองโครงการก่อนหน้า และ สอง เกิดจากความผิดปกติของสัญญาที่ไม่ชอบมาพากล”

 

เนื้อความจากหนังสือ Building Social Capital in Thailand: Fibers, Finance and Infrastructure

(โดย Danny Unger, 1998) กล่าวถึงการหยุดชะงักของโปรเจกต์รถไฟฟ้าลาวาลินในกรุงเทพเมื่อปี 2535

     ซึ่งถ้าหากโครงการแล้วเสร็จ เราแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่า ความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตของคนกรุงจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน ด้วยเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงทุกมุมเมืองเข้าด้วยกัน ผ่านย่านสำคัญที่มีประชากรหนาแน่น และราคาไม่แพง!

     ความหวังของคนกรุงที่อยากจะใช้เวลาการเดินทางในแต่ละวันให้น้อยลง สะดวกสบายขึ้น และราคาที่ถูกลงนั้นคงต้องรอคอยกันไป ด้วยโครงการรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่ยังคงไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นหรือแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ อย่างเช่น

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ และ ท่าพระ-บางแค ที่ตอนนี้อยู่ขณะการวางระบบรางและมีแผนเปิดให้บริการภายในปีพ.ศ. 2563 และส่วนต่อขยายนี้จะทำให้กรุงเทพฯ ของเรามีเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกันเป็นวงกลม เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครให้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่ ก็กำลังลงมือก่อสร้างอยู่เช่นกัน คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2563 เช่นกัน
  • ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ดูจะเข้าใกล้ความฝันก่อนใครเพื่อน เพราะเตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปีหน้านี้แล้ว!

     ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเราๆ ก็คงต้องใช้ความอดทนบนท้องถนนกันต่อไปอีกหน่อย

 

Cover Photo: Karin Foxx

อ้างอิง:

FYI
  • ตอม่อที่อยู่กึ่งกลางสะพานตากสิน ส่วนหนึ่งของสถานีสะพานตากสินในโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวนั้น เดิมทีเป็นตอม่อของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินสายสาทร
  • โครงการลาวาลินนี้ถูกจับตามองจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้แต่ประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเราไปหลายไมล์ในปัจจุบันอย่างสิงคโปร์ ยังเคยส่งคนมาดูงาน!
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising