×

บุหรี่ไฟฟ้า ควรแบนต่อไปหรือปล่อยให้ขายเหมือนบุหรี่?

26.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสถานะเป็นสินค้าต้องห้ามเช่นเดียวกันกับอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • แม้ข้อมูลส่วนใหญ่จะระบุตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลเท่ากับการที่บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นต้นตอที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่มวนมากขึ้น
  • ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเห็นแย้งว่า การควบคุมเป็นการปิดกั้นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังต้องการนิโคติน ทั้งที่หลายคนรู้ดีว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่กลับถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
  • จากการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 175 ชิ้น พบว่า 34% ถูกหนุนหลังโดยบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ซึ่งหลายบริษัทกำลังพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อวางตลาดในอนาคต

     กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้งสำหรับประเด็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ได้จับกุม น.ส.มนุษยา เยาวรัตน์ อายุ 29 ปี เน็ตไอดอลคนดังเจ้าของฉายา ‘ฟลุ๊คศรี มณีเด้ง’ หลังพบบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ 

     ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ออกมาแจ้งเตือนเยาวชนและผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และแจ้งเตือนผู้นำเข้า ผู้ขาย หรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้า พร้อมระบุโทษสำหรับผู้ขายโดยปรับสูงสุดถึง 500,000 บาท และจำคุกสูงสุด 5 ปี

     แม้กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์ล่าสุดกลับทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และความไม่ชัดเจนถึงข้อกฎหมาย

     เพื่อมองเรื่องนี้อย่างรอบด้าน THE STANDARD ต่อสายพูดคุยกับ ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ มาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ ซึ่งต่างสะท้อนความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

 

Photo: PAUL J.RICHARDS/AFP

 

ปรับสูงสุด 1 ล้านบาท โทษหนักในกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า

     ที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้า ‘ต้องห้าม’ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ที่ระบุไว้ว่า ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผู้ขายหรือผู้ให้บริการจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าผืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อการขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     อีกทั้งยังมีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2557 เรื่อง กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 หากฝ่าฝืนนำเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้าเหล่านั้นด้วย

     นอกจากเรื่องการห้ามจำหน่ายแล้ว ตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ยังมีการกำหนดนิยามของ ‘ผลิตภัณฑ์ยาสูบ’ ให้ครอบคลุมถึงบุหรี่ไฟฟ้า และบารากู่ ซึ่งหมายความว่าจะมีการควบคุมพื้นที่สูบ ห้ามการโฆษณา หรือทำการตลาดไม่ต่างจากบุหรี่มวนโดยทั่วไปด้วย

     จะสังเกตได้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสถานะเป็นสินค้าต้องห้ามเช่นเดียวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าช็อต ลวดดัดฟันแฟชั่น ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารที่ใช้สารตะกั่ว และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เป็นสื่อนำเพิ่มปริมาณนักสูบหน้าใหม่

     สำหรับประเด็นนี้ ศ.นพ. ประกิต มองว่าถือเป็นท่าทีที่ถูกต้อง และสมควรให้มีการบังคับใช้ต่อไป เพราะในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน รายงานเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าจึงทยอยออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ข้อมูลส่วนใหญ่จะระบุตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลเท่ากับการที่บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นต้นตอที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่มวนมากขึ้น

     “สำหรับคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะมีอันตรายน้อยกว่า แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงคือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นตอทำให้เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนเสพติดนิโคติน แล้วสุดท้ายก็กลับกลายมาเป็นผู้สูบบุหรี่มวน ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา นี่คือเหตุผลที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องสั่งห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า”

     เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อ้างอิงถึงรายงานหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสื่อนำไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา หรือสารเสพติดชนิดอื่นๆ โดยรายงานจากรัฐคอนเนตทิคัตพบว่า 20% ของเด็กมัธยมปลายที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีการใส่กัญชาและสารเสพติดอื่นในบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนรายงานจากเมืองพิตต์สเบิร์ก ที่มีการติดตามภายในเวลา 1 ปีพบว่า 38% ของเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นคนสูบบุหรี่มวน เมื่อเทียบกับ 10% ของเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าแต่กลายเป็นผู้สูบบุหรี่มวน

     นอกจากนี้รายงานจากลอสแอนเจลิสยังพบว่า 31% ของนักเรียนมัธยมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้กลายเป็นคนที่สูบบุหรี่มวนภายในเวลา 6 เดือน เปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีเพียง 8% เท่านั้นที่กลายเป็นคนสูบบุหรี่ธรรมดา (อ้างอิง: Brian A. JAMA Pediatrics: 2015:169(11):1018-1023, Adam M.JAMA: 2015:314(7):700-707)

     “ปัญหาคือพอเด็กติดบุหรี่ไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นคนที่เลิกบุหรี่ไม่ได้ไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นการเป็นสื่อนำพาไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ ของบุหรี่ไฟฟ้าต่างหากที่เป็นเรื่องที่มีความกังวลกัน”

     ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหลายคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือในการเลิกสูบบุหรี่มวน แต่ ศ.นพ. ประกิต กลับให้ข้อมูลว่าผู้ใหญ่ที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีเพียง 20% เท่านั้นที่เลิกบุหรี่มวนได้ แต่อีก 80% กลายเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบต่อสุขภาพในผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน

 

กฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าปิดกั้นทางเลือกของผู้ต้องการนิโคติน

     ทางด้าน มาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ ในฐานะตัวแทนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ากลับเห็นแย้งว่า การควบคุมดังกล่าวของทั้งกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม และปิดกั้นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังต้องการนิโคติน

     “ทุกคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่าบุหรี่มวนมีอันตรายมากกว่าบุหรี่ไฟฟ้า แต่มันกลับสามารถขายได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า ปลอดภัยกว่าแต่กลับผิดกฎหมาย ที่เราพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเหมือนบุหรี่ทั่วไปไม่ใช่เพราะต้องการให้มีการซื้อขายกันอย่างอิสระ แต่เราต้องการให้มีการควบคุมเหมือนบุหรี่มวน ทั้งเรื่องการขายให้กับเยาวชน การจำกัดสถานที่สูบ

     “ที่ผ่านมามีการลักลอบซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์มาโดยตลอด พอเป็นการลักลอบขายคุณก็ไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ เพราะมันอยู่ใต้ดิน คำถามคือแล้วทำไมถึงไม่เอามันขึ้นมาอยู่บนดิน เพื่อจะได้ควบคุมให้มันถูกต้อง ยิ่งคุณบอกว่ามันมีอันตราย แล้วทำไมถึงไม่ทำให้มันถูกกฎหมายจะได้ควบคุมได้ คือเราต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังต้องการนิโคตินและผู้ต้องการเลิกบุหรี่มวน”

     มาริษ ยังระบุด้วยว่านอกจากเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังมีการไล่จับผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างข้อหาว่าเป็นการครอบครองของหนีภาษี ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

     “ผมเพิ่งปรึกษานักกฎหมายมา ซึ่งนักกฎหมายแนะนำว่าในฐานะผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นคนนำเข้าหรือจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้าจะถือเป็นสินค้าหนีภาษีไม่ได้ เพราะสินค้าต้องห้ามไม่มีฐานภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นข้ออ้างในการจับกุมจึงใช้ไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน”

     นอกจากนี้มาริษยังแสดงความเห็นว่าหากมีการคุมเข้มเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจริง ส่วนตัวมองว่าจะไม่กระทบกับการสูบ เพราะตราบใดที่ไม่ได้สูบในที่ห้ามสูบตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ ก็ถือว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

 

เปิดโปงเล่ห์เหลี่ยมบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

     ไม่เพียงข้อถกเถียงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นประเด็นโต้แย้งในวงกว้างถึงโทษ และอันตรายที่มีต่อผู้ใช้งาน ซึ่งหากค้นข้อมูลก็จะพบว่ามีข้อมูลจากทั้ง 2 ฝั่ง กลายเป็นสงครามข้อมูลขนาดย่อมๆ ที่ผู้สูบบุหรี่อาจสับสนว่าจะเชื่อข้อมูลจากฝั่งไหนได้บ้าง

     ศ.นพ. ประกิต เปิดประเด็นว่าที่ผ่านมามีการทบทวนรายงานการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 175 ชิ้น ที่ศึกษาถึงส่วนประกอบของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนประกอบไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้า และผลกระทบต่อเซลล์มนุษย์และต่อสัตว์ทดลองพบว่า 34% ของรายงานเหล่านี้ เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า บริษัทบุหรี่ หรือบริษัทผลิตยาช่วยเลิกบุหรี่

     ส่วนงานวิจัยหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษที่เคยเผยผลวิจัยว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 95% กลับเป็นรายงานที่ได้รับการโต้แย้งจากวงวิชาการในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นข้อสรุปที่มาจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพียง 12 คน ขณะที่บางคนเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาของธุรกิจขายบุหรี่ไฟฟ้า และยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด

     เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความพยายามจากบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ที่โน้มน้าวให้ผู้บริโภคเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน โดยมีแรงจูงใจเป็นผลประโยชน์มหาศาลที่นักสูบอาจมองไม่เห็น

     “ขณะนี้บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ 4 บริษัทได้เข้ามาซื้อกิจการบุหรี่ไฟฟ้าไปเกือบหมดแล้ว อีกหน่อยบุหรี่ไฟฟ้าก็จะเป็นของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติทั้งหมด นอกจากนี้บริษัทบุหรี่บางแห่งยังพยายามพัฒนาสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าด้วยตัวเอง และมีการเปิดตลาดไปแล้วในหลายประเทศ และเขาก็คงตั้งเป้ามาที่ประเทศไทยด้วย

     “25 ปีมานี้เราพยายามผลักดันกฎหมายควบคุมส่วนประกอบของบุหรี่มาโดยตลอด ยกตัวอย่างเมนทอล ที่ทำให้คนติดบุหรี่ง่าย แต่ก็ไม่เคยออกกฎหมายมาควบคุมได้สำเร็จ เพราะบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่คัดค้าน เช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวกับบุหรี่ทั่วไปนี่แหละ ถ้าเปิดกว้างให้ขายได้เหมือนบุหรี่แล้วหวังจะไปควบคุมเขา คิดว่าจะทำได้ง่ายๆ เหรอ สุดท้ายเราต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้มากกว่านี้ แล้วถึงตอนนั้นรัฐบาลถึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจัดการอย่างไร แต่ตอนนี้เมื่อห้ามไปแล้วก็ควรจะห้ามต่อไป เพราะอย่างน้อยเด็กก็จะติดได้น้อยกว่า”

     ขณะที่ มาริษ มองว่าเป็นไปได้ยากที่บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจะอยู่เบื้องหลังการผลักดันบุหรี่ไฟฟ้า เพราะปัจจุบันมีแบรนด์บุหรี่ไฟฟ้านับพันแบรนด์ ขณะที่ความนิยมของแต่ละแบรนด์ไล่เลี่ยกัน ไม่มีแบรนด์ไหนผูกขาดตลาดนี้โดยตรง เช่นเดียวกับน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนับหมื่นแบรนด์ในตลาด ต่างจากตลาดบุหรี่มวนที่มียักษ์ใหญ่ในตลาดเพียงไม่กี่ราย

     “ผลิตภัณฑ์ที่พวกผมใช้กันอยู่กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมันเป็นคนละตัวกันอย่างสิ้นเชิง คุณนึกภาพโกดักออกไหม เดิมทีโกดักพยายามยืนยันว่าจะต้องทำตลาดกล้องฟิล์มให้ได้ แต่สุดท้ายตลาดโลกมันเบนไปทางกล้องดิจิทัล สุดท้ายโกดักก็พัง เหมือนตลาดบุหรี่ ในเมื่อเทรนด์ของโลก 160 ประเทศกำลังหันมาที่บุหรี่ไฟฟ้า สุดท้ายบริษัทบุหรี่ก็จะลดบทบาทลง แล้วคุณจะไปขวางเทรนด์ของโลกแบบนี้มันถูกเรื่องไหม”

     นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนความคิดเห็นบางส่วนเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ข้อถกเถียงเหล่านี้ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับข้อถกเถียงในเชิงนโยบายที่สุดท้ายจะได้ผลลัพธ์ออกมาว่าประเทศไทยควรรับมือกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไรต่อไปในอนาคต

 

Photo: MOHD RASFAN/AFP

อ้างอิง:

FYI
  • ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่มีทั้งบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ประเทศต่างๆ ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก
  • จากการสำรวจเยาวชนไทยอายุระหว่าง 13-15 ปี ในปี 2558 พบว่าประเทศไทยมีเยาวชนชายที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 4.7% และเยาวชนหญิงที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอีก 1.9% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising