×

จิตแพทย์ไขคำตอบ อะไรคือปัจจัยหล่อหลอมความรุนแรง สร้างอาชญากรรมสะเทือนขวัญ

06.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ความโกรธ ความแค้น ความอาฆาต มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน หากไม่สามารถควบคุมมันได้ วันหนึ่งเราก็อาจจะกลายเป็นฆาตกร เพราะมันเป็นเสมือนปีศาจที่ครอบงำเราอยู่
  • ไม่เสมอไปที่อาชญากรก่อคดีสะเทือนขวัญจะต้องเป็นโรคจิต แต่คนทั่วไปก็สามารถก่อเหตุได้เมื่ออารมณ์อยู่เหนือการควบคุม

     การก่อเหตุสะเทือนขวัญในเมืองไทยเกิดขึ้นถี่หลายคดี ที่ฮือฮามากที่สุดคือ กรณีของ ‘เปรี้ยว’ และพวกที่ได้ลงมือฆ่า ‘แอ๋ม’ เพื่อนสาวที่มาทำงานเป็นสาวคาราโอเกะในร้านดังใต้โรงแรมหรูของเมืองขอนแก่น โดยหั่นร่างออกเป็นสองท่อนและยัดใส่ถังน้ำเอาไปฝังดินในพื้นที่อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา

     ในขณะที่อีกคดีเป็นการรุมทำร้ายสามเณรจนตายแล้วนำร่างไปฝังใต้ฐานพระของวัด จากนั้นโบกปูนปิดทับไว้เพื่ออำพรางศพ

     ไม่นับรวมหลายต่อหลายข่าวที่เราได้ยินเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงลักษณะนี้ จนทำให้เหยื่อเสียชีวิตอย่างโหดร้าย มูลเหตุจูงใจในการลงมือก่อเหตุก็แตกต่างกันออกไป ทั้งจากอารมณ์ ความแค้น หวังในทรัพย์สิน หรือฆ่าเพื่อปิดปาก

 

 

ความรุนแรง ปีศาจที่ครอบงำเราอยู่

     พันตำรวจโทหญิง แพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือหมอแอร์ จิตแพทย์ (โรงพยาบาลตำรวจ) ให้คำตอบเกี่ยวกับเหตุผลของความรุนแรงเหล่านี้ว่า ถูกหล่อหลอมและก่อตัวขึ้นมาได้เพราะเป็นสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ทุกคนจะมีความก้าวร้าว โกรธ โมโหอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็จะมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม คอยควบคุม

     หมอแอร์ยก ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ มาอธิบายให้เห็นภาพของพฤติกรรมมนุษย์โดยทั่วไปว่า นักจิตวิทยา ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้แบ่งองค์ประกอบของพลังจิตออกเป็น 3 ส่วนคือ id, ego และ super ego

     อิด (id) เป็นอะไรที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นสัญชาตญาณ ความอยาก หรือตัณหา ซึ่งจะกระตุ้นให้คนเราแสดงพฤติกรรมตามความพอใจ สนองความต้องการตัวเอง ส่วน อีโก้ (ego) นั้นจะผ่านกระบวนการเรียนรู้มาแล้ว ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมของคนคนนั้นให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ควบคุมว่าอะไรถูก อะไรผิด และ ซูเปอร์อีโก้ (super ego) เป็นพลังจากสังคมที่เกี่ยวกับศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัยทางสังคม กฎหมาย อุดมคติในการดำเนินชีวิต เป็นส่วนที่ควบคุมให้บุคคลแสดงพฤติกรรมโดยสอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง

     อีโก้จะเป็นตัวที่คอยบาลานซ์ให้อิดกับซูเปอร์อีโก้ทำงานแบบสมดุลกัน คนที่ซูเปอร์อีโก้ต่ำก็จะขาดคุณธรรมจริยธรรม แต่ถ้ามีอิดสูงก็จะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง ซึ่งมีอยู่ในตัวทุกคน แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถควบคุมสัญชาตญาณดิบของเราได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนว่าเราจะควบคุมตัวเองอย่างไร การเลี้ยงดูครอบครัว และสภาพแวดล้อมก็มีผลต่อพฤติกรรมของคนที่เติบโตมาในอนาคต

     “ความโกรธ ความแค้น ความอาฆาต ไม่ว่าจะเป็นใคร มนุษย์มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว วันหนึ่งคุณก็สามารถกลายร่างจากคนดีเป็นฆาตกรได้ในชั่วพริบตา เพราะอารมณ์โกรธ บันดาลโทสะจากเหตุการณ์ที่ถูกเร้าหรือถูกกระตุ้น เช่น การดูถูก หรือคนรักถูกทำร้ายอาจทำให้เรากลายร่างเป็นอีกคน เหมือนเป็นปีศาจครอบงำเราอยู่ โดยไม่รู้ตัว”

     แต่สำหรับบางคนกลับไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้เรียกว่าความรุนแรงหรือเป็นเรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องที่เขารู้สึกว่านี่คือตัวตน นี่คือความแรงที่สะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา หมอแอร์อธิบายพฤติกรรมนี้ว่า เป็นเพราะความเพี้ยนของบุคลิกคนในสังคมที่ แยกไม่ออกระหว่าง ‘ตรง’ กับ ‘แรง’ ตรงคือการเป็นคนตรงไปตรงมา แสดงออก บอกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา คนที่ตรงอาจไม่จำเป็นต้องแรง คนที่แรงก็ไม่จำเป็นที่ต้องแรง คนที่แรงอาจจะแรงจากความคิด การกระทำ หรือคำพูดก็ได้ คนที่ตรงอาจจะเป็นคนสุขุมก็ได้ และคนที่แรงอาจจะมีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ความแรงก็ได้

     คนยุคนี้เหมือนนิยมชมชอบความแรง ความตรง ความสะใจ ตรรกะหรือความคิดของคนในสังคมก็เลยเพี้ยน มันบิดเบือนไปหมด อยากทำอะไรก็ทำแบบสุขนิยม ชอบความแรง แรงแล้วสะใจดี ซึ่งไม่เป็นไรหากไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น หรือไปทำให้ใครเดือดร้อน

     “จะแรงแค่ไหนก็ได้ถ้าไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน แรงแล้วไปด่าว่าเขา ไปทำร้ายเขา ถ้าทำแบบนั้นมันก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับมาที่ตัวคุณเอง คุณก็ต้องยอมรับในพฤติกรรมของตนเอง”

 

 

พฤติกรรมและปัจจัยที่นำสู่ ‘ฆาตกร’

     หมอแอร์ชี้ว่า ในทางวิชาการมีทฤษฎีที่มีการอธิบายถึงการเกิดอาชญากรรมไว้ว่า การเกิดคดีอาชญากรรมต่างๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วเกิดมาทันทีทันใด ตาม ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม’ (Crime Triangle Theory) มีองค์ประกอบหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชญากรรม 3 อย่าง ได้แก่ ผู้กระทำผิด โจร หรือคนร้าย คือคนที่ต้องการจะก่อเหตุ เหยื่อ คือบุคคลที่ถูกกระทำ และ มีโอกาส คือเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมที่คนร้ายสามารถจะลงมือกระทำความผิดได้ คือต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จึงจะเกิดคดีหรือมีอาชญากรรมเกิดขึ้น หากขาดอันใดอันหนึ่งก็ไม่เกิด

     หลายกรณีโจรและเหยื่อมีการเร้าอารมณ์กัน กรณีที่เป็นข่าวคือมีความโกรธแค้นจนกระทั่งตบตีกัน และมีการใช้วาจาเร้ากัน เช่น ถ้ากูไม่ตาย มึงก็ตาย มันก็เป็นการเร้ากัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ยิ่งโกรธ คำพูดท้าทายและเร้ากันไปมาแบบนี้ทำให้เกิดคดีฆ่ากันตายมาแล้วจำนวนมาก หรือในกรณีที่มีการสู้กันแล้วมีฝ่ายหนึ่งอ้อนวอนขอชีวิต บางครั้งมันก็ไม่ทำให้อาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะอีกฝ่ายไม่รู้สึกว่ามีการเร้า อาจจะคิดได้ชั่วเวลาหนึ่งแล้วก็ปล่อยกันไป

 

ฆาตกรอำมหิตเป็นโรคจิตหรือเปล่า

     เวลาเกิดเหตุฆาตกรรม คนมักจะสงสัยว่าคนที่ลงมือก่อเหตุ หรือฆาตกร เป็น โรคจิตหรือมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ หมอแอร์ตอบข้อสงสัยนี้ว่า คดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมี 2 แบบ ทั้งคนที่เป็นโรคจิตจริงๆ คือมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเอง กับอีกแบบคือเป็นคนปกติธรรมดาที่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ คือรู้ตัวดี แต่เป็นเรื่องของความโกรธ ความเคียดแค้น ซึ่งถ้าไม่สามารถควบคุมตนเองได้ก็จะกลายมาเป็นฆาตกร บางคนรู้ว่าบาป แต่ยอมทำเพื่อให้ได้แก้แค้น ล้างแค้น ถามว่ารู้ไหมว่าทำแล้วผลจะเป็นอย่างไร คำตอบคือรู้ แต่ก็ขอให้ได้ระบายความโกรธแค้นของตัวเอง

     “อารมณ์แบบใครทำให้เราเจ็บ มันต้องเจ็บกว่า อยากจะบอกว่าทุกคนมีอารมณ์โกรธอยู่ในตัว วันหนึ่งที่เรามีอารมณ์ตรงนี้พุ่งสูงขึ้นมาแล้วไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เราก็อาจกลายเป็นฆาตกร บางทีคนเราก็ยอมฆ่าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่รักหรือสิ่งที่ต้องการ”

 

 

รู้เท่าทันและควบคุมความรุนแรงอย่างไร

     “การควบคุมอารมณ์ของตนเองเป็นทักษะที่ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ฝึกตอนโตก็ยังทัน แต่อาจจะต้องใช้เวลา โดยเริ่มจากพ่อแม่ทำให้ดูเป็นเเบบอย่าง เพราะเวลาที่โกรธหรือโมโห มันเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ เหมือนพายุที่มาแล้วก็ไป คงไม่มีใครโกรธได้ตลอดเวลา มันเป็นทักษะที่ต้องควบคุม ต้องมีสติเท่าทันอารมณ์ของตนเอง คือให้ลองถอยออกมาเป็นคนดู มองมันอย่างวิเคราะห์ พยายามมองให้เห็นปัญหาแล้วแก้ไข แต่กว่าจะผ่านมาได้ เราก็ต้องสู้รบกับจิตใจตัวเองเหมือนกัน” หมอแอร์กล่าวและเสริมเพิ่มเติมอีกว่า

     “การควบคุมอารมณ์โกรธสามารถทำได้หลายวิธี พอมีสติก็พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้น ถ้าเจอคนที่ด่าเรา ว่าเรา ก็แค่ออกมาจากตรงนั้น หาที่เย็นๆ สบายๆ มานั่งพักสมอง คิดทบทวน ตั้งหลักกับตัวเอง หรือไประบายความโกรธออกทางอื่น

     “สภาพแวดล้อมและคนรอบข้างก็สามารถช่วยเขาได้ด้วยการไม่ไปเร้าอารมณ์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัว ควรจะมีกฎว่าถ้ามีใครกำลังโกรธ ควรให้เวลาเขาได้สงบสติอารมณ์ตัวเอง ไม่ควรตามไปจิก มันจะกลายเป็นการเร้ากัน ต้องให้เวลานอกกับเขาหน่อย”

 

 

โลกโซเชียลมาไว กระทบอารมณ์ไว ทำอย่างไรดี

     “ปัจจุบันมีสื่อจำนวนมาก หากเราเสพสื่อที่มีความรุนแรง การฆ่าตัวตาย การทำร้ายกัน มันก็จะซึมซับเข้าไปในตัวเรา เหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีแรมขนาดใหญ่ได้เก็บภาพพวกนี้เอาไว้ วันหนึ่งที่เราเครียด เราทุกข์ จิตใจของเราอ่อนแอ ด้านมืดก็จะโผล่ขึ้นมา บางคนผิดหวังเรื่องเดียวก็สามารถฆ่าตัวตายได้ทันที เพราะเรามีภาพเก็บสะสมไว้แล้วโดยไม่รู้ตัว เวลาโกรธใครแค้นใครบางคนก็คิดวางแผนจะทำร้ายเขา ฆ่าเขา

     “หากเราคิดดี คิดบวก มันก็จะทำให้เราดีขึ้น มีพลังบวกขึ้นมาได้ แต่หากมองมุมลบมากเกินไปก็อาจจะทำให้เรามีพลังลบ ติดอยู่ในความคิดแบบลบมากๆ ก็ต้องมองบางเรื่องให้เป็นธรรมดาว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียว ตั้งมั่น ตั้งรับกับตนเองให้มาก เข้าใจตนเอง และพยายามมีสติวิเคราะห์” หมอแอร์อธิบาย

 

จิตแพทย์ช่วยได้อย่างไร

     หมอแอร์อธิบายว่า คนไทยไม่กล้าไปพบจิตแพทย์เพราะกลัวถูกมองจากสายตาสังคมว่าบ้า ซึ่งเป็นความเชื่อของคนไทยบางกลุ่ม แต่ในต่างประเทศและประเทศที่พัฒนาแล้วมีประชาชนที่รู้สึกว่าตัวเองป่วยทางจิตไปพบจิตแพทย์จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจิตวิทยา นอกเหนือจากการเข้าวัด หรือนอกเหนือจากการที่เราใช้วิธีอื่นที่สบายใจก็สามารถที่จะมาพบจิตแพทย์ได้ เพื่อให้เราสามารถปรับทุกข์และหาทางออกตามวิธีทางการแพทย์

     “หากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆ ได้ เราพลาดครั้งเดียว ชีวิตอาจจะเปลี่ยน แต่หากผิดแล้วเรียนรู้ รู้จักที่จะสำนึก สังคมก็พร้อมให้อภัยได้”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising