×

หน่วยงานรัฐเตรียมยกระดับความโปร่งใสด้วยมาตรการสากล รัฐจริงจังหรือกำลังสร้างภาพลักษณ์?

29.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ล่าสุดภาครัฐได้นำกลไกที่เรียกว่า CoST หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างของรัฐ ซึ่งเป็นมาตรฐานจากสากลมาใช้ในประเทศไทย นำร่องด้วยโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2
  • CoST คือทีมงานเฉพาะกิจที่คอยถือเช็คลิสต์ 37 รายการ ทำหน้าที่ขอข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของโครงการที่เป็นภาครัฐ ก่อนจะนำข้อมูลมาย่อยให้เข้าใจง่าย แล้วเผยแพร่ให้ประชาชนได้เข้าถึงผ่านเว็บไซต์
  • นักวิชาการ และสื่อมวลชน มองว่า CoST เป็นเครื่องมือที่ดี แต่ก็ตั้งคำถามด้วยว่าในเมื่อก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ระบุให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว แต่ทำไมถึงยังเปิดเผยข้อมูลน้อยมาก
  • นอกจาก CoST แล้ว รัฐบาลยังเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิกของ EITI หรือโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมทรัพยากรธรรมชาติ และ Open Government Partnership ข้อกำหนดความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐด้วย

     หลายวันมานี้สังคมมีเรื่องให้ตั้งคำถามกับหน่วยงานภาครัฐหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จนมาถึงเรื่องล่าสุดอย่างหอชมเมืองกรุงเทพฯ ที่ประชาชนแทบไม่รู้ที่มาที่ไป และรายละเอียดที่ชัดเจน ขณะที่ภาครัฐก็พยายามจะเร่งรัดโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

     คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้เป็นตัวสะท้อนความล้มเหลวเรื่องความโปร่งใสของภาครัฐได้เป็นอย่างดี เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากการไม่เปิดเผยข้อมูลในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ พูดง่ายๆ ว่ายิ่งมีลับลมคมใน ก็ยิ่งกระตุ้นความสนใจของผู้คน ทั้งที่บางเรื่องอาจไม่มีอะไรในกอไผ่อย่างที่หลายคนคิดไว้เลยก็ได้

     ล่าสุดมีความพยายามจากภาครัฐที่จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐานสากล และลดความกังขาของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐต่างๆ ด้วยการนำกลไกที่เรียกว่า CoST (Construction Sector Transparency Initiative) หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างของรัฐ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลเข้ามาใช้ในประเทศไทย เป็นที่มาของงานเสวนาที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อหาทางออกเรื่องปัญหาความโปร่งใสของภาครัฐด้วยมุมมองที่หลากหลาย

     เมื่อรัฐต้องการเปิดข้อมูลด้วยการหยิบยืมเครื่องมือตัวใหม่มาจากต่างประเทศ ความพยายามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง วงเสวนานี้มีคำตอบ

70 เปอร์เซ็นต์ของหน่วยงานรัฐไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์

และมีรัฐวิสาหกิจ 22 เปอร์เซ็นต์ถูกจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลให้อยู่ในระดับที่แย่-แย่มาก

 

CoST คืออะไร?

     โครงการ CoST เกิดขึ้นจากการผลักดันของหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งกระทรวงเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษ (DFID) ธนาคารโลก รวมถึงสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ (IFCE) ตามข้อเสนอขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

     กลไกการทำงานของ CoST ประกอบไปด้วยระบบการตรวจสอบแบบมีส่วนร่วมจากคณะกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน หรือ Multi – Stakeholder Group – MSG ที่มีทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และองค์กรประชาสังคม โดยมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบข้อมูลการก่อสร้างของรัฐในทุกขั้นตอน เช่น การวางแผนงาน การจัดซื้อจัดจ้าง และการดำเนินการก่อสร้าง วิเคราะห์ว่าโครงการเป็นไปตามแผนหรือไม่ ต้นทุนบานปลาย และตรงไปตามเป้าหมายหรือเปล่า

     นอกจากนี้ยังต้องมีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล หรือ Assurance Team คอยช่วยประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อรวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์ข้อมูลให้เข้าใจง่ายก่อนนำเสนอให้กับสาธารณชนได้รับรู้ต่อไป

     เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับว่า CoST เป็นทีมงานเฉพาะกิจที่คอยถือเช็กลิสต์ 37 รายการ ทำหน้าที่ขอข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของโครงการที่เป็นภาครัฐ ก่อนจะนำข้อมูลมาย่อยให้เข้าใจง่ายๆ แล้วโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชน หรือสื่อมวลชนได้เข้าไปอ่านหรือนำไปต่อยอด

     ซึ่งขณะนี้มีการใช้นำร่องในโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 พ.ศ. 2554-2560 ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 62,000 ล้านบาท ที่เพิ่งเริ่มก่อสร้างไปไม่นาน และเตรียมนำไปใช้กับ 4 โครงการภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โครงการก่อสร้างอาคารสถาบันโรคผิวหนัง ของกรมการแพทย์ โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ระยะที่ 2 ของกรมชลประทาน และโครงการก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานเบตง ของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งมีมูลค่ารวมทุกโครงการกว่า 100,000 ล้านบาท

     นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลไทยที่หยิบเครื่องมือนี้มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับหน่วยงานรัฐต่างๆ

     แต่คำถามคือ แล้วก่อนหน้านี้หน่วยงานรัฐต่างๆ เปิดเผยข้อมูลกันมากน้อยแค่ไหน แล้ว CoST เป็นยาวิเศษที่จะทำให้ภาครัฐโปร่งใสได้จริงอย่างที่หวังหรือเปล่า

ข้าราชการมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะมีบทลงโทษสำหรับคนที่เปิดข้อมูลที่ไม่ควรจะเปิดให้เป็นโทษอาญา โดยเขียนไว้ว่าถ้าเปิดข้อมูลที่เป็นข้อมูลลับของทางราชการ แต่ที่ผ่านมาคำนิยามของคำว่าข้อมูลลับของราชการยังไม่มีความชัดเจน ใครจะกล้าเปิด

CoST และความทับซ้อนกับกฎหมายไทย

     แม้จะมีกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารวัสดุภาครัฐ รวมถึง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งต่างก็ระบุไว้ให้ภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอยู่แล้วก็ตาม

     แต่ในสภาพความเป็นจริงกลับพบว่า หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจมีการเปิดเผยข้อมูลค่อนข้างน้อย โดยผลการสำรวจข้อร้องเรียนต่อสำนักคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตั้งแต่ปี 2548-2557 พบว่ามีจำนวนเรื่องร้องเรียนมากกว่า 4,000 ครั้ง นอกจากนี้ผลสำรวจโดย ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังพบว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของหน่วยงานรัฐไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ และมีรัฐวิสาหกิจ 22 เปอร์เซ็นต์ถูกจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลให้อยู่ในระดับที่แย่-แย่มาก มีหน่วยงานที่อยู่ในระดับดีมากเพียง 3 แห่งเท่านั้น (อ้างอิงผลการสำรวจการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2556) สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความโปร่งใสด้านข้อมูลในหน่วยงานภาครัฐยังอยู่ห่างไกลจากมาตรฐาน

     เมื่อนำเช็กลิสต์ 37 รายการของ CoST มาเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ และระเบียบราชการต่างๆ ธิปไตร พบว่า เกินครึ่งในลิสต์ดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้วตามกฎหมายไทย เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่เพิ่มเติมขึ้นมา

     บวกกับข้อดีของ CoST ที่มีแพลตฟอร์มในรูปแบบเว็บไซต์ช่วยอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการกรอกข้อมูลได้โดยง่าย มีคณะทำงานที่คอยติดตามทวงถามข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ มีการย่อยข้อมูลเพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบเดียวกันนี้มาเป็นกรอบในการสร้างบรรทัดฐานให้ระบบนี้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

CoST เป็นของฝรั่ง จะได้ทำตามฝรั่ง ดูทันสมัย เป็นสากล

ทั้งที่จริงๆ ภาครัฐควรทำจากจิตสำนึกว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

 

CoST ไม่ใช่ยาวิเศษ?

     ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุบนเวทีเสวนาว่า ถ้าดูตามกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ประเทศไทยถือว่าไม่ได้น้อยหน้าประเทศไหน และในความเป็นจริงยังล้ำหน้ากว่าหลายประเทศด้วยซ้ำ แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง หรือละเลย จนต้องไปนำแพลตฟอร์มอื่นๆ มาเสริม

     “การมี CoST น่าจะทำให้เกิดความตื่นตัวในหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เพราะเป็นเกณฑ์สากล ที่มีเงื่อนไขบังคับให้อยากทำตาม เพราะรัฐบาลไปเซ็นข้อตกลงเอาไว้ คำถามคือ ถ้าเรารู้ว่าเรื่องเหล่านี้ทำแล้วดี ทำไมเราถึงไม่ทำเองตั้งแต่แรก

     “ส่วนตัวมองว่า CoST ไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่อยากให้ทุ่มเททุกอย่างไปที่ CoST แล้วมองข้ามกฎระเบียบ หรือสภาพแวดล้อมที่รัฐวิสาหกิจเขาทำงานอยู่ว่ามันเอื้อให้มีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ บางทีเราอาจจะมองรัฐวิสาหกิจในแง่ลบว่าขอข้อมูลไปก็ไม่ค่อยเปิด แต่ลืมมองว่าถ้าเขาเปิดแล้วจะมีปัญหาไหม

     “ข้าราชการมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะมีบทลงโทษสำหรับคนที่เปิดข้อมูลที่ไม่ควรจะเปิดให้เป็นโทษอาญา โดยเขียนไว้ว่าถ้าเปิดข้อมูลที่เป็นข้อมูลลับของทางราชการ แต่ที่ผ่านมาคำนิยามของคำว่าข้อมูลลับของราชการยังไม่มีความชัดเจน ใครจะกล้าเปิด ดังนั้น จึงไม่มีมาตรฐานตรงกลางที่จะอ้างอิงได้

     “พื้นที่ตรงนี้ยังมีสีเทาเยอะ เมื่อมีสีเทาเยอะ ข้าราชการเองก็ไม่กล้าเปิดเผย เราก็ต้องพยายามแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อเอื้อให้เขาสามารถเปิดเผยข้อมูลได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่างๆ”

     ด้าน ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. สะท้อนมุมมองว่า จริงๆ แล้ว CoST เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น ขณะที่กฎหมายต่างๆ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐถูกเขียนไว้หมดแล้ว แต่การนำไปสู่การปฏิบัติจริงค่อนข้างยาก เพราะหลายๆ อย่างข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจอาจะไม่คุ้นเคย รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของภาครัฐส่วนใหญ่ที่มักจะต้องปกปิดทุกอย่างไว้ก่อน แต่การนำ CoST เพื่อนำมาใช้เสริมกับกฎหมายที่มีอยู่ ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีเจตนารมณ์ที่ดีในการสร้างความโปร่งใสอย่างจริงจัง

     ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ผู้เข้าร่วมการเสวนาให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า กฎหมายข้อมูลข่าวสารของไทยถือว่ามีสภาพค่อนข้างดี มีความชัดเจน และให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่แล้วถ้าเปิดเผยข้อมูลโดยสุจริต แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักจะให้เหตุผลว่าเป็นข้อมูลลับ หรือข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็น ‘ข้ออ้าง’ ทั้งหมด

     “แค่บังคับให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายที่มีอยู่ก็จบแล้ว ไม่ต้องมี CoST หรือเช็กลิสต์อะไรหรอก แต่ที่ต้องมีเพราะ CoST เป็นของฝรั่ง จะได้ทำตามฝรั่ง ดูทันสมัย เป็นสากล ทั้งที่จริงๆ ภาครัฐควรทำจากจิตสำนึกว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และทำให้เกิดการมีส่วนร่วม

     “ถ้ามองแง่ดี CoST น่าจะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ อยากเอาไปใช้ได้บ้าง เพราะเห็นหน่วยงานอื่นทำก็อยากทำบ้าง แต่ถ้ามองในแง่ลบก็เหมือนเป็นการสะท้อนความไม่โปร่งใส และการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารที่ล้มเหลวได้เหมือนกัน คำถามคือถ้ารัฐบาลเปลี่ยน นโยบายนี้จะเปลี่ยนด้วยหรือเปล่า”

วัตถุประสงค์ของ CoST ไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่จะมีคอร์รัปชันหรือไม่มีคอร์รัปชัน เขาเขียนไว้ชัดว่าต้องการทำให้การใช้เงินงบประมาณของประเทศในการทำโครงการก่อสร้างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นมันช่วยในแง่การบริหารจัดการโครงการ

ดร. นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

 

ผู้ว่าฯ การท่าอากาศยานยืนยัน CoST ไม่ใช่แค่สร้างภาพลักษณ์ แต่ใช้ได้จริง

     ด้าน ดร. นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการทดลองนำระบบ CoST มาใช้ในโครงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ว่า แม้ขั้นตอนการก่อสร้างจะยังไม่แล้วเสร็จ แต่การเปิดเผยราคากลางวัสดุก่อสร้างก็ช่วยทำให้สามารถลดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างลงได้ถึง 9 พันล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมาไม่กล้าใช้ราคาปูนขายปลีกมาคิดคำนวณ

     นอกจากนี้การมี Assurance Team ยังสามารถช่วยสื่อสารเรื่องที่ซับซ้อน เช่น เหตุผลความล่าช้าของโครงการให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนยังช่วยทำให้คำถามของสังคมหมดไปด้วย

     “ไม่อย่างนั้นคนทำงานเองจะตกเป็นจำเลยของสังคม โดยรวมรู้สึกดีใจ และคิดว่าตัดสินใจถูกที่เข้าร่วมโครงการ CoST เพราะทำให้โครงการก่อสร้างสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีคำถามจากสังคมมาดึงให้เกิดความล่าช้า เพราะข้อมูลถูกเปิดเผยทั้งหมด เชื่อว่าโครงการ CoST จะเป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวมจริงๆ”

     ส่วนความยุ่งยากซับซ้อนในการเปิดเผยข้อมูล ดร. นิตินัย ระบุว่า โดยรวมมีความลำบากอยู่บ้างที่จะต้องสื่อสารกับทั้งพนักงานและหน่วยงานภายนอก แต่ในระยะยาวต้องยอมเหนื่อย เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าคุ้มค่ามาก

     “เหมือนเล่นฟิตเนสใหม่ๆ มันก็ต้องมีปวดเมื่อยบ้างเป็นธรรมดา แต่เราจะปล่อยให้แขนขาลีบแล้วเดินไปตามยถากรรมไม่ได้ มันก็ต้องยอมเหนื่อย เคลียร์กับลูกน้องตัวเอง เคลียร์กับหน่วยงานข้างนอก แต่คุ้ม เพราะทำงานได้อย่างสบายใจ มีความโปร่งใส มีเกราะคุ้มครอง เหนื่อยกาย ดีกว่าเหนื่อยใจในภายหลัง งานก็เดิน ประเทศก็ไปต่อได้ คนทำงานเองก็ปลอดภัยจากการถูกฟ้องในภายหลังด้วย”

     สอดคล้องกับความคิดเห็นของ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่ระบุว่า

     “วัตถุประสงค์ของ CoST ไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่จะมีคอร์รัปชันหรือไม่มีคอร์รัปชัน เขาเขียนไว้ชัดว่าต้องการทำให้การใช้เงินงบประมาณของประเทศในการทำโครงการก่อสร้างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นมันช่วยในแง่การบริหารจัดการโครงการ”

     ส่วนในระยะยาวหวังว่าจะมีการนำ CoST ไปใช้กับโครงการระดับท้องถิ่น และงานก่อสร้างของภาครัฐทั้งหมดจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กรว่าอยากจะเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยตัวเองหรือไม่ เพราะนั่นคือแรงจูงใจที่สำคัญกว่า

     “เวลาเราพูดถึงโครงการของรัฐวิสาหกิจ ที่ทำเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียง แต่ทำให้องค์กรมีความโปร่งใส ที่สำคัญคือถ้าหัวหน้าองค์กรอยากมีสุขภาพแข็งแรง ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลว่าสุขภาพเป็นอย่างไรอย่างเต็มระบบตลอดเวลา แล้วองค์กรจะเข้มแข็งและยั่งยืน”

     ดร. เดือนเด่น ยังกล่าวเสริมด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลถือเป็นการสร้างเกราะกำบังให้กับผู้บริหารองค์กรเอง เนื่องจากสังคมกำลังเรียกร้องความโปร่งใส อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมืองในอนาคตด้วย เพราะต่อไปหากมีการยกเลิกสัญญา หรือปรับแก้สัญญาโดยมีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ รายละเอียดในสัญญาเหล่านั้นก็จะต้องถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้และตรวจสอบ อย่างไรก็ดีลำพังแค่ข้อมูลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากกว่าหากมีการนำไปต่อยอดต่อไป

     “การที่เราจะไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชันยังมีงานให้ทำอีกเยอะ ข้อมูลเป็นเพียงแค่วัตถุดิบที่จะเอาไปใช้ต่อได้ แต่คำถามคือพอมีข้อมูลแล้วจะเอาไปทำอะไร ดังนั้นก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่จะเอาข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่ขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากล หรือนักวิชาการก็อาจจะเอาข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งถ้าปล่อยให้ข้อมูลเหล่านี้กองไว้เฉยๆ โดยไม่มีคนสนใจ ไม่มีคนเอาไปใช้ มันก็จะไม่มีประโยชน์เท่าไร และคนที่เอาไปเล่นต่อก็ต้องมีช่องทางที่จะทำให้มันกลายเป็นประเด็นระดับประเทศได้”

เราต้องใจเย็นๆ เพราะที่ผ่านมาเรามีวัฒนธรรมของการปกปิดข้อมูลมาเป็นศตวรรษ

การลุกขึ้นมาบอกว่าจะเปิดให้หมดทุกอย่างมันไม่ง่าย ต้องมีคนกล้าเปิดสักคน

รัฐจริงใจหรือแค่สร้างภาพ

     หลายคนอาจไม่รู้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานอกจากรัฐบาลไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของ CoST แล้ว ยังมีการเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิกของ EITI (Extractive Industries Transparency Initiative) หรือโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างโปร่งใสและลดความขัดแย้ง โดยเฉพาะทรัพยากรเหมืองแร่ และปิโตรเลียม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2015 ที่ผ่านมา

     นอกจากนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ยังมีมติให้ไทยสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หรือ The Open Government Partnership Steering Committee ที่มีสมาชิก 65 ประเทศทั่วโลกโดยมีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลรัฐทั้ง 4 ด้าน คือ ความโปร่งใสด้านการคลัง การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน การเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้และทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

     ซึ่ง ดร. เดือนเด่น เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของโครงการเหล่านี้มาก่อน แต่การเสนอตัวเข้าร่วมของรัฐบาลเป็นการแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยรัฐบาลก็เล็งเห็นความสำคัญของความโปร่งใสในการบริหารจัดการประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยงานรัฐต่างๆ จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูล

     “ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ให้ความสนใจกับความโปร่งใส แต่จะทำได้แค่ไหนก็ต้องรอดูต่อไป เราต้องใจเย็นๆ เพราะที่ผ่านมาเรามีวัฒนธรรมของการปกปิดข้อมูลมาเป็นศตวรรษ การลุกขึ้นมาบอกว่าจะเปิดให้หมดทุกอย่างมันไม่ง่าย ต้องมีคนกล้าเปิดสักคน เช่น ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ที่กล้าเข้าโครงการ CoST และเปิดเผยข้อมูลจาก 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในลิสต์เพิ่มเป็น 80 เปอร์เซ็น และถ้ามีตัวอย่างว่าจะเปิดก็เปิดได้ เชื่อว่าทุกรัฐวิสาหกิจจะสามารถนำเครื่องมือพวกนี้ไปใช้ได้อย่างสบายใจ และไม่มีข้ออ้างในการปกปิดอีกต่อไป”

 

     สุดท้าย THE STANDARD ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการและข้อกำหนดเรื่องความโปร่งใสเหล่านี้ถือเป็นเพียงเครื่องมือ และรูปแบบที่เอื้ออำนวยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และสามารถทำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นเพียงเท่านั้น เพราะแต่ละข้อตกลงไม่ได้มีอำนาจบังคับ หรือบทลงโทษที่ชัดเจนหากรัฐบาลไม่ทำตาม ที่ร้ายแรงที่สุดอาจเพียงแค่ทำให้ประเทศไทยหลุดจากการเป็นสมาชิกเพียงเท่านั้น

     ซึ่งเมื่อรัฐแสดงความตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสเหล่านี้แล้ว ผลลัพธ์ปลายทางคงต้องวัดความจริงใจของรัฐบาลในระยะยาวว่าในทางปฏิบัติจะทำได้จริงแค่ไหน

 

ภากประกอบ: narissara k.

Photo: TDRI

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising