ย้อนไปเมื่อ 13 มีนาคม 2559 นายเจนภพ วีรพร (จำเลย) ได้ขับรถเบนซ์พุ่งชนท้ายรถฟอร์ด เป็นเหตุให้นายกฤษณะ ถาวร และนางสาวธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย นิสิตปริญญาโทจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสียชีวิตในรถ เหตุเกิดบนถนนพหลโยธิน กม. 53 หมู่ 8 ต. เชียงรากน้อย อ. บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา
เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ที่คดี ‘เบนซ์ชนฟอร์ด’ อันเป็นคดีที่สะเทือนความรู้สึกของประชาชน เดินทางมาถึงวันแห่งการพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ท่ามกลางความคาดหวังของครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ที่เฝ้าติดตามข่าว ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร
ครอบครัวผู้สูญเสียทุกข์ใจทั้งคนรักจากไป และทุกข์ใจเรื่องคดี
วันนี้ (19 กรกฎาคม) ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ผลของคำตัดสินโดยสรุปคือ ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มีโทษจำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีวิต ส่วนความผิดในข้อหาเมาแล้วขับ รวมถึงเสพยาเสพติด ศาลตัดสินยกฟ้องเพราะเหตุว่ามีข้อสงสัยชั้นพนักงานสอบสวน
ตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ่ายที่สูญเสีย โดยเฉพาะในส่วนของ นางสาวกัญจนา ฮ้อแสงชัย หรือ เบลล์ น้องสาวของผู้เสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการเปิดเผยจาก หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร และเจ้าของรายการไอทีชื่อดัง ผ่านเฟซบุ๊กหลังได้พบกับน้องสาวของเหยื่อคนนี้ว่า น้องสาวของผู้ตายกลัวว่าหลักฐานจะอ่อน เพราะผลการตรวจแอลกอฮอล์ไม่มี ผลการตรวจเลือดจากโรงพยาบาลไม่ปรากฏ กล่องดำจากรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังไม่พบ
ขณะที่ หนุ่ย พงศ์สุข เล่าอีกว่า เบลล์ ต้องหยุดเรียนปริญญาเอกที่แคนาดา เพราะแม่ขอให้กลับมารวมตัวอยู่ด้วยกัน พ่อตัดสินใจบวชไม่กำหนดสึกเพราะหัวใจสลาย แม่เข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นประจำ
นี่คือความทุกข์ของครอบครัวและญาติผู้สูญเสีย นอกจากจะต้องทุกข์ใจเพราะคนที่รักจากไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว ก็ยังคงมีความทุกข์ในการต่อสู้คดีและการใช้ชีวิตในแง่จิตใจตลอดมา
คนรวยส่วนใหญ่ไม่ค่อยติดคุก คุกมีไว้ขังคนจน แต่คดีนี้ศาลเลือกที่จะลงโทษในชั้นต้นโดยไม่มีการรอลงอาญา
สร้างมาตรฐานสังคม ยันสู้ต่อหากจำเลยอุทธรณ์
ก่อนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา THE STANDARD ได้ติดต่อพูดคุยกับ คุณเบลล์ น้องสาวของผู้เสียชีวิต ซึ่งทราบจาก หนุ่ย พงศ์สุข ว่าจะมีการ Live เพื่อเปิดใจก่อนมีการตัดสินคดี ซึ่งท้ายที่สุดเธอก็ตัดสินใจไม่ขอพูดเรื่องดังกล่าว โดยตั้งใจให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาล เพราะเกรงจะกระทบต่อรูปคดี แต่ก็ยินดีหากต้องการทราบรายละเอียดโดยให้ติดต่อผ่านทาง คุณวิเชียร ชุบไธสง ในฐานะทนายความ
ภายหลังคำพิพากษาออกมาตามที่ปรากฏหน้าสื่อ THE STANDARD ต่อสายตรงไปยังทนายวิเชียร เพื่อสอบถามบางประเด็นให้กระจ่างมากขึ้น
ทนายวิเชียร ในฐานะทนายความครอบครัวฮ้อแสงชัยเปิดเผยว่า ภาพรวมของคดีในวันนี้ นายเจนภพ จำเลย ที่ผ่านมาได้รับสารภาพในข้อหาได้แก่ ขับรถโดยประมาทอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และ ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
โดยข้อหาทั้งหมดที่ศาลได้ตัดสิน เป็นไปตามหลักกฎหมาย เรียกว่าเป็นความผิดกรรมเดียว แต่กฎหมายหลายบท ทำให้ศาลตัดสินโทษเพียงแค่ข้อหาเดียว คือข้อหาที่บทลงโทษหนักสุด นั่นก็คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 5 ปี แต่จำเลยยอมรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง คือ 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา และ เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีวิต
ทนายวิเชียรอธิบายอีกว่า ในส่วนคดีที่ศาลยกฟ้องนั้น เป็นคดีอาญาแผ่นดิน รัฐเสียหาย อัยการต้องฟ้อง ส่วนครอบครัวผู้เสียหายเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเท่านั้น แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อไปในจุดที่ทำได้ และผลคำตัดสินที่ออกมาหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน ก็จะเดินหน้าสู่คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ต่อไป
“ผมต้องการให้เรื่องนี้ มีบรรทัดฐานที่เป็นมาตรฐานในกรณีที่คนขับรถไม่ว่าจะเป็นเสพยาหรือเมาสุรา แล้วเวลาที่พนักงานสอบสวนขอตรวจแต่ไม่ยอม เราอยากให้มีตัวอย่างทางคดี ในการลงโทษเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วเกิดข้อบกพร่องจริงๆ ประเด็นนี้มีเหตุอันควรสงสัย ศาลจึงต้องยกฟ้องไป”
“ดุลพินิจในการลงโทษ เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของผู้พิพากษา มีปัจจัยหลายอย่างในการลงโทษ แต่ละคดีข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ที่ฟังจากสื่อโซเชียลทั้งหลายเหมือนกลัววาทกรรมว่า คนรวยส่วนใหญ่ไม่ค่อยติดคุก คุกมีไว้ขังคนจน แต่คดีนี้ศาลเลือกที่จะลงโทษในชั้นต้นโดยไม่มีการรอลงอาญา สำหรับผมมองว่าการตัดสินของศาลเป็นไปตามระบบระเบียบ กระบวนการยุติธรรม และยังทำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนซึ่งเป็นผลดีต่อสังคม” ทนายวิเชียรกล่าว
มีข้อสงสัย มีอุปสรรค มีมาตรฐานที่รอสรุป
อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไป ถึงเส้นทางของคดีกว่า จะเดินมาสู่การตัดสินคดีในวันนี้ ก็มีข้อสังเกตหลายประการ
มีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าเจ้าหน้าที่มีการทำงานล่าช้า กระทั่งมีการเปลี่ยนทีมพนักงานสอบสวนก่อนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดเพื่อส่งฟ้อง และเมื่อเกิดเหตุใหม่ๆ ในเวลานั้น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) มีคำสั่งย้าย 2 นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดี คือ พ.ต.อ. พงศ์พัฒน์ สุขสวัสดิ์ ผกก. สภ. พระอินทร์ราชา จ. พระนครศรีอยุธยา และ พ.ต.ท. สมศักดิ์ พลพันขาง รองผก. (สอบสวน) สภ. พระอินทร์ราชา ไปประจำ ศปก. ตร. ภ.1 เป็นเวลา 15 วัน โดยขาดจากตำแหน่งเดิม
ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ออกมาแถลงข่าวให้ความมั่นใจถึงข้อเคลือบแคลงสงสัยนี้ในหลายครั้ง ถึงขนาดที่ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ออกมาแถลงข่าว ยอมรับว่าตำรวจมีความบกพร่องในการทำคดี
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ฝ่ายญาติผู้สูญเสียเอง ก็มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายละเอียดในคดี ถึงการทำงานของพนักงานสอบสวนที่มีความน่าเคลือบแคลงสงสัย หวั่นหลักฐานอ่อน
ทนายวิเชียร เปิดเผยต่อสื่อมวลชนด้วยว่า ที่ทำให้คดีนี้ล่าช้า มีอีกหนึ่งเหตุผลก็คือ จำเลยได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีการสั่งจำหน่ายคดี โดยให้เหตุผลว่าจำเลยเป็นคนวิกลจริต
ด้าน นางสาวกัญจนา หรือ เบลล์ บอกกับสื่อในระหว่างการสัมภาษณ์ที่ศาลว่า คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม ทำให้เห็นว่ากรณีขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ศาลสามารถพิพากษาโดยไม่รอลงอาญา แม้ว่าจะมีการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้วก็ตาม
ไม่นับรวมเสียงโซเชียลที่วิจารณ์ปมเงื่อนต่างๆ นานา มีการหยิบยกในหลายข้อสงสัยไปวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง เหมือนที่ทนายความบอกว่า หลายคนกลัววาทกรรมคนรวยไม่ติดคุก คุกมีไว้ขังแต่คนจน
แม้ว่าตามขั้นตอนของกฎหมาย นายเจนภพ จะยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี และศาลได้ให้ประกันตัวไปแล้วในวงเงิน 2 แสนบาท ซึ่งจำเลยจะต้องยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นก็ต้องรับโทษจำคุกเข้าเรือนจำทันที
แสดงให้เห็นว่า จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดี และการเดินหน้าของคดีก็จะเหลือชั้นศาลอุทธรณ์ และฎีกา ในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาต่อจากนี้ว่าจะนานเพียงใด แต่ที่แน่ๆ บทสรุปของเรื่องนี้ปรากฏมาในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ใช่บทสรุปที่พูดได้เต็มปาก เพราะยังมีขั้นตอนตามกฎหมายที่กล่าวมาอีก
เคยมีคำกล่าวว่า ‘Justice delayed is justice denied. = ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม’ เช่นนี้แล้วเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะจับตาร่วมกันต่อไปว่า สังคมจะได้ข้อสรุป หรือมาตรฐานแบบใดต่อจากนี้
พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเจนภพรวม 7 ข้อหา
- ขับรถโดยประมาทอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
- ขับรถในขณะเมาสุรา หรือเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- เป็นผู้ขับรถที่เสพยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
- เป็นผู้ขับฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนที่สั่งให้มีการทดสอบ และตรวจสอบผู้ขับรถตามกฎหมาย โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร