×

เลขผิด! หอชมเมืองกรุงเทพ 4.6 พันล้าน ไม่ใช่ 7.6 พันล้าน เอกชนลงทุน งดเปิดประมูล

28.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อมีมติล่าสุดให้ยกเว้นการใช้ที่ราชพัสดุสำหรับก่อสร้าง และไม่ต้องเปิดประมูล
  • งบประมาณที่แจกเอกสารให้สื่อมวลชนเป็นมูลค่า 4,621 ล้านบาท น้อยกว่าตัวเลขที่ทางโฆษกฯ แถลงว่ามีวงเงิน 7,621 ล้านบาท ล่าสุดพันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนแล้วว่าตัวเลขที่ถูกต้องคือ 4,621.47 ล้านบาท

     กลายเป็นประเด็นร้อนล่าสุด คือกรณีที่เมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน) คณะรัฐมนตรีมีมติไฟเขียวอนุมัติจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครย่านฝั่งธนบุรีด้วยวิธีพิเศษที่ไม่ต้องผ่านการประมูล ทำให้สังคมออนไลน์ตั้งคำถามต่อโครงการนี้จำนวนมากว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดจึงได้อนุมัติงบประมาณหลายพันล้านบาทในการก่อสร้าง แถมใช้วิธีพิเศษ ไม่ต้องมีการประมูลโครงการอีกด้วย

 

 

จุดเริ่มต้นโครงการ ‘หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร’

     ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 13 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ปรัชญาแห่ง ‘ศาสตร์พระราชา’ และความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย

     และเห็นควรปฏิบัติตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรณีการร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

     ปรากฏตามเอกสารที่นายอภิศักดิ์ ตันติรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า หอชมเมืองกรุงเทพมหานครนั้นเป็นการลงทุนก่อสร้างโดย ‘มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร’ ที่ปัจจุบันมีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานมูลนิธิฯ ซึ่งจะได้เชิญบริษัทชั้นนำของประเทศมาร่วมเป็นผู้ก่อสร้างและสนับสนุนโครงการ โดยจะใช้งบประมาณการก่อสร้างที่เป็นแหล่งเงินทุน คือเงินทุนเริ่มแรกของมูลนิธิฯ เงินกู้ และเงินบริจาคจากบริษัทเอกชน

     ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ได้อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท. 3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร และให้สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

 

แถลงผิด! งบประมาณ 4,621 ล้านบาท ไม่ใช่ 7,621 ล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว

     โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการทำคุณงามความดี เเละรำลึกถึง ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ ซึ่งมีมูลค่ารวม 4,621.47 ล้านบาท ประกอบด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,422.96 ล้านบาท และมูลค่าที่ดินราชพัสดุ 198.51 ล้านบาท

      หากแจกแจงรายละเอียดเงินทุนที่จะใช้เป็นงบประมาณการก่อสร้างโครงการดังกล่าวโดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น ‘องค์กรเอกชน’ ได้มีการประเมินตัวเลขงบลงทุนไว้ที่ 4,422.96 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนเริ่มแรกของมูลนิธิฯ จำนวน 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 11 ธนาคาร เป็นจำนวนเงิน 2,500 ล้านบาท

     และเงินบริจาคจากบริษัทชั้นนำ จำนวน 2,100 ล้านบาท

     ขณะที่ในเอกสารฉบับดังกล่าวได้มีการประมาณการรายรับและรายจ่ายไว้ว่าจะมีรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 1,054 ล้านบาทต่อปี (บัตรเข้าชมราคาปกติ 750 บาท คนไทยลด 50 เปอร์เซ็นต์) มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 892 ล้านบาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 38 ล้านบาท โดยรายได้จากการดำเนินการหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ มิได้นำมาแบ่งปันกัน

     ทั้งนี้ตัวเลขของงบประมาณการก่อสร้างที่ปรากฏตามข่าวยังมีความสับสน เนื่องจากพบว่ารายละเอียดงบประมาณที่แจกเอกสารให้สื่อมวลชนเป็นมูลค่า 4,621 ล้านบาท น้อยกว่าตัวเลขที่ทางโฆษกแถลงว่ามีวงเงิน 7,621 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการแถลงที่ผิดพลาด แต่ล่าสุด พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนแล้วว่าตัวเลขที่ถูกต้องคือ 4,621.47 ล้านบาท

 

 

เหตุใดจึงไม่เปิดประมูล

     คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ได้มีมติให้ให้กรมธนารักษ์รับข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายฯ ไปดำเนินการ ต่อมากรมธนารักษ์แจ้งว่า หากดำเนินการ คัดเลือกเอกชนเพื่อดำเนินโครงการฯ โดยวิธีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปจะทำให้เกิดความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการทำคุณงามความดีและรำลึกถึง ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ รวมทั้งอาจไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีรูปแบบการดำเนินการเชิงสังคม

     ดังนั้นจึงเสนอเรื่องการคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการฯ โดยไม่ต้องประมูลต่อ คณะกรรมการนโยบายฯ และในคราวประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นให้โครงการฯ สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล ตามข้อ 24 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ

     สอดคล้องกับที่พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ว่า “สาเหตุที่โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เนื่องจากจะทำให้มีความล่าช้าและอาจส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการ รวมทั้งอาจไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการ”

       พันเอก อธิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยพื้นที่ก่อสร้างปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคนิว โกลบอล เดสทิเนชัน มีการบริหารจัดการที่ล้ำสมัยตามนโยบายประเทศไทย 4.0

     มีรายงานว่า เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเชิงสังคม ทำให้หากเปิดประมูลอาจจะไม่มีเอกชนร่วมลงทุน และรายได้ต้องนำไปใช้เพื่อกิจการสาธารณประโยชน์ ไม่มีกำไรสะสม แต่ตามหลักการแล้วมีกฎหมายคือพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่วางหลักว่า หากรัฐไปร่วมลงทุนในโครงการใดที่มูลค่าโครงการเกิน 1 พันล้านบาท (ดูมูลค่าโครงการรวม ไม่ใช่วงเงินที่รัฐบาลลง) จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่ออนุมัติ แล้วแต่กรณี ส่วนการจะเปิดประมูลหรือไม่นั้น ตาม พ.ร.บ. ก็ระบุว่าสามารถเลือกวิธีการได้ว่าจะใช้การประมูลหรือการประกาศคุณสมบัติ และให้เอกชนเสนอตัว แล้วแต่เหตุ

     ขณะที่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชาวไทยได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้ว่า “มูลนิธิฯ สร้างหอชมเมืองบนที่ดินของรัฐ สร้างให้รัฐครับ ไม่ใช่รัฐสร้างโดยไม่เปิดประมูล เรียงลำดับให้ดี ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ แต่ภาคประชาชนเป็นคนระดมทุนช่วยกันสร้าง อันนี้เรามีแต่ได้ประโยชน์ ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรนะครับ”

     กระแสอีกด้าน มีผู้ใช้บริการเว็บไซต์ชื่อว่า Zirikorn Photichack ได้ผุดแคมเปญใน change.org หยุดโครงการ ‘หอชมเมืองกรุงเทพฯ’ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนเท่านั้น’ โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลอนุมัติโครงการนี้เป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล (ม. 75) และเป็นการเลือกปฏิบัติ (ม. 7) โดยการใช้อำนาจการยกเว้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 12 คน

     สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร รายงานจาก EIA ระบุว่า ขนาดพื้นที่โครงการ 4-3-15.3 ไร่ ประกอบด้วยส่วนชั้นใต้ดินจำนวน 2 ชั้น และส่วนฐานอาคาร (Podium) สูง 4 ชั้น เชื่อมกับหอชมเมืองที่สูง 24 ชั้น รวมๆ แล้วสูงราว 459 เมตร พื้นที่ใช้สอย 22,281 ตารางเมตร โดยด้านบนหอคอยเป็นที่ประดิษฐ์สถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์การเรียนรู้ และจุดชมวิว

     วัตถุประสงค์การจัดทำโครงการนี้เพื่อเป็นต้นแบบน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้มาดำเนินโครงการ โดยจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุค พร้อมทั้งเป็นต้นแบบก่อสร้างอาคารสูงซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ความรู้ทางการบริหารจัดการการออกแบบ และวิศวกรรมอันล้ำสมัยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังจัดให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าเรียนรู้ขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อยกระดับพื้นฐานทางปัญญาของเยาวชนไทย

     ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีหอชมเมืองที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังสร้างเมื่อรวมกับของจังหวัดต่างๆ จำนวน 9 แห่ง และหอชมเมืองกรุงเทพมหานครที่กำลังก่อสร้างจะเป็นแห่งที่ 10 ของประเทศ

 

Photo: Thailand Skyline/Facebook

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X