×

VR Real.Estate สตาร์ทอัพไทยที่ใช้เทคโนโลยี ‘โลกเสมือนจริง’ ช่วยขายบ้านและคอนโด

06.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • VR Real.Estate คือสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่นำเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • ได้ไอเดียเริ่มต้นการประกอบธุรกิจมาจากข้อจำกัดของข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อบ้านหรือห้องคอนโดฯ ราคาหลายสิบล้าน ที่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาแผ่นโบรชัวร์ คำแนะนำของพนักงานขาย และโมเดลบ้านตัวอย่างจำลอง ซึ่งไม่ได้มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจควักเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เว้นเสียแต่ว่าจะได้เห็นสถานที่จากห้องจริงๆ
  • เพิ่ม-เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข มองว่าเทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจได้อย่างหลากหลาย แต่ความเข้าใจส่วนใหญ่ที่มีต่อ VR ในปัจจุบันยังมองแค่การใช้ในด้านความบันเทิงเป็นหลักอยู่

     หากเอ่ยถึงเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่อาจจะยังมองเห็นแค่ประโยชน์การใช้ในด้านความบันเทิงเป็นหลักทั้งวิดีโอเกม สื่อโฆษณา หรือภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจริงยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย

     เมื่อมองเห็นถึงปัญหาการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงต้องตัดสินใจควักเงินจำนวนมหาศาลผ่านการศึกษาข้อมูลจากแผ่นโบรชัวร์ คำแนะนำของพนักงานขาย และโมเดลบ้านตัวอย่างจำลอง ประกอบกับความหลงใหลและความชื่นชอบในเทคโนโลยี เพิ่ม-เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข จึงเกิดความคิดนำเทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจริงแบบ VR มาประยุกต์สร้างโมเดลบ้านตัวอย่างแบบ 3 มิติ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับบ้านหรือห้องชุดคอนโดได้ใกล้เคียงกับสถานที่จริงมากที่สุดและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ

     THE STANDARD ขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ VR Real.Estate สตาร์ทอัพเจ้าแรกๆ ของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยี VR บุกตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง เพื่อสำรวจที่มาที่ไปและเบื้องหลังไอเดียสุดล้ำของพวกเขาไปพร้อมๆ กัน

 

 

จุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยี VR มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดจากอะไร

     ผมเป็นคนที่ชื่นชอบและสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่ง VR ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ผมสนใจ แต่ช่วงที่ได้ลองเทคโนโลยี VR ครั้งแรกเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วของกูเกิล มันยังเป็นแค่ cardboard หรือกล่องกระดาษที่ยังไม่เวิร์ก เล่นไปสักพักก็พบว่าภาพไม่ชัด คนเล่นเกิดอาการ ‘Motion Sickness’ รู้สึกเวียนหัวคลื่นไส้คล้ายจะอาเจียน มันทำให้เรารู้สึกว่าเทคโนโลยียังไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร แต่เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า VR น่าจะไปได้ดีหากเทคโนโลยีพัฒนาได้มากพอ

     กระทั่งเมื่อประมาณกลางปี 2016 ก็เริ่มมี VR Hardware ใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาออกมา ทั้งแว่น Oculus Rift และ HTC Vive พอลองดูฟีดแบ็กผู้ใช้งานจากต่างประเทศก็มีแต่เสียงชื่นชมว่าเทคโนโลยีสมจริงขึ้นมาก เลยเริ่มศึกษาให้ลึกขึ้นว่าเราจะนำ VR มาใช้ในด้านใดได้บ้าง จนไปพบงานวิจัยของต่างประเทศที่บอกว่าผู้บริโภคที่ใช้ VR ด้านความบันเทิงมีสัดส่วน 55% แต่ยังมีอีก 45% ที่นำ VR ไปประยุกต์ใช้กับองค์กรและภาคธุรกิจอื่นๆ ทั้งการแพทย์, การทหาร, เทรนนิง หรืออสังหารริมทรัพย์ ซึ่งพอมีงานวิจัยมาเสริมความเชื่อในจุดนี้ ผมเลยตัดสินใจว่าจะต้องนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับตลาดใดสักตลาดให้ได้

     ผมอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นที่มีความรู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ไม่ได้เป็นคุณหมอหรือสถาปนิกมาก่อน แล้วออกมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้นๆ แต่ผมเริ่มต้นจากเทคโนโลยีแล้วค่อยเดินไปหาฝั่งธุรกิจว่าเราอยากจะทำอะไร ซึ่งความเชื่อส่วนตัวผมมองว่า ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’ นำมาใช้กับ VR แล้วคนน่าจะเห็นภาพได้ง่ายที่สุด

 

 

อะไรทำให้คุณเชื่อเช่นนั้น

     ผมมองว่ามันเป็นธุรกิจที่มี Pain Point อยู่ (จุดที่เป็นปัญหาและสร้างความวุ่นวาย) ก่อนหน้านี้เมื่อสักประมาณ 2 ปีที่แล้ว ผมอยากซื้อบ้านแล้วต้องตระเวนขับรถไปดูตามโครงการต่างๆ 10 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เวลาที่มีนิทรรศการบ้านและคอนโดฯ ก็ตามไปดูหมด ปัญหาที่เห็นชัดๆ เลยคือบูทของแต่ละโครงการมีทั้งพนักงานเซลล์ โบรชัวร์ โมเดลแบบบ้าน แต่ผมไม่สามารถตัดสินใจจ่ายเงินหลักล้านโดยมีข้อมูลแค่นั้นได้ สุดท้ายวันนั้นเขาก็ปิดการขายผมไม่ได้ ตัวเราเองก็ต้องเสียเวลาขับรถไปดูบ้านที่งานและพลาดโปรโมชันเด็ดๆ

     มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพราะคนซื้อก็เสียโอกาส ไม่กล้าตัดสินใจซื้อบ้านราคาหลายล้านด้วยข้อมูลจากโบรชัวร์ พนักงานขาย และโมเดลแบบบ้าน ส่วนผู้ประกอบการเองก็เสียประโยชน์เพราะปิดการขายไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต้องการยอดจองซื้อไปทำเรื่องกู้ยืมก่อสร้างสถานที่ หลังจากเริ่มศึกษามากขึ้นก็พบว่าตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีช่องโหว่อีกมากมาย ทั้งแบบบ้านตัวอย่างที่มีปัญหาด้านระยะเวลาการก่อสร้าง การเคลื่อนย้ายและต้นทุนการผลิตซึ่งมีราคาสูงประมาณ 6-7 หลัก เพราะเป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยทักษะความสามารถและความประณีต รวมถึงปัจจุบันผู้ประกอบการด้านนี้ก็เริ่มลดน้อยลง และถึงจะสวยอย่างไรก็เห็นได้แค่ภายนอก ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสัมผัสบ้านจริงๆ ได้ เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว ผมเลยตัดสินใจออกจากงานประจำที่ทำมาประมาณ 16 ปี เพื่อตัดสินใจเปิดบริษัท VR Real.Estate ขึ้นมา

ผู้ใช้งานสามารถเดินสำรวจ ปิด-เปิดสวิตช์ไฟภายในบ้านหรือห้องของ VR แบบจำลอง ทดลองเปลี่ยนพื้น-ผนังตามออปชันของผู้ประกอบการหรือโครงการได้

 

VR Real.Estate จะเข้ามาช่วยการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างไร

     ตามปกติแล้วเราจะเห็นแบบบ้านที่อยู่ในแผ่นกระดาษ มีข้อมูลสเกลและสัดส่วนต่างๆ ตามแปลน แต่บางทีอารมณ์ของการดูแค่แบบแปลนกับการได้เห็นภาพความสูงของฝ้าและตัวพื้นห้องจริงๆ มันก็ต่างกันพอสมควรนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ห้องน้ำ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักออกแบบเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ใช้สอยมากที่สุด บางครั้งผู้บริโภคอย่างเราอ่านแค่สัดส่วนในโบรชัวร์ก็จินตนาการภาพไม่ออก หรือคำอธิบายเรื่องวิวทิวทัศน์ที่มองลงมาจากห้องคอนโดฯ แต่ละชั้น ยังไงๆ มันก็ไม่เท่ากับการได้ยืนมองวิวลงมาจากห้องจริงๆ ซึ่งช่วยสร้างอารมณ์ร่วมและความเข้าใจได้มากกว่าอยู่ดี เราจึงนำเทคโนโลยี VR มาช่วยในการจำลองบ้านหรือห้องคอนโดฯ

     นอกจากนี้ VR ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นการใช้ภาพจำลองแบบ 360 องศา ผ่านการถ่ายภาพรอบตัวและแคปเจอร์มาผสมผสานรวมกันอยู่ แม้ลูกค้าจะได้เห็นภาพสถานที่จริงๆ แต่ก็จะเป็นภาพแบนๆ ขาดมิติแสงเงา เราเลยแก้ปัญหาผ่านการจำลองบ้านและห้องชุดคอนโดฯ ด้วยโมเดล 3 มิติ ขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งให้ความรู้สึกสมจริงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ หรือแสงเงาที่ตกกระทบภายในห้อง คล้ายว่าเป็นโลกเสมือนจริงโลกหนึ่งเลยก็ว่าได้

     ตอนนี้ตลาดของเรามองไปที่ตัวผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น เจ้าของโครงการบ้าน-คอนโดฯ และกลุ่มผู้รับสร้างบ้านเป็นหลัก เพราะกลุ่มผู้รับสร้างบ้านไม่สามารถสร้างบ้านและห้องตัวอย่างให้ลูกค้าดูได้ บ้านแต่ละหลังมันมีความหลากหลาย จนบ่อยครั้งก็เกิดปัญหาที่ตัวผู้รับสร้างบ้านและลูกค้าคุยคอนเซปต์กันไม่เคลียร์ เพราะลูกค้าอย่างเราเองก็ดูแบบแปลนบ้านของสถาปนิกไม่ออก ผมมองว่าปัญหานี้แหละที่เทคโนโลยี VR จะเข้ามาช่วยให้ทั้งผู้บริโภคและฝั่งตัวผู้ประกอบการมองเห็นภาพร่วมกันได้ชัดเจนที่สุด

 

บ้านหรือห้องตัวอย่างใน VR ของคุณสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

     ณ ปัจจุบันผู้ใช้งานสามารถเดินสำรวจ ปิด-เปิดสวิตช์ไฟภายในบ้านหรือห้องของ VR แบบจำลอง ทดลองเปลี่ยนพื้น-ผนังตามออปชันของผู้ประกอบการหรือโครงการได้ นอกจากนี้ปัจจุบันตัว VR ประสิทธิภาพสูงส่วนใหญ่ในต่างประเทศจะใช้จอยเกมควบคุม แต่สำหรับประเทศไทย ลูกค้าโครงการบ้านคอนโดฯ ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คอเกมหรือคนที่เล่นเกม พอมาเจอจอยสติ๊กที่ใช้ควบคุมสั่งการก็อาจจะงง เราเลยตีโจทย์ว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เขาใช้งานได้ง่ายที่สุด ก็ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Hand Tracking เข้ามา เพื่อให้เขาสามารถใช้มือหยิบจับเคลื่อนย้ายสิ่งของหรือควบคุมทุกอย่างได้ตามที่ต้องการ และเพื่อให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากที่สุด

ลูกค้าที่ได้ทดลองบางคนก็รู้สึกเหมือนไปยืนอยู่ที่ระเบียงคอนโดฯ ชั้น 50 จริงๆ แล้วไม่กล้าออกมายืนมองวิวนอกระเบียงเลยก็มี

 

คุณใช้วิธีใดในการทำห้องคอนโดฯ ใน VR ให้สามารถถ่ายทอดวิวทิวทัศน์ออกมาได้สมจริงพอๆ กับโลกแห่งความเป็นจริง

     ตอนนี้ยังมีแค่ 2 วิธี วิธีแรกคือจำลองเป็นภาพโมเดล 3 มิติขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งยาก เพราะต้องทำวิวให้เหมือนกับสถานที่จริงๆ แต่อีกเทคนิคหนึ่งเราจะใช้การผสมผสานระหว่างโมเดล 3 มิติกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ระเบียง กระจกกั้น หน้าต่าง โดยที่ตัววิวทิวทัศน์ที่อยู่ไกลออกไป เราจะสร้างด้วยภาพถ่าย 360 องศา ซึ่งจากที่ได้ลองก็พบว่าวิธีนี้ให้อารมณ์ความเสมือนจริงได้ไม่น้อย ลูกค้าที่ได้ทดลองบางคนก็รู้สึกเหมือนไปยืนอยู่ที่ระเบียงคอนโดฯ ชั้น 50 จริงๆ แล้วไม่กล้าออกมายืนมองวิวนอกระเบียงเลยก็มี

     กว่า 80-90% ของผู้ที่ทดลองใช้ส่วนใหญ่ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า มันเหมือนจริงมากๆ! นี่คือข้อได้เปรียบของ VR ที่สามารถนำเสนอข้อจำกัด ซึ่งเครื่องมืออื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อคอนโดฯ หรือบ้านพักต่างจังหวัดด้วยการมองวิวใน VR โดยที่ไม่ต้องขับรถไปถึงสถานที่จริง

 

 

ข้อได้เปรียบหรือข้อจำกัดของภาพบ้าน-ห้องตัวอย่างจากเทคโนโลยี VR ในตอนนี้คืออะไร

     ข้อจำกัดแรกเลยคืออุปกรณ์ที่ใช้ยังไม่ได้สะดวกมาก ตัวแว่น VR ที่สวมใส่ยังไม่ใช่ระบบไร้สาย ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตเทคโนโลยีอาจจะพัฒนาให้ตัวแว่นมีขนาดเล็กลงและสวมใส่ได้ง่ายขึ้น ส่วนข้อได้เปรียบคือลูกค้าสามารถลองเลือกเปลี่ยนสีพื้นห้อง, สีผนัง, วัสดุที่ใช้, ลองเปลี่ยนฝ้าได้ทุกรูปแบบตามความชื่นชอบของแต่ละคน รวมถึงออปชันของฝั่งผู้ประกอบการก่อนตัดสินใจจ่ายค่าตกแต่ง เขาสามารถมองเห็นภาพห้องในแบบต่างๆ ที่อยากเห็นได้ทันที นี่คือข้อดีของโลก VR ที่โลกจริงทำไม่ได้ คงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประกอบการจะเสียต้นทุนกับการทำห้องตัวอย่างที่ต่างกันถึง 5 แบบ เขาก็จะเลือกแบบที่มันดีที่สุดมานำเสนอลูกค้า ซึ่งก็อาจจะไม่ตรงใจคนซื้อ และสุดท้ายก็ต้องกลับไปดูที่โบรชัวร์อยู่ดี

 

ตั้งเป้าหมายของ VR Real.Estate ไว้อย่างไร

     ตอนนี้เรามีลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มท็อปเทนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ 2-3 แห่ง แต่ในอนาคตก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเข้มแข็งในตลาด VR สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ ภายใน 3 ปีนี้เราจะต้องกลายเป็นเบอร์หนึ่ง หลังจากนั้นถึงจะค่อยมองโอกาสในการขยับขยายไปยังต่างประเทศ

     แต่ก็เริ่มมองลู่ทางในการขยายเทคโนโลยี VR ออกไปในตลาดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน เพราะหลังจากที่ได้คุยกับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เขาก็อยากเห็นธุรกิจของตัวเองอยู่ในโลกเสมือนจริง และเริ่มโยนโจทย์ความต้องการที่ท้าทายและน่าสนุกเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อเราเสริมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากฝั่งเราเข้าไป เขาก็จะยิ่งว้าวมากขึ้นไปอีก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าสนุกไม่น้อยที่เทคโนโลยีจะมีคุณค่ามากกว่าการถูกจำกัดว่าต้องใช้ในด้านความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้ยังขออุบไว้ก่อนว่าจะนำเทคโนโลยีของเราไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจประเภทใด

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าสนุกไม่น้อยที่เทคโนโลยีจะมีคุณค่ามากกว่าการถูกจำกัดว่าต้องใช้ในด้านความบันเทิงเพียงอย่างเดียว

 

ตั้งแต่ที่ได้ไปคุยกับเจ้าของโครงการแต่ละแห่ง ผลตอบรับของลูกค้าส่วนใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง

     หลังจากที่ได้ลองแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จำนวนกว่า 85% ขึ้นไปก็รู้สึกแฮปปี้และเปลี่ยนความคิดว่าสิ่งที่เราทำมันตอบโจทย์ความต้องการธุรกิจเขาได้ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ลูกค้าจะไม่เข้าใจว่า VR คืออะไร เพราะไม่ได้เป็นกลุ่มคนชอบเทคโนโลยี แต่พอได้ลองแล้วเขาก็จะเปลี่ยนความคิดทันที

 

 

แล้วทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่กับเทคโนโลยี VR ในตอนนี้เป็นเช่นไร

     เข้าใจว่าน่าจะใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีเพื่อให้คนไทยเปิดรับว่า VR สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ด้านความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ก็หวังว่าแบรนด์ของเราน่าจะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับธุรกิจแขนงอื่นๆ

 

ตั้งแต่เปิดตัวในปีที่แล้วจนถึงปีนี้คุณมองเห็นโอกาสการเติบโตการประยุกต์ใช้ VR กับธุรกิจในด้านอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน

     คิดว่าน่าจะโต แต่ไม่รู้ว่าพูดแบบนี้ไปแล้วมันจะเป็นการเรียกคู่แข่งหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เราเชื่อว่ามันต้องไปได้ ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแม้เทคโนโลยีอาจจะยังพัฒนาได้ไม่เต็ม 100% ซึ่งถ้ารอให้เทคโนโลยีมันสมบูรณ์กว่านี้ ทุกคนมี VR ใช้กันหมด มันก็อาจจะช้าไป

     นอกจากนี้ผมก็แบ่งปัจจัยที่จะทำให้ตลาด VR กับธุรกิจในด้านอื่นๆ เติบโตได้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือตัวอุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์ หากสามารถพัฒนาได้เร็วเช่นปัจจุบัน ตัวซอฟต์แวร์ก็จะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีตามๆ กันไป และอีกส่วนคือหากมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มันก็จะทำให้วงการแข็งแรงขึ้น ตลาดก็จะเกิดการรับรู้และช่วยผลักดันให้มันเติบโตขึ้นไปได้อีก หากองค์ประกอบ 2 ส่วนนี้ยังพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง การนำ VR มาประยุกต์ใช้ด้านธุรกิจก็จะเป็นไปได้ดี ส่วนผมเองก็จะพยายามเป็นหนึ่งในเสียงที่สื่อสารกับกลุ่มลูกค้าและคนทั่วไปว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยเหลือช่องทางการทำธุรกิจได้แล้วนะ

 

เมื่อเปิดตัวแล้วเราจะมีโอกาสไปลองเล่นหรือสัมผัส VR Real.Estate จากที่ไหนบ้าง

     ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา และคาดว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าก็จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้แล้ว หลักๆ น่าจะเห็นได้ที่สำนักงายขายของฝั่งผู้ประกอบการ แต่อาจจะเป็นตัวทดลองแค่บางโปรเจกต์ไปก่อน คงยังไม่ได้มีทุกโครงการสาขาทั่วประเทศ และอาจจะเห็นได้ตามงานอีเวนต์ต่างๆ มากขึ้น

FYI

ในประเทศฟิลิปปินส์ก็มีบริษัท Lamudi ที่นำเทคโนโลยี VR มาใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้วเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising