×

สตาร์ทอัพอเมริกาผุด ‘Hyperlane’ โครงการเลนพิเศษเพื่อรถยนต์ไร้คนขับ

27.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • บริษัท US Hyperlane โดยแอนโทนี บาร์ส และไป่ยวี เฉิน ได้ต่อยอดไอเดียพัฒนาโปรเจกต์ ‘Hyperlane’ เลนพิเศษสำหรับรถยนต์ไร้คนขับที่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรแออัดให้ลดน้อยลง
  • Hyperlane ช่วยให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถสัญจรด้วยความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านการควบคุมความเร็วอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง และใช้เซนเซอร์ในการตรวจสอบสภาพการจราจร โดยจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่น พัฒนาแนวคิดถนนอัจฉริยะ และสอดรับกับความนิยมของธุรกิจแบบ ridesharing ในปัจจุบัน

     เราต่างก็ทราบกันดีว่า ‘รถติด’ ถือเป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานท้องถนนโดยรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถยนต์สาธารณะต่างก็ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาเป็นระยะเวลานานแสนนาน

     ล่าสุดบริษัท US Hyperlane โดยแอนโทนี บาร์ส (Anthony Barrs) และไป่ยวี เฉิน (Baiyu Chen) สองบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ได้ไอเดียในการต่อยอดพัฒนาโปรเจกต์ ‘Hyperlane’ เลนพิเศษสำหรับรถยนต์ไร้คนขับที่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรแออัดให้ลดน้อยลง

 

 

     ทั้งบาร์สและเฉินต่างมีความตั้งใจที่จะแปลงโฉมเลนบนท้องถนนจำนวนหนึ่งเลนให้กลายเป็น Hyperlane เพื่อช่วยให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถสัญจรด้วยความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านการควบคุมความเร็วอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง และใช้เซนเซอร์ในการตรวจสอบสภาพการจราจร

     ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ในการช่วยลดปัญหาการจราจรคับคั่ง พัฒนาแนวคิดถนนอัจฉริยะ รองรับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับและธุรกิจการขนส่งแล้ว ยังช่วยเอื้อประโยชน์ต่อรูปแบบบริการ ridesharing ที่คาดว่าน่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

     บาร์สให้สัมภาษณ์กับ Fortune ว่า เขาได้ไอเดียเลนพิเศษนี้มาจากรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่น “ผมเข้าใจว่าเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ในประเทศอเมริกา (สร้างรถไฟความเร็วสูง) ผมจึงเริ่มถอดแนวคิดของรถไฟความเร็วสูงในญี่ปุ่น ก่อนจะมาได้ไอเดียตัดเลนถนนธรรมดาออกไปเพื่อปรับใช้กับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ยานพาหนะไร้คนขับ”

     ขณะที่อีกหนึ่งในผู้ริเริ่มโปรเจกต์อย่างเฉินได้อธิบายเพิ่มเติมผ่าน BBC ไว้ว่า “คุณจะเข้าถึงบริการที่สถานีในละแวกบ้านได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปที่สถานี เช่นกัน รถของคุณจะเริ่มวิ่งอัตโนมัติต่อเมื่อเข้ามาที่ Hyperlane และหลังจากที่มันขับเคลื่อนอัตโนมัติ คุณก็สามารถนั่งติดเบาะ จิบกาแฟ หรือเช็กโทรศัพท์ได้”

     คาดการณ์ว่า Hyperlane จะใช้งบประมาณในการสร้างเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 11.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 387 ล้านบาท ต่อระยะทาง 1.6 กิโลเมตร โดยเชื่อว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากธุรกิจจำพวก ridesharing อย่าง Lyft และ Uber ส่วนรายได้หลักจะมาจากผู้ใช้บริการรถที่สัญจรและการมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่แออัด

     ก่อนหน้านี้ ทั้งบาร์สและเฉินต่างก็พา Hyperlane คว้ารางวัลชนะเลิศร่วมกันจากงาน Infrastructure Vision 2050 Challenge ที่ประกวดโปรเจกต์หาวิธีแก้ปัญหาโครงสร้างการคมนาคม พร้อมรับเงินรางวัลมากกว่า 150,000 เหรียญสหรัฐมาแล้ว

     นับจนถึงเวลานี้ที่โปรเจกต์เลนพิเศษเพื่อรถยนต์ไร้คนขับของทั้งคู่ยังเป็นแค่แนวคิดเบื้องต้น คำถามและข้อสงสัยต่างๆ จึงเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น มันจะต่อยอดจนถูกนำมาใช้บนท้องถนนสาธารณะได้จริงหรือไม่ ขั้นตอนการอนุมัติและการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อไร จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่นได้มากน้อยอย่างไร และจะได้รับความนิยมหรือไม่ ซึ่งผู้ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดถ้อยชัดคำที่สุดก็หนีไม่พ้นเจ้า Hyperlane

     หากมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวใดๆ ในอนาคต เราจะมาอัพเดตให้คุณทราบอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X