จากจุดเริ่มต้นความใฝ่ฝันของอดีตคนทำงานด้านซอฟต์แวร์และดิจิทัลเอเจนซี ฉัตรชัย ตั้งจิตตรง และกลุ่มเพื่อนผู้ถือหุ้นจึงเกิดความคิดอยากสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อให้ลูกๆ และพ่อแม่ (ปู่-ย่า, ตา-ยาย) ของพวกเขาได้ใช้งาน
กระทั่งวันหนึ่ง หลังเผชิญกับเหตุการณ์ลูกพลัดหลงในต่างแดนด้วยตัวเอง ฉัตรชัยจึงนำแรงบันดาลใจจากครั้งดังกล่าวมาต่อยอดสร้าง ‘นาฬิกาอัจฉริยะป้องกันเด็กหาย’ ภายใต้บริษัทโพโมะ เฮาส์ จำกัด (POMO House Co.,Ltd.) เมื่อปี 2014 โดยยึดคอนเซปต์การช่วยเหลือสังคม และพัฒนาบนแกนหลัก 3 ส่วนได้แก่ ครอบครัว สุขภาพ และความปลอดภัย
ในวันที่นาฬิกาอัจฉริยะสำหรับเด็กของโพโมะถูกวางจำหน่ายมาแล้วถึง 4 รุ่น, ตีตลาดในกว่า 20 ประเทศจนได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่อคุณแม่เป็นจำนวนมาก, มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 50,000 คนทั่วโลก และคาดว่าปลายปีนี้น่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 9 หลัก THE STANDARD ชวนฉัตรชัยที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โพโมะ เฮาส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาพูดคุยถึงไอเดียที่มาที่ไปในการสร้างนาฬิกา ตลอดจนวิธีการบุกเบิกตลาดต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับสากล
ฝันร้าย ‘ลูกพลัดหลงต่างแดน’ สู่นวัตกรรม ‘นาฬิกาป้องกันเด็กหาย’
ฉัตรชัยเล่าให้เราฟังว่าพื้นเพตัวเขาและครอบครัวชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวอยู่เป็นทุนเดิม แต่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 ครอบครัวตั้งจิตตรงก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หลังลูกสาวคนเล็กวัย 6 ขวบพลัดหลงกับครอบครัวนานกว่า 15 นาทีในดิสนีย์แลนด์ฮ่องกง โดยเจ้าตัวสารภาพว่ามันคือช่วงเวลาฝันร้ายที่ภาพต่างๆ ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งกลัวว่าลูกจะถูกลักพาตัวไปเป็นขอทาน ถูกนำไปผ่าอวัยวะขาย แต่ที่สุดแล้ว พวกเขาก็หาตัวเด็กน้อยเจอจากคิวเข้าแถวรอเครื่องเล่นที่อยู่ไม่ไกล
เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ฉัตรชัยต่อยอดเป็นไอเดียสร้างนาฬิกาอัจฉริยะ ‘โพโมะ’ เพื่อช่วยป้องกันกรณีเด็กพลัดหลงกับครอบครัวอื่นๆ
“เวลาไปธีมพาร์กหรือสวนสนุกเขาจะให้คนที่เข้างานใส่แท็กข้อมือ (RFID Tag – Radio Frequency Identification) แต่มันก็เป็นแค่ตัวจับสัญญาณเช็กอินเช็กเอาต์สวนสนุก ไม่สามารถระบุพิกัดของผู้สวมใส่ได้ ยิ่งไปสวนสนุกเด็กก็จะยิ่งเตลิดไปกับเครื่องเล่น คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราไม่สามารถควบคุมเขาได้เลย ผมคิดว่าถ้ามีอะไรสักอย่างที่เป็นเครื่องติดตามเขาได้ก็คงเป็นเรื่องที่ดี
“เราเลยเริ่มทำรีเสิร์ชข้อมูลว่าจะจับเทคโนโลยีอะไรมาผสมปนเปให้เป็นอุปกรณ์สักชิ้นได้บ้าง ที่สุดแล้วมันก็เลยเป็นที่มาของ ‘นาฬิกาป้องกันเด็กหาย’ ผมว่าส่วนหนึ่งมันก็เป็นอินเนอร์กับการทำโปรดักต์อะไรขึ้นมาสักอย่างเพื่อใครสักคน ตอบสนองความต้องการของเราในฐานะพ่อแม่ ยิ่งเมื่อเราได้ทำอะไรเพื่อสังคม ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้และเกิดประโยชน์ได้จริงเราก็จะมีความสุข”
สาเหตุที่เป็นนาฬิกาข้อมือเพราะต่อต้าน ‘สมาร์ตโฟน’
แล้วทำไมไม่ให้สมาร์ตโฟนกับเด็กที่ดูจะง่ายกว่าเป็นไหนๆ?
ฉัตรชัยเล่าถึงที่มาของนาฬิกาอัจฉริยะว่า “ผมค่อนข้างจะต่อต้านการใช้สมาร์ตโฟนในเด็ก เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า การให้เด็กใช้สมาร์ตโฟนก่อนวัยอันควร (12 ปี) จะทำให้เขาสมาธิสั้น มีแนวโน้มจะเพิ่มความก้าวร้าวสูง และยังส่งผลกระทบต่อด้านการมองเห็นอีกด้วย
“ผมเคยให้ลูกสาวใช้แท็บเล็ตตั้งแต่ 2 ขวบ เวลาขับรถงอแง เขาก็จะหยุดทันที นี่คือการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่กลับสร้างปัญหาในระยะยาว เพราะเมื่อเขาโตขึ้นมา 5-6 ขวบ ลูกสาวผมก็เริ่มสมาธิสั้น เหม่อลอย มีปัญหาเรื่องความก้าวร้าวจนเราต้องพาเขาไปพบแพทย์ ผมเลยต่อต้านการให้เด็กใช้สมาร์ตโฟนตั้งแต่อายุยังน้อย ฉะนั้นเมื่อผมคิดจะทำผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างเพื่อลูกหรือเด็ก มันก็ไม่ควรเป็นสมาร์ตโฟน แต่จะเป็นนาฬิกาหรือแท็กติดตามที่ห้อยกับกระเป๋าสะพายก็ได้”
‘Pomo Waffle’ และซิมการ์ดที่พัฒนาร่วมกับบริษัทชั้นนำที่ใช้งานได้ในกว่า 92 ประเทศทั่วโลก
ปัจจุบัน โพโมะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นาฬิกาอัจฉริยะสู่ท้องตลาดมาแล้วกว่า 4 รุ่น โดยรุ่นล่าสุดที่เพิ่งวางจำหน่ายในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือ ‘โพโมะ วาฟเฟิล (Pomo Waffle)’ ที่นอกจากจะเป็นนาฬิกาติดตามตำแหน่งผู้สวมใส่ ก็ยังชูจุดเด่นของการเป็นนาฬิกาอัจฉริยะที่มีฟีเจอร์ Voice call โทรศัพท์ผ่านสัญญาณ 3G ในกว่า 92 ประเทศทั่วโลกได้บนซิมโพโมะที่พัฒนาร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณในประเทศอังกฤษ
ฉัตรชัยบอกว่า “เราน่าจะเป็นนาฬิกาอัจฉริยะเจ้าเดียวในโลกที่สามารถทำ ‘VOIP (Voice over IP)’ โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตบนซิมการ์ดที่พัฒนาร่วมกับผู้ให้บริการในประเทศอังกฤษ และใช้งานโรมมิ่งได้มากกว่า 92 ประเทศทั่วโลกในญี่ปุ่น, เกาหลี, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และ 28 ประเทศในยุโรป ฯลฯ โดยเสียค่าบริการ 299 บาทต่อเดือน ทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องไปซื้อซิมท้องถิ่นเพิ่มเติมเวลาพาเด็กๆ เดินทางไปต่างประเทศ
“ขณะที่ข้อมูลตำแหน่งของผู้สวมใส่ก็จะปรากฏบนแอปพลิเคชันของผู้ปกครองแบบเรียลไทม์ และยังสามารถกำหนดเซฟโซนให้กับตัวเด็กได้ ในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวออกจากจุดที่กำหนดก็จะมีการแจ้งเตือนบนแอปพลิเคชันของผู้ดูแล รวมถึง Light Sensor ที่ใช้ตรวจจับการตกหล่นหรือการถอดอุปกรณ์ออก และ G sensor ที่ใช้ตรวจวัดการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย
“นอกจากนี้ก็มีฟีเจอร์ ‘Take me Home’ ที่เป็นระบบ GPS นำทางเด็กกลับบ้านโดยให้ความแม่นยำค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้ในตัวเครื่องยังมีแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้นซึ่งเรากำลังพัฒนาภาษาอื่นๆ ตามออกมาเช่น ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเยอรมัน และภาษาสเปน รวมถึงมีแพลนพัฒนาแอปพลิเคชันเเปลภาษาในอนาคตอีกด้วย”
ด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โพโมะก็วางระบบของพวกเขาไว้บน Amazon Cloud ทำให้การโจรกรรมข้อมูลผู้ใช้งานจึงแทบจะเป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด มาพร้อมกับบริการคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง ซึ่งในอนาคตอันใกล้พวกเขาก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะนำระบบ Chatbot เข้ามาใช้งานทดแทนอีกด้วย
คลิปพรีเซนเทชั่นที่ใช้โปรโมทบนเว็บไซต์ kickstarter
ระดมทุนใน Kickstarter ได้มากกว่า 1 เเสนเหรียญสหรัฐ พร้อมออกไปบุกตลาดทั่วโลกด้วยโมเดลธุรกิจแบบ ‘พาร์ตเนอร์’
ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนานาฬิกาอัจฉริยะเมื่อปี 2016 ฉัตรชัยเคยนำโปรเจกต์โพโมะ วาฟเฟิล ขึ้นไประดมทุนบนเว็บไซต์ Kickstarter โดยที่สุดแล้วพวกเขาสามารถระดมทุนได้มากกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.4 ล้านบาทภายใน 1 เดือน ตอกย้ำความเชื่อมั่นในการบุกตลาดต่างประเทศให้กับโพโมะมากขึ้น
ฉัตรชัยบอกกับ THE STANDARD ว่า “เราเริ่มวางขายนาฬิกาอัจฉริยะโพโมะตั้งแต่ปี 2015 แต่ช่วงปลายปี 2016 เราก็เริ่มไปบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น จนปัจจุบันก็เจาะตลาดได้มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลกแล้ว ทั้งอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, ชิลี, อเมริกา, แคนาดา, รัสเซีย, ไต้หวัน, เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ เป็นต้น วิธีไปบุกตลาดของประเทศ ถ้าไม่ใช่ในประเทศที่เราอยากไปสร้างแบรนด์ที่นั่น หรืออยากไปโฟกัสด้วยตัวเอง ก็จะทำงานร่วมกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายในประเทศนั้นๆ ให้เขาทำการตลาดให้ เพราะเราเชื่อในการทำธุรกิจแบบพาร์ตเนอร์
“ยกเว้นในอเมริกาท่ีเราตั้งใจจะเจาะตลาดเอง เราจึงไปตั้งบริษัทที่นั่น อย่างตอนนี้ก็เริ่มวางขายนาฬิกาในเว็บไซต์ Amazon ที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งในระดับของการยังไม่ทำการตลาดก็ถือว่าค่อนข้างโอเค เพราะ 2 เดือนก็ได้ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 600 เรือน
“ส่วนในแง่ของการเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ก็เริ่มมีการติดต่อไว้แล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างในประเทศไทย เราก็เริ่มมีการพูดคุยกับธนาคารบางแห่งในการใช้นาฬิกาของเราเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ส่วนที่สิงคโปร์ เราก็เริ่มพูดคุยกับโรงเรียนบางที่เพื่อทำระบบ ‘School Payment’ ใช้นาฬิกาจ่ายเงินซื้ออาหาร-ขนม และยืมหนังสือในห้องสมุดเช่นกัน”
เป้าหมายสูงสุด เบอร์หนึ่งในอาเซียน และผู้นำตลาดในสหรัฐ
หากนับจนถึงปัจจุบัน ฉัตรชัยบอกกับเราว่าตอนนี้โพโมะมียอดผู้ใช้งานนาฬิกา (เด็ก) กว่า 50,000 คนทั่วโลก และยอดผู้ใช้งานในส่วนแอปพลิเคชัน (ผู้ปกครอง) ประมาณ 200,000 คน โดยเป้าหมายสูงสุดในขณะนี้คือการพานาฬิกาอัจฉริยะของพวกเขาขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งในตลาดอาเซียนให้ได้
“ถ้าพูดในแง่ของไซส์ตลาดนาฬิกาสมาร์ตวอชสำหรับเด็ก เราก็อยากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เราพยายามจะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักในระดับโลก ตอนนี้ก็เริ่มวางขายในอเมริกา เม็กซิโก ซึ่งก็ค่อนข้างได้ฟีดเเบ็กที่ดีมาก ต่อจากนี้ก็จะเริ่มขยายตลาดไปในประเทศโซนลาตินอเมริกามากข้ึน ส่วนเป้าหมายใหญ่สุดที่เป็นความฝันของผมคือการทำโพโมะให้เป็นนาฬิกาสำหรับเด็กที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในประเทศอเมริกา ส่วนประเทศจีนอาจจะเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากการเจาะตลาดประเทศเขาไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าเราไม่ใช่บริษัทท้องถิ่น
“นอกจากนี้ความตั้งใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ของเราก็ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สวมใส่ แต่เราสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อครอบครัว โดยมีผู้ใช้งานคือ เด็ก (ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์นาฬิกาโพโมะลาเต้ เพื่อผู้สูงอายุ) และผู้ปกครองที่คอยดูแลผ่านระบบเเอปพลิเคชัน ที่สำคัญเรายังมองตัวเองเป็นแค่เเพลตฟอร์มให้พาร์ตเนอร์ที่เขียนเเอปพลิเคชัน หรือนักพัฒนาแอปพลิเคชันได้ต่อยอดทำธุรกิจ สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้เต็มที่ ในอนาคตเราก็วางคอนเซปต์ ‘โพโมะสโตร์’ เป็นช่องทางดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไว้แล้ว” ฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย
อาจกล่าวได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมาของโพโมะคือช่วงที่ธุรกิจของพวกเขากำลังหัดเดินได้อย่างมั่นคง แข็งแรวและถือว่ามา ‘ถูกทาง’ พอสมควร
ที่สำคัญตอนนี้พวกเขาก็กำลังมีโปรเจกต์ที่อยู่ในช่วงใกล้คลอดอย่างสมาร์ตโฟนสำหรับเด็ก ‘โพโมะ เมลอน’ ที่คาดว่าน่าจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคมนี้ และนาฬิกาอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุแบบไฮบริด ‘โพโมะ ลาเต้’ ที่คาดว่าน่าจะเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ดี ฉัตรชัยและทีมงานส่วนใหญ่ของโพโมะยังมีความเชื่อที่ว่าผลลัพธ์เรื่องรายได้นั้นถือเป็น ‘เรื่องรอง’ เมื่อเทียบกับประโยชน์การใช้งานของตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคไว้วางใจในแบรนด์
เขาบอกว่า “บางคนเดินเข้ามาซื้อนาฬิกาเด็กไปให้พ่อแม่ใช้ ทั้งๆ ที่ตัวนาฬิกาสำหรับผู้ใหญ่ของแบรนด์อื่นๆ ก็มี แต่เขาเลือกสนับสนุนแบรนด์เราเพราะความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้มันเป็นกำลังใจให้คนทำงานอย่างเราไม่ท้อ ผมรู้สึกว่าค่อนข้างโชคดีที่ทีมงานของผมมองเป้าหมายเหมือนกัน
“เราไม่จำเป็นต้องทำงานแล้วรวยที่สุดหรือยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ทำเพราะความรู้สึกภาคภูมิใจที่มีคนสนับสนุนและใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราเป็นจำนวนมาก”
- ราคาวางขายของโพโมะ วาฟเฟิลจะอยู่ที่ 5,990 บาท โดยสามารถหาซื้อได้ตาม iStudio, TG Phone, AIS, ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล และตามช่องทางออนไลน์ ส่วนในต่างประเทศราคาจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 189 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,440 บาท)
- โพโมะ วาฟเฟิล ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ (อันดับ 2) ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมสำหรับเด็กจากงาน CES (The Consumer Electronics Show) งานจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมประจำปีสำหรับผู้บริโภคในครั้งที่ผ่านมา