×

รู้จัก MEiD คลังข้อมูลทางการแพทย์ติดตัวที่คุณควรมีไว้เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

25.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • คลังเก็บข้อมูล MEiD (Medical Identification) ได้รับแรงบันดาลใจจากสมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่ของตาร์-ปีติพงศ์​ เหลืองเวชการ ที่ประกอบวิชาชีพเป็นแพทย์ และต้องพบกับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ทราบข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง จนทำให้เกิดผลเสียในการรักษาอยู่เป็นประจำ
  • ใช้เวลาในการพัฒนานานกว่า 8 เดือนก่อนออกมาเป็นริสต์แบนด์  (Wristband) และสติกเกอร์ QR Code ในการเข้าถึงคลังข้อมูลส่วนตัวบนระบบคลาวด์ เช่น ประวัติการรักษาทางการแพทย์, โรคประจำตัว, ยาที่แพ้ ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์มุ่งหวังยกระดับการรักษาทางการแพทย์ของประเทศไทย ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น และลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน
  • สาเหตุที่ต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นริสต์แบนด์ เพราะเป็นเครื่องประดับที่สะดุดตาและเป็นจุดสังเกตในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับตัวผู้สวมใส่ได้ง่ายที่สุด ส่วนที่ใช้ QR Code ในการเข้าถึงข้อมูลเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีระดับสากลที่ใช้งานง่าย

     จำได้ไหมว่าครั้งล่าสุดที่พบแพทย์ คุณได้รับการจ่ายยาตัวไหน? ชนิดใด? แต่ละตัวมีปริมาณมิลลิกรัมเท่าไรบ้าง?

     แล้วในกรณีที่โชคร้ายประสบอุบัติเหตุจนหมดสติไป แพทย์ที่รักษาจะทราบได้อย่างไรว่าคุณแพ้ยาตัวไหนอย่างรุนแรง? หรือมีโรคประจำตัวชนิดใดที่จะส่งผลต่อการรักษา?

     เพราะเชื่อว่าข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลส่วนตัวที่ชี้วัดความเป็นความตายได้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรใคร่รู้และพกพาติดตัวไว้เสมอ ตาร์-ปีติพงศ์​ เหลืองเวชการ จึงจุดประกายสร้างธุรกิจคลังเก็บข้อมูลส่วนตัวขึ้นมา เช่น ประวัติการรักษาทางการแพทย์, โรคประจำตัว, ยาที่แพ้ ฯลฯ ผ่านสื่อกลางเข้าระบบอย่างริสต์แบนด์และสติกเกอร์ QR Code ในชื่อ MEiD ซึ่งใช้ระยะเวลาพัฒนามานานกว่า 8 เดือน ก่อนจะปล่อยผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาดไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับจำนวนผู้ใช้งาน (Active Users) มากกว่า 1,000 คน

     THE STANDARD ขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ MEiD เพื่อสำรวจความตั้งใจของปีติพงศ์ไปพร้อมๆ กันว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจและจุดมุ่งหมายที่ทำให้เขาคิดสร้างคลังข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ใช้งานขนาดมหาศาลเช่นนี้

 

 

เริ่มต้นจากช่องว่างทางการแพทย์ที่ไม่มีใครคิดแก้ปัญหาจริงจัง

     แรงบันดาลใจตั้งต้นของปีติพงศ์เกิดจากสมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่ของเขาที่ประกอบวิชาชีพเป็นแพทย์ ซึ่งบ่อยครั้งต้องประสบกับปัญหาช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ทันการณ์เพราะขาดเอกสารข้อมูลและประวัติสำคัญของคนไข้

     ลำพังจะหวังพึ่งให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเชื่อมต่อระบบข้อมูลการรักษาของคนไข้ถึงกันอย่างเร่งด่วน หรือให้ทุกคนจำชื่อโรคประจำตัว ยาแต่ละชนิดที่แพ้ และยาที่ได้รับในการรักษาพยาบาลแต่ละครั้ง (กรณีที่ต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลในเหตุฉุกเฉิน) ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยังห่างไกลความเป็นจริงเกินไป ยิ่งเป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินหมดสติต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วน การซักถามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษา (อาการแพ้ยา) ก็ยิ่งทวีคูณความยากเพิ่มขึ้นไปอีก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปีติพงศ์มองเห็นโอกาสในการแก้ไขปัญหา

     ปีติพงศ์บอกว่า “ปัญหาทุกอย่างจะหมดไปถ้าคนไข้จำข้อมูลส่วนตัวได้ทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครมานั่งจำหรอกว่าตัวเองกินยากี่ชนิด ชื่ออะไร ปริมาณของยาแต่ละตัวมีกี่มิลลิกรัม ยิ่งโรคประจำตัวหรือยาที่แพ้ก็จำเป็นศัพท์ทางการแพทย์ยากอีก โดยเฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างถิ่นที่ไม่มีประวัติการรักษา การส่งต่อข้อมูลที่เชื่อมถึงกันในระบบออนไลน์ระหว่างโรงพยาบาลก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอยู่ดี เพราะแต่ละโรงพยาบาลก็ถือว่าข้อมูลคนไข้เป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ป่วยจึงต้องเก็บรักษาไว้ ไม่มีนโยบายแชร์ข้อมูลกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

     “กรณีศึกษาที่ผมยกขึ้นมากล่าวประจำคือ น้องผมเป็นแพทย์ดูแลแผนกฉุกเฉินและระบบทางประสาท หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตกเข้ามาแล้วแพทย์รักษาช้าไปนิดเดียวก็อาจจะทำให้เขาเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งหลักการก่อนจะรักษาก็ต้องรู้ว่าผู้ป่วยแพ้ยาชนิดใด เพราะหากให้ยาผิดชนิดแล้วเขาเสียชีวิต แพทย์ก็จะถูกฟ้องหรือติดคุกได้เช่นกัน

     “ปัญหาหลักๆ 3 ประการที่ผมมองเห็นคือ 1. คนไข้ไม่รู้ข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียด 2. ขาดการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล และ 3. การโอนย้ายถ่ายข้อมูลใช้เวลานาน สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นคนไข้ฉุกเฉินหรือผู้ป่วยธรรมดาก็เสียประโยชน์จากปัญหาเหล่านี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความอันตรายถึงชีวิต ค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน มันเป็นช่องว่างทางการแพทย์ที่ไม่มีใครเคยคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจัง”

 

 

แก้สมการง่ายๆ โดยให้ทุกคนถือข้อมูลส่วนบุคคลพกติดตัวไว้ตลอดเวลา

     เมื่อมองว่าคงแก้ปัญหาระดับมหภาคเช่นการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลไม่ได้ ปีติพงศ์จึงเปลี่ยนมุมมองมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับจุลภาคโดยโฟกัสไปที่ตัวบุคคลแทน พร้อมกับความเชื่อที่ว่า หากทุกๆ คนรู้ข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญๆ ส่วนตัวอย่างแม่นยำจนจำได้ขึ้นใจก็จะเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อการเข้ารับการรักษาไม่น้อย

     เขากล่าวว่า “ใจความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วยคือ หากแพทย์ได้ข้อมูลในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยก็จะลดลง เมื่อผมไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างขนาดใหญ่ (โรงพยาบาล) ผมจึงมองไปที่โครงสร้างในระดับเล็กและแก้ปัญหาโดยให้ทุกคนมีหน้าที่ ‘ต้อง’ เก็บข้อมูลสำคัญส่วนตัวติดตามไปกับตัวเองทุกที่แทน เดิมทีผมมองว่ามันอาจจะเป็นข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ แต่ก็ลืมนึกถึงกรณีผู้ป่วยหมดสติ กระทั่งมาเจอไอเดียที่มองว่า เราต้องทำสื่อกลางเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายให้กับผู้ใช้ เลยกลายมาเป็น ‘MEiD’ ระบบจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์แบบครบวงจรบนคลาวด์ ผมมองว่ามันจะต้องช่วยยกระดับการรักษาทางการแพทย์ของประเทศไทย ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น และลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนให้ได้ (กรณีผู้ป่วยต้อง X-Ray หรือทำการตรวจสแกนอวัยวะภายในใหม่อีกครั้งเพราะไม่มีข้อมูลประวัติการรักษาติดตัว)

 

 

‘QR Code และริสต์แบนด์’ สื่อกลางการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายที่สุดและใช้ได้ทุกวัน

     หลังแนวคิดการสนับสนุนผู้คนให้เก็บข้อมูลสำคัญของแต่ละคนเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งควบแน่นเป็นก้อนเมฆข้อมูลขนาดมหาศาล โจทย์หินหลังจากนั้นที่ปีติพงศ์ต้องกะเทาะให้ออกคือ ‘ทำอย่างไรผู้ใช้งานและผู้ช่วยเหลือจึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ง่ายและสามารถใช้ได้ทุกวัน?’

     เขาอธิบายว่า “สำหรับวิธีการเข้าถึงข้อมูลบนระบบของเราแบบพื้นฐานที่สุดคือการเข้าถึงผ่านเว็บไซต์โดยตรง นอกจากนี้เราก็พัฒนาแอปพลิเคชันไปในตัวเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมข้อมูลตามต้องการ แต่ถึงอย่างไรผมก็ยังมองว่ามันยังไม่ใช่วิธีที่ ‘ง่าย’ ที่สุดอยู่ดี เพราะหากเกิดปัญหาในกรณีฉุกเฉิน ผู้ช่วยเหลือก็คงไม่มากดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันก่อนเข้าถึงข้อมูลของตัวผู้ใช้ที่ประสบอุบัติเหตุได้ทันเวลา

     “วิธีที่ผมมองว่าทำได้ง่ายที่สุดคือการเข้าถึงข้อมูลผ่าน QR Code ที่แม้ในไทยจะยังไม่ค่อยแพร่หลาย แต่มันก็เป็นเทคโนโลยีมาตรฐานสากลที่ประเทศต่างๆ เริ่มหันมาใช้กันมากขึ้น หลักการใช้งานคือผู้ใช้ต้องกรอกข้อมูลลงบนแอปพลิเคชัน ส่วนผู้ช่วยเหลือก็จะสแกน QR Code บนตัวริสต์แบนด์หรือสติกเกอร์เพื่อเข้าถึงข้อมูลของผู้ประสบเหตุ และยังมีคอลเซ็นเตอร์ที่จะคอยให้บริการ 24 ชั่วโมง”

     เขาเล่าต่อถึงที่มาของสินค้าริสต์แบนด์ (มี QR Code ฝังอยู่ที่สายรัดด้านใน) และสติกเกอร์ QR Code ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของ MEiD ว่า “เราตีโจทย์สื่อกลางการเข้าถึงข้อมูลว่ามันจะต้องโดดเด่นและมองเห็นได้ชัดที่สุดบนตัวผู้ใช้ เลยมองภาพมันเป็นเครื่องประดับ สุดท้ายก็กลายมาเป็นกำไลข้อมือหรือริสต์แบนด์เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย เพราะบางครั้งในกรณีฉุกเฉิน ผู้ช่วยเหลือก็อาจจะไม่สะดวกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยจากกระเป๋าสตางค์หรือโทรศัพท์มือถือที่ล็อกรหัสไว้ แต่ผมมองว่าริสต์แบนด์นี่แหละเป็นสิ่งที่น่าจะดึงดูดสายตาคนได้ดีที่สุด

     “ในกระบวนการด้านดีไซน์ ผมใช้วิธีการศึกษาจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรามากที่สุดได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3-12 ขวบ และกลุ่มผู้รักสุขภาพและรักการออกกำลังกาย จากนั้นก็เริ่มทำแบบทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 500 คนจนพบว่า ริสต์แบนด์ที่กลุ่มตัวอย่างชื่นชอบมีลุคสปอร์ต มีความเป็นแฟชั่น สีสันสวยงามต่างจากริสต์แบนด์ทั่วไปในท้องตลาด พวกเขาจึงจะอยากใส่มันทุกวันโดยไม่รู้สึกเคอะเขิน จนในที่สุดก็กลายมาเป็นริสต์แบนด์ที่เห็นในปัจจุบันกับคอนเซปต์ Fashion mix Function”

 

 

คลังบันทึกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการแพทย์ที่ใช้งานง่าย ปลอดภัยและสะดวก

     แม้สินค้าที่ MEiD จำหน่ายซึ่งเป็นช่องทางการเข้าถึง data จะเป็นริสต์แบนด์และสติกเกอร์ QR Code แต่สิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะขายจริงๆ คือ คลังเก็บข้อมูลบนอากาศขนาดยักษ์ที่ไม่จำกัดพื้นที่ความจุ โดยผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องลงทะเบียนเพื่อบันทึกข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ทั้งข้อมูลทั่วไปและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ กรุ๊ปเลือด​ ประวัติแพ้ยา การรักษาและโรคประจำตัว ภาพถ่ายยาที่ได้รับจ่าย ฟิลม์ภาพ X-Ray และผลการสแกนอวัยวะภายใน ไปจนถึงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉิน

     ด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ผู้ใช้ก็สามารถเลือกปิดหรือเปิดเผยข้อมูลแต่ละส่วนได้ตามความต้องการ กรณีที่มีผู้สแกน QR Code ก็จะเห็นแค่ข้อมูลส่วนที่ผู้ใช้เลือกเปิดเผยเท่านั้น ซึ่งปีติพงศ์บอกว่า “เราใช้วิธีการเข้ารหัสและป้องกันการโจรกรรมข้อมูลแบบมาตรฐานสากล HTTPS บนเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลขนาดมหาศาลที่มีการเข้ารหัสฐานข้อมูลซับซ้อน ไม่ได้เข้าถึงกันง่ายๆ ไม่ใช่แค่มั่วรหัสเพียงขั้นตอนเดียวก็เข้าได้ แต่ต้องมีรหัสที่ต่างกันมากถึง 32 หลัก ความเป็นไปได้ของตัวรหัส Pin-Password ก็ยังมีอีกมากกว่า 1 แสนล้านชุด ซึ่งผสมทั้งตัวอักษรและตัวเลข ฉะนั้นการโจรกรรมข้อมูลก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โอกาสที่จะมั่วรหัสถูกก็นับเป็นแค่หนึ่งในล้านครั้ง

     “ส่วนกรณีระบบล่มก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้บ้าง แต่ก็จะเร่งแก้ไขในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ปรับปรุงและแก้ไขมันไปเรื่อยๆ เพื่อให้ปัญหาพวกนี้ลดน้อยลงจนหมดไป ตอนนี้ก็มีฝ่ายไอทีที่คอยแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา ส่วนคอลเซ็นเตอร์ก็เป็นระบบ 24 ชั่วโมง แต่ยังใช้พนักงานแค่คนเดียว เพราะในวันหนึ่งอย่างมากก็มีสายโทรเข้ามาสายเดียว แต่ในอนาคตหากมีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น เราก็ต้องเพิ่มจำนวนพนักงาน”

 

ขยายโมเดลการทำธุรกิจด้วยบริการเสริมพิเศษ พ่วงท้ายด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทประกัน-โรงพยาบาล

     เนื่องจากเป็นสินค้าแบบขายขาดพ่วงด้วยรูปแบบบริการและคลังข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แบบตลอดชีพ ผลตอบแทนด้านรายรับในระยะยาวจึงอาจจะไม่สู้ดีนัก MEiD จึงพลิกเกมหาช่องทางรายได้เข้าบริษัทเพิ่มเติมด้วยการเตรียมออกบริการเสริมพิเศษให้กับผู้ใช้งานในอนาคต โดยอาจจะคิดค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 100-200 บาทต่อปี “เราคิดไว้แล้วว่าในอนาคตจะมีบริการพิเศษเพิ่มให้ผู้ใช้งานแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เช่นกันว่าจะจ่ายหรือไม่ ถ้าไม่อยากจ่ายเงินเพิ่มก็ยังใช้บริการตามปกติได้อยู่ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 2 เดือนนี้เราจะเปิดตัวบริการพิเศษตามมา”

     นอกจากนี้ปีติพงศ์ก็แง้มโปรเจกต์ใหม่ๆ ให้เราฟังว่า ปัจจุบันก็เริ่มมีการพูดคุยหารือกับโรงพยาบาลแต่ละแห่งและบริษัทประกันแต่ละที่เพื่อเจรจาถึงการทำธุรกิจร่วมกันแล้ว

     เขาบอกว่า “MEiD จะเพิ่มช่องสำหรับกรอกข้อมูลบริษัทประกันภัย, นายหน้า, เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่กรมธรรม์เข้ามา และในอนาคตมันจะกลายเป็นจุดขายริสต์แบนด์ของเรา ซึ่งนายหน้าและบริษัทประกันก็สามารถนำริสต์แบนด์ไปพ่วงขายกับสินค้าประกันของพวกเขาเพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้กับผู้ซื้อได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถติดต่อผู้ดูแลสิทธิและนายหน้าประกันได้ทันที ซึ่งตอนนี้บริษัทก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับคู่ค้าบริษัทประกันอยู่ แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง”

     ปัจจุบันสตาร์ทอัพคลังข้อมูลทางการแพทย์ MEiD โดยปีติพงศ์และผู้ร่วมก่อตั้งเริ่มเป็นที่รู้จักและวางขายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย และไม่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเขาจะบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการรักษาทางการแพทย์ได้ตามที่มุ่งหวังหรือไม่? แต่อย่างน้อยที่สุด MEiD ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่กระตุ้นให้ใครหลายคนตระหนักถึงความสำคัญในการจดบันทึกข้อมูลส่วนตัวเพื่อประโยชน์ต่อความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเอง

FYI

สินค้าที่ MEiD ขายในปัจจุบันมีทั้งริสต์แบนด์และสติกเกอร์ติด QR Code ซึ่งสามารถนำไปติดตามสิ่งของเครื่องใช้ตามต้องการ โดยสนนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 449 บาทต่อชิ้น และ 159 บาทต่อแผ่น ตามลำดับ ทั้งนี้สินค้าจะยิ่งมีราคาถูกลงหากซื้อในจำนวนที่มากขึ้นหรือเป็นแบบแพ็กครอบครัว เพราะปีติพงศ์อยากให้สินค้าถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในครอบครัวหรือคนที่ห่วงใยซึ่งกันและกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising