×

ไม่ไกลเกินเอื้อม! โครงการขนส่งความเร็วสูง ‘Hyperloop One’ ทดลองวิ่งสำเร็จเป็นครั้งแรก

13.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • โครงการ Hyperloop One ได้ประกาศความสำเร็จในการทดลองระบบวิ่งแบบสุญญากาศเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน หลังทำความเร็วจากการทดสอบวิ่งได้มากถึง 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • นอกเหนือจากการประกาศความสำเร็จของผลการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบ Hyperloop One ยังได้เริ่มต้นออกแบบพ็อด (ยานพาหนะ) ตัวโปรโตไทป์สำหรับโดยสารมนุษย์และบรรทุกสินค้าที่สามารถวิ่งผ่านท่อแรงดันต่ำ โดยผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ขนาดความยาว 8.5 เมตร

     เมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา โครงการ Hyperloop One ได้ประกาศความสำเร็จในการทดลองระบบวิ่งแบบสุญญากาศเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน หลังทำความเร็วจากการทดสอบวิ่งได้มากถึง 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

     การทดลองครั้งล่าสุดนี้ของ Hyperloop One เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ฐานปฏิบัติการและรางวิ่งของบริษัทที่ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลทรายเนวาดา ไม่ใกล้ไม่ไกลจากลาสเวกัส

     จากการทดลองเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน Hyperloop One ก็ประกาศความสำเร็จในการทดลองได้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยสามารถวิ่งทำความเร็วบนรางในสภาพแวดล้อมแบบสุญญากาศได้มากถึง 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนยานพาหนะที่ใช้ทดสอบลอยตัวเหนือรางวิ่งเป็นระยะเวลากว่า 5 วินาทีด้วยพลังงานแม่เหล็ก นอกจากนี้พวกเขายังตั้งเป้าเพิ่มความเร็วเป็น 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้ได้ในการทดสอบครั้งหน้า

     Shervin Pishevar ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการและประธานกรรมการบริหารบริษัท กล่าวว่า “Hyperloop One ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนสำเร็จจากการทดสอบวิ่งบนระบบ Hyperloop จริงอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้เรายังบรรลุการทดลองระบบสุญญากาศที่ทำให้เราสร้างท้องฟ้าของเราได้เองในท่อวิ่ง ประหนึ่งว่ากำลังบินบนระดับความสูง 60,000 เมตรในอากาศ”

     นอกจากนี้ Shervin ยังได้กล่าวผ่านเว็บไซต์ Hyperloop-one ไว้ว่า “มันเป็นไอเดียที่บ้ามากๆ ตอนที่เราคิดจะลองทำโปรเจกต์นี้และก่อตั้งบริษัทขึ้นมา เราผ่านช่วงเวลาที่ลำบากมาไม่น้อย เช่นเดียวกับช่วงเวลาดีๆ โลกยังไม่รู้หรอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ทะเลทรายเนวาดาในคืนนี้ แต่เราได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แล้ว มันจะได้รับการบันทึกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโลก และเราจะไม่ยอมหยุดแค่นี้แน่นอน”

     ก่อนหน้านี้ พวกเขาเคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มทดสอบอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2016 หลังทดสอบระบบขับเคลื่อนเบื้องต้นเสร็จสิ้น แต่ที่สุดแล้วการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบก็ต้องเลื่อนมาเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมแทน โดยดำเนินการทดสอบตั้งแต่ระบบมอเตอร์,​ ปั๊มสุญญากาศ, พลังแม่เหล็ก, เบรกแบบแม่เหล็กไฟฟ้า ผ่านท่อขนส่งระยะทาง 487 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.3 เมตร

     อนึ่ง Hyperloop One ถือเป็นโครงการที่ระดมทุนได้มากกว่า 160 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.4 พันล้านบาท โดยได้รับการต่อยอดไอเดียมาจากนักธุรกิจผู้คิดนวัตกรรมพลิกโลกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk)

 

 

อนาคตของการเดินทางรูปแบบใหม่

     นอกเหนือจากการประกาศความสำเร็จของผลการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบ Hyperloop One ยังได้แจ้งเพิ่มเติมอีกด้วยว่า พวกเขาได้เริ่มต้นออกแบบพ็อด (ยานพาหนะ) ตัวโปรโตไทป์สำหรับโดยสารมนุษย์และบรรทุกสินค้าที่สามารถวิ่งผ่านท่อแรงดันต่ำได้แล้ว โดยผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ขนาดความยาว 8.5 เมตร

     เชื่อกันว่าหากพัฒนาจนแล้วเสร็จ พ็อดของ Hyperloop One จะสามารถวิ่งผ่านท่อเเรงดันต่ำได้ด้วยความเร็วสูง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ความปลอดภัยของผู้โดยสารสูง ขณะที่ค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาก็มีต้นทุนถูกกว่ารถไฟความเร็วสูงทั่วๆ ไป ทั้งยังใช้พลังงานต่อคนเทียบเท่ากับการขี่จักรยาน 1 คัน

     อย่างไรก็ตาม กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างจนเปิดใช้บริการได้จริงนั้น พวกเขาคงต้องได้รับอนุญาตจากตัวแทนของภาครัฐเสียก่อน เพื่อให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายนโยบายควบคุม ตลอดจนเสนอความเห็น และช่วยระดมทุนพัฒนาเพิ่มเติมสำหรับโปรเจกต์รถไฟฟ้าในอนาคตนี้

     ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเกาหลีใต้นำโดยอดีตวิศวกรของ Hyperloop One อย่าง Brogan BamBrogan ก็วางแผนจะสร้างโครงการ Hyperloop ในชื่อ ‘Arrivo’ ให้สำเร็จภายในระยะเวลา 4 ปี

     นี่จึงอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกเราว่าในอนาคตไม่ช้านี้ เทคโนโลยี Hyperloop อาจจะเข้ามาพลิกโฉมระบบการขนส่งของโลกและจะสร้างประโยชน์ต่อการเดินทางของมนุษย์ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising