×

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลยุทธ์สื่อสารการเมืองระหว่างสู้คดีจำนำข้าว 2 ปี 4 เดือนสะท้อนอะไร

31.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 1 สิงหาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมขึ้นแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกาฯ ในคดีจำนำข้าว กว่า 2 ปี 4 เดือนของเส้นทางการต่อสู้ เธอเดินหน้าขึ้นศาลไปพร้อมกับเดินสายพบมวลชน
  • ดร. นันทนา นันทวโรภาส มองว่าเธอมีทั้งคนรักและคนชัง เธอสื่อสารทางการเมืองเพื่อบอกสิ่งที่ตัวเองทำให้คนคล้อยตาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักการเมืองที่พยายามสื่อสารข้อมูลอีกด้าน

     49 วัน คือจำนวนตัวเลขที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้หาเสียงนำพาตนเองเข้าสู่การเมือง และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ ‘นักการเมือง’ หลายคนหมายปอง

     2 ปี 275 วัน คือช่วงเวลาที่เธอนั่งเก้าอี้นายกฯ และบริหารราชการแผ่นดินภายใต้แรงเสียดทานทางการเมืองที่ถาโถมอยู่ตลอดเวลา จากมรสุมการเมืองลูกใหญ่ที่ซัดให้เธอต้องตกเก้าอี้ เมื่อถูกถอนจากตำแหน่งในข้อหาย้ายข้าราชการโดยไม่ชอบ ตามมาด้วยการรัฐประหารโดย คสช. เพื่อควบคุมอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลของเธอในขณะนั้น

     2 ปี 4 เดือน คือจำนวนเวลาในการต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าวที่เธอตกเป็นจำเลยฐานปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริต ซึ่งสิ้นสุดกระบวนการไต่สวนสืบพยานไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา และวันพรุ่งนี้ (1 สิงหาคม) เธอจะเดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อแถลงปิดคดีด้วยวาจา เธอบอกว่าจะพูดทุกอย่างในวันนั้น ขอให้ติดตาม ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

     นี่เป็นระยะเวลาในการเดินบนสนามทางการเมืองของเธอ หากเปรียบแล้ว สิ่งที่เธอได้รับน่าจะมีทั้งดอกไม้ช่อใหญ่และก้อนหินสารพัดที่หยิบยื่นให้อยู่ตลอดมา

เธอสื่อสารออกไปเพื่อปกป้องตัวเองว่าสิ่งที่เธอทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งใจที่จะทำตามนโยบายที่เธอได้หาเสียงเอาไว้ นำนโยบายนั้นมาเป็นนโยบายสาธารณะ

 

เดินหน้าสู้คดีคู่เดินสายพบปะมวลชน

     ถ้านับเพียงจุดตัดเวลาที่เธอตกเก้าอี้ผู้นำและเดินหน้าสู่การขึ้นโรงขึ้นศาล ภาพที่ปรากฏควบคู่กันมาตลอดก็คือการเดินสายพบมวลชน และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสื่อสารในทางการเมือง

     สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวเธอเป็นประจำ ตั้งแต่การเดินสายรับซื้อข้าวจากชาวนาก่อนนำมาขายที่กรุงเทพฯ การลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวนา และวันเกิดปีนี้ เธอถึงกับหลั่งน้ำตาให้กับความอัดอั้นตันใจต่อชะตากรรมที่เกิดขึ้น จากนั้นยังมีอีเวนต์ต่อเนื่อง ทั้งการจัดมีตติ้งพบปะแฟนคลับที่กดไลก์เฟซบุ๊ก ซึ่งเธอใช้เป็นช่องทางประจำในการโพสต์แสดงความคิดเห็น มีลักษณะตอบโต้ในบางครั้ง หรือแสดงความห่วงใยในเรื่องต่างๆ

     อาจเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ หรือการเดินเกมทางการเมืองของเธอ แต่ท่วงท่าและ จังหวะเหล่านี้สะท้อนการสื่อสารทางการเมืองที่มีนัยสำคัญใดซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่

 

ในการเมืองไม่มีใครไม่สร้างภาพ ทุกคนล้วนต้องการพื้นที่

     ดร. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

     เริ่มต้นอธิบายว่า ในทางการเมือง คนที่เป็นนักการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองจำเป็นที่จะต้องทำการสื่อสารเพื่อให้ตัวเองมีตัวตน มีพื้นที่อยู่ในสังคม ถ้าไม่มีการสื่อสารก็เหมือนกับคนคนนั้นจะสูญหายไปจากกระแสของสังคม คนที่เป็นนักการเมืองทุกคนจะต้องสื่อสารอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นใครที่เป็นนักการเมือง ถ้าเขาหยุดสื่อสาร ตัวตนของเขาก็จะหายไปเลย เขาจึงจำเป็นที่จะต้องสื่อสารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป้าหมายของการสื่อสารจะอยู่ที่ผู้รับสาร ซึ่งก็คือ ‘ประชาชน’ เพื่อที่จะโน้มน้าวให้ผู้รับสารหรือประชาชนตอบรับ สนับสนุน หรือคล้อยตามกิจกรรมที่นักการเมืองคนนั้นทำ

     คนที่เป็นนักการเมืองไม่สามารถอยู่เฉยๆ ไม่สามารถจะทำอะไรเหมือนไม่มีตัวตนได้ นักการเมืองจึงต้องพยายาม set agenda เข้าไปในสื่อ และ agenda นั้นจะต้องเป็นผลบวกกับตัวเอง

มากกว่าพื้นที่ ยิ่งลักษณ์สื่อสารเพื่อบอกข้อมูลอีกฝั่ง

     ดร. นันทนาชี้ว่า ตลอดเวลาตั้งแต่หลักการรัฐประหารมาถึงตอนนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็นนักการเมืองก็จำเป็นที่จะต้องสื่อสารทางการเมืองตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ตัวเองยังมีตัวตนอยู่และยังมีพื้นที่ในสังคมอยู่ เป็นหลักการกว้างๆ อย่างที่กล่าวมา

     “แต่ในกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ มันเป็นมากกว่าการต้องการพื้นที่ในสังคม เพราะเธอมีคดีทางอาญาที่จะต้องต่อสู้ ดังนั้นเธอจึงยิ่งจำเป็นจะต้องออกมาสื่อสาร เพื่อให้สังคมเห็นว่าสิ่งที่เธอได้รับ สิ่งที่เธอกล่าวโทษ มันเป็นธรรมหรือเปล่า การที่เธอออกมาสื่อสารก็เพื่อที่จะให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลในอีกส่วนหนึ่ง

     “เธอสื่อสารออกไปเพื่อปกป้องตัวเองว่าสิ่งที่เธอทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งใจที่จะทำตามนโยบายที่เธอได้หาเสียงเอาไว้ นำนโยบายนั้นมาเป็นนโยบายสาธารณะ

     สิ่งที่นางสาวยิ่งลักษณ์พยายามเดินกลยุทธ์นี้มาตลอดก็คือการเปิดพื้นที่อีกด้านหนึ่งให้ประชาชนคนทั่วไปได้รับรู้ว่า กระบวนการที่เธอถูกกล่าวโทษในเรื่องของการจำนำข้าว เธอได้ทำอะไรลงไป เธอได้ตอบโต้อย่างไร เธอได้ปกป้องตัวเองอย่างไร เธอจึงจำเป็นที่จะต้องออกมาสื่อสารอยู่ตลอดเวลา

     “หากมองในแง่ของกระบวนการสื่อสารทางการเมือง ประชาชนก็จะได้รับข้อมูล 2 ด้าน ด้านหนึ่งจะเป็นข้างที่กล่าวหาเธอ อีกด้านหนึ่งเธอก็ออกมาปกป้องตัวเองในการกระทำสิ่งที่นำเธอไปสู่นโยบายสาธารณะตรงนั้น”

เธอก็ชัดเจนในความเป็นนักการเมือง เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยืนยันในสิ่งที่ตัวเธอเองได้ทำ แล้วก็ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองได้พูด คนอาจจะยกย่องและมองว่าเธอเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์และกล้าจะเผชิญกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป หรืออีกฝั่งก็อาจจะมองว่านี่คือความผิดที่เธอสมควรจะได้รับมันอยู่แล้ว

 

ท่าทีที่มีทั้งรักทั้งชัง

     ตลอดเวลาที่มีภาพปรากฏต่อสาธารณะชน นางสาวยิ่งลักษณ์ดูเหมือนจะพยายามไม่ตอบโต้ไปมาทางการเมือง แต่ใช้กิจกรรมต่างๆ เพื่อสื่อสารทางการเมือง หากมองโดยรวมแล้ว ดร. นันทนาชี้ว่า

     กลยุทธ์การสื่อสารแบบนี้มีสองด้าน คือคนที่ไม่ชอบเธอก็จะมองว่าเป็นจุดอ่อน ที่เธอไม่มีความสามารถในการที่จะตอบโต้หรือว่าปกป้องตัวเองแบบฉับพลันทันที แต่ถ้าคนที่ชอบก็จะมองว่าอันนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญ คือการตอบโต้และพยายามที่จะรุกไปกล่าวโทษคนอื่น มันจะยิ่งทำให้มีลักษณะเหมือนกับขี้แพ้ชวนตี แต่ถ้ามองในแง่ของกลยุทธ์สื่อสารทางการเมือง การไม่ตอบโต้ ซึ่งเป็นบุคลิกของเธอตลอดมาก็ต้องบอกว่าเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล

     การจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดเวลา รวมถึงมีการนำบุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นบุตรชาย หรือการสื่อสารถึงจุดยึดโยงกับอดีตนายกฯ ทักษิณช่วงหลังรัฐประหาร นั้น ดร. นันทนามองว่า

     การนำบุคคลอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ลูกชาย หรือคุณทักษิณ มันเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ ความผูกพันที่ยังเป็นความสัมพันธ์อันดีอยู่กับคุณทักษิณ แต่จริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นความตั้งใจที่จะนำคุณทักษิณเข้ามาช่วย set agenda เพราะในแง่ของคุณยิ่งลักษณ์เองถือเป็นบุคคลที่สื่อต้องรายงานข่าวอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์ก็ยังเป็นข่าวอยู่ได้ แต่ที่มันมีข่าวที่ออกไปเป็นการมีกิจกรรมร่วมกันหรืออะไรก็แล้วแต่ น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้อง หรือว่าแม่ลูก ที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เป็นบวก

     “เพราะว่าในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวโทษแล้วก็อาจจะถูกดำเนินคดี ก็มีข่าวออกไปประมาณว่า ทักษิณเป็นคนที่ทำให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องพบชะตากรรมอันเลวร้าย เพราะฉะนั้นมุมมองด้านหนึ่งก็จะมองว่าสองคนพี่น้องอาจจะมีความสัมพันธ์แตกร้าวกันได้ เหมือนทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับน้องตัวเอง ภาพความสัมพันธ์ที่มันออกไปในลักษณะที่เป็นสัมพันธภาพเชิงบวกก็จะทำให้มวลชนรับทราบ แล้วก็เข้าใจว่ามันเป็นชะตากรรมที่พี่น้องได้รับร่วมกัน แล้วก็จะเพิ่มความเห็นใจให้กับพี่น้องคู่นี้”

 

 

โซเชียลมีเดีย ช่องทางสื่อสารที่เป็นขุมพลังใหญ่ของยิ่งลักษณ์

     ต้องยอมรับว่าโลกในปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนเร็วมาก โลกของโซเชียลมันเร็วและเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปหมดแล้ว อดีตนายกฯ ผู้นี้ก็ใช้สื่อช่องทางนี้ในการสื่อสารทางการเมืองมาตลอดเวลา

     ดร. นันทนามองว่า การที่ยิ่งลักษณ์จับกระแสตรงนี้ได้ก่อนก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะครอบครัวชินวัตรทำธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้เข้าถึงสื่อใหม่ได้อยู่แล้ว เธอก็เลือกใช้สื่อใหม่ในการนำพาผู้คนเข้ามารับรู้การสื่อสารของเธอ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเท่าที่ทราบ เธอมีแฟนเพจมากที่สุดในบรรดานักการเมืองทั้งหมดในประเทศไทย

     “ถามว่าเป็นประโยชน์ไหม ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะถือว่าเป็นการสื่อสารทางตรงกับประชาชนเลย และนักการเมืองคนอื่นๆ พยายามทำกันเยอะมาก”

     ขณะที่ปัจจุบัน สื่อกระแสหลักที่เป็นแฟนเพจของเธอก็จะนำเอาสิ่งที่เธอนำเสนอมาในเพจไปรายงานต่อ ทำให้กระแสกว้างและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นการสื่อสารที่กว้างขวางมากๆ

 

เมื่อมองไปข้างหน้า นัยการสื่อสารล้วนมีผลทางการเมือง

     ตลอดเวลาที่ผ่านมา อดีตนายกฯ ยืนยันตลอดว่าจะต่อสู้คดี มาศาลทุกนัด ไม่หนี ไม่ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาแบบไหน พลังสื่อสารทางการเมืองทั้งหมดของ อดีตนายกฯ ผู้นี้จะทำให้คนจดจำเธอในวันหนึ่งข้างหน้าต่อการต่อสู้นี้อย่างไร

     “เธอก็ชัดเจนในความเป็นนักการเมือง เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยืนยันในสิ่งที่ตัวเธอเองได้ทำ แล้วก็ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองได้พูด คนอาจจะยกย่องและมองว่าเธอเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์และกล้าจะเผชิญกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป หรืออีกฝั่งก็อาจจะมองว่านี่คือความผิดที่เธอสมควรจะได้รับมันอยู่แล้ว เป็นบรรทัดฐานทางการเมืองที่สามารถเอาตัวผู้นำรัฐบาลมารับโทษได้”

     ขณะเดียวกัน หากมองในแง่มุมเชิงรัฐศาสตร์ กลยุทธ์ หรือการเดินเกมการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมา ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบนี้ให้เป็นข่าวตลอดมา ซึ่งต้องยอมรับว่าได้ผล เพื่อพยายามสื่อสารว่าการสู้ทางนิติศาสตร์อาจมีข้อเสียเปรียบ แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างมวลชนหรือเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับผ่านกลไกต่างๆ ของเธอก็สามารถอธิบายภาพความเป็นนักสู้ได้มากขึ้น เพื่อบอกว่าตัวเธอเองพร้อมยืนหยัดและไม่หนี

     ส่วนอนาคตในทางการเมืองนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายมีอำนาจมองเกมนี้เพื่อต่อรองอะไร และหวังผลไปถึงคุณทักษิณแบบไหน ซึ่งปฏิเสธว่าแยกกันไม่ออกแน่นอน วิกฤตภายในหรือความร้อนระอุทางการเมืองจากคดีนี้น่าจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมวลชนทั้งสองฝ่ายล้วนเชื่อมั่นกันอย่างสุดโต่งตามท่าทีที่แสดงออกมาตลอด

     และไม่ว่าผลจะออกมาทางใด สิ่งที่ตามมาต่อจากนี้ก็คือภาพจำและภาพอนาคตวันข้างหน้าของประเทศนี้ที่ผู้ปกครองจะได้เห็นอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X