×

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับจุดยืนที่เปลี่ยนไปใน NATO

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปจากภัยคอมมิวนิสต์สู่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างการก่อการร้ายเร่งเร้าให้นาโตต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแนวทางในการดำเนินนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
  • การที่ทรัมป์เลี่ยงที่จะให้การรับรองมาตรา 5 ของนาโต และเรียกร้องให้ 23 ประเทศสมาชิกเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณด้านการทหารของนาโตให้ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีตามที่ได้ตกลงกันไว้อาจทำลายภาพลักษณ์และจุดยืนของสหรัฐฯ รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอื่นๆ
  • ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต คือการประกาศต่อสู้กับกลุ่มไอเอสอย่างเป็นทางการตามที่ทรัมป์พยายามเรียกร้องมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ
  • ทิศทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อนาโตภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลโอบามา สหรัฐฯ จะยังคงให้ความสำคัญกับนาโต และสวมบทบาท ‘ถ่วงดุล’ รัสเซียต่อไป

     ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มต้นภารกิจเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมประชุมกับผู้นำยุโรปชาติสมาชิกอีก 27 ประเทศของ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO – North Atlantic Treaty Organization) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตขององค์กรเกี่ยวกับประเด็นต่อต้านการก่อการร้าย การจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย รวมถึงประเด็นด้านความมั่นคงอื่นๆ

     การเดินทางเยือนยุโรปและเข้าหารือกับนาโตครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อหลายสำนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับยุโรปไม่ค่อยสู้ดีนัก นับตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทรัมป์มีการสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาในประเทศต่างๆ และสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเปิดเผย อีกทั้งก่อนหน้านี้เขายังกล่าวโจมตีนาโตว่าเป็นองค์กรที่ล้าสมัย ไม่ปรับตัวต่อบริบทโลก และขู่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกนาโต หากประเทศสมาชิกอื่นๆ ไม่เพิ่มเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการทหารขององค์กร

     ภารกิจสำคัญขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในปัจจุบันคืออะไร ทิศทางของสหรัฐอเมริกาต่อการเป็นสมาชิกนาโต และอนาคตของนาโตจะเป็นอย่างไร

       THE STANDARD ชวนคุณหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

Photo: THIERRY CHARLIER, AFP/Profile

‘นาโต’ จากภัยคอมมิวนิสต์สู่ภัยการก่อการร้าย

     องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามเย็น เป็นความร่วมมือทางทหารของประเทศสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แรกเริ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันร่วมและถ่วงดุลอำนาจกับประเทศคอมมิวนิสต์ภายใต้กติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ

     ต่อมาภายหลังจากที่คอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกล่มสลายลง นาโตได้จัดตั้งหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace) ขึ้น โดยเป็นการขยายความร่วมมือทางทหารกับประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางอีก 25 ประเทศ เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ภัยคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นภัยคุกคามหลักขององค์กรหายไป ทำให้นาโตจำเป็นต้องนิยามตัวเองใหม่ รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแนวทางในการดำเนินนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

     นาโตหันมาให้ความสำคัญกับปฏิบัติการรักษาสันติภาพ สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหประชาชาติและองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) อีกทั้งยังหาแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์กับอดีตประเทศผู้นำโลกคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียให้มีบทบาทสำคัญเชิงสร้างสรรค์ภายในภูมิภาค นอกจากนี้นาโตยังปรับบทบาททางทหารให้เอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก

     เหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 เครื่องบินพลีชีพพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอนเมื่อ 16 ปีที่แล้ว นับเป็นเหตุการณ์ที่หลอมรวมชาติพันธมิตรในนาโตอีกครั้ง นำไปสู่การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ประเทศสมาชิกนาโตปฏิบัติการทางทหารร่วมกันภายใต้มาตรา 5 ที่กล่าวว่า ‘หากประเทศสมาชิกนาโตถูกโจมตีจากประเทศนอกสมาชิก สมาชิกทั้งหมดต้องถือว่าอยู่ในสภาวะสงครามและเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกโจมตี’

     ปัจจุบันนาโตกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จาก ‘ภัยก่อการร้าย’ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก รวมถึงท่าทีที่แข็งกร้าวของรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยเฉพาะการผนวกรวมแหลมไครเมียให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในภูมิภาคเป็นอย่างมาก

 

จุดยืนของโดนัลด์ ทรัมป์ ในนาโต

     การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนาโตในช่วงหาเสียงและภายหลังเข้ารับตำแหน่งทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อนาโตของรัฐบาลทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงร่วมในโลกตะวันตกไม่มากก็น้อย

     เขาเคยตั้งคำถามถึงความจำเป็นและจุดประสงค์ที่สหรัฐอเมริกายังคงต้องให้ความร่วมมือกับนาโตต่อไป รวมถึงการตัดพ้อที่สหรัฐฯ จะต้องแบกรับภาระในการทุ่มเงินสนับสนุนความร่วมมือนี้มากเกินไปจนไม่ยุติธรรม แต่ท่าทีของทรัมป์ต่อกรณีนาโตได้เปลี่ยนไปภายหลังจากเจนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโต ขอเข้าพบที่ทำเนียบขาวเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

     ทรัมป์เน้นย้ำว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยการก่อการร้ายสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกับนาโตเพื่อความมั่นคงในโลกตะวันตกและสังคมระหว่างประเทศ

     การประชุมสุดยอดผู้นำนาโตในครั้งนี้ ทรัมป์เลี่ยงที่จะให้การรับรองมาตรา 5 ของนาโต ซึ่งดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องรับรองมาตรานี้เมื่อมีการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต ส่งผลให้ชาติสมาชิกไม่แน่ใจถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในประเด็นการรักษาความมั่นคงร่วมกันเมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้นในอนาคต

     นิก เบิร์นส (Nick Burns) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำนาโต ให้ความเห็นว่า ทรัมป์คือประธานาธิบดีคนแรกนับตั้งแต่ปี 1949 ที่ไม่ประกาศสนับสนุนมาตรา 5 ของนาโต ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำลายภาพลักษณ์และจุดยืนของสหรัฐฯ ภายในองค์กร

    ทั้งนี้ทรัมป์ยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิก 23 ประเทศ (จากทั้งหมด 28 ประเทศ) เพิ่มการสนับสนุนงบประมาณทางด้านการทหารของนาโตให้ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีตามที่ได้ตกลงกันไว้ และชี้ว่าการทุ่มงบประมาณของสหรัฐฯ ราวๆ 4 เปอร์เซ็นต์เพื่อสนับสนุนองค์กรนี้เป็นการเพิ่มภาระ และไม่ยุติธรรมต่อชาวอเมริกันและรัฐบาลสหรัฐฯ

     ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโจมตีประเทศพันธมิตรทางอ้อมจนทำให้ตัวแทนจากประเทศสมาชิกออกมาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว หนึ่งในนั้นคืออัวร์ซูลา ฟอน เเดร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนี เธอชี้แจงว่า ในปี 2014 สมาชิกนาโตตกลงจะเพิ่มงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการทหารของนาโตเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายในปี 2024

     ดังนั้นเยอรมนีและประเทศสมาชิกอีก 22 ประเทศไม่ได้ค้างชำระหนี้จำนวนมหาศาลต่อนาโตตามที่ทรัมป์กล่าวอ้าง อีกทั้งประเทศเหล่านี้ยังเห็นพ้องและยินดีที่จะปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้อีกด้วย

  

อนาคตของนาโตกับการต่อต้านภัยการก่อการร้าย

     การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการต้อนรับ ‘มอนเตเนโกร’ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 29 ของนาโต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประตูสำหรับการเข้ามาเป็นสมาชิกนาโตยังคงเปิดกว้างเสมอ การร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกจะทำให้นาโตเเข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะการต่อต้านภัยก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

     ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งนี้คือการประกาศต่อสู้กับกลุ่มไอเอสอย่างเป็นทางการของนาโตที่ทรัมป์พยายามเรียกร้องมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ต่อต้านและหาทางรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายนี้อยู่แล้ว การประกาศต่อสู้กับกลุ่มไอเอสของนาโตจึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการสู้รบเท่าใดนัก เพราะการสนับสนุนของนาโตยังคงอยู่ในวงจำกัดเเค่การช่วยฝึกกำลังพล การส่งเครื่องบินรบสอดแนม และการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการรบเท่านั้น

     อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า “ถ้อยแถลงของทรัมป์ในที่ประชุมที่เรียกร้องให้นาโตหันมาให้ความสำคัญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างการก่อการร้ายมากขึ้น สืบเนื่องมาจากการกล่าวถ้อยแถลงก่อนหน้าในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นการย้ำชัดถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเวทีระหว่างประเทศ”

 

Photo: EMMANUEL DUNAND, AFP/Profile

‘รัสเซีย’ มหาอำนาจที่นาโตไม่อาจละสายตา

     ไม่เพียงประเด็นการก่อการร้าย อาทิตย์ยังมองว่า “รัสเซียเป็นมหาอำนาจที่นาโตยังต้องจับตามองต่อไป ผลพวงจากการขยายจำนวนสมาชิกและความพยายามที่จะร่วมมือกับยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในทศวรรษ 1990 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัสเซียหวาดระแวงแบบในทุกวันนี้ และปะทุออกมาเป็นสงครามผนวกแหลมไครเมีย รวมถึงสงครามในซีเรียด้วย

     “สงครามกลางเมืองซีเรียระหว่างมหาอำนาจมีความคล้ายคลึงกับสงครามเย็น รวมถึงภัยการก่อการร้าย โดยถ้อยแถลงก่อนหน้านี้ของทรัมป์ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียจะราบรื่นขึ้น แต่ต่อมามีสมมติฐานว่ารัสเซียให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลซีเรียในการสู้รบ สหรัฐฯ จึงตัดสินใจทิ้งระเบิดโทมาฮอว์กถล่มฐานทัพของรัฐบาลซีเรียที่ใช้กำลังความรุนแรงปราบปรามประชาชนของตนเอง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าถ้อยแถลงของทรัมป์อาจไม่สอดคล้องกับการกระทำที่เกิดขึ้นจริงเสมอไป จึงทำให้การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทำได้ยากยิ่งขึ้น”

     ภายหลังการประชุมสิ้นสุดลง ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันว่า สหรัฐฯ จะยังคงให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกนาโตที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม และเหล่าผู้นำประเทศยังได้หารือถึงแนวทางในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสร่วมกันแล้วเพื่อเน้นย้ำสายสัมพันธ์ที่ยังคงแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป

     นาโตจะยังเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาในการถ่วงดุลกับรัสเซียในอนาคต รวมถึงรักษาความมั่นคงร่วมภายในภูมิภาค แม้ว่าทรัมป์จะมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย และเรียกร้องให้นาโตให้ความสำคัญต่อประเด็นการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น แต่รัสเซียก็ยังคงเป็นมหาอำนาจที่สั่นคลอนความมั่นคงร่วมในยุโรปตะวันออกและแถบทะเลบอลติกที่สหรัฐฯ จะต้องสวมบทบาท ‘ถ่วงดุล’ ต่อไป

 

จุดยืนที่แท้จริงของนาโต

    เมื่อมหาอำนาจของโลกไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ทิศทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อนาโตภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐฯ จะยังคงให้ความสำคัญกับนาโตต่อไป เพียงแต่อาจจะมีการสร้างแรงกดดันที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นตามแบบฉบับของประธานาธิบดีที่มองทุกเรื่องเป็น ‘ธุรกิจและตัวเลข’    

    อาทิตย์กล่าวเสริมว่า “ภารกิจของนาโตในการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้การนำของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ยังคงถูกตั้งคำถามจากมหาอำนาจที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโตอย่างรัสเซีย การที่นาโตยังคงมุ่งเป้ามาที่ยุโรปตะวันออกมากกว่าตะวันออกกลาง ทำให้รัสเซียยังมองว่านาโตเป็นเครื่องมือที่ใช้ป้องปรามมหาอำนาจด้วยกันเองมากกว่าจะเป็นการต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างแท้จริง

    “สาเหตุที่ในหลายๆ ประเทศมีการจับอาวุธและเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาที่ฝังรากลึกภายในประเทศที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ จะต้องรีบแก้ไข องค์การระหว่างประเทศอย่างนาโตและองค์กรอื่นๆ ทำได้เพียงยับยั้งที่ปลายเหตุผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก นาโตยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการต่อต้านการก่อการร้ายอีกมากมายในอนาคต”

    ความสัมพันธ์ภายในนาโตเคยถูกสั่นคลอนจากกรณี Brexit มาแล้ว และถึงแม้ว่าการเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งที่ผ่านมาจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายขวา แต่ประมาณปีหน้าการเลือกตั้งในยุโรปก็ยังคงน่าจับตามอง อย่างในอิตาลี พรรคฝ่ายขวาที่กำลังได้รับความนิยมจากนโยบายจัดการผู้อพยพในขณะนี้ หากพวกเขาชนะการเลือกตั้งก็มีแนวโน้มที่จะจัดการลงประชามติเพื่อนำอิตาลีออกจากสหภาพยุโรปอีกหนึ่งประเทศ

     ถ้าวันนั้นมาถึง ความสัมพันธ์ภายในนาโต ‘อาจจะ’ ถูกสั่นคลอนอีกระลอกหนึ่ง พร้อมทั้งเกิดสัญญาณของการล่มสลายขององค์การเหนือรัฐอย่างสหภาพยุโรปก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

FYI
  • มอนเตเนโกร ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียที่ล่มสลายลงในปี 1992 และประกาศแยกตัวจากการรวมตัวกันหลวมของเซอร์เบียและมอนเตเนโกรในปี 2006 ปัจจุบันเป็นสมาชิกลำดับที่ 192 ของสหประชาชาติ
  • ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ คือภัยคุกคามที่นอกเหนือไปจากมิติทางด้านกำลังทางทหาร และไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐเท่านั้น แต่รวมถึงผู้แสดงบทบาทอื่นๆ เช่น ขบวนการก่อการร้าย กลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อีกทั้งยังครอบคลุมมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การก่อการร้ายข้ามชาติ การค้ายาเสพติด ตลอดจนปัญหาเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เป็นต้น
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X