เป็นเวลากว่า 7 ปีเต็มที่ผู้หญิงคนหนึ่งยังคงปรากฏตัวในสถานที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเรียกร้อง ‘ความยุติธรรม’ ในฐานะของ ‘แม่’ ที่ต้องสูญเสียลูกสาว
พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด (เกด) พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองที่วัดปทุมวนาราม เมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นอีกผู้หนึ่งที่เฝ้ามองสถานการณ์บ้านเมืองมาตลอด รวมทั้งออกมาเคลื่อนไหวอยู่หลายครั้งเพื่อให้กระบวนการตามหาความจริงได้เดินไปจนสุดทาง
ท่ามกลางการตามหาความจริงของพะเยาว์ รัฐบาล คสช. ได้พยายามสร้างความ ‘ปรองดอง’ ด้วยการเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมเสนอไอเดียที่จะนำไปสู่จุดร่วม เพื่อเดินออกจากความขัดแย้งให้ได้
ในฐานะตัวแทนของผู้สูญเสียซึ่งมีปฏิกิริยาที่ชัดเจนว่าไม่อาจยอมรับต่อกระบวนการปรองดองในครั้งนี้เพราะ ‘ทหาร’ เข้ามาเป็นคนกลาง ทั้งที่จริงๆ เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง
นอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีอะไรเป็นสิ่งที่คาใจหรือยังตกหล่นในทรรศนะของ ‘ประชาชนผู้สูญเสีย’ คนนี้หรือไม่
วันที่ THE STANDARD พูดคุยกับพะเยาว์ถึงภาพการปรองดองในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ให้เกียรติติดตามการสัมภาษณ์อยู่ห่างๆ และบรรทัดต่อจากนี้ไปคือแก่นแกน จากปากคำของพะเยาว์ในบรรยากาศที่เรียกว่า ‘กำลังจะปรองดอง’
นี่มันไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นการบังคับให้ปรองดอง
ในฐานะของผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง คุณมองกระบวนการปรองดองในมือ คสช. อย่างไร
อันดับแรกคือการสูญเสียเป็นของประชาชนที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเรียนรู้ มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเดิมทุกอย่าง จะ 10 ปี 20 ปีก็หมุนวนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป
เมื่อมีคนล้มตาย พอการเมืองสงบลงก็จะมาเริ่มพูดเรื่องการปรองดองทุกครั้งไป ซึ่งดิฉันมองว่าเขาก็พูดไปอย่างนั้นเอง แต่หลักที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ ประเทศไทยจะมีการปรองดองหรือมีไว้แค่คั่นหน้ากระดาษเฉยๆ หากจะปรองดองจริงๆ บริบทของการปรองดองคืออะไร ไม่เห็นพูดเลยว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ คุณต้องบอกนโยบายที่จะปรองดองให้ชัดเจน รัฐบาลจะปรองดองอย่างไร ปรองดองกับใคร ระหว่างพวกคุณ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง
หมายความว่ากลุ่มที่เข้าไปคุยอยู่ตอนนี้ยังไม่ใช่ภาพการปรองดองที่แท้จริง?
ยังไม่ใช่ หากมองภาพตอนนี้ กลุ่มที่เขาเรียกเข้าไปมันไม่ใช่นิยามที่จะปรองดองจริงๆ เลย แต่ละคนก็เข้าไปตามข้อเสนอที่เขาให้มา แต่ฝ่ายรัฐบาลเขามีหมุดไว้แล้วว่าจะเอาแบบนี้ แล้วค่อยมาถามว่าคุณจะปรองดองไหม นี่มันไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นการบังคับให้ปรองดอง
แล้ว ‘การปรองดอง’ ควรจะเป็นแบบไหน ช่วยอธิบายให้เราฟังหน่อย
เคยเสนอไปแล้วนะ แต่รัฐไม่เคยมอง ไม่เคยฟัง เขาพยายามจะเลี่ยงบาลีไปหาช่องที่ตนเองถนัด พูดง่ายๆ คือทหารใช้วิธีการของตนเองแล้วเรียกว่า ‘ปรองดอง’ บอกเลยว่าแบบนี้ไม่สำเร็จนะ เพราะกระบวนการปรองดองจริงๆ ต้องมี
หนึ่ง มองไปที่กระบวนการยุติธรรมก่อน คุณลองนึกไปถึงเหตุการณ์ในปี 2553 จนถึงตอนนี้กระบวนการยุติธรรมยังไม่ขยับไปไหนเลย เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ขับเคลื่อนก็เหมือนตายซ้ำสองหลังการตายจากความสูญเสียในครั้งแรก
สอง มองความสูญเสีย เพราะประชาชนเป็นเหยื่อของการเมืองมาตลอด กระบวนการปรองดองต้องมองทุกฝ่าย ทุกสี ทุกฝั่ง จะเป็นฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาเขาเอาประชาชนเป็นด่านหน้าหมด ฉะนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชนล้วนๆ แต่การปรองดองนี้กลับมองข้ามหัวประชาชนทั้งหมดแล้วไปคุยกันเอง
ผู้สูญเสียคือกลุ่มที่ตกหล่นในกระบวนการปรองดองครั้งนี้?
ไม่ว่ากลุ่มไหน สีอะไร ก็เป็นประชาชนผู้สูญเสียเช่นกัน ดิฉันจึงมองข้ามเรื่องนี้ไปเลย คนที่สูญเสีย คนที่บาดเจ็บ เขาไม่มีสีในตัวหรอก แต่เขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองโดยตรง เพราะฉะนั้นเขาควรมีส่วนในการปรองดองเป็นกลุ่มแรก คุณต้องมองไปที่เขาด้วย
คนที่สูญเสียก็เช่นกัน พวกเขาต่างได้รับผลกระทบจากตรงนั้น เราสามารถคุยกันได้เลย ไม่มีคำว่าสีหรือคำว่าโกรธแค้นกันหรอก เพราะต่างคนต่างได้รับข้อมูลมาคนละด้าน พอมานั่งคุยกันแล้วทุกคนก็เข้าใจการเมืองมากขึ้น เข้าใจว่าเราคือเหยื่อทางการเมือง ตรงนี้แหละที่เขาควรจะได้รับกัน
แล้วทำไมกระบวนการปรองดองครั้งนี้จึงตกหล่นตรงนี้
ดิฉันบอกได้เลยว่าสไตล์ของ ‘ทหาร’ คืออยากได้อะไรเขาจะสั่งแบบนั้น แล้วตัวของฝ่ายปฏิบัติการก็ปฏิบัติตามนั้น มันเป็นแค่วาทกรรมที่จะสร้างการปรองดอง แต่ก็ยังมีการไล่จับประชาชนอยู่ ดิฉันขอถามว่ามันย้อนแย้งกันไหม คำพูดของหัวหน้ากับการปฏิบัติของลูกน้องมันสวนทางกันมาก
ถ้าไม่เริ่มคุยกัน แล้วจุดเริ่มต้นที่จะลดความขัดแย้งจะเป็นไปได้อย่างไร
ดิฉันกำลังมองว่าการปรองดองที่คุยกันอยู่เป็นสิ่งที่มาหลอกเพื่อลอยลำเฉยๆ จริงๆ แล้วเขาต้องการจะทำอะไรบางอย่าง เลยยกประเด็นการปรองดองมากลบข้างหน้าไว้ก่อน แบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าปรองดองหรอก ธรรมชาติของพวกเขาถูกฝึกให้ทำตามหน้าที่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นดิฉันเลยมองข้ามว่ามันไม่จริง
ทหารไม่ใช่คนกลางที่จะมาทำเรื่องนี้ เพราะคุณคือคู่ขัดแย้งโดยตรง
หมายความว่ากลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจะไม่ปรองดองกับประชาชน?
ใช่ เขาไม่ปรองดองกับพวกเราหรอก เขามองข้ามไปเลย บางกลุ่มมองเหมือนประชาชนไม่ได้อยู่ในสายตาด้วยซ้ำ มองเห็นเป็นแค่หัวหลักหัวตอของพวกนักการเมืองของกลุ่มนายทุน ประชาชนทั้งประเทศมีมากกว่ากลุ่มคนเหล่านั้นนะ ประชาชนเขาก็มีสิทธิมีเสียง คุณต้องกล้าเปิดใจฟังเสียงของพวกเขา กล้าเปิดเวทีจริงๆ ที่จะให้ประชาชนทุกภาคส่วนมานั่งคุยกัน
ที่บอกว่าจัดแล้วทุกจังหวัด แต่ให้ทหารจัด ดิฉันเคยเสนอไปแล้ว เดินทางไปถึงกระทรวงกลาโหม ยื่นหนังสือไปว่าเห็นด้วยกับคำว่า ‘ปรองดอง’ แต่ดิฉันขอคัดค้านหนึ่งข้อคือ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทหารมาจัดการปรองดอง ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำเรื่องนี้ ทหารไม่ใช่คนกลางที่จะมาทำเรื่องนี้ เพราะคุณคือคู่ขัดแย้งโดยตรง คุณไม่เหมาะ เขาก็อาจจะบอกว่าไม่มีคนที่เป็นกลางอย่างสมบูรณ์หรอก ดิฉันก็เข้าใจเช่นกันว่าไม่มีใครเป็นกลางเต็มร้อยหรอก แต่อย่างน้อยๆ ให้มันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์บ้างก็ยังดี ไม่ใช่มาทั้งหมดแบบนี้ เป็นคู่ขัดแย้งแล้วมาอ้างว่าจะเป็นกลาง แล้วคุณกล้าปฏิเสธหรือเปล่าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสูญเสียทางการเมือง
ยังมีอยู่เหรอ คนที่เป็นคนกลางและไว้ใจได้
คนที่ทำได้มีจริง เพราะเขาจะมองผลประโยชน์ของประชาชนมาก่อน ถ้าเป็นคนกลางแบบตอนนี้ ประชาชนเขาก็ไม่เอากันแล้ว เพราะการปรองดองมันมองไปแต่กลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักการเมืองและนายทุนทั้งหลายในแต่ละพรรค ซึ่งเขามองข้ามประชาชนไป
ที่อ้างว่า ‘มองข้ามประชาชน’ แล้วคุณวางบทบาทของตัวเองไว้ตรงไหนในการปรองดองครั้งนี้
ถึงแม้เขามองข้ามเรา แต่เราก็จะเป็นหอกข้างแคร่ต่อไป ดิฉันจะคอยอยู่ทิ่มตำคุณ แม้ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามา ดิฉันก็จะเป็นหอกข้างแคร่เพื่อทวงถามความยุติธรรมต่อไป กระบวนการยุติธรรมต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง การนิรโทษกรรมที่ดิฉันเสนอก็เพื่อต้องการให้เกิดผลกับประชาชนทุกกลุ่ม ส่วนแกนนำหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย คุณแขวนไว้เลย ให้เขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะมานั่งพูดคุยกัน
แกนนำบางคน บางกลุ่ม พยายามบอกเราให้ลืมและให้อภัย ดิฉันขอถามย้อนกลับไปว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะลืมและให้อภัยได้ไหม ในเมื่อคนที่กระทำยังไม่เคยสำนึกความผิดของตนเองเลย แล้วจะให้ดิฉันให้อภัย ดิฉันไม่ยอมหรอก ต่อให้แผ่นดินจะกลบหน้า ดิฉันก็ไม่อภัย แต่ถ้าเป็นชายชาติทหารจริง ไม่ว่าใคร เดินเข้ามาสิ เข้ามาขอโทษได้ เข้ามาพูดได้ สำนึกผิดได้ คนเราทำผิดได้ แต่ต้องมีจิตสำนึกและกล้ารับความผิดของตนเอง ไม่ใช่มาบอกว่าไม่ผิดๆ แล้วดิฉันก็บอกได้เลยว่าหลายเหตุการณ์ไม่ได้ผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว มันผิดด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องเรียกมาคุยกันทั้งหมด ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ปี 2553 คุณต้องมีจิตสำนึกและมาขอโทษ
คุณมอง ‘นิรโทษกรรม’ ที่ถูกเก็บใส่ลิ้นชักและเป็นเงื่อนไขที่ห้ามพูดถึงในการปรองดองครั้งนี้อย่างไร
สิ่งไหนที่เขาบอกว่า “ไม่” นั่นคือสิ่งที่ดิฉันจะทำ อย่าไปเชื่อเขาเลยที่ว่าเป้าหมายหลักคือช่วยทั้งหมด ขนาดการปรองดองยังเชิญแต่ ‘แกนนำ’ ทั้งนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่เคยถูกเชิญเลย คนบางกลุ่มจัดงานก็ยังจัดไม่ได้ ทำบุญก็ยังทำไม่ได้ คิดดูแล้วกัน คุณอยากทำอะไรก็ทำไปเลย ถ้าคุณมองประชาชนบางกลุ่มว่าไม่มีคุณค่า ดิฉันก็จะเป็นหอกข้างแคร่ของคุณอยู่ตลอดเวลา
หากไม่มีการนิรโทษกรรม ชนวนความขัดแย้งจะปะทุขึ้นมาอีกหรือไม่
แต่ละฝ่ายแตกแยกมา 10 กว่าปีแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็พยายามทำเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถจับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มาคุยกันได้จริง ลึกๆ ดิฉันมองว่า ไม่ว่าระดับแกนนำหรือมวลชนก็อยากได้เรื่องนิรโทษกรรมด้วยกันทั้งนั้น
ปีที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เขาไปเชิญต่างประเทศเข้ามา คุณไปเชิญเขามาทำไม แต่ละประเทศมีปัญหาไม่เหมือนกัน เอาแค่ประเทศไทยนี้ก่อน จับมานั่งถามกันเลยว่าจริงๆ แล้วปัญหาของคุณคืออะไร กล้าหรือเปล่าที่จะเอาความจริงมาเปิดเผยกัน เอาประชาชนที่ได้รับผลกระทบมานั่งคุยกัน แล้วจะรู้เลยว่าประชาชนมีความคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร เราสามารถที่จะเข้าใจกันได้ แล้วเมื่อนั้นจะไม่โกรธกันเลย คุณต้องหาความหมายของ ‘การปรองดอง’ จากแต่ละฝั่ง แต่ละฝ่ายให้ได้ เพราะสุดท้ายพวกเขา (ประชาชน) คือเหยื่อ ที่ดิฉันรู้เพราะเราคุยกัน จะเป็นฝั่งไหน สีไหนก็แล้วแต่ ถ้าใครไม่ได้สูญเสียก็ไม่รู้หรอก
ถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีกจะทำอย่างไร
วันข้างหน้าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แกนนำบนเวทีที่สร้างวาทกรรมต่างๆ จะต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่มาลงที่ประชาชน ประชาชนไม่สมควรตาย แล้วก็ไม่ควรมีใครตายทั้งนั้น เขาไม่ได้ประโยชน์อะไร เขาไม่ได้หวังอะไรเลย เขาแค่รักและชอบในอุดมการณ์เดียวกัน แต่ทำไมเขาต้องมาเจ็บ มาตาย มาได้รับผลกระทบตรงนี้ วันหนึ่ง คุณก็บอกว่าเยียวยาให้จบๆ กันไป มันจะจบได้อย่างไร ในเมื่อแกนนำและกลุ่มก้อนทางการเมืองยังมีบทบาทอยู่ แล้วในที่สุดความขัดแย้งก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
การปรองดองบางส่วนก็ต้องไปสู้ในกระบวนการยุติธรรมก่อน เพราะแกนนำเป็นตัวการสำคัญ เป็นตัวปลุกระดมให้ผู้อื่นเข้าร่วมจนนำประชาชนบางส่วนไปสู่เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นมา
สุดท้ายประชาชนก็ติดคุก ติดตาราง แล้วแกนนำติดแล้วหรือยัง ดิฉันขอถาม ประชาชนติดคุกจนออกมาไม่รู้เท่าไรแล้ว แต่แกนนำติดไม่กี่คนก็ออกมาโวยวายแล้ว ประชาชนบางคนติดคุกจนบ้านแตกสาแหรกขาด ครอบครัวกระจัดกระจาย เขาทุกข์มากกว่าแกนนำหลายๆ ฝ่าย เพราะเขาไม่มีเงิน และเขามาด้วยใจกัน ดิฉันอยู่กับประชาชนเหล่านี้ ดิฉันเห็นว่าเขาลำบาก เพราะประชาชนเขารัก เชื่อ และศรัทธาพวกแกนนำ แต่ชะตากรรมที่พวกเขาได้รับก็เป็นอย่างที่เล่ามา
ในเมื่อคนที่กระทำยังไม่เคยสำนึกความผิดของตนเองเลย แล้วจะให้ดิฉันให้อภัย ดิฉันไม่ยอมหรอก ต่อให้แผ่นดินจะกลบหน้า ดิฉันก็ไม่อภัย
ถ้าวันนี้ทหารและกองทัพมาชวน ‘แม่น้องเกด’ เข้าร่วมการปรองดอง คุณจะไปไหม
ไม่ไปค่ะ แต่ดิฉันเสนอแนะไปแล้ว กองทัพไม่ควรเข้ามาเป็นคนกลาง เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ก็ขยับมาตลอด แม้แต่การวางแนวทางก็ยังขยับไปมา คุณควรจะแค่วางแนวทางไว้ แล้วให้ ‘รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง’ เป็นผู้ดูแลและทำกระบวนการนี้ต่อ เพราะอย่างน้อยรัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นคนที่เหมาะสมพอที่จะมาแก้ไขปัญหาทั้งประเทศที่มันคาราคาซังอย่างที่เห็นอยู่ ถึงแม้จะไม่เป็นกลางทั้งหมด แต่อย่างน้อยเขาก็ทำตรงนี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง และประชาชนก็เป็นคนเลือกเขาเข้ามา
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถสร้างการปรองดองได้จริงหรือ เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่สำเร็จ
กระบวนการสร้างการปรองดองไม่เคยสำเร็จมาก่อน แต่ก็ต้องมานั่งพิจารณาปรึกษากันว่าติดขัดตรงไหน มีปัญหาอะไร แล้วแก้ไขปัญหาตรงนั้นให้ดีที่สุดบนฐานความคิดว่าประชาชนต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด คุณต้องเอาตรงนั้นมาพิจารณา ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ไม่ใช่ทำกันเองแล้วลักไก่กันออกสัญญาประชาคม แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากทหารก็ถนัดเหลือเกินเรื่องลักไก่ ตีสาม ตีสี่ ถนัดกันมาก
มีข้อเสนอแนะหรือวิธีการพูดคุยกันอย่างไรเพื่อลดความขัดแย้ง
วิธีอย่างไรก็ได้ที่ไม่ให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องปล่อยให้แต่ละฝ่ายได้พูดอย่างอิสระ มีคนกลางที่สามารถเชิญแต่ละฝ่ายเข้ามานั่งคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการรับข้อมูลเพียงด้านเดียว ทุกฝ่ายจะได้สร้างความสมดุลร่วมกันได้ ตรงนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจการเมืองมากขึ้น ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ และประชาชนจะได้เป็นผู้กำหนดด้วยว่ากฎเกณฑ์ทางการเมืองในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้มีโอกาสเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีช่องทางชี้แนะผู้แทนที่เขาเลือกมาด้วย เพราะเมื่อพวกเขาเลือกคุณมาแล้ว คุณก็ต้องปฏิบัติตามเสียงของประชาชนที่เลือกคุณเข้ามา เพราะสิ่งนี้เป็นความหวังของพวกเขา แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าประชาชนต้องการให้มีการปรองดองจริงๆ อย่าบอกว่าไม่มี
วันนี้หากมองไปที่ผู้นำ แม้ว่าจะมีการพูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังเห็นหลายเรื่องที่สวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการประกันตัว
ถ้าจะปรองดองกันจริงต้องใจกว้าง ประชาชนต้องมีสิทธิพูด แล้วเอาคำพูดของประชาชนมาพิจารณา ประชาชนก็ให้โอกาส คสช. นะ นี่ก็เข้าปีที่ 3 แล้ว หลายเรื่องดิฉันก็เห็นด้วย ไม่ค้าน บางเรื่องที่ประชาชนเขาค้านก็ต้องฟังเขาบ้าง จะได้เป็นประโยชน์ในการบริหารประเทศ 3 ปีที่เข้ามา ทุกคนก็มองว่าเอวังกันเป็นแถวๆ ยังยืนยันว่าไม่มีการปรองดองเลย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก็มีแต่ทหารแทบทั้งนั้น ทำไม่ได้หรอก คุณคือผู้ขัดแย้งโดยตรง ที่มาบอกว่าเป็นคนกลาง ขอถามว่ากลางตรงไหน ตอนปี 2553 พวกคุณอยู่ในตำแหน่งอะไร ประชาชนยังตั้งคำถามถึงความสูญเสียที่มีพวกคุณร่วมอยู่ในเหตุการณ์ แล้วกล้าบอกได้อย่างไรว่าคุณเป็นคนกลาง
ถ้ามองย้อนไปตอนที่ คสช. เข้ามาปีแรกก็เหมือนว่าเขามีความตั้งใจจริง ปีแรกที่เข้ามาก็บอกว่าจะปรองดอง แล้วยังไง ก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ บางเรื่องเราตัดใจเพื่อประโยชน์ของประเทศ ให้ประเทศเดินหน้าได้ ผลสุดท้ายก็เหมือนหลอกเราไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาอยู่นานขึ้น เหมือนไม่ได้ตั้งใจจะทำเรื่องนี้ เพราะถ้าตั้งใจทำคงไปไกลกว่านี้นานแล้ว อย่างที่ดิฉันบอก ถ้าจะปรองดอง กระบวนการยุติธรรมต้องเท่าเทียมกันก่อน ไม่ใช่อีกฝ่ายติดคุกจำนวนมาก อีกฝ่ายก็เลื่อนกันมาตลอด มาตรฐานที่เท่ากันยังมองไม่เห็นเลย
ถ้าข้อเสนอ ‘ความยุติธรรมต้องมาก่อน’ เกิดขึ้น คุณจะรับได้ไหมในการให้การปรองดองเดินหน้าต่อ
เขาไม่เชิญเราเข้าไปพูดคุยหรอก แต่สมมติว่าเขาเชิญ ดิฉันก็อยากจะเห็นกระบวนการยุติธรรมจริงๆ เราอยากให้ ‘ความยุติธรรม’ เกิดขึ้นก่อน เราก็เป็นคนไทย เราก็รักประเทศ ไม่ใช่อยากมาติดกันอยู่ตรงนี้ เราก็จะให้ความร่วมมือ ตรงไหนที่ผ่านไปได้เราก็โอเค แต่กระบวนการยุติธรรมนี้ต้องเปิดเผยนะ ดิฉันคิดว่านี่คือเหตุผลใหญ่ที่เขารับกันไม่ได้ เพราะเหมือนพยายามจะเอาทุกอย่างซุกไว้ใต้พรม
คุณไม่มั่นใจอะไรในกระบวนการยุติธรรม
หลายขั้นตอนที่ทำกันมามีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ที่อีกฝ่ายบอกว่าเป็นธรรม เพราะเขาได้ประโยชน์ เขาก็พูดได้สิ สิบกว่าปีที่เป็นปัญหา ต้องยอมรับอย่างมีเหตุผลนะว่ามันเป็นเพราะองค์กรอิสระเข้ามามีส่วนเหมือนกัน แล้วจะไม่ให้ประชาชนมองแบบนี้ได้อย่างไร ถามว่าองค์กรเหล่านี้ใครตรวจสอบได้ ประชาชนกำลังมองว่าองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทางการเมือง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ปากเสียงประชาชนเริ่มต้นจากเรา ไม่ใช่จากใคร เราสู้ในความเป็นจริงของเรา บางครั้งพวกเดียวกันยังด่าเลย แล้วเราจะพึ่งพาใครได้ ก็ต้องพึ่งพาตนเอง ในเมื่อเราเป็นผู้สูญเสีย มีหลายฝ่ายบอกว่าดิฉันได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว 7.5 ล้านบาท ได้แล้วก็เงียบไปสิ ดิฉันเลยคิดว่าไม่พึ่งใครดีกว่า ขอพึ่งตนเอง และจะเรียกหาความยุติธรรมจนกว่าจะได้
ถ้าสมมติว่ากลุ่มที่กำลังทำเรื่องปรองดองอยู่นี้เขาตกลงกันได้และพร้อมที่จะเดินหน้า คุณยังยอมรับได้ไหม
ดิฉันจะอยู่ตรงนี้ แล้วคอยดูว่ามันจะเดินได้ราบเรียบไหม อย่างที่บอก ดิฉันก็จะเป็นหอกข้างแคร่ของคุณ เพราะดิฉันเชื่อว่าบทสรุปของการปรองดองมันยังไม่จบตอนนี้หรอก จะให้ประชาชนนั่งเงียบอยู่เหรอ ไม่มีทาง ข้างหน้าบอกว่าปรองดอง ข้างหลังทำอะไรก็ไม่รู้ ดิฉันไม่หลงเกม ดูซิว่าพวกคุณจะทำอะไรกัน
เราต้องถามว่าพวกคุณสำนึกกันแล้วหรือยัง คนเรามีสองด้าน เราก็ไม่ได้บอกว่าเราดีทั้งสองด้าน แต่ถ้าถามเรื่องจิตสำนึก เรื่องคุณธรรมในใจ คุณกล้าออกมายอมรับต่อสาธารณชนไหม ถามว่าเราจะไม่ยอมยกโทษให้เลยหรือ ก็ไม่ใช่ เพราะถึงจะให้ตายตามไป ลูกเราก็คงไม่ฟื้น ดิฉันแค่อยากให้มันเป็นบรรทัดฐานและเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ใครต้องมาตายแบบนี้อีก
ถ้าสมมติเขายอมรับผิดแล้วมาขอโทษ คุณพร้อมที่จะให้อภัยไหม
ดิฉันบอกแล้วไงว่าพร้อมให้อภัยทุกฝ่าย เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ มันมีความขัดแย้งแค่สองฝ่ายคือ รัฐ กับประชาชน แต่ปัจจุบันนี้มี 4 ฝ่ายคือ รัฐ กองทัพ นักการเมือง และประชาชน มันไม่ง่ายที่จะมาซุกไว้ใต้พรม ทหารก็ผิด แต่ไม่ได้ผิดแค่ฝ่ายเดียว มันผิดด้วยกันทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมสำคัญที่สุด และกระบวนการยุติธรรมต้องทำให้ประชาชนยึดมั่นและถือมั่นได้
คุณคิดไหมว่าประเทศจะสูญเสียอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่หันหน้าคุยกันก็มองไม่เห็นถึงความจริงใจ
ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า แต่พวกคุณไม่จริงใจที่จะทำ แค่เอานักการเมืองมานั่งคุยกันแล้วก็จบ บรรยากาศความกลัวมันก็มี เพราะเขามีคดีความ แต่ดิฉันไม่กลัวคุณ เพราะดิฉันไม่มีคดี ต่อให้มีก็ไม่กลัว ดิฉันเชื่อว่าถ้าต้องการเคลียร์กันจริงๆ เขาต้องเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปคุย ทุกอย่างจะดีจะร้ายอยู่ที่การคุยกัน ไม่ใช่มาคิดกันเอง การปรองดองจะปรองดองกับใคร อย่างที่บอกว่าดิฉันไม่ได้ตกหล่น แต่เขามองข้ามกันไป เขาคิดว่าเขาเคลียร์กันแล้ว ประเทศกำลังจะเดินหน้าต่อ แกนนำ นักการเมือง นายทุนทั้งหลายเขามองประชาชนเป็นแค่รากหญ้าธรรมดา เราตกลงกันแล้วก็โอเค
แล้วการปรองดองในประเทศนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่
ได้ แต่ต้องเปิดเวทีแบบที่ดิฉันบอก แล้วเวทีที่เปิดต้องให้อิสระในการพูดคุย ให้แต่ละฝ่ายเข้ามาคุยกันเลยว่าประชาชนเขารู้สึกอย่างไร ประชาชนเขาไม่ได้โง่นะ ลองไปฟังความรู้สึกเขาสิ ถ้าบอกว่าเปิดเวทีแล้วทหารเป็นคนทำ ใครจะกล้าพูด ลองถ้าพูดผิดหน่อยเดียวเขาก็เดินมาถึงบ้านแล้ว ถามจริงๆ ว่าประชาชนจะกล้าพูดในบรรยากาศแบบนี้เหรอ เขาไม่เคยเปิดให้ประชาชนเข้าไป ขนาดเราจะจัดงานกันเรายังโดนบล็อกเลย แล้วเวทีใหญ่อย่างนั้นเขาจะให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมเหรอ ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้าต้องเดินให้ถูกทาง ให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ คุณเคยมาพูดคุยกับดิฉันไหม คุณยังไม่เคยฟังจากปากดิฉันเลย
7 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนที่เราต้องจ่ายในการมายืนอยู่จุดนี้ ที่เราสู้ทุกวันนี้ ไม่รู้จะโดนอะไรวันไหน เพราะด้วยความที่เราพูดตรง เราไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่มีผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แล้วคุณจะไม่ให้เราพูดความจริงขึ้นมาได้อย่างไร จะมาซุกอยู่ใต้พรมไม่ได้ ต้องเปิดเผย แล้วถึงเวลาประชาชนเขาจะตัดสินใจเอง เพียงแต่คุณเคยคุยกับเขาแบบจริงใจหรือเปล่า คุยแบบที่เรียกว่ามาจากความรู้สึกของชายชาติทหาร ออกมาจากจิตใต้สำนึก เรื่องพวกนี้ไม่สูญเปล่าหรอก อย่างน้อยคนเขาก็ไม่ลืม ดิฉันจะกระตุ้นด้วยการพูดอยู่ทุกเดือนทุกปีนี่แหละ เพราะเราลืมพวกเขาไม่ได้
อยากจะบอกว่าเราใจกว้างพอ บอกแล้วไงว่ามันไม่ใช่ความผิดแค่ฝ่ายเดียว หลายคนก็เข้ามาร่วม เราแยกแยะได้ เราให้อภัยได้ ถ้าคนพวกนั้นสำนึก แค่เรามองหน้าเขา ถ้าเขาผิด เขาก็ละอายต่อใจแล้ว
ขอย้ำว่าคุณต้องมองไปที่ประชาชน การที่คุณกล่าวอ้างว่าเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ใครเขาก็อยากให้เดินหน้าทั้งนั้น แล้วคุณพร้อมหรือเปล่าล่ะที่จะเผชิญหน้ากับผู้หญิงคนนี้และประชาชน ถ้ายังมองไม่เห็นประชาชน ก็ขออย่าขัดขวางประชาชนที่จะร่วมเดินหน้าในวิธีการของเขาเท่านั้นเอง