×

ปรองดองในมือทหารจะสลายความขัดแย้งยาวนานนับสิบปีได้จริงหรือ?

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ความแตกต่างของการปรองดองครั้งนี้คือ รัฐเข้ามาเป็น ‘คนกลาง’ ด้วยตัวเอง ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่พยายามหาคนจากภายนอกมาทำหน้าที่
  • ทุกฝ่ายมองว่าความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง และในวันนี้ไม่มีใครเป็นกลาง 100 เปอร์เซ็นต์ พล.ต. คงชีพ ตัวแทนจากรัฐบาลให้เหตุผลว่าทหารต้องทำหน้าที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม จตุพรมองว่าที่ผ่านมาถกเถียงเรื่องกลาง-ไม่กลางมาเยอะแล้ว หน้าที่คือให้ความร่วมมือ ด้านอภิสิทธิ์ชี้ว่าเลยจุดที่จะเถียงกันเรื่องคนกลางแล้ว ต้องมองที่สาระเป็นหลัก แต่แม่น้องเกดกลับคิดว่า “กองทัพไม่ควรเข้ามาเป็นคนกลาง”
  • การปรองดองครั้งนี้ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าอาจยังไม่ใช่ความจำเป็นในเวลานี้ ส่วนแม่น้องเกดย้ำชัดว่าถ้าคนที่กระทำยังไม่เคยสำนึกผิด “ต่อให้แผ่นดินกลบหน้า ดิฉันก็ไม่ให้อภัย”
  • แม้รัฐบาลจะอ้างว่ากระบวนการปรองดองที่ผ่านมาได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนแล้ว แต่แม่น้องเกดกลับมองว่าประชาชนกำลังถูกมองข้ามในการปรองดองครั้งนี้
  • การปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ข้อเสนอหรือจุดร่วมที่จะทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไปได้ยังคงเต็มไปด้วยคำถาม สถานะความเป็นกลางที่ยังคลุมเครือ สุดท้ายคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

     นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งประกาศให้การปรองดองเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการ แต่ในความเป็นจริงแล้วภารกิจปรองดองเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในขวบปีที่ 3 ของรัฐบาล คสช. นี้เอง

     ท่ามกลางการจับตามองจากหลายฝ่ายว่าการปรองดองครั้งนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อต่างฝ่ายต่างขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และดูไม่มีทีท่าว่าจะหันหน้ามาคุยกันได้ในการปรองดองหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

     แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยการเรียกทุกสี ทุกพรรค และทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันเข้ามาเสนอแนะความคิดเห็น ความหวังที่จะได้เห็นการปรองดองจึงเริ่มมีแสงสว่าง

     ถึงอย่างนั้นเส้นทางต่อจากนี้ยังทอดยาวอีกไกล ทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรชี้วัดได้จากกระบวนการ และสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

     THE STANDARD ได้รวบรวมความคิดเห็นของทุกฝั่งทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการปรองดองครั้งนี้

 

Photo: Manjunath Kiran, AFP/Profile

 

คนกลาง ‘ลายพราง’ ทางออกหรือต้นตอของปัญหา?

     ความแตกต่างสำคัญของการปรองดองครั้งนี้เมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านๆ มาก็คือ รัฐได้เข้ามาเป็น ‘คนกลาง’ ด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่พยายามหาคนจากภายนอกมาทำหน้าที่

     โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้ พร้อมคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ประกอบด้วย

     คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานอนุกรรมการฯ

     คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ. สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานอนุกรรมการฯ

     คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานอนุกรรมการฯ

     และ คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.ต. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธานอนุกรรมการฯ

     หากดูตามรายชื่อของคณะกรรมการเหล่านี้แล้ว สังเกตได้ไม่ยากว่า คนกลางของเรื่องนี้ล้วนมีตำแหน่งในกองทัพแทบทั้งสิ้น

     ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่ พล.ต. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ฯ กลับให้เหตุผลที่ทหารต้องทำเรื่องนี้ว่า

     “ถ้าถามว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไหม ผมถามว่า ณ เวลานี้กลไกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมามีอะไรบ้างที่กระทบ เพราะตอนนี้มันอ่อนแอไปหมดนะครับ … โครงสร้างเหล่านี้อ่อนแอหมด ผมถามท่านว่าคิดว่ามีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งพิงได้และเป็นหลักประกัน ท่านหวังพึ่งใครในขณะนี้ที่จะทำหน้าที่เป็นเสาค้ำบ้านท่านไม่ให้พังลงมา ท่านพอเห็นไหมว่ามันยังพอเหลืออะไรบ้าง

     “อย่าดึงให้สถาบันหลักไปเป็นคู่ขัดแย้งเลย เราทำหน้าที่เป็นหลักประกันสังคมชาติเคียงข้างกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นก็ใช้ดุลยพินิจและลองคิดดู วันนี้ทหารเข้ามาเป็นสถาบันสถาบันหนึ่ง ใครไป ใครมา ใครจะแปรเปลี่ยนไป ทหารก็ยังเป็นสถาบัน เราก็ยังมีอุดมการณ์ในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ โดยไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใคร เราอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด”

     ด้านจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. คู่ขัดแย้งโดยตรงกับกองทัพกล่าวถึงเหตุผลที่ยินยอมเข้าร่วมกระบวนการปรองดองครั้งนี้แม้จะมีทหารทำหน้าที่เป็นคนกลางว่า คนกลางไม่มีอยู่จริงตั้งแต่ต้น และที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามคัดเลือกคนกลางมาทำหน้าที่สร้างความปรองดอง แต่ท้ายที่สุดเมื่อข้อเสนอของคนกลางตกไปอยู่กับผู้มีอำนาจในขณะนั้นซึ่งไม่มีความเป็นกลาง ข้อเสนอเหล่านั้นก็ถูกเก็บใส่ลิ้นชักอยู่ดี

     “ที่เป็นกลางมาล้วนแต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ที่เราเคยเห็นบางคณะฯ เป็นกลางมา 364 วัน แต่มาเสียเอาวันสุดท้ายคือวันที่ 365 ที่ผ่านมาเราผ่านพิธีกรรมเรื่องความเป็นกลาง ไม่กลางมาเยอะแล้ว แต่ครั้งนี้เหมือนเปิดไฮโลแทง ต่างฝ่ายต่างเห็น ต่างคนต่างทำหน้าที่ หน้าที่ของเราคือให้ความร่วมมือ ไม่เป็นอุปสรรค ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจรับผิดชอบในเรื่องนี้”

     เช่นเดียวกับ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่แม้จะมองว่ากองทัพมีส่วนในความขัดแย้งแน่นอน แต่กลับชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาการปรองดองไม่มี ‘ความเป็นกลางที่สมบูรณ์’ อยู่แล้ว

     ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มองว่า ขณะนี้เลยจุดที่จะมาถกเถียงกันเรื่องคนกลางแล้ว “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนแล้ว มันต้องไปที่สาระ เพราะว่าต่อให้คนเริ่มต้น ใครยอมรับก็แล้วแต่ ถ้าสาระมันไปไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้”

     ต่างจาก ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งคำถามกับกระบวนการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ว่า แม้ทหารที่เป็นผู้รับผิดชอบในคณะต่างๆ จะไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ทุกคนต่างอยู่ในสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้โดยตรง

     “ก็อาจจะมีปัญหาว่าแล้วความมั่นใจจะมีมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และจะเป็นส่วนในการแก้ปัญหาได้หรือเปล่า”

     พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองที่วัดปทุมวนารามเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ในฐานะตัวแทนของผู้สูญเสีย ประกาศอย่างชัดเจนว่า “กองทัพไม่ควรเข้ามาเป็นคนกลาง” และควรปล่อยให้ ‘รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง’ เป็นผู้ดูแลและทำกระบวนการนี้ต่อ เพราะอย่างน้อยก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พร้อมให้เหตุผลว่า

     “ดิฉันก็เข้าใจเช่นกันว่าไม่มีใครเป็นกลางเต็มร้อยหรอก แต่อย่างน้อยๆ ให้มันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์บ้างก็ยังดี ไม่ใช่มาทั้งหมดแบบนี้ เป็นคู่ขัดแย้งแล้วมาอ้างว่าจะเป็นกลาง แล้วคุณกล้าปฏิเสธหรือเปล่าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสูญเสียทางการเมือง”

     ถึงจะยังไม่มีคำตอบที่ตรงกันว่าเหมาะสมแค่ไหนที่รัฐบาลทหารจะทำหน้าที่สร้างความปรองดอง แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ความเป็นกลางหรือไม่เป็นกลางคงสะท้อนผ่านกระบวนการและผลลัพธ์ต่อจากนี้อย่างแน่นอน

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL, AFP/Profile

 

‘นิรโทษกรรม’ คำต้องห้ามในการปรองดอง

     แรกเริ่มเดิมทีการนิรโทษกรรมนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความปรองดองของหลายๆ ประเทศที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ทั้งในฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในแอฟริกาใต้

     แต่ความพยายามสร้างความปรองดองในครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย นิรโทษกรรมกลับกลายเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่รุนแรงและบานปลาย จนกลายเป็นการเปิดทางให้ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ

     การปรองดองครั้งนี้จึงแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าจะเก็บประเด็นนี้ไว้ในลิ้นชัก และจะไม่มีการพูดถึงในกระบวนการสร้างความปรองดองครั้งนี้

     “วันนี้รัฐบาลเพียงนำสิ่งเหล่านี้มาขับเคลื่อนต่อ อะไรที่ยังเห็นต่างกันอยู่ สมมติว่ามีอยู่ 100 เห็นต่างกันอยู่ 30 เราเอาไอ้ 30 มาเขย่านิดหน่อยก็อาจจะไปได้อีก 20 เหลืออีก 10 ที่ไปไม่ได้เพราะอะไร คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ หรือถ้าจะเข้ามาบริหารประเทศตามกลไกประชาธิปไตยก็ค่อยว่ากันต่อ แต่ 90 ที่มีอยู่ก็ต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขในอนาคต” พล.ต. คงชีพ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนเมื่อให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว THE STANDARD

     ขณะที่ ดร. เอนก ชี้แจงถึงเหตุผลในการพักเรื่องนิรโทษกรรมว่า “การปรองดองที่ผ่านมามักจะต้องมีเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต้องการนิรโทษกรรม แต่ตอนนี้ฝ่ายเขียวเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นเรื่องนิรโทษกรรมเขาไม่ได้ต้องการเท่าไรหรอก เพราะเขาไม่มีความจำเป็น”

     ขณะที่ความจำเป็นของผู้ได้รับผลกระทบก็ดูจะลดน้อยลงทุกที เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ต่างฝ่ายต่างเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ดูจะมีบทลงโทษสำหรับทุกฝ่ายแทบไม่ต่างกัน

     “ไปคุยกับหลายคนเขาก็บอกว่าหมดความหวังกับเรื่องนิรโทษกรรมแล้ว เขาขอเข้าสู่กระบวนการปกติ ไม่ต้องสู้คดีอะไรแล้ว ยอมๆ ไป ตอนนี้เหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะพ้นโทษแล้ว หรือว่าบางคนก็พักโทษแล้ว เพราะฉะนั้นเสียงบ่นจึงลดลง”

     ด้านอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยคัดค้านการนิรโทษกรรมประชาชนทั่วไป แต่ไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในคดีคอร์รัปชัน ส่วนในกระบวนการปรองดองครั้งนี้ส่วนตัวรู้สึกสบายใจที่ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรมมาเกี่ยวข้อง เพราะมองว่านิรโทษกรรมคือสิ่งที่สร้างปัญหาในการปรองดองครั้งที่ผ่านมา

     “ผมไม่เคยเรียกร้องนิรโทษกรรมเลย ทั้งๆ ที่ผมก็มีคดีเรื่องฆ่าคนอยู่ โทษถึงประหารชีวิต ผมก็บอกว่าต้องว่าไปตามกระบวนการของกฎหมาย มันต้องเป็นแบบนั้น”

     ฟากแกนนำ นปช. เปิดเผยว่า การปรองดองครั้งนี้มี 2 คำที่ห้ามพูดถึงคือ ‘การอภัยโทษ’ และ ‘การนิรโทษกรรม’ ที่ผ่านมาเคยเสนอให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และไม่ควรให้แกนนำทุกฝ่ายได้รับการนิรโทษกรรม แต่เมื่อรัฐบาลจะเก็บเรื่องนี้ใส่ลิ้นชักตนเองก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเข้ามาอยู่ในวงพูดคุย เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ แต่เน้นย้ำให้แก้ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต้องเสมอภาคกัน

     ส่วนภูมิธรรม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยที่ครั้งหนึ่งเคยขับเคลื่อนเรื่องนิรโทษกรรมให้กับทุกสี ทุกฝ่ายระบุว่า เมื่อมีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง การนิรโทษกรรมอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ในการจัดการกับความขัดแย้ง แต่ในเมื่อสังคมทั้งสังคมยังตีความคำนี้ขัดแย้งกันอยู่ และยังไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ตรงกัน การพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรมจึงอาจจะยังไม่จำเป็น แต่ในอนาคตเมื่อค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งเรียบร้อยแล้ว อาจจะต้องมีกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

     สุดท้าย พะเยาว์ในฐานะประชาชนผู้ต้องสูญเสียลูกสาวในเหตุการณ์ทางการเมืองย้ำชัดว่า “ในเมื่อคนที่กระทำยังไม่เคยสำนึกความผิดของตนเองเลย แล้วจะให้ดิฉันให้อภัย ดิฉันไม่ยอมหรอก ต่อให้แผ่นดินจะกลบหน้า ดิฉันก็ไม่ให้อภัย”

 

Photo: STR, AFP/Profile

 

ทำไมต้องปรองดอง?

     นอกจากความเบื่อหน่ายในความขัดแย้งที่กินระยะเวลานานนับทศวรรษแล้ว ทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกันว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่กำลังเกิดขึ้นกับทั่วโลก ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีเวลาให้กับความขัดแย้งอีกต่อไปแล้ว

     ดร. เอนก เน้นถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าสู่ความปรองดองว่า “ถ้าพูดถึงความจำเป็นของเศรษฐกิจเวลานี้ เราจะมีการเมืองแบบเดิมไม่ได้ ผมว่าเราเห็นมาตลอดว่าเศรษฐกิจมันกำหนดทุกอย่าง ตอนนี้เศรษฐกิจเราเป็นเศรษฐกิจท่องเที่ยว เศรษฐกิจท่องเที่ยวมันอยู่ได้ด้วยความสงบ สันติ ด้วยความเอื้อเฟื้อ ด้วยไมตรีจิต แล้วเราเอาอะไรมาโชว์กันล่ะ เราเอาความขัดแย้งมาโชว์กันเหรอ… เพราะฉะนั้นด้วยความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไทย สำหรับสังคมไทย ผมก็มีเหตุผลที่จะทำให้พวกเราสบายใจขึ้นอีกนิดหนึ่งว่า ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ มันไม่สามารถที่จะมีการเมืองแบบนี้ได้แล้ว”

     เช่นเดียวกับอภิสิทธิ์ที่มองว่าหากยังไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้ “มันก็คือความสูญเสียโอกาสของคนไทยทุกคน”

     ด้านจตุพรมองว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากการที่แต่ละองค์กรไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถ้ากลับมาตั้งหลักในเรื่องเหล่านี้ใหม่ ประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้

     “ผมคิดว่าแต่ละคนเดือดร้อนทั้งนั้น การออกมาต่อสู้ รางวัลที่ได้รับก็คือคุก ตาราง และชีวิต เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น มันยากลำบากกันทุกฝ่าย ถ้าอะไรที่ทำให้บ้านเมืองเดินไปได้อย่างเป็นปกติสุข ทุกฝ่ายก็ต้องทบทวนปฏิรูปองค์กรตัวเอง หรือกระทั่งประชาชนด้วย”

     ส่วน พล.ต. คงชีพมองว่า วันนี้ประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมกันเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ เพราะคนที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ก็คือประชาชนทุกคน

     เมื่อทุกฝ่ายมองตรงกันว่าความปรองดองครั้งนี้คือเรื่องจำเป็น นี่อาจเป็นจุดร่วมเดียวที่ทำให้การปรองดองเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น แต่จุดร่วมนี้จะมีพลังมากน้อยแค่ไหนเมื่อยังมีคำถามข้อใหญ่ว่า

แล้วประชาชนยืนอยู่ตรงไหนในการปรองดองครั้งนี้?

 

ประชาชนอยู่ตรงไหน?

     แน่นอนว่าการปรองดองไม่ได้เป็นเรื่องของคนเพียงไม่กี่คน หรือแม้แต่คู่ขัดแย้งไม่กี่ฝ่าย เพราะเจ้าของประเทศตัวจริงคือ ‘ประชาชน’ ที่ทุกฝ่ายล้วนอ้างถึงว่าผลประโยชน์ของกระบวนการนี้จะต้องตกที่พวกเขามากที่สุด แต่การมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเองร่วมกัน ยังมีข้อสงสัยว่าได้เปิดพื้นที่ให้แค่ไหน

     พล.ต. คงชีพ ยืนยันว่ากระบวนการปรองดองที่ผ่านมาได้เปิดกว้างรับฟังเสียงของประชาชนจากทุกฝ่ายแล้ว โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และนักวิชาการที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

     ย้อนแย้งกับเสียงสะท้อนจากตัวแทนของประชาชนผู้สูญเสียอย่างแม่น้องเกดที่มองว่าการปรองดองครั้งนี้ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

     “เขาไม่ปรองดองกับพวกเราหรอก เขามองข้ามไปเลย บางกลุ่มมองเหมือนประชาชนไม่ได้อยู่ในสายตาด้วยซ้ำ มองเห็นเป็นหัวหลักหัวตอของพวกนักการเมือง ของกลุ่มนายทุน ประชาชนทั้งประเทศมีมากกว่ากลุ่มคนเหล่านั้นนะ ประชาชนเขาก็มีสิทธิมีเสียง คุณต้องกล้าเปิดใจฟังเสียงของพวกเขา กล้าเปิดเวทีจริงๆ ที่จะให้ประชาชนทุกภาคส่วนมานั่งคุยกัน

     “ขอย้ำว่าคุณต้องมองไปที่ประชาชน การที่คุณกล่าวอ้างว่าเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ใครเขาก็อยากให้เดินหน้าทั้งนั้น แล้วคุณพร้อมหรือเปล่าล่ะที่จะเผชิญหน้ากับผู้หญิงคนนี้และประชาชน ถ้ายังมองไม่เห็นประชาชน ก็ขออย่าขัดขวางประชาชนที่จะร่วมเดินหน้าในวิธีการของเขาเท่านั้นเอง”

     เวทีรับฟังความคิดเห็นที่รัฐบาลกล่าวอ้างจะเปิดกว้างจริง หรือเป็นเพียงพิธีกรรมที่ ‘แสดง’ ให้เห็นว่ารัฐบาลรับฟัง ทั้งที่ความจริงมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในบรรยากาศที่การแสดงความคิดเห็นถูก ‘ปิดตาย’ ชั่วคราว

     ด้านภูมิธรรมบอกว่า ขณะนี้การปรองดองกำลังเริ่มต้น ก็ไม่แน่ใจว่าพิธีการจะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมหรือไม่ แต่สุดท้ายสังคมต้องเดินหน้าต่อไป

     “ในความเป็นจริงไม่ว่าคุณจะเจตนาอย่างไร คุณจะอยากอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่ หรือจะทำยังไงก็ตาม โลกมันไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณกับโลกก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ชีวิตประชาชนก็ไม่ได้ยืนอยู่กับที่ ก็ต้องดิ้นรนกับความเดือดร้อนที่ประสบ ถ้าคุณไม่จัดการไปให้มันถูกทิศทางของสังคมที่ควรจะเป็น คนในสังคม  สถาบันในสังคมก็ต้องออกมาเรียกร้องทิศทางที่ควรจะเป็น ให้สังคมร่วมกันตัดสินปัญหา

     “เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่มีคำตอบสำเร็จหรอก ทำดี บวกก็เยอะ ทำไม่ได้ ลบก็มาก ปัญหาอยู่ที่ความเป็นจริงที่สังคมไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย มันกระทบกับชีวิตเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศนี้ ในสังคมนี้

     “เพราะฉะนั้นถึงที่สุดคำตอบอยู่ที่ประชาชน”

 

Photo: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT, AFP/Profile

 

เป็นไปได้หรือแค่ฝัน?

     กระบวนการสร้างความปรองดองโดย ‘คนกลาง’ ที่ทุกคนก็รู้ว่าไม่กลาง แบบที่ จตุพรได้อธิบาย จนถึงวันนี้อยู่ในสเต็ปของการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อส่งต่อให้กับ คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี ผบ.ทบ. นั่งเป็นประธาน และน่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นร่างสัญญาประชาคม หรือ MOU ภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้

     ขณะที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ พล.ต. คงชีพ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์​ฯ ยืนยันว่ามีความครบถ้วน และไม่ทิ้งข้อเสนอต่างๆ ที่คณะกรรมการในรัฐบาลเลือกตั้งได้ศึกษามาก่อนหน้านี้

     มีคำถามมากมายเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการสร้างความปรองดองจากรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับ คสช. อันมีกองทัพเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานต่างๆ รวมถึงการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ด้วยว่า ปลายทางบทสรุปจะเป็นอย่างไร ข้อเสนอหรือจุดร่วมที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้าไปสู่เป้าหมายจะมีหน้าตาแบบไหน จะสามารถการันตีได้จริงหรือไม่ว่าบ้านเมืองจะไม่เวียนวนกลับมาสู่จุดเดิมอีก

     อีกหนึ่งคำถามคาใจถึงสถานะความเป็น ‘กลาง’​ จากบางกลุ่มก็ยังวนเวียนอยู่ในสารบบ แม้หลายกลุ่มจะเหมือนไม่แคร์ถึงความเป็นกลาง เพราะไม่มีใครเป็นกลางได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูเหมือนความแคลงใจประเด็นนี้จาก พะเยาว์ อัคฮาด จะมีมากที่สุด ด้วย “ทหารไม่ใช่คนกลางที่จะมาทำเรื่องนี้ เพราะคุณคือคู่ขัดแย้งโดยตรง”

     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกฝ่ายแสดงความเห็นตรงกันคือ ‘ปรองดอง’ ​ควรจะเกิดขึ้น เพื่อหาคำตอบและทางออกในการลดความขัดแย้ง ไม่หวนคืนสู่วิกฤตดังที่ผ่านมา แม้ในรายละเอียดของกระบวนการยังไม่เป็นที่ยอมรับต่อบางฝ่าย

     กระบวนการปรองดองครั้งนี้จะออกมาเป็นรูปธรรมแบบไหน ยังไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ชัดนัก แต่ทุกฝ่ายล้วนมีโมเดลที่เป็นภาพในใจตามเหตุผลและความเชื่อ ที่นำตนเองเดินเข้าสู่เวทีนี้ พร้อมกับมีบทเรียนในใจที่หลายคนเห็นตรงกันว่า ‘ปรองดอง’ มักเป็นคำที่ถูกใช้เมื่อต้องการคั่นหรือกลบเรื่องอื่นเอาไว้ข้างหน้า

     พะเยาว์ย้ำชัดอีกว่า “นี่ไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นการบังคับให้ปรองดอง”

 

     ใครจะตอบความจริงนี้ได้ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าท้ายที่สุดจะเป็นไปได้จริง หรือป็นแค่ความฝันที่อยากเห็น อยากมี แต่เมื่อถูกปลุกให้ตื่นก็ต้องเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงที่อาจซ้ำรอยเดิมก็เป็นได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising