“ทหารเป็นสถาบัน เรามีอุดมการณ์ในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อประเทศชาติโดยไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใคร เราอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด”
คำยืนยันผ่านน้ำเสียงและสีหน้าท่าทางของ เสธ.ต้อง หรือ พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
กระบวนการปรองดองผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหลายกลุ่ม รวมทั้งภาคประชาชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งไม้ต่อให้กับคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีบิ๊กเจี๊ยบ หรือ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน
เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่รัฐบาลคสช. นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะความพยายามในการลดความขัดแย้งและสร้างความ ‘ปรองดอง’ ที่มีคำถามเกิดขึ้นระหว่างทางมากมาย ไม่ว่าต่อทหาร ต่อสถานะของคนกลาง ต่อกลุ่มที่เข้าร่วม กระทั่งบรรยากาศบ้านเมืองในขณะที่ดำเนินกระบวนการปรองดอง
‘โฆษกกระทรวงกลาโหม’ สวมสูทแทนเครื่องแบบทหารมาให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ท่ามกลางคำถามและความคลางแคลงใจ พร้อมตั้งคำถามกลับหลายคำถามในระหว่างการสนทนา
ผมขอถามท่านนะครับว่า ชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่รัฐบาลนี้เข้ามา มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากความเป็นปกติของ ‘เสรีภาพ’ ที่เราควรจะได้รับไหม ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง และกลับจะได้รับเสรีภาพมากขึ้นด้วยซ้ำ
ความคืบหน้าของกระบวนการปรองดองตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
การรับฟังความคิดเห็นเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งถือว่าเป็นเดือนแห่งความรัก เราเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่มีมา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง บุคลากร ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนภูมิภาคก็จะฟังทุกจังหวัด เพราะฉะนั้นจะต้องมีผู้แทนจากศูนย์บัญชาการ ผู้แทนจากองค์กร ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมให้ข้อมูล แม้กระทั่งสื่อมวลชนและสถาบันการศึกษาก็มาร่วมให้ข้อมูลกับเราด้วย
การรับฟังก็มีความต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากการรับฟัง เรายังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจทานความถูกต้องของข้อคิดเห็นที่ได้เสนอแนะมา เพื่อให้มั่นใจว่าการรับฟังและเอกสารที่รวบรวมมานั้นไม่ตกหล่นในประเด็นต่างๆ
ปัจจุบันมีความคืบหน้ามาถึงเรื่องการจัดทำเอกสารความเห็นร่วม โดยนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับฟังจากประชาชนขึ้นมา รวมทั้งผลการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นของอาจารย์คณิต ณ นคร, นายแพทย์ประเวศ วะสี และสถาบันพระปกเกล้า เราก็นำมารวบรวมสังเคราะห์กับข้อมูลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อตกผลึกทางวิชาการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็จัดทำเป็นเอกสารความเห็นร่วมให้กับคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอ ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน โดยตอนนี้อยู่ในระหว่างการนำความเห็นร่วมมาทำเป็น ‘ร่างสัญญาประชาคม’ ซึ่งคาดว่าประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้น่าจะได้เห็นกัน
การรวบรวมความเห็นที่เสร็จสิ้นไปแล้วมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง อยากให้เปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบด้วย
ความเห็นร่วมที่สะท้อนขึ้นมาเกิดจากความต้องการของประชาชน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูป เป็นต้น
วันนี้เราต้องพูดความจริงกัน ความจริงที่เราจะต้องเปิดกว้างรับฟังด้วยใจเป็นกลางเพื่อให้รู้ว่าความต้องการของประชาชนที่อยู่ในภาวะของความขัดแย้งมากว่าสิบปีเขาต้องการอะไร บางครั้งมีคำถามว่าทำไมเราต้องฟังเฉพาะกลุ่มการเมืองกับพรรคการเมือง นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เราต้องฟังคนส่วนใหญ่ด้วยว่ามันเกิดอะไรขึ้นและเขาต้องการอะไร
กลุ่มการเมืองที่ทำงานกันอยู่นี้ ผมไม่อยากให้เรียกว่านักการเมืองนะ ขอให้เรียกว่า ‘กลุ่มบุคคลที่หมุนเข้ามาทำงานการเมือง’ ดีกว่า เพราะเสียงสะท้อนของประชาชนมองว่ามันยังไม่เคารพกรอบกติกาที่ควรจะเป็น มันยังมีความพยายามรักษาอำนาจผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่ ในขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกสังคมมีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งกันอยู่แล้ว
การทำงานการเมืองนั้นมีองค์กรกลางคอยทำหน้าที่รักษาอำนาจ หากมีการแทรกแซงก็จะทำให้องค์กรกลางไม่สามารถทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันการเมืองก็ดึงเอาปัญหาความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งเหล่านั้นมาขยายความเพื่อช่วงชิงมวลชน ซึ่งการทำงานการเมืองนั้นก็ยังมีกลุ่มทุนอยู่ และกลุ่มทุนเหล่านี้ทำหน้าที่สนับสนุนทั้งสองฝั่ง ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจเกิดการผูกขาดและไม่เป็นธรรม
กลไกราชการเช่นกัน หน่วยงานราชการมีการขับเคลื่อนงานบริหารที่อ่อนแอ ไม่สามารถเป็นหลักได้อย่างแท้จริง และถูกแทรกแซงทางการเมือง ทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสได้เติบโต
สื่อมวลชนที่มีอยู่ก็ถูกกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเข้าไปซื้อ ทำให้การทำงานของสื่อไม่สามารถทำได้อย่างเป็นกลาง และเมื่อนำเอาความขัดแย้งไปขยาย ก็ทำให้ความขัดแย้งนั้นลงลึกไปถึงประชาชน ทั้งๆ ที่บางครั้งประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มันก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางสังคมขึ้นมา
อารมณ์ทางสังคมที่ว่าเป็นอย่างไร
คืออารมณ์ความขัดแย้งทางสังคมที่เหนือกว่าเหตุผลที่ควรจะเป็น เหมือนเราชกต่อยกับเพื่อน ต่างคนต่างมีอารมณ์ ต่างคนต่างไม่ยอมกัน พอสงบศึกกันได้พักหนึ่งก็จะมีความรู้สึกว่าเราไม่น่าไปเริ่มก่อนเลย แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง อันนี้คือภาพของอารมณ์ทางสังคมที่เหนือกว่าเหตุผล
เมื่อพูดถึงภาพของประเทศไทย อย่าลืมนะครับว่าภายในของประเทศเราเองก็ยังมีการเมืองระหว่างประเทศอยู่ด้วย แถมเกมการเมืองนี้ก็ยังเดินหน้าตักตวงผลประโยชน์เข้ากลุ่ม เข้าประเทศของตัวเอง เพื่อให้กลไกทางการเมืองของเราตอบสนองความต้องการของประเทศเขา
นี่คือภาพความเป็นจริงวันนี้ที่ประชาชนสะท้อนขึ้นมา เรายอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ไหม เราเปิดกว้างรับฟังด้วยใจเป็นกลางไหม และเราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่าร่วมกันไหม ต้องถามตัวเองก่อน
อะไรคือจุดร่วมจากการรับฟังความคิดเห็นที่ตรงกันว่านี่คือปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข
เนื่องจากวันนี้เราอยู่กับปัญหาความขัดแย้งมา 10 ปีแล้ว ผมถามว่าคุณได้รับผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นไหม ฉะนั้นเราต้องฟังประชาชนว่าเขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ประชาชนจะยอมจมกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ไหม นี่คือสิ่งที่เราจะต้องถามตัวเองด้วย
ในฐานะ ‘คนกลาง’ จะให้ความมั่นใจกับการทำหน้าที่ตรงนี้อย่างไร
เรามองในเรื่องของกระบวนการทำงานดีกว่าครับ ถ้าถามว่าที่ผ่านมาการปรองดองมันคืบหน้าไหม มันก็พอจะคืบหน้าอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงเอกสารหรือผลผลิตที่ออกมาเท่านั้น ยังไม่ได้ถูกนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพราะต่างคนต่างไม่ยอมรับ เมื่อฝั่งนี้มาเป็นผู้บริหารหรือเป็นรัฐบาลก็ตั้งคนกลางขึ้นมาทำหน้าที่ในเรื่องการปรองดอง แต่อีกฝั่งก็ไม่รับ เพราะไม่ใช่คนของตัวเอง วันนี้ก็เลยทำให้ผลผลิตที่ต่างฝ่ายต่างผลิตออกมาไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ความปรองดองจึงไม่เกิดขึ้น
วันนี้รัฐบาลเพียงนำสิ่งเหล่านี้มาขับเคลื่อนต่อ อะไรที่ยังเห็นต่างกันอยู่ สมมติว่ามีอยู่ 100 เห็นต่างกันอยู่ 30 เราเอาไอ้ 30 มาเขย่านิดหน่อยก็อาจจะไปได้อีก 20 เหลืออีก 10 ที่ไปไม่ได้เพราะอะไร คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ หรือถ้าจะเข้ามาบริหารประเทศตามกลไกประชาธิปไตยก็ค่อยว่ากันต่อ แต่ 90 ที่มีอยู่ก็ต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขในอนาคต
นี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ ทุกสังคมต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และถ้าวันนี้เราจะต้องจมอยู่กับความขัดแย้ง เราจะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไหม
ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องยากที่จะขับเคลื่อนเรื่องความขัดแย้ง เพราะประเทศไทยเคยเป็นครอบครัวใหญ่ เคยรักกัน เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คนรุ่นใหม่ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเข้าใจช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน เพราะท่านจะต้องรับผิดชอบ วันนี้สังคมจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการสะท้อนทุกความคิดเห็นของประชาชน
กองทัพและรัฐบาลเพียงเข้ามาประคับประคองให้กระบวนการนี้เดินต่อไปได้เพื่อรับฟังถึงปัญหาที่แท้จริงและสะท้อนออกมาเป็นความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องต่างๆ เรื่องนี้รัฐบาลก็ต้องดำเนินการแก้ไข อะไรที่ทำได้ก็ต้องทำโดยทันที อะไรที่ทำไปแล้วประชาชนยังไม่รู้เรื่องก็ต้องมาอธิบาย อะไรที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ เราก็ต้องสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้ขยายไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองจะต้องนำข้อมูลออกมาอย่างบริสุทธิ์ที่สุด เพื่อให้เป็นข้อมูลสะท้อนถึงความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ทหารก็ยังเป็นสถาบัน เราก็ยังมีอุดมการณ์ในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใคร เราอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด
มีหลายเสียงบอกว่าบรรยากาศของบ้านเมืองขณะนี้มีความเข้มงวด จะแน่ใจได้อย่างไรว่านี่เป็นการเปิดกว้างในการรับฟังเสียงที่หลากหลายจริงๆ
ผมขอถามท่านนะครับว่า ชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่รัฐบาลนี้เข้ามา มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากความเป็นปกติของ ‘เสรีภาพ’ ที่เราควรจะได้รับไหม ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง และกลับจะได้รับเสรีภาพมากขึ้นด้วยซ้ำ
วันนี้รัฐบาลพยายามเคลียร์ปัญหาให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันภายใต้กรอบกฎหมาย และพยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในทุกเรื่อง เราไม่ได้ปิดกั้นในเรื่องของความคิด วันนี้เรารับฟังทุกความคิดเห็น แต่แน่นอน เสียงสะท้อนจากประชาชนที่มีย่อมเสียดแทงหูและเสียดแทงใจคนบางกลุ่มแน่นอน ก็ต้องถามกลุ่มคนเหล่านั้นว่าใจกว้างพอที่จะรับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือยัง ถ้าท่านยังไม่พร้อม ท่านก็จะรู้สึกว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็จะเกิดเสียงต่อต้านและเกิดปัญหาขึ้นตามมา อันนี้ก็ขอให้ลองฟังประชาชนส่วนใหญ่บ้าง
การเปลี่ยนแปลงก็คือการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของประชาชน เพราะฉะนั้นผมว่าอย่าห่วงเลย เพราะเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเขารับได้ ไม่มีใครอยากจมอยู่กับความขัดแย้งหรอก
ผมถามว่าเราจะรอให้ใครมาทำกระบวนการปรองดองให้เดินหน้า ในเมื่อทำกันมาเกือบ 10 ปีแล้วมันไม่สำเร็จ แล้ววันนี้จะรอใคร อยากให้คิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะเดินหน้ากระบวนการปรองดอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะผลสุดท้ายมันทำให้สังคมกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุขภายใต้กรอบกติกา
อะไรคือเหตุผลที่เป็นจุดร่วมทำให้แต่ละกลุ่มตัดสินใจเข้ามาร่วมกระบวนการปรองดองในครั้งนี้
ทุกสังคมต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เรามองว่าวันนี้เป็นโอกาส ผมว่าประชาชนก็มองว่าเป็นโอกาสที่เราจะยุติความขัดแย้งและหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกระบวนการปรองดอง แน่นอนครับ บางกลุ่ม บางฝ่ายอาจจะเสียประโยชน์ แต่ถ้ามองในเรื่องประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติแล้ว ผมคิดว่าเขาคิดออก เขาฉลาดพอว่าควรจะทำอะไร
การทำงานการเมืองต้องอาศัยฐานเสียง เมื่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอย่างนี้ คนการเมืองก็ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนที่แท้จริงด้วย ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้หวังที่จะเปลี่ยนแปลงประชาชนหรือสังคม ไม่ได้หวังที่จะเปลี่ยนแปลงคนการเมืองยุคเก่า แต่เราคาดหวังว่าคนที่จะเข้ามาทำงานการเมืองรุ่นใหม่จะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีอุดมการณ์ที่จะทำประโยชน์ให้ส่วนรวมและประเทศชาติ
‘ทหาร’ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือไม่
ผมขอถามท่านกลับไปว่า ณ เวลานี้กลไกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้างที่กระทบ เพราะตอนนี้มันอ่อนแอไปหมด สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ถูกคนไม่หวังดีจ้องทำลาย กลไกต่างๆ ของรัฐ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อ่อนแอไปหมด ผมถามท่านว่ามีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งพิงได้ ท่านหวังว่าใครจะทำหน้าที่เป็นเสาค้ำบ้านของท่านไม่ให้พังลงมา ท่านพอเห็นไหม มันยังเหลืออะไรบ้าง เราต้องคุยกันแบบนี้ก่อน
วันนี้เราอ่อนแอไปหมด มิติต่างประเทศก็เข้ามาแทรกแซง ความอ่อนแอของชาติบ้านเมืองพร้อมที่จะถูกจัดระเบียบใหม่ได้โดยใครก็ไม่รู้ แล้วท่านหวังพึ่งใคร อะไรคือสถาบันหลักที่จะทำหน้าที่ค้ำจุนหลักประกันของชาติในวันนี้ ถ้าเราล้มกันทั้งหมดแล้วมันจะเหลืออะไร ถ้าทั้งหมดเป็นผู้ขัดแย้ง เดี๋ยวจะมีคนมาสร้างประเทศใหม่ จัดระเบียบใหม่ให้แน่นอน
ผมพูดอย่างนี้เพื่อให้คิด ไม่ได้ตอบว่าใครเป็นคู่ขัดแย้งกัน อย่าดึงให้สถาบันหลักไปเป็นคู่ขัดแย้งเลย เพราะเราทำหน้าที่เป็นหลักประกันสังคมของชาติเคียงข้างประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นก็ใช้ดุลพินิจลองคิดดู วันนี้ทหารเข้ามาเป็นสถาบัน ใครไปใครมา ใครจะแปรเปลี่ยนไป
ทหารก็ยังเป็นสถาบัน เราก็ยังมีอุดมการณ์ในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใคร เราอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด
ถึงวันนี้ พอมองเห็นปลายทางของภาพ ‘ปรองดอง’ ที่กำลังทำอยู่ไหมว่าจะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าเรามองภาพเดียวกันนะ เรามองภาพสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข สังคมที่เคารพกฎหมาย เคารพกติกาทางสังคม ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งอยู่บ้าง แต่ก็สามารถใช้กลไกในแต่ละกระบวนการแก้ปัญหาได้ มันเป็นความขัดแย้งที่ไม่ขยายไปสู่ความรุนแรงในสังคมอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นมา ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องยากนะ ยกตัวอย่าง เราเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้อง 10 คน พี่น้อง 2 คนทะเลาะกันโดยขว้างปาสิ่งของกัน ด่ากัน น้องอีก 2 คนให้ท้ายกัน อีก 6 คนทำการบ้านไม่ได้ นอนไม่หลับ ดูทีวีไม่ได้ ปู่ย่าตายายก็ไม่ไหว อยู่ไม่สุข เพราะพี่น้อง 2 คนทะเลาะกัน 10 เดือนของการทะเลาะในครอบครัว สุดท้ายก็คงเป็นพ่อแม่แหละที่สั่งให้หยุด ให้ไปสงบสติอารมณ์ในห้อง แล้วบอกน้องอีก 2 คนว่าหยุดให้ท้ายพี่เขาได้แล้ว คนเข้าไปในห้อง เมื่ออารมณ์สงบก็น่าจะคิดได้นะ แต่บังเอิญว่าในห้องมีหน้าต่างอยู่ห้องละบาน ข้างบ้านตะโกนมาว่า พ่อแม่จับมาขังอย่างนี้ได้อย่างไร ประชาธิปไตย เสรีภาพก็มี เราต้องออกไปอยู่ข้างนอก ต้องพูดได้ ทำได้ พูดอีกก็ถูกอีก แต่ออกมาแล้วคนข้างนอกเขาคิดอย่างไรก็ต้องมาดูกัน
ฉะนั้นภายใต้กรอบเสรีภาพ ประชาธิปไตย ก็ต้องยึดความต้องการของคนส่วนใหญ่ด้วยนะ วันนี้หน้าต่างสองบานอยู่ในห้อง เปิดไปแล้วคนตะโกนมา ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน พูดไปเถอะครับ พูดยังไงก็ถูก แต่ว่าออกมาแล้วจะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ไหม ผมคิดว่าเมื่ออารมณ์ของสองคนนี้สงบแล้วก็อาจจะคิดได้ แต่บ้านเราไม่ได้มีความขัดแย้งขนาดนั้นหรอก เพียงแต่อย่ามีอคติต่อกัน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นกัน สงบสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์สงบแล้ว เหตุผลจะตามมา
ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลง วันนี้ต้องเริ่มจากตัวเอง เราเห็นว่าที่ผ่านมามันเป็นปัญหา เรายอมรับความจริงที่ประชาชนสะท้อนมา ยอมรับว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงไหม อยากจะแก้ไขไหม กลับไปทบทวนตัวเองว่าเราเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร และเราจะมีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างไร ถ้าเรามองเรื่องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เราจะมองออกว่าเราอยากมีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างไร แต่ถ้าเรายังมองไม่เห็น หรือยังมองเห็นเพียงแต่ประโยชน์ส่วนตน มันก็ไม่ไปไหนหรอกครับ
ผมว่าเราหาทางออกได้ ถ้าเรามองไปสุดเพดานแล้วเราจะเห็นว่านี่คือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
เข้าปีที่ 3 ปีของคสช. ทำไมเวลานี้ถึงเหมาะที่จะปรองดอง
หลายคนก็ถามคำถามนี้กับผม ผมว่าความปรองดองมันเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว ตั้งแต่คสช. เข้ามา เพราะเมื่อเราแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งที่รุนแรงทางสังคมนั้นหยุดทันที แต่อารมณ์ก็ยังเหลือแน่นอน เพราะปลุกกันมาตั้งนาน อารมณ์ที่ยังค้าง อารมณ์ที่ยังมีอยู่ทางสังคมก็ต้องทำให้สงบลง เมื่ออารมณ์ทางสังคมสงบลงทุกฝ่าย เราก็ต้องลองเปิดกว้างรับฟังประชาชนดู
ผมว่าไม่มีอะไรช้าหรอกครับ วันนี้เมื่อฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนด้วยอารมณ์สงบแล้วเราจะได้เหตุผล พอเราได้ข้อมูลมา เราก็แค่ช่วยกันเอาข้อมูลเหล่านี้มาบริหารจัดการดีๆ ผมเชื่อว่าบ้านเมืองเราไปได้อีกไกลเลย
ทำอย่างไรให้หลังการเลือกตั้งไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก
ให้พ่อแม่มาคุมครับ พ่อแม่ในที่นี้คือประชาชน กระแสสังคมจะต้องช่วยกันประคับประคองให้บรรทัดฐานทางสังคมเหล่านี้มันไปด้วยกันได้ ถ้าเราไม่ประคับประคองตรงนี้แล้วเราปล่อยให้ออกนอกลู่นอกทาง ทำอะไรโดยที่ไม่ใช่ธุระเหมือนอย่างที่เคยเป็นก็จะโดนเขาชี้นำและครอบงำทางสังคม ในที่สุดก็ต้องกลับมาเข้าวังวนเดิม
การปรองดองจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ประโยชน์ที่จะได้ร่วมกันคือสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข ถึงแม้จะมีความขัดแย้งบ้าง แต่ก็จะไม่ใช้ความรุนแรงกัน เพราะเรามองถึงจุดที่อยู่ร่วมกันในอนาคต
มั่นใจได้อย่างไรว่า ‘สัญญาประชาคม’ จะนำเราออกจากความขัดแย้ง
ไม่ใช่ว่าความขัดแย้งจะไม่มีนะครับ ต้องยอมรับกันก่อนว่าทุกสังคมมีความขัดแย้ง และทุกสังคมมีความเหลื่อมล้ำ อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ความขัดแย้งต้องสามารถบริหารจัดการได้โดยใช้กลไกที่มีอยู่ ถ้าเราเคารพในกรอบกติกา ความขัดแย้งก็จะอยู่ในกรอบ เช่น การทำงานการเมือง ถ้าเราใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาในเรื่องของความเห็นต่างโดยยึดเสียงข้างมาก เราเคารพกัน เรื่องเหล่านี้ก็จะอยู่ในกรอบของสภา ไม่ออกมาข้างนอกเหมือนที่เคยเป็นมา
สัญญาประชาคมจะเป็นปัญหาไหม ในเมื่อสังคมมีอารมณ์และปัญหาอยู่ตลอด
ผมต้องถามก่อนว่าท่านมองใครเป็นปัญหา
ที่ผ่านมามักพูดถึง ‘กลุ่มการเมือง’
ถ้าท่านมองกลุ่มการเมือง ผมถามว่าสัญญาประชาคมที่ออกมามันคืออะไร มันคือความต้องการของประชาชน แน่นอนครับ ทุกสังคมต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข นั่นคือความต้องการของประชาชนด้วยเงื่อนไข 1 2 3 4 แต่ท่านคิดว่าอะไรคือปัญหา ถ้าบอกว่ากลุ่มการเมือง ก็ต้องถามต่อว่ากลุ่มการเมืองทำงานบนพื้นฐานของอะไรครับ
เสียงประชาชน
เมื่อทำงานอยู่บนฐานของเสียงประชาชน หากท่านไม่ใช้ดุลพินิจดูความต้องการที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งที่ท่านใช้ประโยชน์จากฐานประชาชนในทางการเมือง เพราะฉะนั้นท่านควรจะไตร่ตรองดูให้ดีว่าได้ใช้ดุลพินิจกับเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของประชาชนที่มีขึ้นมาหรือไม่
หากทุกคนลงนามในสัญญาประชาคม หมายความว่ายอมรับในเสียงประชาชนแล้ว
เรื่องที่เซ็นหรือไม่เซ็นนี่เราไม่รู้นะครับ แต่มันคือบรรทัดฐานใหม่ของสังคมที่เราจะกำหนดความต้องการร่วมกัน
พูดให้ชัดคือ ถ้าทุกคนคำนึงถึงประชาชนก็จะเห็นภาพเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ จะเป็นอย่างไรใช่ไหม
ถ้าคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เราก็จะรู้ว่าเราจะต้องทำอะไร เช่น วันนี้ผมเดือดร้อนมาก ผมจำเป็นต้องไปขายของผิดกฎหมายเพื่อเอาเงินมาให้ลูกเรียนหนังสือและมาใช้หนี้ แต่ผมดูแล้วว่าถ้าผมทำสิ่งผิดกฎหมายแล้วมันไปกระทบกับคนโน้นคนนี้ มันไม่ได้เกิดประโยชน์ส่วนรวมต่อประเทศชาติเลย ผมก็อาจจะตัดสินใจไม่ทำ ผมไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะฉะนั้นต้องมองให้ทะลุนะครับ
มองให้ทะลุผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ แล้วท่านจะตอบได้เองว่า ควรจะทำหรือไม่ทำอะไร วันนี้อย่าให้ใครมาบังคับเลย เราต้องไตร่ตรองและค้นพบด้วยตัวเอง เรียนรู้จากความเป็นจริงที่ประชาชนสะท้อนขึ้นมาร่วมกัน ผมว่าเราจะหาคำตอบได้
การปรองดองจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ประโยชน์ที่จะได้ร่วมกันคือสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข ถึงแม้จะมีความขัดแย้งบ้าง แต่ก็จะไม่ใช้ความรุนแรงกัน เพราะเรามองถึงจุดที่อยู่ร่วมกันในอนาคต
นานไหม กว่าจะถึงจุดหมายที่แท้จริงของความปรองดอง
10 ปีที่ผ่านมานี้ ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่าจะไปถึงจุดไหน มันขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนว่าจะยอมให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่ ถ้าเรายอมให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี มันไปได้แน่นอน ถ้าเรายังมียังมีอคติอยู่ ยังถูกครอบงำทางความคิดอยู่ก็จะลำบาก เพราะวันนี้เราต้องเดินไปข้างหน้า ต้องร่วมกันเข็นรถที่ติดหล่ม 10 ปีขึ้นมาแล้วออกไปข้างหน้าให้ได้
ผมว่าขณะนี้มันเป็นโอกาสอยู่แล้ว ถ้าท่านคิดว่ามันเป็นโอกาสก็ให้ร่วมกันเดินหน้าไป เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนทุกคน
ถ้ามองในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ พัฒนาการจะดีขึ้นไหม
ผมตอบไม่ได้ แต่คิดว่าอย่างน้อยๆ ก็จะเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ถ้าวันนี้เราเข้าใจกันมากขึ้น มีส่วนร่วมกันมากขึ้น ผลมันอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ คนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญมากที่จะต้องพยายามเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วก็ร่วมเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน
มีความคิดบางส่วนที่มองคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนหอกข้างแคร่อยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่ครับ ผมมองคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนผ้าขาว วันนี้เขาจะต้องไม่ถูกครอบงำทางความคิด เขาต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง เหมือนตอนอยู่ในห้องเรียนที่เรามีความรู้และความคิดที่แตกต่างกันได้ แต่บางเรื่องมันเร็วเกินไปที่จะนำออกมาใช้ข้างนอก เร็วไปที่จะเอาความคิดแปลกๆ มาใช้กับสังคม
คนรุ่นใหม่ก็จะต้องรับผิดชอบต่ออนาคตเหมือนกัน วันนี้ผมว่าดีด้วยซ้ำที่สังคมตื่นตัว วันนี้โลกมีโซเชียลมีเดีย ซึ่งมันก็เบี่ยงเบนความสนใจของเราไปได้ในระดับหนึ่ง แต่การอยู่ร่วมกันบนโลกของความเป็นจริง เราก็ต้องประคับประคองให้ได้ ส่วนโลกเสมือนจริงก็ว่ากันไปอีกอย่าง โลกของใครโลกของมัน
บางทีเขาพูดอะไร อธิบายอะไรแล้วก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนตอนที่คุณนั่งเรียนหนังสือ เวลาครูอธิบายในห้องเรียน ทุกคนก็นั่งฟังไป แต่อีกคนไม่สนใจ ไปหาหนังสืออ่านเล่น พอพูดจบปุ๊บก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แน่นอนครับ ทุกสังคมมีแบบนี้อยู่แล้ว
เราหวังว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานการเมืองจะใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น มีความทุ่มเท เสียสละที่จะมองถึงประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติมากขึ้น