×

สปท. คุ้มค่าการสูญเสียประชาธิปไตยหรือไม่? หลังปิดฉาก 1 ปี 10 เดือน ส่งไม้ต่อปฏิรูปให้ ‘บิ๊กตู่’

31.07.2017
  • LOADING...

ที่สำคัญในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คสช. ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เกิดความมั่นคงทางการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้” ประธาน สปท. กล่าว

 

     ปิดฉากการทำงานของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อย่างเป็นทางการแล้ว หลังเข้ามารับไม้ต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หากนับระยะเวลาการทำงาน ไม่สั้นไม่ยาวก็กว่า 1 ปี 10 เดือน หรือประมาณ 665 วัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558

     ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคำถามมากมายถึงการทำหน้าที่ของ สปท. ว่า เกิดผลเป็นรูปธรรมแบบไหนบ้าง กระทั่งวันนี้ (31 ก.ค.) ที่รัฐสภามีการประชุมสปท. ครั้งที่ 31/2560 เป็นพิเศษ เพื่อส่งมอบงานของสปท. ให้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีแม่น้ำ 5 สายเข้าร่วมงานคับคั่ง

     ร.อ. ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. กล่าวรายงานถึงผลงานของสปท. ว่า ภารกิจสำคัญของคสช. และรัฐบาลมี 3 อย่าง ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูป และการสร้างความสามัคคี การปฏิรูปจึงเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่ง และต้องอาศัยความร่วมมือของแม่น้ำ 5 สาย

 

 

     สำหรับรายละเอียดผลงานปฏิรูปที่สปท. ส่งให้รัฐบาลแล้วมีจำนวน 188 เรื่อง ครอบคลุม 37 วาระการปฏิรูปใน 11 ด้าน ส่วนที่รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อกลไกปฏิรูปประเทศ นับถึงเดือนตุลาคม 2559 จำนวน 183 ฉบับ และกำลังเร่งผลักดันอีก 104 ฉบับ

     ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรม 27 เรื่อง เช่น การจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แผนปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา (ร่างแผนยุทธศาสตร์ 15 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นต้น

     “ที่สำคัญในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คสช. ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เกิดความมั่นคงทางการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้” ประธาน สปท. กล่าว

การต้องปฏิรูปประเทศให้เกิดมรรคผล โดยจะต้องให้คุ้มค่ากับการสูญเสียประชาธิปไตยจากการรัฐประหาร

 

     ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณสมาชิกสปท. ที่ได้ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติและลูกหลาน เพื่อวางรากฐานให้ประเทศแข็งแรง และยกย่องว่า สปท. ถือเป็นคนสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยรัฐบาลหวังที่จะปฏิรูปประเทศให้เท่าทันนานาชาติ ซึ่งจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเข็มทิศนำทางให้เกิดความต่อเนื่อง

     อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง ในฐานะคนใน ให้สัมภาษณ์ต่อการทำงานของสปท. ตอนหนึ่งกับสื่อมวลชนถึงการต้องปฏิรูปประเทศให้เกิดมรรคผล โดยจะต้องให้คุ้มค่ากับการสูญเสียประชาธิปไตยจากการรัฐประหาร และเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าอันเป็นต้นเหตุแห่งการรัฐประหาร 13 ครั้งที่ผ่านมา นายอลงกรณ์บอกอีกว่า “นายกรัฐมนตรีก็ตั้งใจเช่นนี้ เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง และขอให้เป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย”

 


ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกต ข้อเสนอของสปท. เป็นรูปธรรมน้อยมาก

     ขณะที่ก่อนหน้านี้ ‘โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน’ หรือ ไอลอว์ ได้ออกมาเปิดเผย ‘รายงานสรุปผลงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)’ (คลิกอ่าน https://ilaw.or.th/node/4577)

     โดยสรุปคือ ตั้งแต่ 13 ต.ค. 2558 จนถึง 7 ก.ค. 2560 พบว่า สปท. มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปอย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่กลับมีรูปธรรมที่สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีเพียง 329 ข้อ และในข้อเสนอดังกล่าว บางอย่างยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมไปถึงไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการดำเนินการตามข้อเสนอจะได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้หรือไม่

 

 

     ทั้งนี้ บางข้อเสนอยังเป็นข้อเสนอที่ลอกเลียนแบบมาจากสปช. นอกจากนี้ สปท. ยังมีข้อเสนอที่ล้าหลังจนทำให้สังคมต้องออกมาคัดค้าน และตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน สปท. มีงบประมาณอย่างต่ำในการปฏิรูป 1,072,845,000 บาท

     สปท. ส่งไม้ต่อภารกิจการปฏิรูปให้กับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารเรียบร้อยแล้ว ผลงานในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจะถูกพิสูจน์นับต่อจากนี้ไป ข้อเสนอการปฏิรูปที่อยู่ในรายงานลายลักษณ์อักษร ซึ่งบางคนบอกว่าเป็นเรื่องนามธรรม จะเกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมขนาดไหน ต้องจับตา เพื่อให้คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไปอย่างที่นายอลงกรณ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X