×

ถ้า ‘บิ๊กตู่’ จะลงเลือกตั้ง ต้องลาออกวันนี้! เส้นตายแม่น้ำ 4 สายตาม รธน.

04.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน นับไปอีก 90 วัน คือวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นเส้นตายที่ สนช., สปท., ครม. และ คสช. ต้องลาออกจากตำแหน่ง หากต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง
  • จนถึงนาทีนี้ หลายกระแสที่ถามไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ถึงการลงสนามเลือกตั้ง หรือแม้แต่การตั้งพรรคการเมือง น่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่าปิดประตูการลงเลือกตั้ง เพราะเส้นตายวันสุดท้ายคือวันนี้
  • แต่ถึงแม้ไม่ลงสนามเลือกตั้ง บทบาททางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ก็น่าติดตามอย่างยิ่งยวด

     หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ประกาศใช้ไปแล้ว นับมาจนถึงวันนี้คือ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ก็ครบ 90 วันพอดี ซึ่งเป็นกรอบเวลาของ ‘เส้นตาย’ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคเจ็ด ประกอบมาตรา 264-266 ที่ได้วางหลักไว้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ‘เว้นแต่จะลาออกภายใน 90 วัน’ นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

กรอบเวลา 90 วันนี้จะมีใครที่สมัครใจกระโดดลงจากเรือแป๊ะตามที่นายวิษณุ เครืองาม เคยเปรียบเปรยไว้ ซึ่งจะเป็นการแบไต๋ให้เห็นตัวตนว่า ในอนาคตอันใกล้จะเสนอตัวเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง

     เป็นเส้นตายที่ขีดให้แม่น้ำ 4 สายต้องกระโดดลงจากเรือแป๊ะ หากต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ‘ผู้แทนราษฎร’ ในอนาคต เกิดคำถามว่า แล้วแม่น้ำอีกสายคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีเงื่อนไขแบบเดียวกันนี้หรือไม่ คำตอบคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคท้าย ได้วางหลักไว้ว่า เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญดํารงตําแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งตามวรรคสอง หมายความว่า เมื่อหมดวาระของ กรธ. ตามรัฐธรรมนูญ นับจากเวลานั้นอีก 2 ปี ห้าม กรธ. ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครเป็น ส.ส. คือห้ามผู้ที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง

     สปอตไลต์ในสนามการเมืองจึงโฟกัสไปยังแม่น้ำ 4 สายว่า ในกรอบเวลา 90 วันนี้จะมีใครที่สมัครใจกระโดดลงจากเรือแป๊ะตามที่นายวิษณุ เครืองาม เคยเปรียบเปรยไว้ ซึ่งจะเป็นการแบไต๋ให้เห็นตัวตนว่า ในอนาคตอันใกล้จะเสนอตัวเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย

     สำหรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นับข้อมูลที่เปิดเผยโดย สปท. เอง จนถึงวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีสมาชิก สปท. ลาออกไปแล้วจำนวน 21 ราย รวมกับที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ 4 ราย และมีสมาชิกที่ถึงแก่อนิจกรรมอีก 1 ราย จะมี สปท. ที่พ้นจากสมาชิกภาพจำนวน 26 ราย ทำให้ เหลือสมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ เวลานี้ 174 ราย จากจำนวนเต็ม 200 ราย

 

สำหรับรายชื่อ สปท. แม่น้ำอีกสายที่ลาออกในช่วง 90 วัน ได้แก่  

     1. นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์  

     2. นายธงชัย ลืออดุลย์

     3. นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล

     4. นายพรชัย ตระกูลวรานนท์  

     5. นายเกรียงยศ สุดลาภา  

     6. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์  

     7. นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์  

     8. นายชัย ชิดชอบ

     9. พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร

     10. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

     11. นายสมพงษ์ สระกวี

     12. พันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล

     13. นายอับดุลลาฮิม มินซาร์  

     14. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

     15. นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์

     16. นายสุชน ชาลีเครือ

     17. นายดำรงค์ พิเดช  

     18. นายวิเชียร ชวลิต  

     19. นายณัฏฐ์​ ชพานนท์  

     20. นายวิทยา แก้วภราดัย  

     21. นายนิกร จำนง

 

     แต่เมื่อโฟกัสไปยังแม่น้ำอีก 3 สาย ได้แก่ คสช., ครม. และ สนช. ยังไม่พบการยื่นใบลาออกเพื่อไขก๊อกแต่อย่างใด หากพ้น ‘เส้นตาย’ วันนี้ไป ก็เป็นอันสรุปได้ว่า บุคคลจากแม่น้ำ 3 สายนี้จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้ สนามเลือกตั้งจะไร้เงาบุคคลจาก 3 กลุ่ม

     จับจ้องไปที่ ครม. 36 คน รัฐมนตรีทั้งหลายส่วนใหญ่มาจากอดีตข้าราชการ อดีตภาคธุรกิจ และกองทัพ ซึ่งบางคนมีตำแหน่งพัวพันโยงใยอยู่อีกขา คือเป็นรัฐมนตรีและ คสช. ในเวลาเดียวกัน ก็ยังไม่มีใครตัดสินใจชิ่งลงจากเรือแป๊ะแต่อย่างใด

     ส่วน สนช. นั้น ปัจจุบันมีจำนวนมีสมาชิกผู้ทรงเกียรติ 250 คน แม้มีกระแสก่อนหน้านี้ว่าอาจมีบางคนตัดสินใจยื่นใบลาออกตามกรอบรัฐธรรมนูญ 90 วัน แต่จนถึงเส้นตายเวลานี้ก็ไร้เงาการลาออก หลายฝ่ายต่างจับจ้องไปที่กลุ่มคนใน สนช. ที่ไม่ต้องการลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่มีแนวโน้มว่าจะได้เป็น ส.ว. ที่มาจากการสรรหา เพราะ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม สนช. เข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. แต่อย่างใด และในบทเฉพาะกาลกำหนดให้วาระเริ่มแรกมีวุฒิสภาได้ 250 คน โดยมี คสช. เป็นเรือธงในการสรรหาเพื่อเคาะบุคคลเข้ามานั่งเก้าอี้สภาสูง แถมรัฐธรรมนูญยังเขียนล็อกสเปกให้ผู้นำเหล่าทัพไว้แล้วอีก 6 เก้าอี้ด้วย

ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ เพราะตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็น ส.ส.

หรือบิ๊กตู่จะเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกแทน?

     ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สวมหัวโขนเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งควบสองหัวเรือใหญ่ของแม่น้ำสองสายก็จะขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้เเทนราษฎร และนั่นคือบทสรุปที่หลายฝ่ายจับตามองว่าพลเอกประยุทธ์จะลงมาเล่นในสนามเลือกตั้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะถึงขนาดที่ก่อนหน้านี้ บุคคลในสนามการเมืองอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แห่งค่ายพระแม่ธรณีฯ (ประชาธิปัตย์) ต่างออกมาเทียบเชิญให้ลงสู่สนามเลือกตั้ง

     “อยากให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. รับคำท้าพรรคการเมืองมาเดินบนถนนประชาธิปไตย ตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้งเหมือนที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยทำ” อีกเสียงเรียกร้องจากนายสมพงษ์ สระกวี อดีตสมาชิก สปท. ที่ลาออกจากตำแหน่งแล้ว จนถึงนาทีนี้คงไม่มีอะไรมาเปลี่ยนใจพลเอกประยุทธ์ได้ และแน่นอน ก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณชัดเจนจากบิ๊กตู่ว่าไม่คิดเล่นการเมือง

 

     

     อย่างไรก็ตาม มีกระแสหนาหูก่อนหน้านี้ถึงบทบาททางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ เพราะตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็น ส.ส.

     และภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา ซึ่งเลือกโดย คสช. ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 จาก 750 เสียง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

     เมื่อดูตามสูตรของตัวเลขแล้ว จะเห็นว่า คสช. คือผู้คุมเสียงในสภาสูง (ส.ว.) จำนวน 250 คน เพราะ ส.ว. ชุดใหม่มีที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. นั่นเอง

     ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าบทบาทในการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. นั้นมาจากอิทธิพลของ ‘คำถามพ่วง’ ที่ผ่านการลงประชามติและบรรจุอยู่ในเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับทางการนี้แล้ว ที่ให้สามารถร่วมเลือกนายกฯ และยังสามารถเสนอชื่อบุคคลที่อยู่นอกบัญชีพรรคการเมืองมานั่งเก้าอี้นายกฯ ได้

     แม้บทบาทในสนามการเมืองของพลเอกประยุทธ์จะไม่ได้ลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่บทบาททางการเมืองนับจากเวลานี้ไปต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะนั่นคือสัญญาณว่าจะอยู่ยาว หรืออยู่แบบไหนในแบบฉบับของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising