×

‘รัฐกำลังมองผู้ใช้เน็ตเป็นอาชญากร’ เสียงสะท้อนต่อมาตรการปฏิรูปสื่อออนไลน์ในรายงาน สปท.

05.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ตมองว่า ความพยายามในการปฏิรูปโซเชียลมีเดียของ สปท. กำลังสะท้อนให้เห็นว่ารัฐมองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ต่างจากอาชญากรที่พร้อมจะกระทำความผิดได้ทุกเมื่อ จึงต้องพยายามระบุตัวตนของผู้ใช้ผ่านรูปภาพ และลายนิ้วมือ
  • ด้านนักวิชาการด้านสื่อใหม่ จากมหาวิทยาลัยหอการค้ามองว่า ความพยายามนี้สะท้อนความรู้ไม่เท่าทันสื่อของผู้เสนอรายงานที่ต้องการจะควบคุมสื่อออนไลน์ โดยไม่ได้มองถึงภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป

     แม้จะออกมาในรูปแบบรายงานที่ยังไม่มีผลบังคับใช้จริง แต่ความพยายามล่าสุดของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่หวังจะปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดียผ่าน ‘ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย’ ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศต้องรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ

     ลงทะเบียนซิมมือถือด้วยการสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือทั่วประเทศ, จัดตั้งศูนย์เก็บข้อมูลผู้ใช้มือถือ, ตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวังเนื้อหาออนไลน์ หรือเสนอเฟซบุ๊กให้ใช้บัตรประชาชนลงทะเบียน เหล่านี้คือมาตรการที่ถูกเสนอในรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งสามารถสะท้อนอะไรได้มากมาย โดยเฉพาะมุมมองของผู้เขียนรายงานที่มีต่อประชาชนคนใช้อินเทอร์เน็ต

     ความพยายามนี้สะท้อนอะไร THE STANDARD ชวน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ตมาร่วมกันวิเคราะห์

พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ก็พยายามจะระบุตัวตนของนักข่าวว่าใครเป็นคนเขียน สังกัดองค์กรไหน เพื่อให้มีการเซนเซอร์ตัวเองก่อนนำเสนอข่าว ส่วนฝั่งประชาชนก็พยายามจะสร้างระบบที่ใช้ในการระบุตัวตนของบุคคลเพื่อให้คนกล้าพูดน้อยลง

รัฐกำลังมองประชาชนเป็นอาชญากรที่พร้อมทำผิดได้ทุกเมื่อ

     หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจเมื่อได้เห็นรายงานฉบับนี้ที่มาพร้อมกับมาตรการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดียที่หลากหลาย เข้มข้น และเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึง

     แต่ไม่ใช่สำหรับอาทิตย์ที่ติดตามเรื่องนี้มานานจนมองเห็นความพยายามในภาพรวมของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่ต้องการควบคุมสื่อทุกช่องทางอย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด

     ตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ตอธิบายว่า ถ้าหากดูรายชื่อคณะกรรมการแล้ว จะเห็นว่าเป็นชุดเดียวกับที่เคยเสนอกฎหมายลักษณะคล้ายๆ กัน ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ที่เสนอให้สื่อต้องขึ้นทะเบียน หรือข้อเสนอในเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ และข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเน้นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ และเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งอาทิตย์มองว่าขณะนี้คณะกรรมการชุดเดียวกันกำลังพยายามรุกคืบมาในพื้นที่โลกออนไลน์เพื่อจะควบคุมให้คนกล้าพูดน้อยลง

     “ผมว่าไม่ใช่ความคิดที่เฉพาะเจาะจงกับโซเชียลมีเดียหรอก เพราะไม่ว่าจะเป็นสื่อรูปแบบไหนก็ตามที่สื่อสารออกไปได้ และเขามองว่ามันสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาล หรือคนที่อยู่ในอำนาจ เขาก็พยายามจะควบคุมให้ได้ทั้งหมด

     “ดังนั้นกลไกหรือมาตรการต่างๆ ที่นำเสนอมาไว้ในรายงานฉบับนี้ จึงเป็นความพยายามในการระบุตัวตนให้ได้ว่าใครเป็นคนพูด อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ก็พยายามจะระบุตัวตนของนักข่าวว่าใครเป็นคนเขียน สังกัดองค์กรไหน เพื่อให้มีการเซนเซอร์ตัวเองก่อนนำเสนอข่าว ส่วนฝั่งประชาชนก็พยายามจะสร้างระบบที่ใช้ในการระบุตัวตนของบุคคลเพื่อให้คนกล้าพูดน้อยลง ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือสร้างให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเองนั่นเอง”

     สำหรับมาตรการที่ออกมา อาทิตย์มองว่ามาตรการที่น่าจะสร้างผลกระทบกับประชาชนมากที่สุดน่าจะเป็นความพยายามในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอย่างลายนิ้วมือ หรือรูปภาพของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสุดท้ายจะนำมาสู่ความเสี่ยงที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’

     “พอมีมาตรการให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการมากๆ สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ แม้บริษัทผู้ให้บริการจะมีมาตรการที่ดีแค่ไหน แต่ถ้ามีคนในองค์กรนำข้อมูลออกมาใช้ประโยชน์ เช่น เอาไปขาย หรือเปิดเผยกับคนภายนอก มันก็ป้องกันได้ยากอยู่ดี ที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เพราะข้อมูลส่วนบุคคลมันมีค่า และกฎหมายก็ดันกำหนดให้เอาสิ่งที่มีค่าเหล่านี้ไปรวมกันไว้ในที่ที่เดียวมากขึ้นเรื่อยๆ

     “ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้ามีใครสักคนได้ข้อมูลบัตรประชาชนของเราไป พร้อมภาพถ่ายและลายนิ้วมือ เขาจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง แล้วมันไม่ใช่แค่ข้อมูลของเราคนเดียว แต่เป็นข้อมูลส่วนตัวของคนนับล้านในประเทศ สิ่งที่พยายามแก้ปัญหาอยู่มันจะคุ้มไหมเมื่อเทียบกับผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

     นอกจากนี้อาทิตย์ยังให้ความเห็นว่า มาตรการลงทะเบียนซิมมือถือแบบเติมเงินด้วยรูปถ่ายและลายนิ้วมือ ยังสะท้อนแนวคิดของรัฐที่มองว่าประชาชนทุกคนคืออาชญากรที่พร้อมจะทำผิดได้ทุกเมื่อด้วย

     “เมื่อก่อนเราจะเก็บตัวอย่างลายนิ้วมือใครบ้าง ที่นึกออกก็เช่น ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือคนที่คิดว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ข้อเสนอของ สปท. กำลังจะทำให้ทุกคนที่ใช้เน็ตถูกมองว่าพร้อมจะเป็นคนร้ายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงต้องเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปเอาไว้ เหมือนตอนที่ผู้ต้องหาถูกจับ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้นเลย”

ในโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่คำตอบถูกผิดให้เลือกเหมือนข้อสอบปรนัย ซึ่งคำถามก็คือตอนนี้เราเปิดกว้างให้เด็กตั้งคำถามแค่ไหน

สะท้อนความรู้ไม่เท่าทันสื่อของคนเขียนรายงาน

     หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดียซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานดังกล่าว อ้างถึงการที่ผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์

     ซึ่ง ดร.มานะให้ความเห็นว่า การพยายามจะควบคุมสื่อออนไลน์ภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนรูปแบบไปต่างหากที่สะท้อนถึงความรู้ไม่เท่าทันสื่อของผู้เสนอรายงาน

     “ที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือมาตรการระยะสั้นในการปฏิรูปการใช้สื่อออนไลน์ที่มุ่งเน้นไปที่การใช้กฎหมายและการควบคุมเป็นหลัก มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนถึงความพยายามจะควบคุมสื่อในแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ เพราะมองว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารได้ เพื่อจะบริหารประเทศได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือปัญหาใดๆ

     “ซึ่งยุคที่ผ่านมาอาจจะสามารถทำได้ เพราะภูมิทัศน์สื่อมีช่องทางที่จำกัด แต่พอมายุคนี้โอกาสที่จะไปควบคุมแบบนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และไม่มีทางควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ไม่เท่าทันสื่อยุคใหม่ของคนเขียนรายงานด้วยเหมือนกัน”

     นอกจากนี้ ดร.มานะยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ปัญหาและสาเหตุที่ถูกหยิบยกมาใส่ไว้ในรายงานจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมออนไลน์ แต่ถึงอย่างนั้นสังคมออนไลน์ก็ไม่ได้มีแต่ด้านลบๆ แต่ยังมีมุมมองด้านบวกที่ไม่ได้เขียนไว้ในรายงานฉบับนี้ ทั้งเรื่องการตรวจสอบกันเองของผู้ใช้สื่อที่นับวันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่การตรวจสอบและตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของสื่อที่พยายามช่วงชิงความสนใจจากประชาชนมากที่สุด

     “เรื่องการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน รัฐต้องเปิดโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้ ซึ่งถ้ารัฐจริงจังกับเรื่องนี้จริง ต้องเน้นการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้มากกว่านี้ แทนที่จะเน้นไปที่การควบคุมเป็นหลัก ปัญหาคือวิชารู้เท่าทันสื่อมันไม่ใช่วิชาที่สอนให้ท่องจำ แต่ต้องใช้ประสบการณ์ และปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ ให้เด็กรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เพราะในโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่คำตอบถูกผิดให้เลือกเหมือนข้อสอบปรนัย ซึ่งคำถามก็คือตอนนี้เราเปิดกว้างให้เด็กตั้งคำถามแค่ไหน

     ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนาหูในตอนนี้ น่าสนใจว่ามาตรการที่ออกมาบังคับใช้จริงหลังจากนี้จะออกมาในรูปแบบไหน นี่คือเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising