เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 นอกจากจะเป็นเดือนที่ปฏิทินการเมืองร้อนระอุแล้ว ยังเป็นเดือนเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยถึง 8 คน
THE STANDARD ค้นงานวิจัยรวมทั้งข้อเขียนบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่พูดถึงบุคลิกที่โดดเด่นของอดีตนายกฯ ทั้ง 8 คนที่บังเอิญมีเดือนเกิดตรงกัน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีจุดแข็งและความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป
อย่างที่เกริ่นไว้ว่านี่คือการวิเคราะห์เนื้อหาจากแหล่งต่างๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้จึงไม่มีการแบ่งข้างทางการเมือง หรือมุ่งโจมตีใครเป็นพิเศษ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี คนที่ 27
เกิด 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507
วิทยานิพนธ์ การสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดย อิทธิเดช สุพงษ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้จุดแข็งของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ไว้ว่า มีพื้นฐานครอบครัวและบุคลิกภาพดี
โดยนายอภิสิทธิ์เป็นลูกชายคนเดียวในจำนวน 3 คนของศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ
มีการศึกษาดี จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ผลการสอบประจำปีของนายอภิสิทธิ์ ครั้งที่ 1 เขาได้คะแนนสูงสุดจากนักเรียนทั้งหมด 300 คน ส่วนการสอบประจำปี ครั้งที่ 2 ได้คะแนนวิชาเศรษฐศาสตร์สูงสุด
หล่อ พูดจาดี ขวัญใจคนรุ่นใหม่
นายอภิสิทธิ์เข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัวในวัยเพียง 27 ปี โดยสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 การเลือกตั้งครั้งนั้น ‘นายอภิสิทธิ์’ เป็น ส.ส. กทม. คนเดียวของพรรค และเป็น ส.ส. ที่อายุน้อยที่สุด ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนน นายอภิสิทธิ์แจ้งเกิดเต็มตัวจากการออกรายการ สนามเลือกตั้ง ของสุทธิชัย หยุ่น ทางช่อง 9 อสมท โดยตอบคำถามและแสดงทัศนะอย่างฉะฉาน ผนวกกับด้วยหน้าตาหล่อเหลา นายอภิสิทธิ์จึงมีภาพลักษณ์เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่
พ.ศ. 2540 บทความเรื่อง New Voices for New Asia โดยชาร์ลส์ อเล็กซานเดอร์ ได้เขียนถึง 6 นักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของเอเชีย โดยนายอภิสิทธิ์คือหนึ่งในนักการเมืองดาวรุ่งแห่งความหวังในครั้งนั้น
จุดอ่อนของ ‘อภิสิทธิ์’ คืออยู่ผิดพรรค
งานวิจัยเดียวกันได้วิเคราะห์จุดอ่อนของนายอภิสิทธิ์ไว้ว่า ขาดประสบการณ์ในการบริหาร โดยเฉพาะประสบการณ์ทาง ‘ธุรกิจ’
อีกทั้งพรรคการเมืองที่สังกัดมีภาพลักษณ์ด้านลบ ในแง่ภาพลักษณ์ที่ประชาชนมีต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะโดดเด่นด้านซื่อสัตย์สุจริตกว่าพรรคคู่แข่ง แต่โดยทั่วไปประชาชนยังมองว่าเป็นพรรคที่ทำอะไรไม่เคยสำเร็จ ดำเนินงานช้าต้องรอฟังรายงานกว่าจะตัดสินใจ
นอกจากนี้ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเคยกล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ว่าเลือกใช้คนไม่เป็น คนประชาธิปัตย์ที่เก่งๆ มีมาก แต่เลือกปรึกษาเพียงไม่กี่คน
ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ‘ขวัญใจคนรุ่นใหม่’ สู่ ‘นายกฯ มือเปื้อนเลือด’
นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถูกอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ศ. 2553 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
แต่ศาลอาญายกฟ้อง เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจของศาล แต่อยู่ในอำนาจไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ให้ข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวตกไป
แม้ ป.ป.ช. จะตีข้อกล่าวหานี้ตกไป แต่อาจกล่าวได้ว่าผลจากการสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์หรือภาพจำสำคัญของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ แทนที่นักการเมืองขวัญใจคนรุ่นใหม่ไปแล้วก็ว่าได้
————————————————————-
พลเอกสุจินดา คราประยูร
นายกรัฐมนตรี คนที่ 19
เกิด 6 สิงหาคม พ.ศ. 2476
พลเอกสุจินดาฉายแววความเป็นผู้นำตั้งแต่เรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ได้รับคัดเลือกได้เป็นหัวหน้าชั้น เพราะสอบได้ที่ 1 และด้วยบุคลิกเรียนเก่ง อารมณ์ดี พลเอกสุจินดาจึงเป็นแกนนำและประธานรุ่น จปร. 5
การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดาอาจเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิต เนื่องจากโดนต่อต้านอย่างหนักทั้งจากพรรคการเมือง สื่อมวลชน และประชาชน จนเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535
แม้จะถูกกระแสต่อต้านรอบด้านในช่วงเป็นนายกฯ แต่ในช่วงเวลานั้นก็มีผู้ออกมาให้ความเห็นชี้ถึงข้อดีของพลเอกสุจินดาหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ดร. ทินพันธ์ุ นาคะตะ (ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลพลเอกสุจินดา) แหวกกระแสชี้ข้อดีสำคัญของพลเอกสุจินดาในเวลานั้นว่า
“นานๆ เราจะมีผู้นำแบบนี้สักคน เพราะเป็นคนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคุณธรรมสูง ซื่อสัตย์ ไม่ด่างพร้อย ใช้ชีวิตเรียบง่าย เข้ากับใครก็ได้ และไม่เคยนึกถึงประโยชน์ส่วนตัว
“ที่สำคัญคือมองการณ์ไกล เข้าใจปัญหาของชาติและประชาชน และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสำคัญๆ ของประเทศ”
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เขียนถึงจุดเด่นของพลเอกสุจินดาไว้ในหนังสือ เล่าเรื่องผู้นำ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนไว้ว่า
“พลเอกสุจินดามีจุดเด่นคือความสุภาพ นุ่มนวล เฉลียวฉลาด รอบคอบ จัดว่ามีวิสัยทัศน์คนหนึ่ง และมีความรู้รอบตัวดีมาก ทั้งผมเองก็เชื่อว่าท่านเป็นคนรักบ้านเมืองด้วย แต่ยังไม่ทันได้ใช้จุดเด่นสักข้อ ท่านก็พ้นจากตำแหน่งเสียก่อน”
————————————————————-
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี คนที่ 18
เกิด 9 สิงหาคม พ.ศ. 2475
เจ้าของฉายา ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ เป็นที่รู้จักในนามของนักการทูตและนักธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกจากเหตุการณ์การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535
ภาพลักษณ์และคุณสมบัติของอดีตนายกฯ อานันท์เรียกว่าเพอร์เฟกต์ก็คงจะพูดได้ เพราะเป็นนักเรียนนอก จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
ชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือราชการก็ล้วนก้าวสู่จุดสูงสุดของเส้นทางนั้นๆ โดยเคยเป็นประธานกรรมการบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) และเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แม้ในแวดวงการเมืองก็ก้าวไปถึงตำแหน่งสูงสุดอย่าง ‘นายกรัฐมนตรี’
ในหนังสือ เกิดมาเป็นนายก ของนรนิติ เศรษฐบุตร บันทึกคำชื่นชมของนักวิชาการสำคัญที่เคยชื่นชมอดีตนายกฯ อานันท์ไว้ดังนี้
ดร. สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกับเคยกล่าวว่า
“คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นสัญลักษณ์ของอัศวินตะวันตกที่ผมชื่นชมมากคนหนึ่ง เพราะเปี่ยมไปด้วยความฉลาด ความสะอาด และความกล้าหาญทางจริยธรรม”
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนชมพร้อมติอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ โดยสรุปเอาไว้สั้น ๆ ว่า
“เมื่อมองโดยรวมแล้ว ท่ามกลางความล้มเหลวของคุณอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ญาติมิตร และผู้ที่รักคุณอานันท์ มีสิทธิทุกประการที่จะภาคภูมิใจแทนลูกผู้ชายที่ชื่ออานันท์ ปันยารชุน คนนี้”
————————————————————-
จอมพลถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี คนที่ 10
เกิด 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454
ในวิทยานิพนธ์ บทบาททางการเมืองของผู้นำฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนในระบบรัฐสภา: ศึกษากรณี นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดย พศิน เนื่องชมภู คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วิเคราะห์ภาวะความเป็นผู้นำทางการเมืองในแบบฉบับของจอมพลถนอมเอาไว้ว่า จากประวัติเป็นผู้เรียนหนังสือเก่ง ติดยศร้อยตรีตั้งแต่อายุ 19 ปี
งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า จอมพลถนอมเป็นคนมีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงมาก เยือกเย็น สุขุม นุ่มนวล ยิ้มง่าย ได้รับฉายาจากนักหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นว่า ‘ยิ้มสยาม’
นอกจากนี้ยังเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น รวมถึงจากผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย และด้วยความเป็นทหาร จึงมีความเฉียบขาด
งานวิจัยฉบับนี้ระบุว่า นอกจากการได้รับการสนับสนุนจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นแล้ว ปัจจัยด้านความโดดเด่นในการเป็นผู้นำของจอมพลถนอมมีส่วนสำคัญในการพาตัวเองเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม จอมพลถนอมปิดฉากบทบาททางการเมืองอย่างเลวร้าย หลังครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีทั้งหมด 10 ปี 6 เดือน 29 วัน จึงถูกต่อต้านและขับไล่โดยนิสิตนักศึกษา เป็นที่มาของเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ปิดฉากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองในฐานะ ‘เผด็จการทรราช’ แทน
————————————————————-
บรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 21
เกิด 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดความทรงจำที่มีต่ออดีตนายกฯ บรรหารไว้ในหนังสือ เล่าเรื่องผู้นำ ว่า
“ว่ากันว่าถ้าใครจะไปเสนออะไรกับนายกฯ อานันท์ และนายกฯ ทักษิณ ให้เตรียมตอบคำถามว่า Why และ How
“แต่ถ้าเสนอนายกฯ บรรหาร ให้เตรียมตอบว่า Who, Where, Why, What, How, How much, How many ส่วน When ไม่ต้องบอก ท่านจะดูฤกษ์เอง
“แต่จุดเด่นของนายกฯ บรรหารคือพอเราตอบได้ ท่านจะตัดสินใจเยสหรือโนทันที ไม่ขอเวลาคิดอีกเลย เสียเท่าไหร่เท่ากัน และเมื่อรับทำงานใดจะทุ่มสุดตัว แม้ตัวเองจะเหนื่อยยากหรือเจ็บป่วยก็ยอม”
ขณะที่ อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดัง เคยเขียนความเห็นถึงนายบรรหารไว้ในเฟซบุ๊ก ‘Atukkit Sawangsuk’ ถึงอดีตนายกฯ บรรหาร โดยเห็นว่านายบรรหารถูกมองในแง่ร้ายกว่าที่ควรจะเป็น
“ในความเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ทัศนะอาจจะไม่ก้าวหน้าอะไรนัก โตมาในระบบที่ต้องประนีประนอมกับขั้วอำนาจ ต้องต่อรองผลประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ ต้องดูแลลูกพรรค พร้อมไปกับทำประโยชน์ให้ชาวบ้านที่เลือกตัวเองมา เราคงบอกไม่ได้ว่าบรรหารเป็นนักการเมืองตัวอย่าง เป็นคนดีคนซื่อแสนจะดีงาม ฯลฯ (ซึ่งแม่-ไม่มีหรอก) แต่ก็บอกได้ว่าบรรหารถูกมองในแง่ลบหรือแง่ร้ายกว่าที่ควรจะเป็น
“แม้แต่ในทางการเมือง ขณะที่ถูกตั้งฉายาปลาไหล เพราะยังไงๆ ก็ขอเป็นรัฐบาล แต่บรรหารก็มีจุดแข็งนะครับ ในความตรงไปตรงมา เชื่อถือได้ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เบี้ยว ไม่ตีรวน ไม่แทงข้างหลังใคร”
————————————————————-
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี คนที่ 16
เกิด 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463
พลเอกเปรมดำรงตำแหน่ง 3 วาระ ระหว่างพ.ศ. 2523-2531 โดยหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี และประธานองคมนตรี ตามลำดับ
พลเอกเปรมถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับเกียรติให้เป็นรัฐบุรุษของแผ่นดิน
ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี หนึ่งในผู้เคยร่วมงานกับพลเอกเปรมมาถึง 6 ปี เคยเขียนบันทึกความทรงจำและความประทับใจถึงแบบอย่างความซื่อสัตย์สุจริตของ พลเอกเปรมไว้ตอนหนึ่งว่า
“สมัยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพัทลุง หมู่บ้านพังทั้งหมู่บ้าน คนเดือดร้อนแสนสาหัส ท่านสั่งให้จัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 รวบรวมน้ำใจช่วยเหลือชาวพัทลุง นำไปสร้างบ้านผู้ประสบภัย
“สมมติเหลือเงิน เพื่อสะดวกในการอธิบายว่าเหลือ 6,666,000.60 บาท หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดโรคไข้ดำที่นครศรีธรรมราช ท่านสั่งให้ไปถอนเงินมาให้หมดเพื่อบริจาคผ่านผู้ว่าฯ ผมเขียนใบเบิก 6,666,000 บาท เหลือเศษ 60 สตางค์ เพราะเห็นว่าเล็กน้อย
“ท่านเปิดดูก็ถามทันทีว่า แล้ว 60 สตางค์ล่ะลูก
“เอาไปทำไมครับ ป๋า…
“ไม่ได้… นี่เป็นเงินบริจาค ต้องถอนให้หมด”
————————————————————-
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี คนที่ 24
เกิด 28 สิงหาคม พ.ศ. 2486
เว็บไซต์ positioningmag.com เคยนำเอาทฤษฎี SWOT เข้ามาวิเคราะห์พลเอกสุรยุทธ์ โดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีหรือจุดแข็งว่า
ภาพที่โดดเด่นของพลเอกสุรยุทธ์คือความซื่อสัตย์ เหมาะกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น
อีกทั้งผลงานสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้รับการยอมรับ เช่น การแก้ปัญหากลุ่มกะเหรี่ยงบุกยึดโรงพยาบาลจังหวัดราชบุรี ช่วยตัวประกันทั้ง 130 ชีวิตให้ปลอดภัย
อีกทั้งเป็นที่ยอมรับของสื่อมวลชนและชนชั้นนำ โดยเฉพาะนายทหารด้วยกัน เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี
ขณะที่จุดอ่อนคือความไม่เชี่ยวชาญด้านการบริหารเศรษฐกิจ และเป็นผู้นำทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
————————————————————-
สมชาย วงศ์สวัสดิ์
นายกรัฐมนตรี คนที่ 26
เกิด 31 สิงหาคม พ.ศ. 2490
นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ‘นายสมชาย’ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งที่หลายคนอาจไม่รู้ ทั้งอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ควบตำแหน่งนายกฯ) อดีตผู้พิพากษา อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน
แม้นายสมชายจะเป็นนักการเมืองที่ไม่ค่อยโดดเด่น เพราะถูกมองว่าเป็น ‘นอมินี’ ของตระกูลชินวัตร ตลอดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่ราบเรียบ ไม่เคยได้นั่งในทำเนียบรัฐบาล และหลังพ้นจากตำแหน่งก็โดนมรสุมทางการเมืองเล่นงานตามหลัง
แต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับเขียนคุณสมบัติของอดีตนายกฯ สมชาย ตรงกันว่ามีบุคลิกเป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ สมถะ รักครอบครัว และพร้อมยืนแถวหน้าเพื่อรับผิดชอบ ถ้าครอบครัวต้องเผชิญปัญหา สุภาพ เรียบร้อย ประนีประนอม และพูดน้อย
บุคลิกดังกล่าว อดีตนายกฯ สมชายจึงเหมาะสมกับการทำงานเบื้องหลังด้านการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองให้พรรค เป็นผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะในการเลือกตั้งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย และเป็นมีบทบาทสำคัญในการพา ‘คนตระกูลชินวัตร’ ฝ่ามรสุมการเมืองลูกใหญ่ในเวลานี้
อดีตนายกฯ ทั้ง 8 คน แม้จะเกิดเดือนเดียวกัน แต่ก็มีภาพจำที่แตกต่างกัน ดังนั้นสรุปได้ว่า การเป็นผู้นำที่ดีอาจไม่เกี่ยวกับเดือนเกิด เพราะสิ่งสุดท้ายที่คนจะจดจำได้คือสิ่งที่ทิ้งไว้หลังลงจากตำแหน่ง