อย่างที่ทราบกันดีว่า แม้ ‘อินเดีย’ จะเป็น ‘ประเทศประชาธิปไตย’ ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่สภาพสังคมและวัฒนธรรมในหลายพื้นที่ของประเทศนี้ยังคงให้คุณค่ากับการแบ่งชนชั้นวรรณะ เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลต่างๆในสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ’ ที่ฝังรากลึกอยู่ภายในสังคมนี้นับตั้งแต่อดีต
การเกิดขึ้นของกลุ่มตำรวจหญิงอินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญแก่สังคมที่ค่อนข้างเลือกปฏิบัติทางเพศ จนอาจทำให้ผู้หญิงอินเดีย รู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ
ตำรวจหญิงในเมืองชัยปุระ (Jaipur) รัฐราชสถาน (Rajasthan) กลุ่มนี้ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิงอินเดีย รวมถึงแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเพศภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี พวกเธอจะออกตรวจตราตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ หรือสถานที่ที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะถูกคุกคามได้ง่าย
Kamal Shekhawat หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงของเมืองชัยปุระ กล่าวว่า “ข้อความที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปคือ เราอยากให้พวกเขา (อาชญากร) รู้ว่า พวกเราจะไม่อดทนต่อการคุกคามทางเพศใดๆ ต่อผู้หญิงอินเดียทั้งสิ้น”
มีรายงานตัวเลขทางสถิติที่น่าตกใจว่า ผู้หญิงอินเดียถูกล่วงละเมิดทางเพศในแต่ละปีสูงถึง 40,000 คดี ตัวเลขจำนวนนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีเนื่องจากอาย กลัวการแก้แค้นที่อาจจะส่งผลเสียตามมา หรือแม้แต่ไม่มั่นใจกระบวนการทำงานของตำรวจผู้ชายที่อาจจะเลือกปฏิบัติ เป็นต้น จึงทำให้ผู้กระทำความผิดยังลอยนวลและยังไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย
Kamal หวังว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหญิงจะมีส่วนช่วยให้ผู้หญิงในเมืองชัยปุระ กล้าที่จะแสดงพลังและออกมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เพราะบางครั้งผู้หญิงเหล่านี้ก็ต้องการใครสักคนที่เข้าใจและรับฟังพวกเขา”
ตำรวจหญิง เพื่อนหญิง พลังหญิง
ตำรวจหญิงของเมืองชัยปุระนี้ได้รับการฝึกพิเศษอย่างหนัก ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อฝึกความแข็งแกร่งทางด้านร่างกายและจิตใจ เรียนรู้วิธีการขับขี่สกูตเตอร์ ศิลปะป้องกันตัว รวมถึงข้อกฎหมายพื้นฐานที่ควรรู้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากตำรวจกลุ่มนี้จะมีหน้าที่ในการตรวจตราและรักษาความสงบให้แก่ประชาชนชาวเมืองชัยปุระแล้ว พวกเธอยังให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงชี้แจงช่องทางการติดต่อที่สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ตลอดเวลา ผ่านการโทรศัพท์หรือแชตผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp
Saroj Chodhuary หนึ่งในเจ้าหน้าที่หญิงกล่าวว่า “ข้อมูลของคุณจะไม่ได้รับการเปิดเผย ดังนั้น คุณมีอิสระที่จะร้องเรียนหรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์กับพวกเราได้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวคุณเอง โดยการโทรศัพท์หรือส่งข้อความหาพวกเรา แล้วพวกเราจะรีบไปที่เกิดเหตุในทันที”
Radha Jhabua หญิงชาวอินเดียวัย 24 ปี ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ว่า เธอถูกเพื่อนบ้านของเธอ ลักลอบเข้ามาล่วงละเมิดทางเพศ แต่สามีของเธอไม่ให้แจ้งความ เนื่องจากว่ากลัวครอบครัวของตนเองจะเสียชื่อเสียง
“เขาบอกให้ฉันเงียบๆ ไว้ และเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ อีกเดี๋ยวผู้ชายคนนั้นก็คงจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปเอง ฉันดีใจที่พวกเราสามารถส่งข้อความผ่าน WhatsApp หาสาวๆ กลุ่มนี้ได้ ตำรวจหญิงกลุ่มนี้จะช่วยปกป้องผู้หญิงอินเดียที่เหลือได้ ”
Seema Sahu เป็นคุณแม่ลูกสอง วัย 38 ปี ที่ออกมายืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า การออกตรวจตราของตำรวจหญิง สร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยให้แก่เธอและลูกเป็นอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เธอมักจะหลีกเลี่ยงการออกเดินทางตอนกลางคืน เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากการก่ออาชญากรรมที่นับวันตัวเลขทางสถิติจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ความหวังใหม่ของสังคมอินเดีย
สังคมอินเดียเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งสำคัญ หลังจากที่ Jyoti Singh นักศึกษาแพทย์ถูกข่มขืนกระทำชำเราโดยแก๊งอันธพาลหัวรุนแรงหลายสิบคน จนเสียชีวิตในเมืองหลวงของประเทศอินเดีย เมื่อปี 2012 เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลอินเดียหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาการเกิดอาชญากรรมทางเพศมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ก่อเหตุเหล่านั้นจะได้รับโทษทางกฎหมายด้วยการประหารชีวิต เพื่อให้เป็นตัวอย่างของผู้กระทำผิด แต่อัตราการเกิดอาชญากรรมทางเพศในอินเดียไม่ได้ลดจำนวนลงเลย ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มีผู้หญิงถูกข่มขืนสูงถึง 2,199 คดีในปี 2015 โดยจะมีผู้หญิงอินเดียถูกคุกคามทางเพศ 6 คนต่อวัน
ทางการอินเดียจึงเร่งแก้ไขปัญหาด้วยโครงการนำร่อง โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หญิงให้มากขึ้น จาก 7 เปอร์เซ็นต์เป็น 33 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด ซึ่งเริ่มที่อุทัยปุระ (Udaipur) เป็นที่แรก และต่อมาที่เมืองชัยปุระ รัฐราชสถานแห่งนี้ ก่อนที่จะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นการใช้ผู้หญิง เพิ่มพลังแก่ผู้หญิงและเพื่อปกป้องผู้หญิง จากปัญหาการเกิดอาชญากรรมภายในประเทศอย่างเเท้จริง
Photo: Al Jazeera English/Youtube
อ้างอิง: