×

คนไทยว่างงานสูงสุดในรอบ 7 ปี นักวิชาการและเอกชนชี้ ‘ขาดทักษะ’ แต่ยังมีทางออก!

08.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเข้าขั้นรุนแรง เนื่องจากโครงสร้างแรงงานที่มีในระบบไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปตามแนวทางของเศรษฐกิจดิจิทัล
  • คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มว่างงานเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาไม่ได้ปรับทิศทางการพัฒนาให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มียังมีน้อย อีกสาเหตุหนึ่งคือสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

     เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาแถลงว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นและมั่นใจว่าจะขยายตัวขึ้นทั้งปี เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกเติบโตขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ตามการรายงานจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

     แต่กลับกลายเป็นว่าอัตราการว่างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 หรือประมาณ 4 แสนกว่าคน นับว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี ตามผลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

     ที่น่ากังวลก็คือประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำมาโดยตลอด แต่ตอนนี้กลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเข้าขั้น ‘รุนแรง’ ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ภาคการศึกษาปรับหลักสูตรผลิตบุคคลไม่ทันยุคสมัย ไหนรัฐบาลจะชู ‘นวัตกรรม’ เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางอีก

     ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จุดประเด็นขึ้นมาว่าแรงงานไทยหายไปจากตลาดราวๆ 1 ล้านคนภายในปีเดียว แถมแรงงานกลุ่ม STEM ซึ่งจะเป็นที่ต้องการในอนาคตกลับโตน้อยมาก

     แรงงานไทยหายไปไหน ทำไมคนไทยมีแนวโน้มตกงานเยอะขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาใดที่รอช้าไม่ได้อีกแล้ว THE STANDARD ได้แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้กับตัวแทนฝ่ายนักวิชาการและภาคเอกชนเพื่อร่วมกันเสนอทางออกของวิกฤตนี้

 

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน TDRI

 

เศรษฐกิจฟื้นตัวแต่คนยังไม่กล้าจ้างแรงงานเพิ่ม คนรุ่นใหม่เลือกงานมากขึ้น

     ปกติแล้วประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำ จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2560 สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึง 99,000 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2) ทั้งที่สัดส่วนของกำลังแรงงานในตลาดแรงงานกำลังลดลงเรื่อยๆ จาก 38.7 ล้านคนปี 2559 เหลือเพียง 37.8 ล้านคนในปัจจุบัน

     ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน TDRI กล่าวกับ THE STANDARD ว่าสาเหตุของปัญหานี้เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก นั่นคือ สภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน ทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจจะจ้างแรงงานใหม่ และตลาดแรงงานปัจจุบันไม่สอดรับกับระบบเศรษฐกิจใหม่

     “ถึงแม้รัฐบาล คสช. จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดูค่อยๆ ดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่ก็ยังไม่ถึงในระดับที่สามารถดึงแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทั้งหมด ยิ่งเศรษฐกิจไม่ค่อยดี การจ้างงานตั้งแต่ระดับ ปวส. หรือปริญญาตรีขึ้นไปก็จะหดตัวลง

     “สองคือ ปัญหาแรงงาน แม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่ออกสู่ตลาดแรงงานแล้ว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิม เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจใหม่ หลายอาชีพจึงเริ่มหวั่นไหว ที่เห็นได้ชัดก็คือ แวดวงสื่อมวลชนซึ่งมีรายได้จากโฆษณา พอเศรษฐกิจไม่ดีก็หดหาย ไม่เพียงพอกับรายจ่าย บางบริษัทต้องลดต้นทุนโดยไม่รับแรงงานใหม่ หรือมีโครงการเกษียณก่อนกำหนด เป็นต้น ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม

     “ปัจจัยรองคือ อุปสงค์ (demand) กับอุปทาน (supply) ไม่ตรงกัน ส่วนหนึ่งเพราะคุณภาพของแรงงานเดิมไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขณะที่คนรุ่นใหม่เลือกงานมากขึ้น เลือกอาชีพอิสระที่พอหารายได้ได้มากกว่าลงหลักปักฐานกับการทำงานถาวร เป็นแรงงานที่มีความคล่องตัวในการเข้าออกตลาด ซึ่งจริงๆ ก็มีหลายปัจจัยด้วยกันที่ทำให้การจ้างงานถาวรมีแนวโน้มไม่เติบโตเท่าที่ควร

     “ทีนี้พอฝั่งอุปสงค์ไม่ทำงาน เราก็ต้องกลับมาดูฝั่งอุปทาน คือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เดิมภาคเอกชนไม่สนใจลงทุนด้านนี้เท่าไร เพราะเขาใช้แรงงานเท่าที่จำเป็น ภาครัฐก็ต้องลงทุนสนับสนุนให้แรงงานมีช่องทางการทำงาน จัดเทรนนิงเพิ่มทักษะหรือสมรรถนะที่หลากหลายมากขึ้น หรือเรียกว่า ‘พหุทักษะ’ พวกเขาก็จะมีโอกาสเลือกทำงานได้หลากหลาย เราเรียกส่วนนี้ว่านโยบายฝั่งอุปทาน”

     ในมุมมองของภาคเอกชน นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีคนตกงานน้อยมากที่สุดในโลกก็จริง แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง และควรพิจารณาถึงสาเหตุของการว่างงานของคนแต่ละกลุ่มด้วย

     “จริงๆ แล้วเรามีแรงงานที่เป็นลักษณะของรอฤดูกาล เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรม วิธีการคิดคำนวณอัตราการว่างงานในไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ทำให้บางทีตัวเลขอาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริง คนตกงานหรือว่างงาน 4 แสนกว่าคนในปีนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ยังไม่เคยทำงาน กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน สาเหตุของการตกงานมันต่างกันนะคะ เช่น ทำธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง บริษัทอาจปิดตัว ปิดแผนก หรือว่าเลิกจ้างพนักงานบางส่วน คนกลุ่มนี้อาจจะเรียนมาไม่ตรงสาย อีกส่วนหนึ่งเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้ทั้งนักศึกษาจบใหม่และคนวัยทำงานเจนวายเลือกประกอบอาชีพอิสระกันมากขึ้น เช่น เปิดร้านอาหาร ขายเสื้อผ้าออนไลน์ ทำสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี นอกจากนี้แล้ว ปัญหาใหญ่เลยก็คือเรื่องการผลิตบัณฑิตมาไม่ตรงกับงาน”

 

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด

 

แรงงานไทยยังไม่ขาด ‘กำลังคน’ แต่กำลังขาด ‘ทักษะ’

     เช่นเดียวกับหลายๆ อุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวตามระบบเศรษกิจดิจิทัลเมื่อประเทศเปลี่ยนมาสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ตามแนวโน้มโลก ทุกอุตสาหกรรมเองก็ต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษาที่ต้องป้อนคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานทุกปี ดร. ยงยุทธได้เขียนชี้แจงในบทความวิเคราะห์ ตัวเลขว่างงานกับอนาคตอาชีพคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ว่า ปัจจุบันแรงงานกลุ่ม STEM (สายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์และสถิติ) มีอัตราการเติบโตค่อนข้างช้า ทำให้ไทยอาจเสี่ยงขาดแคลนแรงงานพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

     ดร. ยงยุทธอธิบายว่า “ลักษณะของแรงงานรุ่นใหม่ที่จะตอบสนองนโยบาย 4.0 ได้ จะเป็นกลุ่ม STEM หรือสายเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่แรงงานในระบบเก่ามันไม่ตอบโจทย์แล้ว เราก็ต้องฝึกอบรมใหม่ เช่น มีสถาบันเทรนนิงเฉพาะกิจระดับสูงที่นำแรงงานที่ตกระบบ ว่างงาน หรือคนที่กำลังจะเรียนจบมาฝึกฝนให้เป็นแรงงานที่แข่งขันได้ (competitive workforce) หรือเพิ่มประสิทธิภาพงานที่ทำได้ (productive workforce) แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโดยใช้นวัตกรรมมากขึ้น (innovative workforce)”

     “ส่วนกลุ่มที่จะเข้ามาเป็นแรงงานในอนาคต เราควรจะมีวิธีเข้าไปปรับ talents ของคนที่กำลังเรียนอยู่ให้ตรงกับตลาดด้วย แต่เอกชนกับภาครัฐต้องเป็นพาร์ตเนอร์กันโดยมีข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจน เพราะการเทรนนิงคนให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้วไม่มีตลาดรองรับ ก็เป็นภาวะที่เราต้องระวัง มันจะมีปัญหาถ้าหากเราไม่มีตลาดที่แน่นอน แล้วโครงสร้างเศรษกิจดิจิทัล หรือไทยแลนด์ 4.0 ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ หรือบริการอัจฉริยะ ไม่ได้เปิดรับแรงงานที่เราเทรนไว้อย่างดี

     “เราต้องเร่งปรับโครงสร้างการเตรียมคนให้เป็นกำลังแรงงานที่มีทักษะความสามารถพิเศษสูง (high talent market) และแข่งขันได้ นั่นหมายความว่าเขาต้องมีแรงจูงใจที่ดีกว่าสิ่งที่ทำอยู่ ก็ต้องจ่ายเขาสูงและมีอนาคตที่แน่นอน”

นักศึกษาจบใหม่ควรจะศึกษาว่าตลาดต้องการอะไร และดูว่าตัวเองชอบหรือเปล่า

โจทย์สำหรับคนรุ่นใหม่ ต้องวางแผนระยะยาว

     ขณะที่ นพวรรณ จุลกนิษฐ มองว่าปัจจุบันนักศึกษาจบใหม่ยังคงว่างงานส่วนหนึ่ง เพราะต้องการรายได้สูงเกินประสบการณ์ ขาดทัศนคติเชิงบวก และขาดการวางแผน ทางที่ดีควรมองหาแนวทางอาชีพที่มีตลาดรองรับ และตรงกับความชอบของตัวเองด้วย ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนมากขึ้น

     “ในแง่ของนักศึกษาจบใหม่ควรจะศึกษาว่าตลาดต้องการอะไร และดูว่าตัวเองชอบหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเราไม่มีแพสชันที่เพียงพอ ก็อาจจะทำอาชีพนั้นได้ไม่ดี ส่วนคนที่เรียนจบมาแล้ว อาจจะต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติม

     “ภาคเอกชนเองได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตบุคลากรเฉพาะทาง ยกตัวอย่างเช่น ปตท. สร้างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ขึ้นมาเพื่อมุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพราะเขามีปัญหาเวลาหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ส่วนสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ก็มาจากบริษัท CP ที่ตั้งใจจะผลิตบุคลากรด้านการจัดการธุรกิจค้าปลีกเป็นหลัก บริษัท SCG มีโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ซึ่งมุ่งเน้นการสอนเกี่ยวกับการขนส่งเดินทางและโลจิสติกส์

     “นอกจากนี้แรงงานที่หายไปอีกส่วนยังเป็นเรื่องของภาคอาชีวศึกษา ซึ่งเขามีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับอุดมศึกษา เพราะได้ทดลองฝึกงานหรือลงไปทำงานจริงๆ ภาคเอกชนเองก็ควรเปิดโอกาสให้คนที่ยังศึกษาอยู่ได้เข้าไปเรียนรู้ตั้งแต่แรกๆ”

ที่ผ่านมาเราใช้แรงงานต่างด้าวในราคาถูกจนไม่ได้ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมหรือบริการของเรามาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว

4.0 เกิดยาก ถ้าไม่ปรับโครงสร้างแรงงานทั้งหมด

     เมื่อถามว่าแรงงานของไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายยังมองว่ายังต้องเตรียมตัวอีกเยอะ

     นพวรรณ จุลกนิษฐ กล่าวว่าตัวแรงงานเองยังไม่พร้อมค่อนข้างเยอะมากเพราะว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ด้วย แต่ในความเป็นจริงเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริม ทำให้ความสามารถการผลิตให้มีนวัตกรรมอยู่แล้ว และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแต่ละอาชีพ แต่ฝั่งพนักงานเองก็อาจจะยังไม่มีทักษะที่เพียงพอ บริษัทเอกชนควรจะตระหนักถึงเรื่องนี้และสร้างความเข้าใจในองค์กร”

     ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ มองว่าอุปสรรคสำคัญคือ ภาคอุตสาหกรรมและบริการมุ่งใช้แต่แรงงานราคาถูกมากไป ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน และจะน่ากังวลกว่านั้นมาก เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

     “ผมเห็นด้วยกับนโยบายนี้ตรงที่ว่าของเก่าเราทิ้งมานานมากนะครับ แต่ว่าเห็นด้วยแบบเป็นห่วงมากกว่า ที่ผ่านมาเราใช้แรงงานต่างด้าวในราคาถูกจนไม่ได้ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมหรือบริการของเรามาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เราสูญเสียโอกาสไปอย่างมหาศาลเลย แล้วพอถึงจุดๆ หนึ่งมันสร้างรายได้ไม่ได้ สังเกตไหมว่าเราขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้นายจ้างไม่หลงเหลืออำนาจในการจ่ายแล้ว ส่งออกก็ไม่ค่อยจะได้ ถึงจะมีกำไรมาบ้างก็ตาม ที่สำคัญอุตสาหกรรมทั้งหลายของเรามีต่างชาติเป็นเจ้าของเป็นส่วนใหญ่ โอกาสที่เราจะขึ้นค่าจ้างก็เลยยากลำบากไปด้วย

     “ทีนี้เครื่องมือที่จะทำให้เราจ่ายค่าจ้างสูงได้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ แต่กว่าจะได้ก็ได้เฉพาะบางกลุ่มบางพวก ก็ไม่เป็นไร ก็ต้องมี leading sector หรือฐานนำ ที่จะทำให้เราก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ ดังนั้นการติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางประเทศมันไปไหนไม่ได้ แล้วของก็ขึ้นราคาทุกวัน รายได้ก็มีไม่พอจะกิน มันก็จะเดือดร้อนทั่วไป

     “ถ้าเราจะดึงผู้สูงอายุกลับมาทำงาน เขาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเก่าไม่ได้ เพราะทักษะมันเปลี่ยนไปแล้ว ก็ต้องไปทำงานอย่างอื่นแทน ในต่างประเทศเองเขาจะให้ผู้สูงอายุทำงานที่มีลักษณะยืดหยุ่น ลดจำนวนชั่วโมง ไม่ได้ทำงานประจำ แต่เราจะต้องเปิดโอกาสให้เขาทำงานกว้างขวางในหลายๆ อาชีพ หรือเปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นบริการ มันถึงจะไปต่อได้”

 

     ข้อมูลบางส่วนจากงานแถลงข่าว ‘Shaping the Future of HR4.0+’

 

อ้างอิง:

     – www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/PressThai_April2560_PINK369.pdf

     – tdri.or.th/tdri-insight/unemployment-rate-in-digital-economy-era/

     – service.nso.go.th

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising