×

“ภาครัฐต้องเก็บภาษีออนไลน์จากเฟซบุ๊กและกูเกิล” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ วิเคราะห์ Social Commerce ก่อนก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • โซเชียลคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกิจซื้อขายบนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม คือภาคอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเงินสะพัดมหาศาล และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างมากในอนาคต
  • จากการที่ภาคธุรกิจต่างๆ หันมาทำสื่อโฆษณาบนโลกออนไลน์ผ่านบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล และช่องทางอื่นๆ มากขึ้น ทำให้เงินเหล่านั้นไหลออกสู่ต่างประเทศอย่างมหาศาล เป็นผลที่ทำให้ภาครัฐผุดนโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์
  • ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ มองว่านโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์มีทั้งสิ่งที่เข้าท่าคือ การเริ่มจัดเก็บภาษีกับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิลเพื่อไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ และสิ่งที่ไม่เข้าท่าคือ ความกังวลว่านโยบายดังกล่าวอาจจะกลายเป็นการเหมารวมดำเนินการกับ SMEs รายย่อยในท้องตลาด แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแน่นอน
  • ในอนาคต การเก็บข้อมูลและบิ๊กดาต้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจทุกๆ ชนิด เพราะการนำข้อมูลมาต่อยอดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาธุรกิจที่ทำจะสร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      เมื่อเทคโนโลยีกำลังแทรกซึมเข้ามามีส่วนร่วมในทุกช่องทางการใช้ชีวิตของมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยคือ พฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ทั้งฝั่งผู้บริโภคเองที่เริ่มหันมาช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ฟากฝั่งผู้ผลิตทั้งหน้าเก่าหรือเหล่า SMEs รายใหม่ก็เริ่มจับตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหลักไม่แพ้กัน

      ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com คือหนึ่งในบุคคลที่ตอกย้ำชุดความเชื่อดังกล่าวให้กับเรา หลังเจ้าตัวสรุปตัวเลขเงินสะพัดวงการอีคอมเมิร์ซไทย หมวดการค้าปลีกและค้าส่งตลอดปี พ.ศ. 2559 ว่ามีมูลค่าสูงถึงกว่า 7 แสนล้านบาท!

      ในวันที่อุตสาหกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของประเทศไทยกำลังผลิดอกออกผลงอกเงย เราชวนภาวุธมาร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์อีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ตลอดจนอุปสรรค โอกาส และความน่าจะเป็นในอนาคต ก่อนผลัดใบเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 แบบเต็มตัว

 

 

คุณมองภาพรวมตลาดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

      สำหรับปัจจุบัน ผมจะแบ่งรูปแบบของธุรกิจการซื้อขายสินค้าออนไลน์ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ พวกที่ขายของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันส่วนตัว กลุ่มที่สองคือ พวกที่ขายของแบบ market place เช่น Lazada, TARAD.com และกลุ่มสุดท้ายคือ โซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่มีเงินสะพัดสูงกว่า 2.7 แสนล้านบาทจากมูลค่าอีคอมเมิร์ซการค้าปลีกและค้าส่งที่กว่า 7 แสนล้านบาท

      ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีการเก็บข้อมูลสถิติพวกนี้มาก่อน เลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยโตขึ้นมากถึงขนาดนี้ แม้แต่ฝั่งรัฐบาลเองก็ยังตกใจกับตัวเลขดังกล่าว และในปีนี้เราจะทำการสำรวจข้อมูลผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซเป็นหลัก เพราะผมมองว่าไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมกับรูปแบบการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ

 

โซเชียลคอมเมิร์ซในที่นี้หมายถึงการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ?

      ใช่ครับ โซเชียลคอมเมิร์ซหมายถึงอะไรก็ตามที่เป็นการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียคือ การซื้อขายผ่านการสนทนา หรือที่บางคนเรียกว่า Conversation Commerce อย่างเมื่อก่อนผมรู้สึกว่าการซื้อขายออนไลน์จะต้องเป็นรูปแบบการใช้ช้อปปิ้งการ์ดเป็นหลัก เพราะรู้สึกคุ้นเคยและสะดวก (สั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ด้วยการทำธุรกรรมผ่านการผูกบัตรเครดิตหรือเดบิต)

      แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ไปจัดหลักสูตรสอนทำธุรกิจออนไลน์กับมหาวิทยาลัยศรีปทุม แล้วพบว่าเจ้าของธุรกิจออนไลน์และบุคคลระดับผู้บริหารที่มาเรียนกับผมส่วนใหญ่ไม่ถนัดซื้อของออนไลน์ในรูปแบบช้อปปิ้งการ์ด เกิดปัญหาตั้งแต่ลงทะเบียน สร้างบัญชีไม่ถูก ผูกกับบัตรเครดิตไม่เป็น ผมพบว่าการซื้อขายรูปแบบนี้อาจไม่เหมาะกับคนไทยเจนเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer – เกิดในช่วง พ.ศ. 2489-2507) และเจนเอ็กซ์ (X – เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522) ซึ่งส่วนใหญ่รู้สึกว่าการซื้อของผ่านโซเชียลมีเดียง่ายกว่าเยอะ แชตไม่นาน โอนเงิน แล้วทุกอย่างก็จบ พอมานั่งคิดอีกทีก็รู้สึกว่าโซเชียลคอมเมิร์ซมันง่ายและมีความยืดหยุ่นกว่าจริงๆ เพราะสามารถต่อรองราคาและขอดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างมหาศาล เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซไทยจึงเริ่มย้ายมาที่โซเชียลคอมเมิร์ซกันมากขึ้น แต่ระบบการซื้อขายแบบช้อปปิ้งการ์ดบนเว็บไซต์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่

 

โซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีแนวโน้มจะโตขึ้นได้อีกมากน้อยแค่ไหน
      โตแน่นอนครับ เพราะอย่างที่บอกว่าการซื้อขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียมันทำกันได้ง่ายมาก แต่ก็ยังไม่ครบวงจร ผมว่ามันคืออีคอมเมิร์ซยอดนิยมในแบบไทยๆ ซึ่งนอกจากประเทศไทย เราอาจจะเห็นพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์รูปแบบนี้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์อยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งมันก็คงจะยังไม่พลิกแพลงถึงขั้นกลายเป็นรูปแบบอีคอมเมิร์ซยอดนิยมในระดับอาเซียน แต่ผมยังมองว่าโซเชียลคอมเมิร์ซก็มีทิศทางโตขึ้นได้อย่างแน่นอน

      ปัจจุบันเวลาที่หลายๆ คนลาออกจากงานประจำ เขาก็จะเลือกหันไปทำแบรนด์ขายของในโซเชียลกันเป็นส่วนใหญ่ มันเป็นช่องทางหลักในการประกอบอาชีพของใครหลายคน ยิ่งทุกวันนี้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมเองก็มีฟีเจอร์อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจค้าขายมากขึ้น มีเครื่องมือช่วยลงโฆษณา หรือตัวช่วยในการเจาะกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ยังไม่นับธุรกิจจำพวกเอเจนต์ที่รับหน้าที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าให้แบรนด์ SMEs หน้าใหม่เป็นจำนวนมาก

      แม้แต่ระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซก็อุดมสมบูรณ์ขึ้น ทั้งแอปพลิเคชันช่วยทำธุรกรรมที่มีให้เลือกใช้มากมาย มีผู้ให้บริการคลังสินค้าแบบครบวงจร (warehouse, fulfillment services) ที่แบรนด์ต่างๆ มีหน้าที่แค่นำสินค้าไปฝากกับผู้ให้บริการ ขั้นตอนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเขา ทุกวันนี้มีโมเดลธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนการค้าออนไลน์เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทย ยกตัวอย่าง เพื่อนผมเขาเปิดร้านขายหนังสือบนเว็บไซต์แล้วไม่มีลูกค้ามาซื้อเลย แต่กลับกัน เขาบอกผมว่าสามารถขายหนังสือบนเฟซบุ๊กได้ทุกวัน สำหรับบางประเทศ โซเชียลมีเดียจึงทำหน้าที่เป็นอีคอมเมิร์ซไปในตัวได้แล้ว

 


ในเมื่อโซเชียลคอมเมิร์ซเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น รูปแบบการค้าขายบนระบบเว็บไซต์ยังคงมีความจำเป็นอยู่ไหม
      ยังจำเป็นอยู่ครับ เพราะเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียจะเริ่มเติมเต็มให้กันและกัน จุดอ่อนของการทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียคือความไหล (มีข้อมูลมากมายบนหน้านิวส์ฟีด) หรือในแง่การโน้มน้าวคนด้วยภาพภาพเดียวบนอินสตาแกรมก็เป็นเรื่องยาก โซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางที่เหมาะกับสินค้าบางประเภทที่พอจะมีฐานคนรู้จักอยู่แล้ว ผมไม่ได้บอกว่าสินค้าทุกชนิดจะเหมาะกับการนำมาขายบนโลกโซเชียลฯ มันมีเรื่องของประเภทสินค้าและกลุ่มเป้าหมายมาเป็นตัวแปรด้วย ไม่ใช่ว่าจะทำแบรนด์ขายของก็ต้องเป็นโซเชียลมีเดียอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ถ้าคุณจะขายสินค้าจำพวกเครื่องจักร รถไถ เครื่องยนต์ ก็ต้องคิดดูให้ดีว่าการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อขายสินค้าเหล่านั้นมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน
      นอกจากนี้โลกโซเชียลฯ ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงอีกมากมาย วันหนึ่งใครจะไปรู้ว่าเฟซบุ๊กอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับ Hi5 หรืออยู่ๆ อินสตาแกรมอาจจะปิดตัวลง พวกนี้มันมีวัฏจักรของมันอยู่ เป็นช่องทางที่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือฐานข้อมูลลูกค้าของเราอยู่ในช่องทางเหล่านั้นแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการที่แบรนด์หรือร้านค้ามีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเพื่อเป็นฐานการเก็บข้อมูล แล้วสร้างการเชื่อมโยงเพื่อดึงคนจากโซเชียลฯ เข้ามายังเว็บไซต์ นอกจากนี้คนทำธุรกิจในยุคนี้ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการช่องทางด้วย เขาต้องแยกให้ออกว่าเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเป็นคนละช่องทางกัน ผู้บริหารต้องไม่มองแค่ว่าตัวเองจะขายของบนเว็บไซต์อย่างเดียว แต่ต้องรู้จักวิธีการบริหารช่องทางต่างๆ ที่มีให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อเห็นว่าช่องทางไหนดูจะมีประสิทธิภาพมากก็เทงบประมาณไปที่ช่องทางนั้น

 

พูดถึงนโยบายในการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์จากภาครัฐบ้าง แนวคิดดังกล่าวมีที่มาอย่างไร

      ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มที่รัฐจะดำเนินการเก็บภาษีออนไลน์มานานมากแล้วครับ แต่ในระยะหลังๆ ต้องบอกว่าการค้าออนไลน์มันบูมจริงๆ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะไทยแลนด์ 4.0 ส่วนอีกสาเหตุคือการที่ผู้ประกอบการและแบรนด์สินค้าจำนวนไม่น้อยทำเงินจากการขายของออนไลน์ได้หลัก 100-200 ล้านบาท เมื่อกรมสรรพากรเห็นว่าเป็นเช่นนั้น เขาก็เริ่มเพ่งเล็งและให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้อยู่ในระบบที่ถูกต้อง (มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่มีการจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)

      นอกจากนี้แนวโน้มของการลงโฆษณาในธุรกิจสื่อก็เริ่มย้ายจากสื่อเก่าอย่างสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ มาอยู่บนสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในอดีตเม็ดเงินการลงโฆษณาในสื่อเก่ายังคงหมุนเวียนอยู่ในประเทศของเรา แต่การซื้อโฆษณาบนสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน เงินจะไปตกกับบริษัทโซเชียลมีเดียในต่างประเทศกันหมด รูดบัตรเครดิตเร่งสปอนเซอร์เพจ เงินก็ไปอยู่กับเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะลงโฆษณาในอินสตาแกรม, ไลน์, ยูทูบ หรือกูเกิล เงินก็ไม่เข้าไทยสักบาท

      เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการเปิดเผย ‘มูลค่าการลงโฆษณาจากสื่อไทย’ จากการเก็บข้อมูลของเอเจนซีในประเทศไทยมากกว่า 24 แห่ง โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) พบว่าในปีหนึ่งๆ การลงโฆษณาจากสื่อไทยจะมีมูลค่าตกอยู่ที่ประมาณปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าในไทยต้องมีเอเจนซีมากกว่า 24 แห่งอยู่แล้ว และเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวก็ยังไม่นับรวมกับเงินที่บริษัทลงโฆษณาผ่านบริษัทต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ผมเลยประเมินด้วยตัวเองว่าไทยน่าจะมีตัวเลขการลงโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้ได้รั่วไหลออกไปสู่บริษัทต่างประเทศผ่านบัตรเครดิต นี่ยังไม่ได้นับรวมกับยอดดาวน์โหลดแอปฯ หรือการซื้อเพลงและเกมผ่านสโตร์ต่างๆ ซึ่งไม่เคยมีการเก็บภาษีกับบริษัทพวกนี้มาก่อน เพราะถือว่าเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่

      ภาครัฐจึงเกิดความคิดในการเริ่มดำเนินแนวนโยบายการเก็บภาษีออนไลน์ โดยต้องการให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและบริษัทอื่นๆ เข้ามามีตัวตนในประเทศไทยเพื่อไม่ให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว เช่น ที่ประเทศอังกฤษเริ่มมีการประเมินภาษีย้อนหลังเฟซบุ๊กประมาณ 40-400 ล้านเหรียญสหรัฐ และทางเฟซบุ๊กก็ต้องจ่าย ไม่เช่นนั้นก็จะถูกเตะออกจากประเทศเขา ตอนนี้รัฐบาลไทยก็เริ่มจะดำเนินนโยบายที่ว่าแล้ว และผมก็มองว่ามันแฟร์กับประเทศของเรา ไม่ใช่ว่าจะมาหวังดูดอย่างเดียว แล้วตอนนี้ภาคธุรกิจในไทยเองก็กำลังเทไปทางออนไลน์กันหมด ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ก็อยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่แค่ไม่กี่บริษัทคือกูเกิลและเฟซบุ๊ก และเขาเองก็มีความพยายามพัฒนาบริการออกมากินเวลาของคนให้มากที่สุดเช่นกัน เฟซบุ๊กเองซื้อทั้งอินสตาแกรมและ WhatsApp ส่วนกูเกิลก็มีทั้งยูทูบและจีเมล กลายเป็นว่าทีวีและทุกอย่างกำลังจะตาย แต่เงินกำลังไหลออกนอกประเทศไปเรื่อยๆ

      เช่นเดียวกันกับอีคอมเมิร์ซบางรายที่โตขึ้นมหาศาล รัฐจึงมีความคิดออกมาตรการจัดเก็บภาษี ซึ่งก็มีทั้งสิ่งที่เข้าท่าคือ การจัดการกับภาคธุรกิจรายใหญ่ที่มียอดขายและรายได้มากมายให้เข้ามาอยู่ในระบบ และส่วนที่ไม่เข้าท่าคือ การลงมาจัดการกับภาค SMEs ขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่สิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับคือนโยบายเชิงส่งเสริมมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ บางคนที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ก็รู้สึกเกรงกลัวสรรพากร กลายเป็นว่าแทนที่จะเกิดนโยบายในเชิงบวกก็กลับกลายเป็นนโยบายที่ฉุดคนให้รู้สึกเกรงกลัวมากกว่า

 

หากนโยบายนี้เกิดขึ้นจริง มันอาจจะเป็นการ disrupt SMEs รายเล็กจำนวนมาก แล้วทางออกเรื่องนี้คืออะไร เราจะหาข้อตกลงร่วมกันได้อย่างไร

      ใช่ หลายๆ คนที่เริ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ทำธุรกิจก็เพราะว่ามันมีข้อจำกัดน้อยและทำให้เขาเติบโตได้เร็วกว่า บางเจ้าสามารถทำยอดขายได้กว่า 10-20 ล้านบาทในช่วงระยะเวลาอันสั้น พอมีนโยบายเหล่านี้มาควบคุมก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนที่อยากทำธุรกิจออนไลน์เริ่มรู้สึกลังเล แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็ต้องเข้าใจปัญหาเงินรั่วไหลออกนอกประเทศที่รัฐบาลเผชิญเช่นกัน ฉะนั้นคนที่ทำธุรกิจการค้าออนไลน์แล้วมีรายได้เยอะๆ ก็ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าตัวเองจะต้องจ่ายภาษี ไม่ใช่จะเอาแต่ได้ ซึ่งไม่แฟร์กับคนทำธุรกิจเจ้าอื่นๆ

      สมมติว่าผมนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องสำอางเข้ามาขายอย่างถูกกฎหมาย เสียภาษีทุกอย่างถูกต้อง ผมจึงต้องขายสินค้าในราคา 100 บาท ขณะที่อีกเจ้าที่ทำธุรกิจออนไลน์ด้วยการลักลอบนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกัน ทำให้เขาไม่ต้องเสียภาษี และตั้งราคาขายสินค้าในราคาแค่ 70 บาทได้ แน่นอนว่าคนก็ต้องเลือกซื้อของที่มีราคาถูกกว่าอยู่แล้ว ซึ่งไม่แฟร์กับคนที่ทำถูกกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงไม่มีใครอยากเข้าระบบ แต่ถ้ามองกลับกัน เมื่อทุกคนอยู่นอกระบบกันหมดแล้วประเทศจะได้ประโยชน์อะไรล่ะ ในเมื่อเงินไม่เข้าประเทศสักบาท

      ผมว่าเราอยู่ในโครงสร้างที่บิดเบือนกันมานาน ในความเป็นจริง นโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์ควรจะมีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เราคุ้นเคยกับการไม่เสียภาษีมาโดยตลอด ถ้ามองเรื่องความถูกต้อง นโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็อยากให้ปรับมุมมองกันใหม่ ไม่ใช่ไปสนับสนุนการซื้อของหนีภาษี ซึ่งเป็นการสนับสนุนคนทำผิดกฎหมายอยู่ เช่นเดียวกัน ภาครัฐเองก็ควรมีการอะลุ่มอล่วยกับ SMEs ขนาดเล็ก หรือดำเนินนโยบายในเชิงบวกออกมาเพื่อเป็นการส่งเสริมเขา

 

 

อะไรคือสิ่งที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจออนไลน์ควรจะทำที่สุดในตอนนี้

      การนำตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบการค้าที่มีการจัดการบัญชีที่ถูกต้อง ข้อดีคือคุณจะสามารถบริหารธุรกิจได้อย่างชัดเจน บางคนทำธุรกิจมา 3-4 เดือน แต่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีต้นทุน กำไร และขาดทุนเท่าไร เพราะเน้นการซื้อมาขายไป แต่พอมีการวางระบบบัญชีที่ดีและการวางแผนภาษี คุณก็จะเริ่มรู้ว่ากำไรคือเท่าไร ธุรกิจบางตัว สินค้าตัวไหนดีไม่ดีอย่างไร มันจะทำให้เราบริหารได้ดีมากขึ้น

 

ภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดของเขาด้วยหรือเปล่า ไม่เช่นนั้น ระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซไทยก็จะไม่โต

      ผมว่าช่วงนี้รัฐบาลเปลี่ยนไปเยอะเลยนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ เดิมทีข้อมูลทุกอย่างจะต้องเป็นเอกสารหมดเลย แต่ล่าสุดเมื่อ 18 เมษายนที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็เริ่มเปิดให้จดทะเบียนบริษัทออนไลน์ได้หมดแล้ว หรือเดิมถ้าจะขอคัดลอกเอกสารก็ต้องเดินทางไปสำนักงานธุรกิจของรัฐ ปัจจุบันก็ทำเรื่องที่ธนาคารได้เลย ทุกวันนี้ผมก็ใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายภาษีรายปี นี่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐก็เปลี่ยนตัวเองเยอะมาก ฉะนั้นผมรู้สึกว่าคุณก็ต้องแฟร์กับรัฐด้วยเหมือนกัน เราก็ต้องมองมุมดีๆ ของเขาด้วย

 

การจัดเก็บภาษีกับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิลจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเราไหม เราจะใช้งานซอฟต์แวร์และโซเชียลมีเดียเหล่านั้นได้ยากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า

      ไม่ยากขึ้นกว่าเดิมหรอก เพียงแต่มันคือหน้าที่ของผู้ให้บริการเหล่านั้นที่จะต้องปรับตัวเอง ในความเป็นจริง การซื้อแอปฯ ในบางประเทศก็จะมีการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคอาจจะไม่รู้สึกตัว เพราะมันเป็นการหักภาษีข้างหลังระบบไม่ให้ผู้ซื้อเห็น แต่ในอนาคตหากกรมสรรพากรดำเนินจัดเก็บภาษีออนไลน์ขึ้นมาจริงๆ ผู้บริโภคอย่างเราอาจจะต้องรับภาระในการจ่ายเงินซื้อแอปฯ บ้างในบางส่วน หรืออาจจะไม่ต้องจ่ายแพงขึ้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละราย

      โอเค ยังไงเงินมันก็ยังไหลออกนอกประเทศอยู่ดีนั่นแหละ แต่จากเดิมที่มันอาจจะไหลออกไปอย่างเดียว ต่อไปเราก็จะได้เห็นว่ามีเงินกลับเข้ามาในประเทศเท่าไรบ้าง ทุกวันนี้เราไม่เคยรู้ยอดตัวเลขเงินที่ไหลออกไป คนที่รู้ก็มีแค่วีซ่า (Visa) มาสเตอร์การ์ด (Master Card) และเพย์พาล (PayPal) ถ้าเราสามารถดึงข้อมูลจากผู้ให้บริการเหล่านี้ เราก็จะรู้ยอดตัวเลขดังกล่าว ผมเองพยายามโน้มน้าวฝั่งแบงก์ชาติเพื่อขอข้อมูลเหล่านั้น เพราะถึงยังไงมันก็เป็นการทำธุรกรรมภายในประเทศของเรา ถ้าเรามีข้อมูลชุดนี้แล้วรู้ว่าเงินไหลออกนอกประเทศปีละเท่าไร เราก็จะสามารถวางนโยบายที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีได้ แต่บริษัทพวกนั้นเขาก็กังวลในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าเหมือนกัน เขากังวลเรื่องการเรียกเก็บภาษี

 

 

เมื่อการจัดเก็บภาษีออนไลน์ถูกบังคับใช้จริง สถานการณ์ของการค้าออนไลน์จะเปลี่ยนไปเช่นไร

      มันก็ยังจะโตฉิบหายวายป่วงเหมือนเดิมนั่นแหละ เพราะมันคือเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ทุกวันนี้บริการออนไลน์ใหม่ๆ เริ่มแทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตเราเรื่อยๆ เอาง่ายๆ ทุกวันนี้จะเดินทางไปที่ไหนสักแห่งก็ต้องจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พักผ่านเว็บไซต์ ซึ่งถ้าไม่มีเว็บไซต์หรือระบบจองออนไลน์ ผมก็นึกไม่ออกนะว่ามันจะเป็นอย่างไร จะให้เดินทางไปจองผ่านเอเจนต์มันก็ไม่ใช่แล้ว หรือในด้านบริการ ล่าสุดน้องสาวผมอยากกินก๋วยจั๊บเยาวราช กดสั่งไลน์แมนปุ๊บ เขาก็ห่อมาส่งให้ถึงที่ แม้ว่าค่าส่งจะแพงกว่าค่าอาหาร คนเขาก็ยอมจ่ายกัน

      ในอนาคต เทรนด์ธุรกิจออนไลน์จะโตขึ้นและฉลาดกว่าเดิม มีบิ๊กดาต้าที่คอยคำนวณข้อมูลต่างๆ ได้อัตโนมัติ เช่น สมาร์ตวอชตรวจจับว่าชีพจรของเราเต้นต่ำ มันก็แจ้งว่าร่างกายกำลังขาดน้ำตาลและเสนอให้สั่งซื้อน้ำตาล เราไม่ต้องมานั่งดูแลตัวเองแล้ว เพราะต่อไปบิ๊กดาต้าจะมาวิเคราะห์ให้ เทคโนโลยีจะเข้ามาอยู่ในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนแกะไม่ออก เราอยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีกำลังพลิกตัวอย่างรุนแรง และจะแรงจนถึงขีดสุดเมื่อมันสามารถวิวัฒนาการตัวเองได้ หรือที่เราเรียกว่า AI เมื่อก่อนมนุษย์อาจจะเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่ AI เก่งจนพัฒนาตัวเองได้ มันก็จะเกิดการพัฒนาแบบไม่รู้จบ ทุกวันนี้ธุรกิจประกันและคอลล์เซ็นเตอร์ก็เริ่มจะทยอยเอาคนออกแล้ว เพราะใช้ AI ทำงานแทน แต่ลองคิดดูสิว่าถ้าต่อไป AI สามารถต่อยอดความรู้และคิดเองได้เหมือนหุ่นอัลตรอนในภาพยนตร์ Iron Man อะไรจะเกิดขึ้น เรื่องพวกนี้มันน่าจะเกิดได้ภายใน 10 ปี ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น ผมยังเดาไม่ออกว่าโลกและมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร

 

สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจะล้มหายตายจากได้?

      เป็นไปได้ ผมเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจการค้ามันจะอยู่ในมือยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า และทุกอย่างจะกลายเป็นระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงกันหมด เช่น ผลิตด้วยสายพานการผลิตแบบอัตโนมัติ มีรถบรรทุกไร้คนขับมารอรับสินค้าแล้ววิ่งไปส่งที่คลังสินค้าที่มีระบบการจัดการอัตโนมัติ เดี๋ยวนี้คลังสินค้าหลายๆ ที่เริ่มมีหุ่นยนต์วิ่งทำงานกันเต็มไปหมดแล้ว ไปจนถึงการใช้โดรนในขั้นตอนการกระจายสินค้า มนุษย์อย่างเรามีหน้าที่แค่นอนรอรับของ

 

แล้วธุรกิจที่อยากจะลงทุนด้านข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าต้องเริ่มต้นจากอะไร

      ก็ต้องเริ่มเก็บข้อมูลก่อน ทุกๆ ธุรกิจควรจะเริ่มต้นหัดเก็บข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ ผมมักจะยกเคสธุรกิจอาหารตามสั่งมาพูดอยู่เป็นประจำ คุณป้าขายข้าวแกงไม่เคยเก็บข้อมูลภายในร้าน เพราะไม่ทันคิดว่าข้อมูลนั้นสำคัญ แต่ถ้าคุณป้าเริ่มเก็บข้อมูลก็จะพบว่าในวันหนึ่งๆ ตัวเองขายข้าวแกงได้กี่จาน เมนูไหนขายดีที่สุด และก็สามารถคำนวณได้ว่าในแต่ละวันต้องซื้อวัตถุดิบแต่ละชนิดมากน้อยแค่ไหน ที่นั่งไม่พอเพราะลูกค้านั่งกินข้าวเฉลี่ยกี่นาที ถ้าอยากได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นต้องเพิ่มโต๊ะกี่ตัว หรือขอทานก็สามารถนำบิ๊กดาต้ามาใช้ได้ แต่ละจุดนั่งมีคนเดินผ่านมากน้อยแค่ไหน ยอดเงินเฉลี่ยกี่บาท ถ้าอยากได้เงินเพิ่มต้องไปนั่งจุดนี้ช่วงกี่โมง สิ่งเหล่านี้คือการเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ได้ผลลัพธ์ที่เกิดประสิทธิภาพ ผมจึงมักจะพูดเสมอว่าการเก็บข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ ต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์

 

นั่นแสดงว่าต่อไปในอนาคต อาชีพผู้พัฒนาระบบเก็บข้อมูลก็จะกลายเป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจไม่น้อย?

      ถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่แล้วคนทำระบบเก็บข้อมูลเขาจะอยู่ต่างประเทศกันหมด ผมขอยกเคสของ Amazon มาเป็นตัวอย่าง ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่พวกเขาทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากธุรกิจบริการ Amazon Cloud ซึ่งเติบโตมากๆ ในปีนี้ หรือฝั่งไมโครซอฟต์เองก็หันมาทำธุรกิจคลาวด์ Microsoft Azure เพราะคนส่วนใหญ่และภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มนิยมหันมาใช้ระบบคลาวด์กันมากขึ้น และต่อไปในอนาคต การจัดเก็บข้อมูลจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีเครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมให้คุณเลือกใช้ได้ทันที ผมสนับสนุนให้ทุกคนควรจะมีการเก็บข้อมูลของตัวเอง เริ่มต้นง่ายๆ เลยคือการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน พอมีการเก็บข้อมูลเกิดขึ้น เราก็จะมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นตามลำดับ ถ้าเราไม่มีข้อมูล เราก็จะตัดสินใจทุกอย่างด้วยประสบการณ์และการคาดการณ์ ซึ่งมีความแม่นยำน้อยกว่าการตัดสินใจด้วยข้อมูล

 

อ้างอิง:

     – www.etda.or.th/publishing-detail/value-of-e-commerce-survey-2016.html

FYI
  • ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่าปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา มูลค่าของอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในหมวดหมู่อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งอยู่ที่ประมาณ 731,828.33 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 กว่า 195,103 ล้านบาท (มูลค่าอุตสากรรมการค้าปลีกและค่าส่งปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ 536,725.26 ล้านบาท) และขยับขึ้นมารั้งอันดับหนึ่งในบรรดาหมวดหมู่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยทุกประเภท
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X