มีใครไม่เคยอ่านกระทู้พันทิป (Pantip) บ้าง?
เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ แอบอ่านกระทู้ในห้องเรียนหรือออฟฟิศ ค้นหารีวิวร้านเด็ด หรือ #ปูเสื่อ #ต้มมาม่ารอ #เตรียมเผือก เกาะติดกระทู้ดังตามห้องต่างๆ ของเว็บบอร์ดเจ้านี้กันอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนไทยที่โตมากับยุคดอทคอมแรกๆ
เพราะก่อนที่จะมีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เว็บ Pantip.com ทำหน้าที่เสมือนสังคมออนไลน์แห่งหนึ่งที่คนไทยจากทั่วสารทิศมาแบ่งปัน (บ้างก็ ‘ปลดปล่อย’) เรื่องราวผ่านตัวอักษรบนกระทู้ ปกปิดตัวตนผ่านนามแฝง เป็นทั้งแหล่งข่าว เปิดโปงคดีดราม่า จนเกิดตำนาน ‘นักสืบพันทิป’ แม้แต่แอดมินเพจ และ Online Influencer ที่โด่งดังในวันนี้ก็แจ้งเกิดจากที่นี่
ผ่านไปกว่า 20 ปี กระแสของชุมชนออนไลน์แห่งนี้ยังคงติดลมบนชนิดที่ว่าเสิร์ชบนกูเกิลก็ยังเห็นคำว่า ‘Pantip’ เป็นคีย์เวิร์ดพ่วงท้ายอยู่บ่อยครั้ง และทันทีที่มีประเด็นดราม่าบนโลกออนไลน์ เราสามารถเห็นกระทู้พันทิปฟลัดเต็มไทม์ไลน์ภายในข้ามคืน
น่าสนใจว่าทำไมคนไทยจึงยังอ่านพันทิปจนมียอดวิวบนหน้าเว็บเฉลี่ย 16 ล้านวิวต่อวัน ทั้งที่ข้อมูลสถิติจาก Thailand Zocial Awards 2017 ชี้ว่า ยอดผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในไทยสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ราว 47 ล้านคน ทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์และคนอ่านย้ายไปอยู่บนเพจหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีทราฟฟิกดีหรือถูกจริตกว่า ขณะที่เว็บบอร์ดหลายแห่งเริ่มเงียบเหงาและปิดตัวลง เหลือเพียงชื่อเล่าขานเป็นตำนานเหมือนกับ Pramool.com
เพราะคนชอบเสพดราม่า หรือพันทิปมี ‘ไม้เด็ด’ ในการบริหารธุรกิจให้อยู่รอดทุกยุคสมัยได้กันแน่ THE STANDARD ชวน บอย-อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (Chief Technology Officer – CTO) เว็บไซต์ Pantip.com มาไขทุกข้อสงสัยข้างต้นว่า อะไรคือปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ทำให้พันทิปยืนหยัดมาจนถึงวันนี้
ไม่มีใครรู้ในทุกสิ่ง เรารู้ในสิ่งที่ผู้อื่นอาจจะไม่รู้ เช่นเดียวกับที่เราอาจจะไม่รู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้ พันทิป คือพื้นที่สำหรับการแบ่งปันความรู้กัน
ยกเครื่องเว็บบอร์ด ปั้นชุมชนออนไลน์ของคนไทยที่ต้อง ‘คอมเมนต์ได้ ไม่มีสะดุด’
เมื่อถามถึงโจทย์ที่เขาได้รับตอนเข้าทำงานครั้งแรก บอย อภิศิลป์ เล่าให้เราฟังว่า เขาเข้ามาทำงานกับพันทิปด้วยกันถึงสองรอบ ครั้งแรกคือปี 2540 หลังเว็บเปิดมา 1 ปี เป็นช่วงที่คอมมูนิตี้เริ่มโต และเรียกแขกที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาป่วน ทำให้กระทู้ตกหายจำนวนมาก เขาไม่ได้ร่อนใบสมัครโดยตรง แต่อาสาเขียนโปรแกรมป้องกันการฟลัดกระทู้ขึ้นมาเอง แล้วส่งไปหา วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บ Pantip.com แห่งบริษัท อินเตอร์เน็ต มาร์เก็ตติง จำกัด ซึ่งชักชวนเขามาร่วมงานทันที
เขาเริ่มต้นทำงานตั้งแต่พันทิปยังเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ (ซึ่งยังไม่เป็นกระแสนิยมในตอนนั้น) วางโครงสร้างพื้นฐานและระบบหลังบ้านประมาณ 7 ปี ก่อนจะออกไปหาประสบการณ์เพิ่มเติม
“ตอนนั้นผมไม่ได้เป็นคนรับโจทย์ แต่ว่าเป็นคนกำหนดโจทย์ว่าจะทำอะไร เราต้องพัฒนาตัวโปรแกรมให้มันดีขึ้น ป้องกันตัวป่วนตัวเกรียนต่างๆ ตรวจจับคำหยาบ ป้องกันสแปมต่างๆ ได้ รวมทั้งดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไปจนถึงตัวระบบของเว็บเลย
“พอกลับมาอีกรอบหนึ่ง ก็มาพร้อมกับโจทย์เหมือนกัน” อภิศิลป์เล่าต่อว่า โจทย์ใหม่ของเขามีตั้งแต่ปัญหาเชิงเทคนิค มาจนถึงการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ซึ่งทำให้เขาขยับมาดูเรื่องมาร์เก็ตติ้งควบคู่ไปด้วย เพื่อรักษาฐานผู้ใช้งานเดิมและดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยกลยุทธ์ Pantip3G
“คุณวันฉัตรคุยกับผมว่าพันทิปเริ่มดูเก่าแล้ว เฟซบุ๊กก็เริ่มเข้ามา เลยอยากปรับปรุงเว็บ โดยที่มีโจทย์มาสองข้อว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ หนึ่ง เก็บกระทู้ได้ตลอดเวลา เพราะสมัยก่อนเราไม่มีพื้นที่เก็บข้อมูลเยอะ เนื่องจากราคามันสูง ทำให้ต้องเคลียร์กระทู้ออก ถ้ากระทู้ไหนไม่มีคนตอบภายในหนึ่งเดือนก็จะลบออกจากระบบไป เราเสียดายกระทู้เหล่านั้น อยากจะปรับตัวระบบใหม่ตั้งแต่ศูนย์เลยเพื่อที่จะเก็บกระทู้ไว้ได้ตลอด
“ข้อที่สองซึ่งเป็นโจทย์ที่ผมตั้งเองคือ สมัยก่อนพันทิปจะมี ‘กระทู้ด๋อย’ หมายถึงกระทู้ที่มีคอมเมนต์เยอะ อย่างเช่น กระทู้รายงานสด กำลังดราม่า คนเข้ามาคอมเมนต์กันเยอะ ตัวไฟล์กระทู้มันจะเก็บข้อมูลไม่ทัน ทำให้มีคอมเมนต์บางส่วนหายไป ผมเลยอยากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทำให้กระทู้สามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะมีคอมเมนต์กี่ร้อย กี่พัน หรือว่ากี่หมื่น โดยที่ไม่เสียหาย”
หลังการปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่ในช่วงปี 2556 มีจำนวนผู้เข้าใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนคนต่อวัน เป็น 4.5 ล้านคนต่อวัน โดยยอดเพจวิวในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านเพจวิวต่อวัน ทั้งนี้ เขาชี้ว่าการรีแบรนดิ้งทำให้วัยรุ่นเข้ามาเล่นพันทิปกันมากขึ้น
“ยอด 4.5 ล้านคนต่อวันเนี่ย ร้อยละ 60 มาจากการเสิร์ชบนกูเกิล เพราะคนจะนึกถึงพันทิปเวลาที่เขาต้องการหาคำตอบ อีกร้อยละ 20 มาจากทางโซเชียล ที่เหลือเป็นแฟนประจำ กลุ่มผู้ใช้ของพันทิปปัจจุบันเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นเป็นหลัก ขณะที่สมัยก่อนเป็นวัยทำงานตอนกลาง อายุ 35 ปี”
สมัยก่อนคนในเฟซบุ๊กจะมีภาพว่า พันทิปเป็นแหล่งรวมดราม่า สิ่งที่เราทำได้คือกระทู้ดีมีเยอะ ต้องแชร์ออกไป ก็เลยเปิดเพจขึ้นมาให้คนรู้ว่ามันมีกระทู้แบบนี้ด้วย มีสาระที่ทีมงานคัดมาอย่างดี ไม่ต้องค้นหาเอง
วางจุดยืนแบรนด์บนอินไซต์ เพราะ ‘ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง แต่เราอาจรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นไม่รู้’
แม้ว่าพันทิปจะผ่านการรีแบรนด์ ปรับโลโก้ และโครงสร้างเว็บใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยคือ แก่นของเว็บที่มุ่งเน้นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของสมาชิก ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจในพฤติกรรมและความต้องการของผู้คนในสังคมออนไลน์ จนมาลงเอยที่สโลแกน ‘Learn, Share & Fun’ ในปัจจุบัน
“มีสโลแกนหนึ่งที่คุณวันฉัตรเคยเขียนขึ้นมาบนเว็บตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ก็คือไม่มีใครรู้ในทุกสิ่ง เรารู้ในสิ่งที่ผู้อื่นอาจจะไม่รู้ เช่นเดียวกับที่เราอาจจะไม่รู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้ พันทิป คือพื้นที่สำหรับการแบ่งปันความรู้กัน นี่คือแก่นหลักที่ยังอยู่จนถึงวันนี้
“สโลแกนของพันทิปเปลี่ยนมาหลายยุคหลายสมัย ยุคแรกๆ ก็มีตั้งแต่ Touch of Friendships หรือสัมผัสแห่งมิตรภาพ เพราะเรารู้สึกว่าคนรู้จักกัน เป็นเพื่อนกันเพราะที่นี่ บางคนเป็นแฟนกัน แต่งงานกันก็มี ยุคต่อมาเป็นเรื่องของสังคมออนไลน์คุณภาพ เพราะว่าเป็นยุคที่เว็บบอร์ดเกิดขึ้นเยอะ ขาดการดูแล มีสแปม มีโฆษณาลดความอ้วนเยอะแยะมากมาย
“มาจนถึงปัจจุบัน ตอนที่พัฒนาเว็บใหม่ เราก็คุยกันว่าสโลแกนใหม่ของพันทิปควรจะเป็นอย่างไร จากการประชุมกับทางทีมมาร์เก็ตติ้ง เราเคาะคีย์เวิร์ดออกมาเป็น 4 คำ คือ Wisdom เราอยากเห็นพันทิปเป็นสังคมแห่งปัญญา Sharing คือการแบ่งปันกัน มี Dynamic ก็คือมันไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วก็มีความ Incremental คือมีความเพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลา เราก็ให้โจทย์นักออกแบบไปทำให้มันเรียบง่ายขึ้น ออกมาเป็น Learn, Share & Fun
“Learn คือ พันทิปเป็นสังคมของการเรียนรู้ Share คือ ทุกคนมาแชร์ความรู้กัน Fun คือทุกคนสนุกกับการเล่นพันทิป ซึ่งผมว่าเป็นสโลแกนที่ดีมาก เข้ากับพันทิปทุกวันนี้
“เราอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลตั้งแต่แรก ดังนั้นเราจะไม่ได้เปลี่ยนในเชิงออฟไลน์มาเป็นออนไลน์เหมือนกับธุรกิจอื่น แต่ปรับเปลี่ยนในมุมของผลิตภัณฑ์มากกว่า จริงๆ แก่นหลักของพันทิปคือ การมองผ่านผู้ใช้ให้ได้ เน้นการแบ่งปันความรู้ เพียงแต่ว่าปรับให้มีความวัยรุ่นมากขึ้น แก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานใช้ได้มากขึ้น คนเข้ามาตอบกระทู้ได้มากขึ้น”
แต่ละแพลตฟอร์มมันมีวัฒนธรรมและความสนใจต่างกัน เราก็จะไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ในอนาคตถ้ามีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้น เราก็จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย เพราะถ้ามันมีผู้ใช้อยู่ในนั้น เราก็ต้องอยู่ตามผู้ใช้
ปรับกลยุทธ์สู้เฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียแบบ Frenemy
ไม่ใช่แค่สื่อเก่าอย่างทีวีหรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบจากเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ เว็บไซต์ที่เคยอยู่ได้ด้วยโฆษณามานานก็ต้องเร่งปรับตัวตามยอดเข้าเว็บที่ลดลง และรายได้โฆษณาออนไลน์ที่ถูกเจียดไปให้กับสื่อใหม่ด้วย
เรื่องนี้อภิศิลป์มองว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกยุคสมัยอยู่แล้ว ดังนั้น คนทำธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้ทัน หาช่องว่างในบริการของคู่แข่งให้เจอ และพยายามพาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
เมื่อคนยุคนี้มีตัวเลือกเยอะ ก็ต้องเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกลุ่มคนอ่านที่นอกเหนือไปจากผู้ใช้งานประจำ
“เรารู้ว่ามีคนเล่นพันทิปแบบที่เป็นแฟนประจำอยู่จำนวนหนึ่ง ในขณะที่มีกลุ่มคนที่ไม่ใช่แฟนประจำเยอะกว่ามาก ชึ่งเขาอาจจะอยู่ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เข้าไปถึงกลุ่มคนเหล่านั้น นี่เป็นโจทย์การตลาด ถ้าอย่างนั้นเอาแบบนี้ไหม เราเปิดเพจบนเฟซบุ๊ก สร้างแอ็กเคานต์บนทวิตเตอร์และไลน์ เพื่อที่จะคอยฟีดกระทู้ออกไปให้กับคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มอื่นได้เข้ามาอ่าน”
พันทิปเปิดบัญชีไลน์ของแบรนด์ (LINE OA) ทวิตเตอร์ และเพจบนเฟซบุ๊กถึง 5 เพจ โดยมีเพจหลัก Pantip.com 1 เพจ รวบรวมข่าวสารทุกห้องไว้ที่เดียว ส่วนอีก 4 เพจ คัดสรรมาจากห้องยอดนิยมที่อัดแน่นด้วยคอนเทนต์มีคุณภาพ ได้แก่ ก้นครัวไม่กลัวหิว, บลูแพลนเน็ต เบ็ดเสร็จเรื่องเที่ยว, Inspired by ชายคา และพันทิปนานุกรม เพื่อเพิ่มช่องทางฟีดกระทู้ไปให้คนอ่านตามแพลตฟอร์มเหล่านี้ และดึงคนอ่านเข้าเว็บ ซึ่งจะทำได้สำเร็จก็ต้องเข้าใจธรรมชาติและคาแรกเตอร์ของแต่ละแพลตฟอร์ม
“หนึ่งคือเราต้องการดึงทราฟฟิกจากแพลตฟอร์มอื่นเข้ามา สอง แก้เรื่องแบรนดิ้งบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย เช่น สมัยก่อนคนในเฟซบุ๊กจะมีภาพว่า พันทิปเป็นแหล่งรวมดราม่า ทำให้ภาพลักษณ์ของเว็บมันมีปัญหาเหมือนกัน จะสั่งให้คนไม่แชร์ดราม่าก็คงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือกระทู้ดีมีเยอะ ต้องแชร์ออกไป ซึ่งเป็นกระทู้ที่ผมว่ามีความเป็นพันทิปสูง แต่คนไม่ค่อยรู้ว่าเรามีกระทู้แบบนี้ ก็เลยเปิดเพจขึ้นมาให้คนรู้ว่ามันมีกระทู้แบบนี้ด้วย มีสาระที่ทีมงานคัดมาอย่างดี ไม่ต้องค้นหาเอง
“เรารู้ว่าคนเล่นทวิตเตอร์เพื่อติดตามข่าวสาร และมีแฟนคลับศิลปินเกาหลีเยอะ เวลาเราฟีดกระทู้เกี่ยวกับศิลปินเกาหลีก็จะได้ผลตอบรับดี หรือว่า Line OA ก็เป็นคนอ่านอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เข้าเว็บพันทิป ไม่เล่นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่สนใจคอนเทนต์ที่เป็นชาวบ้านมากๆ เช่น คอนเทนต์ดูดวง แต่ละแพลตฟอร์มมันมีวัฒนธรรมและความสนใจต่างกัน เราก็จะไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ในอนาคตถ้ามีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้น เราก็จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย เพราะถ้ามันมีผู้ใช้อยู่ในนั้น เราก็ต้องอยู่ตามผู้ใช้”
เมื่อถามว่าเฟซบุ๊กเป็นคู่แข่งของพันทิปหรือไม่?
อภิศิลป์ตอบว่า เป็นความสัมพันธ์แบบ frenemy มากกว่า เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ได้เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์เช่นกัน
“ผมว่ามันเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) พันทิปก็เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งในป่าใหญ่ ไซส์กลางๆ ในขณะที่ป่านี้มีต้นไม้ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ อินสตาแกรม ต้นไม้ไซส์เล็กกว่าเราก็มี ซึ่งทั้งหมดมันเกื้อกูลกัน ผมว่าเฟซบุ๊ก กูเกิลก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีคอนเทนต์ ดังนั้นมันคือการพึ่งพาอาศัยกันอยู่
“แต่ละแพลตฟอร์มก็ตอบโจทย์การตลาดที่แตกต่างกัน เฟซบุ๊กก็จะได้ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ทำให้โฆษณามันขึ้นมาตามโปรไฟล์ที่เราใส่ไว้ตอนสมัคร ในขณะที่กูเกิลก็โฆษณาอีกแบบหนึ่ง ค้นอะไรก็จะขึ้นตามสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ณ ขณะนั้น ผมว่าโมเดลพันทิปมีความเป็นนิตยสารสูง มีแบนเนอร์ที่ลงรูปใหญ่ได้เลยขายภาพลักษณ์ของสินค้าและสร้างการรับรู้ได้เต็มๆ ดังนั้นโจทย์มันไม่เหมือนกัน ก็อยู่ที่แบรนด์นั้นว่าจะเลือกใช้อะไร ซึ่งหลายๆ แบรนด์เขาก็ใช้งบทุกสื่อ ขึ้นอยู่กับว่าจัดสรรอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม เขาเฉลยว่า ‘กระทู้เด็ดพันทิป’ ไม่ใช่ของพันทิป เหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจแต่อย่างใด แต่เป็นเพจที่แฟนคลับทำขึ้นมา
คงความหลากหลาย และคัดสรรคอนเทนต์ที่ตรงใจคนอ่าน
ในยุคที่เต็มไปด้วยแพลตฟอร์มทางเลือก ฐานผู้ใช้เก่าก็ต้องรักษา ไหนจะต้องคอยหากลุ่มผู้ใช้ใหม่ ทีมงานจึงต้องบริหารคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มให้น่าสนใจ เพิ่มข้อมูลเชิงลึกที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับเว็บ และดึงดูดทั้งคนเขียนและคนอ่านเข้ามาใช้บริการตลอดเวลา ไม่เงียบเหงา
อภิศิลป์ชี้ว่า กระทู้ที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นประเด็น ‘Talk of The Town’ ขณะที่เรื่องบันเทิง ดารานักแสดง และละคร เป็นกระทู้ที่ฮอตฮิตทุกยุคทุกสมัย และที่ขาดไม่ได้ก็คือความหลากหลาย
“คนจะเชื่อในความหลากหลายว่ามันน่าจะมีทั้งแง่บวก-แง่ลบ มีข้อดี-ข้อเสียให้เราอ่าน เราจะได้อ่านคอนเทนต์ที่มันรอบด้านบ้าง
“ผมว่าคนเล่นพันทิปจริงจังกับข้อมูลเชิงลึก ผมจะชอบอ่านกระทู้ห้องหว้ากอเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เยอะ แล้วรู้ลึกรู้จริง ผมว่ามีคนที่รู้จริงเยอะมากในพันทิป ขณะเดียวกันก็ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่เราขาดผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราแหละที่ต้องหาสมาชิกที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นมาช่วยแชร์ประสบการณ์มากขึ้น
“เรามีทีมเขียนคอนเทนต์ก็จริง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับคอนเทนต์ทั้งหมด ไม่ถึงร้อยละ 1 เช่น ร้านอาหารที่ไหนอยากเขียนรีวิว ก็จะจ่ายค่าใช้จ่ายมา เราก็จะนัดสมาชิกไปกินกัน ทีมงานจะสัมภาษณ์สมาชิกที่ไปในวันนั้นว่าเป็นอย่างไร ชอบไม่ชอบ แล้วก็กลับมาเขียนคอนเทนต์ เป็นต้น แล้วก็มีทีมทำคอนเทนต์ที่เป็น advertorial แบบนี้เราก็จะบอกชัดเจนว่าเป็น advertorial นะ ทางแบรนด์ติดต่ออย่างถูกต้องเป็นทางการ ไม่ใช่ลักลอบโฆษณา”
ด้านการดูแลสมาชิกที่เป็นผู้สร้างคอนเทนต์ พันทิปจะมีรางวัลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างความประทับใจ
“พันทิปจะไม่ค่อยใช้นโยบายจ่ายเงินให้สมาชิกในการเขียน แต่ถ้าใครเขียนดี เรามีรางวัลให้ ตั้งแต่รางวัลเล็กๆ ที่ให้กับสมาชิกทุกวันเลยก็คือ ใครตั้งกระทู้น่าสนใจ กระทู้เนื้อหาโอเค มีทีมงานคัดเลือก (pick) ขึ้นมาบนหน้าแรกของเว็บ หรือฟีดไปยังช่องทางต่างๆ เราก็จะมีรางวัลให้เขา อาจจะเป็นพวงกุญแจ ตั๋วหนัง เล็กๆ น้อยๆ เพื่อขอบคุณที่มาสร้างเนื้อหาดีๆ ให้กับเรา ในสเกลใหญ่ เราก็จะมี Pantip Pick of The Year เป็นรางวัลประจำที่จัดขึ้นในปลายปี สื่ออื่นๆ จะสรุปรีวิวว่าทั้งปีมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทีมงานเราก็จะคัดเลือก 10 กระทู้ ให้เป็นกระทู้แห่งปี และมอบรางวัลให้เจ้าของกระทู้ เช่น เชิญเขามาดินเนอร์ที่สถานทูตรัสเซียเก่าตรงสาทร และทำ standy ที่มาจากเรื่องเล่าในกระทู้ของเขา ออกแบบมาโดยเฉพาะให้เขาเลย แล้วก็มีป๊อปอัพการ์ดที่มาจากเรื่องเล่าของกระทู้เขาเหมือนกัน ในแง่ของมูลค่ามันไม่ได้สูงมาก แต่ว่ามูลค่าทางจิตใจมันเยอะ ผมรู้ว่ามันทำให้เขาอยากเล่นพันทิปต่อ ซึ่งสมาชิกที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ก็กลับมาเขียนกระทู้อยู่เรื่อยๆ เลย แล้วกระทู้ก็น่ารักทุกกระทู้เลย”
เข้าใจวัฏจักรดราม่าและต่อยอดโอกาสใหม่ด้วย Big Data
ปัญหาใหญ่ของสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้น ‘ดราม่า’ ที่ต่อให้เรียกทราฟฟิกได้ดีแค่ไหน ก็คงไม่มีเจ้าของเว็บหรือแอดมินเพจรายไหน อยากรับมือกับดราม่าขั้น ‘วิกฤต’ หรือ ‘ความเกลียดชัง’ อภิศิลป์มองประเด็นนี้ว่าเป็นวัฎจักรของสังคมออนไลน์
“ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการชุมชนออนไลน์ ในเฟสเริ่มต้น สมาชิกทุกคนจะรู้จักกัน รักกันดี เป็นสังคมแห่งยูโทเปียมากๆ แต่ยังเป็น pseudo community หรือเป็นคอมมูนิตี้เทียม แต่พอเข้าเฟสสอง จะเริ่มเกิดดราม่าขึ้น คนจะเริ่มทะเลาะถกเถียงกัน ไม่ยอมกัน ทุกคนจะไม่มีใครยอมแพ้ เอาชนะไปเรื่อยๆ แล้วหลังจากนั้นจะเป็นเฟสที่ชุมชนเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เถียงไปแล้วอย่างไร เขาจะเริ่มรู้สึกปล่อยวางขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะเรียนรู้ว่าจะสู้ด้วยเหตุผลอย่างไร นี่คือ real community ที่มีความหลากหลาย ไม่ได้เออออตามกันไปหมด
“ตอนนี้พันทิปอยู่ในจุดที่จัดการเรื่องดราม่าเองได้ แต่มันก็มีเคสที่ล้ำเส้น เช่น ผิดกฎหมาย ไปเอาข้อมูลส่วนตัวเขามาเปิดเผย มันก็มีเส้นของมันอยู่ อะไรที่ผิดกฎหมายเนี่ยไม่ได้ ไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของเขาไม่ได้ ล่าแม่มดไม่ได้
“ถ้ามองจากเม็ดเงินรายได้ เราเป็นสื่อ” อภิศิลป์กล่าว
เมื่อถามว่าจุดยืนทางธุรกิจของพันทิปในวันนี้คืออะไร และมีแผนจะปรับตัวไปในทิศทางไหน ถ้าหากชุมชนออนไลน์มาถึงจุดอิ่มตัว
“ในอนาคตก็ไม่แน่ เราอาจจะหารายได้ช่องทางอื่นที่ทำให้สัดส่วนของเงินโฆษณาอาจจะน้อยลง เพราะมันมีส่วนอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนมาสร้างคอนเทนต์ เราก็มีหน้าที่ทำให้แพลตฟอร์มมันมีความน่าเชื่อถือ น่าใช้ ทำให้คนมาสร้างคอนเทนต์ของเราเยอะ และทำให้คอนเทนต์เราเข้าถึงคนเยอะๆ
“นอกจากพันทิปแล้ว ก็ต้องมีสินค้าอื่นๆ ของบริษัทออกมาในอนาคต ไม่อย่างนั้นมันเป็นความเสี่ยงในแง่การทำธุรกิจ ใครจะรู้ว่าในอีกห้าปีข้างหน้าอาจจะไม่มีใครเล่นพันทิปแล้วก็ได้ อาจจะต้องแปลงไปเป็นมูลนิธิก็ได้ เราก็ต้องหาวิธีที่ดูแลพันทิปในเวลาปกติ ในขณะเดียวกัน ในแง่ของคนทำงาน เราก็ต้องเลี้ยงคนร้อยชีวิต ก็ต้องมีธุรกิจอื่นๆ เข้ามาสำรองสำหรับอนาคตด้วย
“จริงๆ แล้วข้อมูลในพันทิปมันเยอะมาก เราใช้ Big Data มาสัก 2-3 ปีแล้ว อย่างเช่น เวลาอ่านกระทู้จบ ตรงด้านล่างจะมีกระทู้แนะนำ ที่จะลิงก์ต่อไปอีก 4 -5 กระทู้ ซึ่งมาจากการเก็บข้อมูลว่าคนที่เข้ากระทู้นี้ เขาจะอ่านกระทู้ไหนต่อบ้าง นับความถี่และมาแสดงการจัดอันดับ หรือแม้แต่ Pantip Trend ก็คือกระทู้ที่คนอ่านมากที่สุดใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาของแต่ละห้อง โดยเอาข้อมูลมาจากยอดวิว 16 ล้านเพจวิวในแต่ละวัน ผมว่ามันก็ยังจะมีโจทย์อีกเยอะแยะมากมายที่เราทำได้ ในช่วงแรกเราอาจจะต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลก่อน เฟสที่สองก็จะเริ่มเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แล้ว สุดท้ายจะกลายมาเป็นข้อเสนอแนะของการทำธุรกิจก็ได้”
อ้างอิง: