×

20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ถอดบทเรียนอดีตสู่อนาคต อะไรคือสัญญาณที่ต้องระวัง

27.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปัญหาที่น่ากังวลกว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำรอยปี 40 คือ เศรษฐกิจไทยไม่โต และไม่พร้อมรับมือความท้าทายใหม่ เช่น แรงงานหุ่นยนต์ สังคมผู้สูงอายุ
  • ตรวจสอบความโปร่งใสของสถาบันการเงิน อาศัยธรรมาภิบาลควบคุมกำหนด เพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
  • เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ควรปรับทัศนคติระบบราชการ และทักษะจากการศึกษาใหม่ เลี่ยงเน้นท่องจำ
  • รัฐบาลควรเน้นด้านอุปทาน แม้ให้ผลช้า แต่ทำให้ประชาชนได้โอกาส ยืนยันประเทศไทยมีโอกาสเติบโต

     วิกฤตต้มยำกุ้งจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่นั้นกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันทุกปี และวันที่ 2 กรกฎาคมนี้จะเป็นวันครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 ทว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยปัจจุบันยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การลงทุนของเอกชนในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.1 นับว่าหดตัวติดต่อกันถึง 3 ไตรมาส

      หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยจะถอยหลังเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แม้จะยังไม่รู้ว่าจะเป็นรูปแบบใด?

      จากงานเสวนา 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง: อดีตสู่อนาคต’ จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ อินฟินิติ จำกัด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนา เห็นตรงกันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเหมือนกับปี 2540 ย้ำอย่าชะล่าใจ เพราะที่น่ากังวลกว่าคือ เศรษฐกิจไทยไม่โตด้วยซ้ำ

     อะไรคือสัญญาณเตือนและความท้าทายใหม่ในทัศนะของอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติและอดีต รมต.การคลังไทย ผู้ก้าวผ่านมรสุมปี 40 มาก่อน

ก่อนฟองสบู่จะแตก เศรษฐกิจมันต้องบูมก่อน ทั้งอเมริกา เกาหลีใต้

ขณะที่ประเทศยากจนจะไม่เคยเจอวิกฤต

เพราะเศรษฐกิจไม่เคยโต ผมกังวลว่าเราจะไม่ได้เผชิญกับวิกฤตอีกเลย

เพราะเราไม่โต ไม่มีความสามารถทางการแข่งขัน ฉะนั้นไม่มีฟองสบู่แน่นอน

 

ถอดบทเรียนวิกฤตปี 40 เราควรระวังสัญญาณอะไรบ้างในวันนี้

     ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่าวิกฤตนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ วิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี 2540 นับเป็นวิกฤตทางการเงินตรา (currency) และธนาคาร (banking) ขณะที่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 เป็นเรื่องของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นมาได้เพราะทุกฝ่ายทำงานหนัก แต่ไม่ควรจะชะล่าใจ พร้อมกับจับตาประเด็นต่อไปนี้

     – ความไม่โปร่งใสของสถาบันการเงิน

     ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลหนี้สินของสมาชิก และปล่อยสินเชื่อโดยไม่ระมัดระวัง ต้องป้องกันการปกปิดข้อมูลหรือความไม่โปร่งใส

     – การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังขาดธรรมาภิบาล

     ไม่มองข้ามเรื่องวัฒนธรรมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ต้องมีธรรมภิบาลควบคุม

 

 

     ทั้งนี้ ดร. ประสาร แนะว่าทุกฝ่ายต้องปรับหลักวิธีคิดเสียใหม่คือ รอบคอบ เร่งแก้ไขจุดบอด โดยเฉพาะด้านอุปทาน (supply side) เช่น พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงาน ทุกนโยบายต้องเชื่อมโยง ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือ ยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว
     “วิกฤตที่จะเข้ามามี 2 แบบคือ พอจะรู้ตัว กับไม่รู้ตัว
     “ปี 40 มันเหมือนกับเอากบใส่กระทะร้อนที่มีน้ำเดือด แล้วมันกระโดด แต่วิกฤตแบบใหม่จะเป็นกบที่อยู่ในน้ำที่ค่อยๆ อุ่นขึ้น

     “การมองไปยังอนาคต ถ้าเรารู้อนาคตที่อยากจะไป แล้วบริหารจัดการได้ก็จะดี ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ควรจะเป็นการเอาแผนเศรษฐกิจ 5 ปี มาวางเรียงกัน แต่ควรให้โอกาสเราทำสิ่งที่ทำไม่ได้ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาสั้นๆ”

ความท้าทายใหม่ ยังหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เป็นเรื่องยาก

เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับด้านอุปสงค์ สนใจเพียงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร

 

     ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่เจอฟองสบู่แน่ ถ้าเศรษฐกิจไม่โต แนะควรเฝ้าระวัง 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

     – กองทุนประกันเงินฝากไม่พอรับความเสี่ยง

     กรณ์อธิบายว่าประเทศไทยจัดตั้งกองทุนประกันเงินฝากขึ้นหลังวิกฤตปี 40 เพื่อรองรับความเสี่ยงของประชาชน โดยเงินบางส่วนถูกนำไปจ่ายหนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับวิกฤตที่แท้จริง ประกอบกับโครงสร้างกองทุนไม่มั่นคงและไม่มั่นใจว่าจะทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนได้จริงหรือไม่

     – ไทยเสี่ยงขาดความสามารถทางการแข่งขัน

     ซึ่งจะทำให้ไทยไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้

     “ผมมองความเสี่ยงเรื่องของความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวมากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการสร้างรายได้ของคนไทย หรือภาษาที่รัฐบาลนี้ใช้กันคือ ความเสี่ยงว่าเราจะเปลี่ยนจาก 3.0 เป็น 4.0 ได้หรือเปล่า การจะยกระดับให้เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพานวัตกรรมในการขับเคลื่อนยังมีหลายปัจจัย ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป ไม่ว่าจะระบบราชการ การศึกษา ตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่สูงสุดของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

     “ก่อนฟองสบู่จะแตก เศรษฐกิจมันต้องบูมก่อน ทั้งอเมริกา เกาหลีใต้ ขณะที่ประเทศยากจนจะไม่เคยเจอวิกฤต เพราะเศรษฐกิจไม่เคยโต ผมกังวลว่าเราจะไม่ได้เผชิญกับวิกฤตอีกเลย เพราะเราไม่โต ไม่มีความสามารถทางการแข่งขัน ฉะนั้นไม่มีฟองสบู่แน่นอน”

มนต์ขลังของเศรษฐกิจที่เคยเติบโตเมื่อ 30 ปีก่อนก็เริ่มเสื่อมไป อัตราขยายตัวเศรษฐกิจ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนที่ดี

 

ตลาดแรงงาน ระบบราชการ สังคมผู้สูงอายุ: ความท้าทายใหม่ที่ต้องรับมือ

     ความท้าทายใหม่จากปี 2540 อาจไม่ใช่เรื่องวิกฤตการเงินหรือการธนาคารอีกต่อไป หากเป็นเรื่องของความไม่เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของภาครัฐ หรือระบบราชการ

     ไม่ว่าจะอยู่ในภาคเอกชนหรือรัฐก็ต้องรับมือกับความท้าทายนี้ ภายใต้เงื่อนไขของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง วิธีเตรียมตัวก็ต้องเปลี่ยนตาม

     กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าความท้าทายในขณะนี้ และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้คือ บทบาทของมนุษย์ในตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไป เช่น อุตสาหกรรมการบริการ การลงทุน หรือแม้แต่ทนายความ ซึ่งเสี่ยงถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ที่ทำได้ดีกว่า และรูปแบบสังคมไทยที่ใกล้จะเป็นสังคมผู้สูงวัย

     “ระบบการศึกษาของเราต้องเปลี่ยน ต้องสอนทักษะที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ โดยปัจจุบันระบบการศึกษายังไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อรองรับทักษะดังกล่าว นอกจากนั้น ภายใน 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีวัยทำงานต่อวัยชราเป็นอัตราส่วน 2 : 1 คือผู้สูงอายุจะเยอะมาก และวัยทำงานที่ชำระภาษีให้รัฐบาลจะมีจำนวนน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุที่รัฐบาลต้องดูแลเพิ่มขึ้น ก็จะมีประเด็นเรื่องการรักษาพยาบาลต่อไป จริงๆ ควรจะมีคำตอบแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะรีบทำ”

 

 

     กรณ์กล่าวต่อว่า “ความท้าทายใหม่ ยังหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เป็นเรื่องยาก เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับด้านอุปสงค์ สนใจเพียงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งที่คำถามที่ควรจะถามคือ เรื่องโครงสร้าง ทำอย่างไรให้เรามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น คือเมื่อโจทย์คำถามเพี้ยน คำตอบก็เพี้ยนไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้าง กว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับทุกรัฐบาลที่ห่วงเรื่องคะแนนเสียง ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอุปทานจึงได้ผลมากกว่า อย่างสมัยที่ผมทำงานรัฐบาลก็ค่อนข้างง่าย ตอนนั้นคือขาดอุปสงค์ การแก้ปัญหาคือกระตุ้นอุปสงค์ ซึ่งทางการเมืองเราชอบทำอยู่แล้ว

     “อย่างไรก็ดี แม้มันจะเป็นเรื่องท้าทายแต่เราก็ต้องทำ ตอนนี้มนต์ขลังของเศรษฐกิจที่เคยเติบโตเมื่อ 30 ปีก่อนก็เริ่มเสื่อมไป อัตราขยายตัวเศรษฐกิจ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนที่ดี ก็เป็นที่มาของแนวคิดของรัฐบาลนี้ ที่คิดผลักดันเศรษฐกิจนวัตกรรมให้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ซึ่งจริงๆ ก็ทำมา 5-6 ปีแล้ว นโยบายนั้นก็คือ นโยบาย 4.0 แต่จะทำให้มันเป็นจริงได้นั้นก็ต้องมีปัจจัยอื่นที่ได้รับการพัฒนา ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังห่างไกลความเป็นจริง ถามว่าทุกวันนี้มีคนไทยกี่คนที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจนวัตกรรม ผมว่าคำตอบคือน้อยมาก”

การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และการถ่วงดุล

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญต่อโครงสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น

พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์

 

มองให้ไกล เร่งปรับการศึกษาและทัศนคติภาครัฐ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

     กรณ์กล่าวถึงประเด็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยยังไม่พร้อม นั่นคือ การศึกษา และทัศนคติของภาครัฐหรือภาคราชการ ซึ่งต้องยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับภาคเอกชน เพียงแต่ภาครัฐต้องเป็นตัวนำ

     เมื่อถามว่าขณะนี้มีสัญญาณใดที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีความพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงบ้าง

     กรณ์ตอบว่า “ยังเห็นแต่สัญญาณที่แสดงว่าไม่พร้อมจะปรับตัวมากกว่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้กังวล ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ความคิดที่ภาครัฐมีต่อบริการรถร่วมเดินทาง (ridesharing) อย่างกรณีอูเบอร์ และแท็กซี่ ลักษณะชุดความคิดเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเขายังอยู่ในชุดความคิดเดิมมากเกินไป”

     เมื่อถามว่าการไม่พร้อมปรับตัวต่อสิ่งใหม่ๆ น่ากลัวกว่าวิกฤตการเงินหรือไม่ กรณ์ตอบว่า ถ้าคุณมีชีวิตทำงานในภาคการเงินปี 2540 ก็หาอะไรน่ากลัวกว่านั้นได้ยาก แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ ใช่
     “ณ วันนี้ หากมองไปสู่อนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายกับประเทศเรามากที่สุด ผมยังรู้สึกว่าประเทศไทยมีโอกาสเยอะมาก คนไทยอาจจะมองไม่เห็น แต่ความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงก็เยอะมากเหมือนกัน คือหากเรายังเป็นแบบที่เราเป็นทุกวันนี้ เราจะสูญเสียโอกาสที่เรามี ทั้งที่โอกาสเราดีจริงๆ

     “ถ้าพูดในฐานะของผู้ที่รอจะกลับไปเป็นนักการเมือง ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือระบบการเมือง การปกครอง กล่าวคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และการถ่วงดุล เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญต่อโครงสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์” กรณ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X