ในช่วงปีใหม่แต่ละปี ทุกชนชาติต่างปรารถนาจะก้าวผ่านศักราชใหม่ด้วยพรอันประเสริฐจากอาหารมงคลที่นิยมกินกันข้ามปี เพื่อเรียกโชคลาภและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในอีก 365 วันข้างหน้า บางประเทศนิยมกินเส้นเพื่ออายุยืนยาว บางประเทศนิยมกินเค้ก กินปลา ไปจนถึงขั้นไม่กิน แต่เขวี้ยงจานชามให้แตกหน้าประตูบ้านเพื่อน เพื่อบอกกล่าวว่า ‘ฉันอวยพรให้เธอนะ’ แม้ว่าทุกวันนี้เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องโชคลางกันน้อยลง แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเดิมอยู่ มาดูกันดีกว่าว่าชาติไหนเขากินอะไรข้ามปีกันบ้าง
โทชิโคชิ โซบะ (Toshikoshi Soba), ญี่ปุ่น
เป็นประเพณีที่มีมานานตั้งแต่สมัยเอโดะ ในคืนส่งท้ายปีเก่าวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีมักจะเป็นวันที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นทุกบ้านร่วมกันกิน ‘โทชิโคชิ โซบะ’ หรือ ‘โซบะปีใหม่’ โดยรูปร่างหน้าตาก็แล้วแต่ว่าบ้านไหนถนัดกินสไตล์ใด มักวางใส่ถ้วยราดด้วยซุปร้อนและกินคู่กับของที่ชอบ ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าหากกินเส้นโซบะในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ชีวิตจะยืนยาวเหมือนความยาวของเส้นโซบะ รวมถึงอุปสรรคปัญหาใดก็สามารถขจัดหรือคลี่คลายได้ง่าย เหมือนความเหนียวนุ่มของโซบะที่กินง่าย และนุ่มกว่าเส้นทั่วไป
องุ่น 12 ลูก, สเปน
ที่มาของการกินองุ่นเฉลิมฉลองรับปีใหม่เริ่มต้นมาหลายร้อยปี เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวองุ่นได้มากในช่วงสิ้นปี กษัตริย์ผู้ครองสเปนจึงพระราชทานองุ่นเป็นของขวัญแจกจ่ายให้ประชาชนได้กินกันในช่วงปีใหม่ ปฏิบัติเป็นขนบจนกลายเป็นธรรมเนียม ในคืนสิ้นปี ชาวสเปนจะกินองุ่น 12 ลูกเพื่อเรียกความโชคดี โดยเริ่มกินลูกแรกเมื่อนาฬิกาตีครั้งที่หนึ่ง ตี 1 ครั้ง 1 วินาที ก็เอาองุ่นใส่ปากไป 1 ผล ไล่เรียงไปจนครบ 12 ลูก องุ่นแต่ละลูกเปรียบได้กับ 1 เดือนของปี องุ่น 12 ลูกจึงหมายถึงเดือน 12 เดือน เชื่อว่าหากกินองุ่นครบได้ทันเวลาที่นาฬิกาตีครบ 12 ครั้งจะมีแต่โชคลาภ ไร้เคราะห์ภัย
ปลาทั้งตัว, จีน
คำว่า ‘ปลา’ ในภาษาจีนออกเสียงคล้ายกับคำที่มีความหมายว่า ‘อุดมสมบูรณ์’ ช่วงปีใหม่คนจีนถึงนิยมรับประทานปลาทั้งตัว โดยจะนำมานึ่ง ผัด แกง ทอด อะไรก็ได้ แต่ต้องทั้งตัวเท่านั้นและห้ามหั่น เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งด้วยเงินทอง และยังไม่หมดเท่านั้น ปลาที่ว่าต้องกินให้เหลือ เพื่อสื่อถึงการเหลือกินเหลือใช้ตลอดปี
ขนมชื่อทอง, ไทย
คนไทยถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ สมัยก่อนจะนิยมกินพวกขนมชื่อทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะมั่งมีและเต็มไปด้วยโชคลาภ ปัจจุบันแม้เราจะไม่นิยมกินขนมชื่อทองทั้งหลายแล้วในเทศกาลปีใหม่ แต่ยังก็ใช้เป็นขนมมงคลในงานพิธีต่างๆ
เค้กสอดไส้เหรียญ, กรีซ
สำหรับชาวกรีก อาหารที่นิยมนำมาสังสรรค์ร่วมกับเมนูอื่นๆ ก่อนขึ้นปีใหม่คือ เค้กรสโปรดสอดไส้ด้วยเหรียญเงินที่เรียกว่า St. Basil’s Cake เพื่อรำลึกถึงนักบุญบาซิล ผู้เปี่ยมเมตตาต่อคนยากไร้ และเสียชีวิตลงในวันที่ 1 มกราคม ชาวกรีกเชื่อว่าผู้ใดกินเค้กก้อนนั้นแล้วเจอเหรียญเงินจะโชคดีตลอดทั้งปี
ถั่วเลนทิล (Lentils), อิตาลี
เลนทิล เป็นเมล็ดถั่วมีลักษณะกลมๆ แบนๆ มีหลายสี เช่น น้ำตาล เขียว แดง และเหลือง มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มาก ช่วยในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก และปรับสมดุลฮอร์โมนในวัยทอง คนอิตาเลียนชอบกินถั่วเลนทิลเป็นอาหารมงคลปีใหม่ เพราะมีรูปร่างคล้ายเหรียญเงิน เชื่อกันว่าใครกินจะมีโชคและเงินทองไหลมาตลอดทั้งปี
ซุปเค้กข้าว, เกาหลีใต้
‘ซุปเค้กข้าว’ หรือ ‘ต๊อกกุก’ เป็นซุปร้อนที่มีลักษณะคล้ายกับก๋วยจั๊บบ้านเรา ตัวซุปทำจากเนื้อหรือปลาแห้ง เคี่ยวจนเปื่อยยุ่ยได้รสกลมกล่อม แล้วนำแป้งต๊อกไปต้มจนสุก จากนั้นใส่ต้นหอม ไข่ หรือเนื้อสัตว์ตามใจชอบ ตักใส่ถ้วยโรยพริกไทย กินคู่กับกิมจิ ชาวเกาหลีนิยมกินต๊อกกุกในหน้าหนาว โดยเฉพาะค่ำคืนก้าวเข้าสู่ปีใหม่ โดยเชื่อว่าหากได้รับประทานต๊อกกุกข้ามปีจะทำให้มีอายุยืนขึ้นอีก 1 ปี
แชมเปญแห่งความปรารถนา, รัสเซีย
นี่อาจเป็นอาหารปีใหม่ที่แปลกแหวกแนวจนเราแอบคิดว่า เอ๊ะ! เขาทำกันจริงๆ หรือ? อาหารบนโต๊ะเฉลิมฉลองของคนรัสเซียนั้นคล้ายกับคนยุโรปทั่วไป แต่จะมีขั้นตอนหนึ่งที่พิเศษมาก คือ การดื่มแชมเปญแห่งความปรารถนาในช่วงข้ามปี พอใกล้ช่วงเวลานับถอยหลัง ชาวรัสเซียจะเขียนความปรารถนาที่อยากให้เป็นจริงในกระดาษ หลังจากนั้นจึงเปิดแชมเปญ รินลงแก้ว หย่อนความปรารถนาลงในแก้ว และ Cheer! ดื่มมันลงไป
ผลทับทิม และการโรยเกลือหน้าบ้าน, ตุรกี
ชาวเตอร์กิชเชื่อว่าทับทิมเป็นผลไม้มงคล สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และช่วยปกป้องสิ่งชั่วร้าย การกินช่วงปีใหม่จะทำให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาตลอดทั้งปี แต่การกินผลทับทิมไม่ใช่สิ่งเดียวที่คนตุรกีจะทำช่วงเปลี่ยนศักราช หลังจากก้าวผ่านช่วงเวลาสำคัญ ชาวเตอร์กิชจะหยิบเกลือจากในครัวแล้วเปิดประตูบ้านเพื่อโรยลงพื้น พวกเขาเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งความสงบสุขและความมั่งมีแก่บ้านและธุรกิจในครัวเรือน
เขวี้ยงจานอวยพร, เดนมาร์ก
สำหรับชาวเดนมาร์ก การกินอะไรข้ามปีเห็นจะไม่สำคัญเท่าจำนวนจานที่ทำลายลง คนทั่วไปส่งการ์ดแสดงความยินดี แต่คนเดนมาร์กส่งจานแตกเป็นของขวัญให้เพื่อนบ้าน ในคืนวันสิ้นปีพวกเขาจะคัดเลือกถ้วยชามที่ไม่ใช้แล้ว แล้วหอบหิ้วไปยังหน้าบ้านเพื่อนบ้านที่รักเพื่ออวยพรให้เกิดสิ่งดีๆ ใครเป็นที่รักมากก็จะมีเศษจานกองพะเนินเทินทึกจนออกนอกบ้านไม่ได้ทีเดียว
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาหารมงคลรับปีใหม่ของชาติต่างๆ ยังมีอีกหลายความเชื่อที่เราไม่ได้เอ่ยถึง เช่น คนสวิสซื้อไอศกรีมโคนกินนิดหน่อยและทำมันตกลงพื้น คนฟิลิปปินส์ต้องกินผลไม้กลมๆ ใครที่อยากฉลองแบบชาติไหนก็ลองเลือกซื้อหา เลือกกินดู ได้ผลอย่างไรมาบอกเราบ้าง เพราะอย่างน้อยถึงไม่โชคดีอย่างที่หวัง คุณก็อิ่มท้องและได้ลองอะไรใหม่ๆ ให้ชีวิต
Happy New Year 2022!
สวัสดีปีใหม่ 2565
Photo: Shutterstock
อ้างอิง:
- www.womansday.com/food-recipes/food-drinks/g2085/good-luck-foods-for-the-new-year
- food.ndtv.com/food-drinks/new-year-2018-8-popular-food-traditions-from-around-the-world-1792229
- www.independent.co.uk/news/world/politics/new-year-2014-smash-a-plate-drink-a-wish-eat-a-grape-how-did-the-rest-of-the-world-see-in-2014-9032137.html