โจทย์ใหญ่ของ ‘สยามกลการ’ คือการ New Ventures สร้างโอกาสโตในตลาดใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ปี 2030 ที่ ‘ประกาสิทธิ์ พรประภา’ เร่งกระจายพอร์ตลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์และโรงเรียนนานาชาติ ลดพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ ย้ำไม่หวั่นรถยนต์ไฟฟ้าจีนตีตลาดไทย
ในเดือนเมษายน 2023 กลุ่มสยามกลการได้แต่งตั้งให้ประกาสิทธิ์ซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องของ พรเทพ และมยุรี พรประภา รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด หรือ SMG ถือเป็นเจนใหม่ที่ต้องขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ล่าสุดได้ออกมาประกาศวิสัยทัศน์เป็นครั้งแรก ภายใต้ ‘SMG NEXT: Building Tomorrow, Today’ ในปี 2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าขยายพอร์ตธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้หลากหลายมากขึ้น
“เรากำลังมองหาโอกาสทางตลาดใหม่ๆ ที่ผ่านมาเราสำรวจเห็นเมกะเทรนด์ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทยและเอเชีย เริ่มตั้งแต่การท่องเที่ยวที่ผลักดันการเติบโตด้านการบริการและการค้าปลีก, ตามด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผลักดันไปสู่ความยั่งยืนและพลังงานหมุนเวียน, การปฏิวัติด้าน AI และการแปลงเป็นดิจิทัล และภาคการศึกษาที่เติบโตขึ้น” ประกาสิทธิ์กล่าว
เมื่อมองไปยังเป้าหมาย SNG 2030 บทบาทของสยามกลการคือการมีธุรกิจหลักที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูง ขณะเดียวกันก็จะเร่งก้าวเข้าสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดคล้องและเสริมสร้างการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าสูงสุด
ทำให้บริษัทได้เตรียมงบลงทุน 9.5 พันล้านบาท เพื่อใช้ขยาย 5 กลุ่มธุรกิจใหม่ ประกอบไปด้วย
- Mobility Tech เทคโนโลยีขับเคลื่อนการขนส่ง
- Hospitality & Education ฮอสพิทาลิตี้และการศึกษา
- Real Estate อสังหาเชิงพาณิชย์
- Clean Tech พลังงานสะอาด
- Digital & Automation ดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ
ทั้งนี้โปรเจกต์ใหม่ที่กำลังเร่งทำคือรีโนเวตอาคารสยามกลการแห่งเดิมบนถนนพระราม 1 ตรงข้ามสนามเทพหัสดิน เป็นโรงแรม 19 ชั้น ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2027
รวมถึงเจรจากับพาร์ตเนอร์เพื่อเตรียมเปิดโรงเรียนนานาชาติที่พัทยา จังหวัดชลบุรี และยังพิจารณาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมทั้งในจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา พื้นที่แห่งละประมาณ 40-50 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพาร์ตเนอร์เพื่อร่วมลงทุน
ส่วนธุรกิจที่ได้เริ่มลงทุนไปบ้างแล้วอย่างการเข้าไปร่วมทุนกับ Kia แบรนด์รถยนต์จากเกาหลีใต้ สอดรับกับเป้าหมายของ Kia ที่จะผลักดันยอดขายให้มาจากรถยนต์ไฟฟ้า 50%
ทั้งนี้สยามกลการได้เซ็น MOU ร่วมกับบริษัท SK tes ทำธุรกิจด้านโซลูชัน-เทคโนโลยีกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรีลิเธียม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหาโอกาสเปิดธุรกิจในไทยด้วยกัน
นอกจากนี้ยังลงทุนในอาคารสำนักงานสยามปทุมวัน เฮ้าส์ โครงการอสังหามูลค่ากว่า 3.5 พันล้านบาท เป็นตึก 33 ชั้น ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ทำเลทอง เชื่อมต่อบีทีเอสและทางด่วน และใกล้ศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอน, เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ตลอดจนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2023 ปัจจุบันมีอัตราการเช่าแล้ว 54% จากพื้นที่เช่ารวม 51,000 ตารางเมตร
คาดว่าธุรกิจใหม่จะช่วยเพิ่มรายได้บริษัทจากปกติขึ้นอีก 20% ปัจจุบันกลุ่มสยามกลการมีธุรกิจอยู่ในพอร์ตทั้งหมด 6 กลุ่มหลัก ครอบคลุม 69 บริษัท ได้แก่
- อุตสาหกรรมรถยนต์ ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ ได้แก่ นิสสัน มอเตอร์, นิสสัน พาวเวอร์เทรน และเกีย เซลส์
- การผลิตและจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ และโช้คอัพ
- เครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เช่น เครื่องจักรโคมัตสุ ฟอร์คลิฟท์ และบันไดเลื่อนฮิตาชิ
- ธุรกิจโรงแรมและสนามกอล์ฟ เช่น สยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเทล กรุงเทพ, สยามคันทรีคลับ และเมอเวนพิค สยาม นาจอมเทียน พัทยา
- โรงเรียนดนตรียามาฮ่า
- โครงการอสังหา เช่น สยามกลการ และอาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์
โดยในปี 2023 บริษัทมีผลประกอบการรายได้รวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่รายได้หลัก 80% มาจากธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนที่เหลือ 20% มาจากธุรกิจก่อสร้างอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกล อสังหา และโรงเรียนดนตรี
เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามถึงผู้บริหารว่า การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนกระทบการดำเนินงานหรือไม่ ผู้บริหารตอบสั้นๆ ว่า เป็นที่ทราบดีว่าตอนนี้มีแบรนด์จีนมากมายอยู่ในไทยเกือบทุกที่เลย แต่สำหรับสยามกลการแล้วคือโอกาสที่ดีสำหรับทุกฝ่ายและสยามกลการพร้อมปรับตัวรับมือรอบด้าน