×

รู้จักสนธิสัญญา New START หมากตัวล่าสุดที่ปูตินใช้ตอบโต้ไบเดน

22.02.2023
  • LOADING...
สนธิสัญญา New START

ในสถานการณ์ของการต่อสู้ที่ต่างฝ่ายต่างนิ่งเพื่อหยั่งเชิง เรามักจะได้ยินวลีที่ว่า ‘เปิดก่อนได้เปรียบ’ หรือใครเริ่มเปิดฉากบุกก่อนก็มีโอกาสที่จะช่วงชิงความเหนือกว่าในสังเวียน

 

แต่สำหรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว วลีนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับเขาสำหรับเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังดำเนินอยู่ หลังจากเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ไบเดนได้เปิดฉากการเยือนยูเครนด้วยตัวเองแบบไม่บอกสาธารณชนล่วงหน้า เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าชาติมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ พร้อมยืนหยัดเคียงข้างยูเครน ซึ่งเรียกเสียงชื่นชมจากประชาคมโลก และสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารของยูเครนเป็นอย่างมาก

 

แต่ขณะเดียวกันการเหยียบแผ่นดินยูเครนของผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จนในที่สุดเมื่อวานนี้ (21 กุมภาพันธ์) ปูตินก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า สหรัฐฯ นั่นเองที่เป็นฝ่ายเข้ามาวุ่นวายจนโหมกระพือให้ไฟสงครามรุนแรงไปกว่าเดิม และสหรัฐฯ นี่เองที่ต้องการเปลี่ยนสงครามจากระดับท้องถิ่นให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับโลก พร้อมประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่แพ้ทริปของไบเดน ด้วยการบอกว่า รัสเซียจะระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญา New START ซึ่งเป็นข้อตกลงจำกัดหัวรบนิวเคลียร์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า การระงับสนธิสัญญาควบคุมนิวเคลียร์ฉบับสุดท้ายระหว่างสองชาตินี้มีนัยสำคัญอย่างไร และจะปูทางสู่การเปิดฉากทำสงครามนิวเคลียร์ระหว่างกันหรือไม่ 

 

New START คืออะไร ทำไมปูตินจึงเลือกใช้เป็นเครื่องมือโต้กลับ?

 

การเดินทางเยือนยูเครนของไบเดน แม้จะไม่ได้เกิดสถานการณ์อะไรที่หวือหวา แต่ก็นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ผู้นำมหาอำนาจโลกกล้าเดินทางมาเยือนเขตสงครามด้วยตนเอง ท่ามกลางเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศที่ดังกระหึ่มอยู่เหนือหัว ภาพของไบเดนที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่คู่โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อันทรงพลังว่า ‘สหรัฐฯ จะไม่ทอดทิ้งยูเครน’ ในวาระที่สงครามใกล้เวียนมาครบ 1 ปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้

 

แน่นอนว่าภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นการเย้ยรัสเซียอยู่ไม่น้อย บีบให้ปูตินต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อเป็นการตอบโต้ยูเครนและพันธมิตรโลกตะวันตก โดยหมากที่เขาเลือกเคลื่อนเพื่อต่อสู้ในครั้งนี้คือการระงับการเข้าร่วมสนธิสัญญา New START 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีก่อน หรือตรงกับปี 2010 อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญา New START ซึ่งเป็นข้อตกลงจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ และรัสเซียสามารถนำมาประจำการได้ และเมื่อปี 2021 ข้อตกลงนี้ก็ได้รับการต่ออายุเพิ่มให้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี หรือจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2026 ซึ่งจะเปิดทางให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียสามารถตรวจสอบคลังอาวุธนิวเคลียร์ของกันและกันได้ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีฝ่ายไหนที่ละเมิดข้อตกลง

 

โดยภายใต้สนธิสัญญานี้ รัสเซียและสหรัฐฯ ตกลงกันว่าแต่ละฝ่ายจะมีหัวรบประจำการที่พร้อมใช้งานไม่เกิน 1,550 หัวรบ ซึ่งเป็นการจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ให้อยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ และจำกัดปริมาณเครื่องบินทิ้งระเบิดให้อยู่ที่ไม่เกิน 700 ลำ และขีปนาวุธพิสัยไกลที่ไม่เกิน 700 ลูก โดยในแต่ละปีทั้งสองฝ่ายสามารถตรวจสอบคลังอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ของอีกฝ่ายได้สูงสุด 18 ครั้งด้วยกัน

 

ในเวลานั้นเพนตากอนมองว่าหากสนธิสัญญาได้รับการต่ออายุไปเรื่อยๆ ชาวอเมริกันจะมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทั้งสองชาติเป็นปรปักษ์ต่อกัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายวิเคราะห์ว่า หากสนธิสัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีการต่ออายุ อาจนำไปสู่การแข่งขันผลิตอาวุธทางยุทธศาสตร์ ทั้งจำนวนหัวรบนิวเคลียร์และระบบยิงขีปนาวุธที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย 

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอาวุธดังกล่าวได้ถูกระงับไปในเดือนมีนาคม 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายในการเดินทางข้ามประเทศ หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2022 รัสเซียและสหรัฐฯ ได้มีความพยายามที่จะจัดการเจรจาเกี่ยวกับการกลับมาตรวจสอบอีกครั้ง แต่ในที่สุดฝ่ายรัสเซียก็เอ่ยปากขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อน และไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น จนมาถึงวานนี้ปูตินได้ประกาศระงับการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวในระหว่างแถลงนโยบายประจำปีต่อสมัชชาแห่งชาติ

 

รัสเซียเคยขู่ถอนตัวมาก่อนหรือไม่

 

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียเคยออกปากว่ารัฐบาลต้องการที่จะรักษาสนธิสัญญาฉบับนี้ไว้ แม้จะโจมตีว่าสนธิสัญญา New START เป็นแนวทางที่อันตรายของสหรัฐฯ ในการควบคุมอาวุธ 

 

รัสเซียและสหรัฐฯ ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์รวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของจำนวนทั้งหมดในโลก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำว่า มหาอำนาจนิวเคลียร์โลกจะต้องหลีกเลี่ยงการทำสงครามระหว่างกันอย่างเด็ดขาด 

 

แม้จะมีการรับปากกันเป็นมั่นเหมาะ แต่การที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนก็ได้บีบให้สถานการณ์ของทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียมาอยู่ในจุดที่ตึงเครียดสูง และหมิ่นเหม่เหลือเกินว่าทั้งสองชาติจะปะทะกันโดยตรงเข้าสักวัน

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ โจมตีว่ารัสเซียได้ละเมิดสนธิสัญญา เนื่องจากไม่อนุญาตให้ตรวจสอบคลังอาวุธในดินแดนของตน ขณะที่รัสเซียก็ขู่ว่า การที่ชาติตะวันตกพยายามจะเอาชนะรัสเซียให้ได้นั้น อาจทำให้รัสเซียตัดสินใจไม่ต่ออายุของสนธิสัญญาในปี 2026

 

จะนำไปสู่การก่อสงครามนิวเคลียร์จริงหรือ

 

หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่ผ่านมา ปูตินเคยประกาศคำเตือนไปยังชาติตะวันตกว่า เขาพร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องดินแดนรัสเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกต่างจับตามองด้วยความวิตกกังวลว่าปูตินอาจตัดสินใจใช้อาวุธร้ายแรงที่สุดที่โลกรู้จักอย่างอาวุธนิวเคลียร์ด้วยหรือไม่ 

 

เอ็มมานูเอล ไมเตร (Emmanuelle Maitre) นักวิเคราะห์จาก Foundation for Strategic Research (FRS) กล่าวว่า “สนธิสัญญา New START ยังไม่ตาย แต่อยู่ในอาการโคม่า” เพราะสนธิสัญญาลักษณะนี้ทำงานบนพื้นฐานของเจตจำนงทางการเมือง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าตอนนี้เจตจำนงดังกล่าวแทบไม่มีเหลือแล้วสำหรับทั้งสองฝ่าย

 

ส่วนนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงคนอื่นๆ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการระงับการเข้าร่วม New START ของรัสเซีย คือมันเป็นสิ่งที่กัดกร่อนนโยบายด้านการป้องปรามนิวเคลียร์ระหว่างสองประเทศ และในขณะเดียวกันก็อาจไปกระตุ้นให้ชาติที่ครอบครองนิวเคลียร์รายอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย และปากีสถาน เร่งขยับขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง ซึ่งนั่นก็เป็นสถานการณ์ที่สร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงในระดับโลกเลยทีเดียว

 

ในการแถลงวานนี้ ปูตินกล่าวว่า แม้รัสเซียจะระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญา New START แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการถอนตัวออกมาอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ในภายหลังกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียได้ออกมาประกาศเพิ่มเติมว่า รัสเซียจะดำเนินตามข้อผูกพันของสนธิสัญญาในแง่ของการจำกัดจำนวนหัวรบประจำการดังกล่าว และจะเดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับแผนการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) และขีปนาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำ ภายใต้ข้อตกลง 1988 Ballistic Missile Launch Notification Agreement โดยให้เหตุผลว่า การตัดสินใจเหล่านั้นเกิดขึ้น ‘เพื่อรักษาระดับความสามารถในการคาดการณ์ และเสถียรภาพของขีปนาวุธนิวเคลียร์ในระดับที่เพียงพอ’

 

แต่ถึงเช่นนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ก็มองว่า สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทั้งสองฝ่ายสามารถสั่งระงับการมีส่วนร่วมได้อย่างที่รัสเซียทำ ทางเลือกที่ทำได้อย่างถูกต้องจึงมีเพียงการถอนตัวเท่านั้น

 

ปูตินกล่าวว่า รัสเซียจะกลับมาสู่โต๊ะเจรจาก็ต่อเมื่อมีการพิจารณาประเด็นคลังอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสและอังกฤษด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสหรัฐฯ คัดค้านเงื่อนไขดังกล่าวมาตลอด และหากจะทำเช่นนั้นก็จะต้องร่างสนธิสัญญากันใหม่ทั้งหมด

 

วิลเลียม อัลแบร์ก (William Alberque) ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี และการควบคุมอาวุธของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวว่า การประกาศของรัสเซียนั้นชี้ให้เห็นชัดเจนว่า รัสเซียคำนวณมาเสร็จสรรพจนมั่นใจแล้วว่าตนเองสามารถอยู่ได้โดยไม่มี New START แต่กำลังพยายามโบ้ยความผิดไปให้กับสหรัฐฯ 

 

“พวกเขาคิดมาแล้วอย่างละเอียดว่าสนธิสัญญากำลังจะหมดอายุลงแล้ว ฉะนั้นความพยายามในตอนนี้จึงเป็นการโยนความเสียหายไปให้กับสหรัฐฯ” อัลแบร์กกล่าว

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เงื่อนไขหลักๆ ของ New START คือการจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งาน ฉะนั้นการระงับสนธิสัญญาดังกล่าวจึงอาจมีผลทำให้รัสเซียและสหรัฐฯ เร่งเพิ่มจำนวนหัวรบประจำการได้หลายเท่าตัวในทันที โดยข้อมูลล่าสุดจากสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา ระบุว่า ปัจจุบันรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองทั้งหมดประมาณ 5,977 หัวรบ ในขณะที่สหรัฐฯ มี 5,428 หัวรบ

 

“จากเดิมที่ทั้งสองฝ่ายถูกกำหนดให้มีหัวรบพร้อมใช้งานอยู่ที่ 1,550 หัวรบ อาจทำให้พวกเขาเพิ่มจำนวนหัวรบขึ้นเป็น 4,000 หัวรบในเวลาอันรวดเร็ว” อัลแบร์กกล่าว พร้อมย้ำว่า คำว่าเร็วของเขาอาจหมายถึงในเวลาเพียงแค่ชั่วข้ามคืน

 

สถานการณ์ไม่แน่นอน

 

ในมุมของปูตินนั้นเขามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดีที่สหรัฐฯ พยายามเรียกร้องสิทธิในการตรวจสอบคลังอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย โดยใช้สนธิสัญญาดังกล่าวมาเป็นข้ออ้าง ทั้งที่ตัวเองและชาติพันธมิตร NATO ก็ช่วยจัดส่งอาวุธและระดมความช่วยเหลือชุดใหญ่ให้ยูเครนมาโจมตีประเทศของตน

 

สิ่งที่ปูตินกล่าวถึงนั้นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อยูเครนเปิดฉากรุกกลับด้วยการส่งโดรนโจมตีฐานทัพอากาศเองเจลส์ของรัสเซีย ซึ่งมีฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพประจำการอยู่หลายลำด้วยกัน ซึ่งปูตินได้กล่าวหาว่าผู้เชี่ยวชาญของ NATO ช่วยติดตั้งอาวุธและพัฒนาประสิทธิภาพของโดรนยูเครนเพื่อก่อการโจมตีรัสเซียโดยเฉพาะ แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันก็ตาม

 

เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) นักวิจัยหลังปริญญาเอกประจำโครงการนิวเคลียร์ออสโล กล่าวว่า หากสนธิสัญญา New START ถูกทอดทิ้งจากทุกฝ่าย จะเป็นการพาโลกกลับไปสู่ ‘การคาดเดาสไตล์สงครามเย็น’ หรือพูดง่ายๆ คือ ทั้งสองฝ่ายจะคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และจะมีการเพิ่มระบบและแผนการที่ซับซ้อนไปกว่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มั่นคงหนักไปกว่าเก่า หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือนำไปสู่ความเสี่ยงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์บางประเภทด้วย

 

ประเด็นหนึ่งที่นักวิเคราะห์ทั้งสองคนเห็นตรงกันคือความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจหวนกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แม้ปูตินจะเคยกล่าวว่ารัสเซียจะไม่ทำก่อน หากสหรัฐฯ ไม่เป็นฝ่ายเริ่ม ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า ในที่สุดปูตินอาจจะกล่าวโทษว่าสหรัฐฯ ได้เตรียมการหรือกระทำการทดสอบขีปนาวุธเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองก็เป็นได้

 

ซึ่งหากปูตินบ้าบิ่นพอที่จะลงมือทดสอบขีปนาวุธ ก็จะนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 หรือ 1 ปีก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายลง อัลแบร์กระบุว่า ในยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตได้ใช้การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณว่าพวกเขากำลังไม่พอใจการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคล้ายๆ กับพฤติกรรมของเกาหลีเหนือหากเทียบกับในยุคปัจจุบัน

 

คาเมรอนกล่าวต่อไปว่า หากสถานการณ์เป็นไปว่ารัสเซียเปิดฉากทดสอบอาวุธนิวเคลียร์จริง การทดสอบใดๆ ของรัสเซียจะถูกมองว่าเป็นขั้นบันไดที่จะนำไปสู่การยกระดับปฏิบัติการทางทหารในยูเครน และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่ารัสเซียมีความพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ โดยในช่วงเวลา 12 เดือนเต็มนับตั้งแต่ที่สงครามเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ปูตินได้กล่าวย้ำกับโลกตะวันตกหลายครั้งว่า รัสเซียมีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และมีการขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในยูเครนที่ทหารของรัสเซียสามารถยึดครองเอาไว้ได้

 

ในกรณีที่สนธิสัญญา New START ไม่ได้ไปต่อ หรือทั้งสองฝ่ายไม่สามารถต่ออายุได้ในปี 2026 ก็จะถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของสนธิสัญญาควบคุมอาวุธทุกฉบับที่มีมากว่าครึ่งศตวรรษระหว่างทั้งสองฝ่าย และส่งแรงกระเพื่อมไปถึงชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์อื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งนั่นจะเป็นสถานการณ์ที่อันตรายยิ่งกว่ายุคสงครามเย็นเสียอีก เพราะปัจจุบันมีชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น และพร้อมที่จะยกระดับขีดความสามารถของตนเองได้ตลอดเวลา

 

ภาพ: Contributor / Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising