×

นักวิชาการแนะ รัฐบาลใหม่ควรเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กรณีปฏิรูปกองทัพควรพิจารณาภัยคุกคามรอบด้าน ชี้เพื่อนบ้านไม่ได้คิดเหมือนเรา

01.06.2023
  • LOADING...
รัฐบาลใหม่

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมพูดคุยในรายการ GLOBAL FOCUS EP.22 ของ THE STANDARD ถึงประเด็นเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางของนโยบายต่างประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่านว่า รัฐบาลใหม่ของไทยนั้นควรมีบทบาทอย่างไรในอาเซียน โดยเฉพาะต่อกรณีเมียนมา รวมถึงจุดยืนของไทยต่อชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ควรเป็นไปในแนวทางไหน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและการแข่งขันกันทางภูมิรัฐศาสตร์โลก 

 

โดย รศ.ดร.ดุลยภาคเสนอว่า ในวันที่โลกแบ่งเป็น 3 ก๊ก ก๊กของสหรัฐอเมริกา ก๊กจีน และก๊กรัสเซีย-ยูเรเชีย นโยบายต่างประเทศของไทยควรเป็นนโยบายเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างชัดแจ้ง แต่ขอแบบไม่เคร่งครัด คือยังเร็วเกินไปที่จะให้ไทยเลือกข้างว่าจะอยู่ค่ายสหรัฐฯ หรืออินโด-แฟซิฟิก หรือจะอยู่ค่ายจีนหรือ BRI เราจะไม่ได้ประกาศอะไรแบบนั้นชัดเจน ในขณะที่ไม่เคร่งครัดในที่นี้หมายถึงในบางสถานการณ์เราอาจเอนเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้บ้าง คือดูเป็นประเด็นๆ ไป แต่ไม่ใช่สหรัฐฯ ถูกทุกอย่าง หรือจีนดีไปหมด แต่ควรยืดหยุ่นและลื่นไหลไปตามสถานการณ์ ใช้คาแรกเตอร์ของไผ่ลู่ลมเข้ามาผสม 

 

ในกรณีเมียนมา รศ.ดร.ดุลยภาคชี้ว่า การที่รัฐบาลไทยยังจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาของนายพลมิน อ่อง หล่าย นั้น เป็นเพราะเงื่อนไขเรื่องชายแดนทางบกระหว่างไทย-เมียนมาที่มีระยะทางยาวถึง 2,400 กิโลเมตร ซึ่งมีปัญหามากมายที่ตัวแทนทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือกัน เช่น การสู้รบในเมียนมาแต่รุกล้ำอธิปไตยไทย และการพิพาทตามแนวชายแดน ทำให้การรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีความจำเป็น 

 

แต่ในขณะเดียวกันนั้น เราเองก็สามารถที่จะส่งเสียงให้ดังมากยิ่งขึ้นได้ แต่อาจจะต้องมีอัตราจังหวะที่เหมาะสม เช่น ส่งเสียงประสานรับกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ต้องเป็นทีละขั้นทีละตอน เริ่มจากประเด็นละเอียดอ่อนน้อยที่สุด เช่น อาจจะยืนพื้นเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เศรษฐกิจ และสันติภาพตามแนวชายแดน โดยยืนอยู่บนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน

 

รศ.ดร.ดุลยภาคยังอธิบายว่า การเมืองภายในเมียนมา สองกลุ่มกำลังแย่งชิงอำนาจอธิปไตยของรัฐกัน ยังไม่นับรวมกองกำลังชาติพันธ์ุที่เป็นตัวแปรสำคัญ ตอนนี้รัฐบาลทหารยังกุมอำนาจอยู่ แม้จะสูญเสียอำนาจนำในบางพื้นที่ เราต้องอ่านให้ออกว่าชนชั้นนำทหารเมียนมากลัวอะไร หวาดระแวงอะไร เพื่อให้ไทยมีนโยบายที่เหมาะสม ทำให้ทางนั้นสบายใจที่จะพูดคุยทวิภาคีด้วย 

 

พร้อมทั้งระบุว่า ทหารเมียนมากลัวการแทรงแซงกิจการภายใน กลัวสหรัฐอเมริกา กลัวตะวันตก ทหารเมียนมาไม่ชอบถูกกดดันแบบหลังชนฝา หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแบบรวดเร็วฉับพลัน หากเจอแรงกดดันมากๆ เข้า ก็อาจทำให้เขาต้องโยกความสัมพันธ์เข้าหาจีนหรือรัสเซียมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันจากการถูกกดดันจากสหรัฐฯ และโลกตะวันตก

 

จุดสมดุลของนโยบายไทยต่อเมียนมาก็คือ ไทยควรประกาศว่าพร้อมที่จะส่งเสริมสันติภาพและกิจการชายแดน บนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เราทำได้ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากฝ่ายต่างๆ โดยมีไทยอำนวยความสะดวก ชวนพูดคุยแต่ไม่กดดัน ค่อยเป็นค่อยไป ทุกฝ่ายน่าจะรับได้ และฝ่ายประชาธิปไตยเอง เราก็ไม่ได้ทิ้งเขา หากวันหนึ่งเขากลับมามีอำนาจ เราเองก็ยังจะมีช่องทางติดต่อสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ 

 

ขณะที่ในแง่ของกองทัพที่ก็สำคัญไม่แพ้การทูต รศ.ดร.ดุลยภาคให้ความเห็นว่า ถ้าเราไม่สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ไม่มีกำลังพล แล้วภัยคุกคามในประเทศเพื่อนบ้านหรือภายในภูมิภาคที่เรียกร้องให้ต้องมีปริมาณทหารหรือยุทโธปกรณ์อย่างพอเพียง และเราคิดอย่างนี้ฝ่ายเดียว แต่เพื่อนบ้านไม่ได้คิดแบบเรา เราคิดว่าเราจะลดจำนวนกองทัพ จะตัดงบกองทัพ ถ้าเราพูดถึงการปฏิรูปทหาร ในทางการเมืองก็พูดได้ แต่ถ้าพูดถึงปฏิรูปทหารในทางการเมืองแล้ว ขยับเส้นไปเป็นการลดแสนยานุภาพของกองทัพในการรับมือกับภัยคุกคาม ตรงนี้ก็ต้องแยกแยะอีกสักนิดหนึ่ง เพราะเพื่อนบ้านไม่ได้คิดแบบเรา ทหารเมียนมาไม่ได้มีแนวคิดที่จะลดกำลังพลแบบฮวบฮาบ เขาก็ยังเกณฑ์คนและซื้ออาวุธที่ทันสมัยตลอด กองทัพกัมพูชายิ่งน่ากลัว เพราะว่ามีการพัฒนาแสนยานุภาพอย่างต่อเนื่อง แล้วมันมีการพิพาทเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยเฉพาะเรื่องก๊าซธรรมชาติในท้องทะเลอ่าวไทย รวมถึงเกาะบางเกาะอีกด้วย หรือในอ่าวไทยที่จังหวัดตราด เพราะฉะนั้นแสนยานุภาพของทัพเรือ ทัพบก ทัพอากาศ ยังมีความสำคัญ 

 

ถ้าเราประเมินภัยคุกคามอย่างรอบด้าน เราปฏิรูปกองทัพ ไม่ให้กองทัพยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เราไม่ได้ไปโจมตีกองทัพในลักษณะลดกำลังพลแบบฮวบฮาบ ตัดงบทุกอย่าง รัฐบาลใหม่น่าจะต้องมีทีมงานในการประเมินภัยคุกคาม พัฒนากองทัพให้ทันสมัย ลดขนาดลงมาบ้างก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ต้องเพียงพอ สิ่งนี้สำคัญเพราะอะไร ถ้าอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอ ทำให้รัฐที่เป็นคู่ปฏิปักษ์คิดหนักก่อนที่จะมามีเรื่องกับไทยเรา 

 

ถ้ามีเรื่องเหล่านี้ในการป้องกันประเทศอย่างเพียงพอแล้ว เยาวชนหนุ่มสาวก็สบาย เพราะไม่ต้องมาคิดว่าต้องไปรบกับใคร เพียงแต่ว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ กองทัพก็ต้องปรับตรงนี้ให้รับกับการตรวจสอบจากประชาชน แต่ประชาชนจะบอกว่าไม่ให้มีทหารเลย อย่าไปให้งบทหาร จะซื้อเรือดำน้ำดีเหรอ คนไทยยังฝืดเคือง บางอย่างก็อาจจะต้องดูว่าถ้ามีภัยคุกคามจริงๆ แล้วมีปริมาณอาวุธที่ทันสมัยเพียงพอ ประชาชนก็สบายใจ ประกอบอาชีพได้ ไม่ต้องรบ อาจจะต้องจัดสรรให้ แต่ก็ต้องมีการควบคุมตรวจสอบให้กองทัพรับได้ ประชาชนก็รับได้ ความสำคัญน่าจะอยู่ที่ความโปร่งใสของงบประมาณมากกว่า โดยกองทัพสิงคโปร์หรือปากีสถานเองก็มีระบบสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในลักษณะที่โปร่งใสตรวจสอบได้ สิงคโปร์เป็นรัฐเล็กๆ ที่เจริญ แต่เดินหน้าเรื่องการสร้างแสนยานุภาพทางการทหารอย่างมาก ขณะที่เกาหลีใต้มีประชาธิปไตยในระดับที่สูงมากในเอเชีย แต่ก็ยังต้องมีการเกณฑ์ทหาร เพราะมีภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือ

 

ร่วมรับชมบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X