×

‘ศุภวุฒิ’ แนะรัฐบาลใหม่เร่งยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คาดไม่เกิน 10 ปี GDP เวียดนามไล่ทันแน่

06.08.2023
  • LOADING...
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘WEALTH CLUB 2023: The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition คว้าโอกาสจากเศรษฐกิจเปลี่ยนขั้ว’ ว่า รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศไทยจะต้องเผชิญกับโจทย์ความท้าทายหลายประการที่รออยู่ โดยหนึ่งโจทย์ที่สำคัญคือการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

 

ยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

ศุภวุฒิระบุว่า ภาคเกษตรจะเป็นหนึ่งในด้านที่ไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มผลผลิต เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตต่อการเพาะปลูกของไทยทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3 ตันต่อเฮกตาร์โดยไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ของเวียดนามอยู่ที่ 5.7 ตันต่อเฮกตาร์ และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 8.1 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งสูงกว่าไทยค่อนข้างมาก 

 

เรื่องต่อมาที่ต้องเร่งปรับปรุงและยกระดับคือการศึกษา เนื่องจากคะแนน PISA ซึ่งวัดทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีพัฒนาการเลย ขณะที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษของไทยดูเหมือนจะถดถอยลงด้วย ซึ่งหากไทยไม่ยกระดับการศึกษา Productivity หรือ ผลิตภาพแรงงานของประเทศจะค่อยๆ ลดลง

 

อีกหนึ่งประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกันคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยที่มีการประเมินว่าภายในปี 2040 ประชากรวัยแรงงาน (15-60 ปี) จะลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน หรือหายไปราว 7 ล้านคน ขณะที่ประชากรกลุ่มเด็ก (0-14 ปี) ก็จะลดลง 3 ล้านคน จาก 11 ล้านคน เหลือ 8 ล้านคน และกลุ่มคนสูงวัย (60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8 ล้านคน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนคนสูงวัยและคนในวัยทำงานลดลงจาก 1:3.6 เป็น 1:1.8 คน 

 

“ในเมื่อแรงงานในระบบเรามีจำนวนลดลง การจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตอยู่ในระดับเดิมเราต้องเพิ่ม Productivity ของแรงงานต่อหัวให้สูงขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องการศึกษาและการเกษตรที่พูดไปก่อนหน้าแล้ว ขณะเดียวกันเราอาจต้องทำให้คนแก่ทำงานได้นานขึ้น โดยปรับนโยบายสาธารณสุขจากปัจจุบันที่โฟกัสที่การรักษาโรคมาเป็นการรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคมากขึ้น” ศุภวุฒิกล่าว

 

เวียดนามจ่อไล่ทันใน 10 ปี

 

ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 6.4% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของเวียดนามอยู่ที่ 12.4% ดังนั้น หากการเติบโตยังอยู่ในระดับนี้ต่อไป GDP เวียดนามจะไล่ทันไทยได้ภายใน 6 ปี อย่างไรก็ตาม หากคำนวณภายใต้สมมติฐานที่ GDP เวียดนามโตช้าลงมาอยู่ที่ 9.4% และ GDP ไทยโตเพิ่มเป็น 7.3% GDP เวียดนามก็จะไล่ทันไทยภายใน 10 ปีอยู่ดี

 

“ย้อนกลับไปในช่วงปี 2014-2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด GDP ไทยโตเฉลี่ยที่ 3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 3.1% ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่า GDP โลกในปีนี้และปีหน้าจะโตที่ 3% ส่วนของไทย ธปท. คาดว่า GDP จะโต 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า เราโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกก็จริง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงโควิดเราติดลบไปแรง พอเด้งกลับมาก็เด้งแรงเช่นกัน” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิระบุว่า หากพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่พึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูง การส่งออกมีน้ำหนัก 65% หรือ 2 ใน 3 ของ GDP ท่ามกลางภาวะที่ GDP โลกจะขยายตัวได้แค่ 3% ส่วนกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยคาดว่า GDP จะโตเฉลี่ยได้แค่ 1.4% ในปีนี้และปีหน้า โอกาสที่ GDP ไทยจะโตได้ตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ก็ยังดูไม่ง่าย 

 

“กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังต้องสู้เงินเฟ้อที่จะค้างอยู่ในระดับสูง เขาอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ ณ ตอนนี้เรายังไม่แน่ใจว่า Fed จะหยุดดอกเบี้ยไว้ที่ 5.5% หรือไม่ และมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน (Higher for Longer)” ศุภวุฒิกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจัยต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทย คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ปัจจุบันยังดูแผ่วกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยก่อนหน้านี้ IMF คาดเศรษฐกิจจีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของ GDP โลกระหว่างปี 2023-2028 โดยมีน้ำหนักถึง 1 ใน 5 ของแรงขับเคลื่อนทั้งหมด แต่สถานการณ์ล่าสุดที่ GDP ไตรมาส 2 ของจีนขยายตัวได้เพียง 6.3% ซึ่งต่ำกว่า ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 0% และดัชนีการผลิตติดลบ 5.4% ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

 

“จีนมีปัญหาภายในค่อนข้างมาก เงินเฟ้อที่ต่ำสะท้อนถึงการบริโภคที่ชะลอ การผลิตที่ติดลบสะท้อนการส่งออกที่ลดลง นอกจากนี้ จีนยังมีปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่น อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว และหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจับตาอีกด้วย” ศุภวุฒิกล่าว

 

ห่วงปัญหาช่องแคบไต้หวันบานปลาย

 

ศุภวุฒิกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยภายนอกที่หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก คือปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะปัญหาในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งมีโอกาสลุกลามจากสงครามทางเทคโนโลยีไปสู่สงครามจริง เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรพยายามกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีชิปชั้นสูง 

 

ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดต่ำกว่า 10 นาโนเมตร ซึ่งใช้ในการผลิตพวกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ได้ มีแค่ TSMC ของไต้หวัน Samsung ของเกาหลีใต้ ขณะที่บริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์ในการผลิตชิปชั้นสูงก็มีแค่ ASML ของเนเธอร์แลนด์แค่รายเดียว ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯ ตั้งขึ้น ทำให้ต้องจับตาดูว่าความขัดแย้งจะยกระดับหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกจะสูงกว่ากรณีสงครามในยูเครน” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิกล่าวว่า เมื่อนำปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกมารวมกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศของไทยเอง โดยส่วนตัวมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ตามที่ ธปท. คาดการณ์คงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือต่อให้เป็นกรณีบวกที่ GDP ไทยโตได้ 4% ต่อปีตามศักยภาพสูงสุดระหว่างปี 2023-2029 ค่าเฉลี่ยของ GDP ไทยในทศวรรษนี้ก็จะอยู่ที่ 2.6% เท่านั้น เพราะในช่วงปี 2020-2022 GDP ไทยติดลบไป 0.7% 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X