×

เปิดบทความสื่อนอก มองการเลือกตั้งรัฐบาลไทยชุดใหม่กับทิศทางการวิจัยและพัฒนา สู่เป้าหมาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’

22.05.2023
  • LOADING...

เว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์ Nature เผยแพร่บทความ ระบุถึงการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ของไทย ซึ่งพรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะ กับทิศทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ในขณะที่ประเทศกำลังดำเนินการตามแผนเปลี่ยนผ่าน จากระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมหนัก ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งสู่นวัตกรรมหรือที่เรียกว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ 

 

โดยคำถามสำคัญ คือรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจะส่งผลอย่างไรต่อแผนเหล่านี้ ซึ่งจนถึงตอนนี้คำตอบที่ได้คือ ‘ยังไม่มีความชัดเจน’

 

ไทยแลนด์ 4.0

 

สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นบทความอธิบายว่า คือแนวคิดเศรษฐกิจแบบ Bio-Circular-Green (BCG) ซึ่งนำเสนอมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับการวิจัย และนำเสนอการแบ่งโซนพิเศษสำหรับพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมใน 10 ภาคส่วน รวมถึงเกษตรกรรม อุปกรณ์การแพทย์ พลังงาน และเคมีภัณฑ์ 

 

แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ได้รับแรงหนุนมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการพัฒนาวัคซีนโควิดชนิด mRNA 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู รองประธานและผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ให้สัมภาษณ์ถึงการนำแนวคิด BCG ไปใช้ ว่าได้รับผลกระทบจากการศึกษาและการฝึกอบรมแรงงานที่ยังไม่เพียงพอ และการขาดความชัดเจนว่าโครงการใดบ้างที่รวมอยู่ในแผนดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ยังไม่ชี้ชัด

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งเสริม BCG ในระดับนานาชาติ แต่จนถึงขณะนี้ยังคงไม่มีรายชื่อโครงการที่ได้รับการอนุมัติ รวมถึงไม่มีเป้าหมายและเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานที่ชัดเจน 

 

ขณะที่บทความยังชี้ถึงอุปสรรคและความยากลำบากสำหรับรัฐบาลไทยชุดใหม่ ในการกระตุ้นงานวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะความไม่พร้อมของแรงงาน เนื่องจากการศึกษาและการฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่เพียงพอ

 

การผลักดันนวัตกรรม

 

รัฐบาลไทยได้นำเสนอแนวทาง BCG ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยได้นำมาใช้เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

แต่สำหรับแนวคิด BCG และไทยแลนด์ 4.0 นั้นได้รับความสนใจค่อนข้างน้อยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยประชาชนส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปยังประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องหรือมาตรฐานค่าครองชีพมากกว่า

 

ขณะที่ ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้าน BCG ของไทยที่ครอบคลุม 10 ภาคส่วนเป้าหมาย มีผู้เชี่ยวชาญเป็นประธาน รวมทั้งจากภาคเอกชน แต่ยังมีทรัพยากรที่น้อยเกินไปและขาดอำนาจในการขับเคลื่อนโครงการไปข้างหน้า “พวกเขาถูกจำกัดให้จัดทำแผนปฏิบัติการและเป็นตัวแทนของรัฐบาลเท่านั้น” เธอกล่าว 

 

ดร.เสาวรัจ ยังชี้ว่า ความพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถูกขัดขวางจากการฝึกอบรมและการศึกษาที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย 

 

“ประเด็นสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในอนาคตของไทย คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เธอกล่าว พร้อมชี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรทุนวิจัยและการพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและการรายงานที่โปร่งใส ตลอดจนการมุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการฝึกอบรมเป็นสิ่งจำเป็น หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาด้านนวัตกรรม”

 

มาร์ก โคแกน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวทางสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยคันไซ ไกได (Kansai Gaidai University) ในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นคล้ายกันว่า “การศึกษาและการฝึกอบรมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย”

 

โคแกนกล่าวว่า ไทยสามารถเรียนรู้บทเรียนจากเวียดนาม ซึ่งกำลังลงทุนในการฝึกอบรมและการศึกษา เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายบริษัทต้องการขยายการผลิตในไทย แต่ ‘แรงงานไม่พร้อม’ ซึ่งการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทยก้าวตามไม่ทันนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

 

อุปสรรคในการบริหาร

 

ทั้งนี้ แม้ว่าการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ของประเทศ ระหว่างปี 2014-2017 และอัตราการจ้างงานในภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้น 65% แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

งานวิจัยของ ดร.เสาวรัจ แสดงให้เห็นว่าจำนวนบริษัทด้านนวัตกรรมในไทยยังมีจำนวนน้อย และสิทธิบัตรส่วนใหญ่ก็ถือครองโดยบริษัทต่างประเทศ ซึ่งแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ มีผลต่อการพัฒนานวัตกรรม

 

ขณะที่ ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า “ปัญหาเหล่านี้อาจจะยังคงอยู่สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ โดยเป็นปัญหาทั้งด้านความสามารถในการบริหารและธรรมชาติของรัฐบาลเอง”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X