×

เนติวิทย์ จากนักศึกษา ผู้ต้องหาคดี สู่กรรมการเยาวชนคนแรกของแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย

11.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • เนติวิทย์กลายเป็นกรรมการเยาวชนคนแรก นับตั้งแต่องค์กรสาขาประเทศไทยก่อตั้งขึ้นและดำรงอยู่มาได้ 25 ปี
  • เขาประกาศว่า การได้รับเลือกในครั้งนี้จะช่วยจุดประกายให้เรื่องสิทธิมนุษยชนแพร่กระจายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และพร้อมจะผลักดันอย่างเต็มที่

วันที่ 10 มิถุนายน 2561 อาจเป็นวันหยุดที่กรุงเทพฯ ฝนตกกระหน่ำอย่างหนักจนน้ำนองและรถติด แต่ในที่ประชุมย่านพระราม 9 การประชุมสามัญประจำปี 2018 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลระหว่างประเทศ ในส่วนประเทศไทย กลับเต็มไปด้วยความแข็งขันและคึกคัก ที่ไม่เพียงการมีส่วนร่วมระดมความเห็นวางแนวทางการขับเคลื่อนองค์กร แต่ยังเป็นวาระสำคัญในทุกปีที่จะมีบุคคลจากแวดวงต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการขององค์กรแห่งนี้ เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป ด้วยวิธีการที่ประเทศไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยได้สัมผัส

 

 

การเลือกตั้ง

จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกในที่ประชุมปีนี้ นอกจากจะได้ประธานกรรมการและกรรมการคนใหม่แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งกรรมการจากกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมขับเคลื่อนอีกด้วย และคะแนนเสียงที่ประชุมดังกล่าวได้เลือก แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นักศึกษาหนุ่มอายุ 20 ปี จากรั้วจามจุรี ที่เคยเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ตกเป็นข่าวถูกกล่าวหาในการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากกรณี MBK39 และล่าสุดในกรณี TU-UN62 จากการชุมนุมเนื่องในครบรอบ 4 ปี คสช. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

ก่อนที่จะกลายเป็นตัวแทนถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในไทยต่อหน้าสมาชิกประชาคมระหว่างประเทศในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

การก้าวเข้ามาเป็นกรรมการองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนด้วยฐานะในปัจจุบันสำหรับแฟรงค์จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ

 

 

ที่มากรรมการเยาวชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ย้อนกลับไปในการประชุมสามัญประจำปี 2017 หนึ่งในวาระที่เสนอเข้าในที่ประชุมสมาชิกในตอนนั้นคือการแก้ไขระเบียบองค์กรว่าด้วยการคัดเลือกกรรมการที่เป็นเยาวชน ด้วยความคิดที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลัง ความฝัน ได้มีส่วนร่วมในการบริหารทิศทางองค์กร ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้แก้ไขและมีผลบังคับใช้ในการประชุมครั้งถัดไป (ปีนี้) ทำให้ปีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้ต้องเลือกกรรมการเพิ่มตามระเบียบที่ต้องมีสัดส่วนกรรมการจากกลุ่มเยาวชนเพิ่มอีก 1 คนในที่สุด

 

 

การเลือกตั้งกรรมการเยาวชน บรรยากาศที่น่าตื่นเต้น

การประชุมสามัญประจำปี 2018 (AGM18) ในปีนี้ ได้มีการเลือกตั้งกรรมการใหม่ทั้งในตำแหน่งประธานที่ หน่อย-พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ตัดสินใจวางมือจากตำแหน่งประธานกรรมการเนื่องจากครบวาระตามธรรมนูญ และส่งมอบให้คนใหม่คือ แอน-ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ซึ่งเคยนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กลับมาครั้งนี้นั่งเป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยกรรมการใหม่อีก 1 คนคือ ปั๊บ-กรกนก คำตา บัณฑิตรั้วธรรมศาสตร์ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และยังคงต้องขึ้นศาลทหาร

 

พอมาถึงการเลือกตั้งในส่วน ‘กรรมการเยาวชน’ นับเป็นการเลือกตั้งที่สูสีกันระหว่าง แฟรงค์ กับ ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ นักศึกษานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเคยร่วมเปิดตัวกลุ่ม ‘เพื่อนธนาธร’ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ในภายหลัง

ทั้งสองผู้สมัครได้ทำให้บรรยากาศในที่ประชุมคึกคักและลุ้นการนับคะแนนเสียงอย่างจดจ่อ เพราะคะแนนของทั้งคู่สูสีกันมาก เสียงขานชื่อของผู้นับคะแนนจะสลับระหว่างสองคนนี้ตลอด และตามด้วยเสียงเฮราวกับเชียร์มวย จนในที่สุดสมาชิกที่ประชุม 75 คนได้เลือกแฟรงค์เป็นกรรมการเยาวชนด้วยคะแนนเสียง 27 เสียง ส่วนฝนได้ไป 24 เสียง ขณะที่อีก 2 ผู้สมัครเยาวชนอย่าง นฤสรณ์ บุญศิริ ได้ 3 เสียง และ รัฐศาสตร์ ชาแท่น 14 เสียง

 

เนติวิทย์จึงกลายเป็นกรรมการเยาวชนคนแรกนับตั้งแต่องค์กรสาขาประเทศไทยก่อตั้งขึ้นและดำรงอยู่มาได้ 25 ปี

 

 

เพราะอะไรถึงตัดสินใจสมัครเป็นกรรมการ

แฟรงค์เปิดเผยว่า เหตุผลที่ตนเองตัดสินใจลงสมัครเพราะเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้มาได้ 4-5 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีเวลาพอที่จะมาช่วยงานกับองค์กรอย่างเต็มที่ แต่การประชุมสามัญปีที่แล้วทำให้รู้สึกว่าอยากลองสมัครดู แต่ตอนนั้นเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ อยู่ แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ถูกปลดจากตำแหน่ง จึงคิดว่าอยากจะสมัครกับแอมเนสตี้ จนสุดท้ายก็ลงสมัคร และมีผู้สมัครประเภทเดียวกันอีก 3 คน ก็ไม่คิดว่าจะได้ แต่ก็ได้มา ซึ่งรู้สึกดีใจ แม้จะมีภาระมาก การได้รับเลือกครั้งนี้จะช่วยจุดประกายให้เรื่องสิทธิมนุษยชนแพร่กระจายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และพร้อมจะผลักดันอย่างเต็มที่

 

 

ความตั้งใจแรกในฐานะกรรมการเยาวชนป้ายแดง

“ต่อไปนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนจะต้องดีขึ้น ผมจะพยายามเต็มที่ เข้าหาพื้นที่ให้มาก เพราะการมีตำแหน่งมันช่วยได้มาก ในแง่ที่เราเข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมได้ช่วยกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่กลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง ตอนแรกคิดว่าจบไปแล้ว แต่คราวนี้กลับมาฟอร์มตัวอีกครั้งและประสานงานกัน”

 

 

กรรมการเยาวชน ยิ่งช่วยหรือยิ่งเป็นปัญหา กับสถานะที่เป็นอยู่

“ประเทศไทยถ้าอยู่ในระบอบแบบนี้ เราไม่เป็นตัวปัญหาไม่ได้ ถ้าเป็นคนดี คนปกตินั้นน่ะอันตราย เห็นไหมว่าคนดีก็หลับในสภา คนเลว คนมีปัญหาก็ต้องออกมาเคลื่อนไหว ผมว่าดีแล้วที่เป็นตัวปัญหา แต่ตัวปัญหานี้แค่ช่วงนี้เท่านั้น แต่ถ้าเรามองในระยะยาว ตัวปัญหาเหล่านี้ซึ่งไม่ใช่ผมคนเดียว คนมากมายจะนำพาประเทศชาติให้ก้าวหน้า ไปพร้อมกับสิทธิมนุษยชนและเรื่องอื่นๆ” แฟรงค์ กรรมการเยาวชนคนแรกของแอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย

 

Photo: อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ , Amnesty International Thailand

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X