×

สภาพัฒน์แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหา ‘ส่งออก-หนี้ครัวเรือน’ เป็นอันดับแรก! เผยนักลงทุนอยากเห็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น

15.05.2023
  • LOADING...

สภาพัฒน์มอง ‘ส่งออก-หนี้ครัวเรือน’ เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หลังรายงาน GDP ไตรมาสแรกโต 2.7% จากปีก่อน เผยนักลงทุนอยากเห็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมย้ำรัฐบาลใหม่ควรเร่งลดการขาดดุลทางการคลัง คุมหนี้สาธารณะ ไม่ให้เผชิญความเสี่ยงด้านเครดิต

 

วันนี้ (15 พฤษภาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน (YoY) และขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลง

 

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยสามารถรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคได้ (Technical Recession) แม้ว่า GDP ไตรมาส 4/65 จะหดตัว 1.5% ก็ตาม ทั้งนี้ Technical Recession หมายถึงภาวะที่ GDP ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส 

 

สภาพัฒน์ยังคงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่ขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุน 

 

อย่างไรก็ตาม ดนุชาเตือนว่า ปัจจุบันปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหลักๆ มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ 1. การส่งออก ซึ่งต้องเร่งให้มีการขยายตลาด และปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ไทยมีสินค้าที่มีมูลค่าและคุณภาพดีขึ้น 2. หนี้ครัวเรือน ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

 

พร้อมทั้งมองว่ามี 2 ประเด็นที่พรรคการเมืองต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1. เร่งทำตลาดส่งออกสินค้า เนื่องจากเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรอย่างมาก 2. แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

 

ดนุชายังกล่าวอีกว่า อยากเห็นการเปลี่ยนผ่าน (รัฐบาล) เป็นไปอย่างราบเรียบและไม่เกิดปัญหา เนื่องจากมีนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เศรษฐกิจไทยต้องการ และเร่งการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และชิป เป็นต้น

 

แนะรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับวินัยการเงินการคลัง

 

ดนุชายังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาวินัยการเงินการคลังตามแผนการเงินการคลังระยะปานกลางอย่างเคร่งครัด เนื่องจากไทยขาดดุลการคลังมาอย่างต่อเนื่อง 

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างเยอะ มาจากหนี้ที่เกิดจากการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปีหนึ่งๆ ไทยขาดดุลการคลังระดับ 6 แสนล้านบาท ต่างจากหนี้สาธารณะที่ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนี้ที่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องการขาดดุลงบประมาณลง

 

“ขณะนี้เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงวิกฤตไปแล้ว เพราะฉะนั้นนโยบายการเงินการคลังในช่วงถัดไปจึงจะต้องกลับมาสู่ระดับปกติ (Normalization) ดังนั้นในการดำเนินนโยบายต่างๆ จึงควรพิจารณาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ‘อย่างเคร่งครัด’ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ใช้ประเมินเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของระบบเศรษฐกิจไทย” ดนุชากล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลใหม่จะรื้องบประมาณปี 2567 ใหม่ ดนุชาตอบว่า รัฐบาลใหม่สามารถจัดทำงบประมาณใหม่ได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ การปรับไส้ในที่ได้จัดทำไว้แล้วในเบื้องต้น และทำงบประมาณใหม่เลย ซึ่งต้องพิจารณาจากประมาณการรายได้และรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจในช่วงถัดไป ซึ่งดนุชามองว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากที่ทำไว้มากนัก

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X