×

‘สภาพัฒน์’ เผย GDP ไทยไตรมาส 3 โต 4.5% คาดภาพรวมทั้งปีขยายตัวได้ 3.2% มองปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่องในกรอบ 3-4%

21.11.2022
  • LOADING...
สภาพัฒน์

สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 3 โต 4.5% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกขยายตัวแล้ว 3.1% คาดภาพรวมทั้งปีขยายตัวได้ 3.2% มองปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่องในกรอบ 3-4%

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/65 ขยายตัวได้ 4.5% เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และขยายตัวได้ 1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวได้ 3.1% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3 ได้รับอานิสงส์จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 9% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวได้ 11% และ 6.7% ตามลำดับ

 

ขณะเดียวกัน สศช. ยังได้ปรับประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.7-3.2% เป็นเหลือเฉพาะกรอบบนที่ 3.2% เร่งขึ้นจาก 1.5% ในปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.6% ของ GDP 

 

“ในปีนี้เราคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยกว่า 10.2 ล้านคน สร้างรายรับให้กับประเทศกว่า 5.7 แสนล้านบาท และคาดว่าตัวเลขในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 23.5 ล้านคน สร้างรายรับให้กับประเทศกว่า 1.2 ล้านล้านบาท” เลขาธิการ สศช. กล่าว

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566 สศช. ประเมินว่าจะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0% มีค่ากลางอยู่ที่ 3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ 4 ปัจจัย ได้แก่

 

  1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 

 

  1. การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ 

 

  1. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 

 

  1. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร 

 

ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ขยายตัว 1.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.1% ของ GDP 

 

อย่างไรก็ดี ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ควรให้ความสำคัญ 8 ด้าน ได้แก้

 

  1. การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

 

  1. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2566-2567

 

  1. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ, การติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก, การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า, การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

 

  1. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ, การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

 

  1. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการดูแลด้านสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย, การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต

 

นอกจากนี้ต้องดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย, การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ, การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง

 

  1. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

 

  1. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

 

  1. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X