×

‘สภาพัฒน์’ หั่นเป้า GDP ปีนี้เหลือ 1.5-2.5% รับแรงกดดันโควิด-19 ยืดเยื้อ-กระจายวัคซีนช้า และท่องเที่ยวซบเซา

17.05.2021
  • LOADING...
‘สภาพัฒน์’ หั่นเป้า GDP ปีนี้เหลือ 1.5-2.5% รับแรงกดดันโควิด-19 ยืดเยื้อ-กระจายวัคซีนช้า และท่องเที่ยวซบเซา

สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ แถลงข่าวรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2564 ลดลง 2.6% ซึ่งถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ GDP ลดลง 4.2% ขณะเดียวกันสภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็น 1.5-2.5% จากคาดการณ์เดิม (เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ประเมินไว้ที่ 2.5-3.5%

 

สภาพัฒน์ระบุในแถลงการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ 3. การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 

 

ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6% และ 4.3% ตามลําดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของ GDP

 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ประกอบด้วย

 

1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดและความล่าช้าของการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านประสิทธิภาพของวัคซีนในการ ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส

 

2. แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศระลอกใหม่ ความกังวลต่อแนวโน้มกลายพันธุ์ของไวรัส และความไม่แน่นอนของการกระจายวัคซีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวและประเทศไทยอาจยังคงดำเนินมาตรการจำกัดและควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศไว้นานกว่าท่ีคาดการณ์ไว้

 

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงทำให้ยังมีข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยสภาพัฒน์ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยปีนี้ที่ 5 แสนคน ลดลง 92.5% จากจำนวน 6.7 ล้านคนในปี 2563 และประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2564 ที่จำนวน 1.7 แสนล้านบาท ลดลง -60.2% จาก 4.4 แสนล้านบาทในปี 2563 

 

3. การฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชนถูกจำกัด ด้วยฐานะทางการเงิน แม้ภาครัฐจะดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและมาตรการปรับโครงสร้างหน้ีอย่างต่อเนื่อง ในขณะท่ีตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มท่ี โดยเฉพาะในสาขาที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว

 

4. ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งยังคงต้องติดตามทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก, ความผันผวนของตลาดเงินรวมทั้งเงินลงทุนระหว่างประเทศ, การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศสำคัญ 

 

ความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจท่ีอ่อนแอและยังคงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง, ความเสี่ยงต่อห่วงโซ่การผลิตของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเสถียรภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ

 

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ 

 

1. การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็วและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงระลอกใหม่ โดย

 

  • การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด 
  • การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึง 
  • การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการรองรับการแพร่ระบาด 
  • การเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนในการรับการฉีดวัคซีน 

 

2. การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดย 

 

  • การเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม 
  • การพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน 
  • การพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง 

 

3. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดย 

 

  • การขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ 
  • การเร่งรัดยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม 
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญๆ 
  • การเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ 
  • การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต 

 

4. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย 

 

  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง 
  • การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ 
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน 
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
  • การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
  • การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญๆ 

 

5. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

 

6. การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 7. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 ลดลง 2.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 4.2% ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาส 4 ปี 2563 0.2% 

 

ด้านการใช้จ่าย มีแรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายรัฐบาลและการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงและการส่งออกบริการลดลงต่อเนื่อง

 

ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสาขาการก่อสร้างกลับมาขยายตัว ในขณะที่สาขาเกษตรกรรม สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และสาขาการเงินขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาไฟฟ้าและก๊าซ และสาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมลดลงต่อเนื่อง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X